‘กทม.-ปริมณฑล’อ่วม ‘คลัสเตอร์’พุ่ง43แห่ง


เพิ่มเพื่อน    

 

ศบค.รายงานพบผู้ติดเชื้อใหม่ 4,803 ราย ในเรือนจำ 2,702 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 34 คน "หมอทวีศิลป์" เผย กทม.-ปริมณฑลยังหนัก เจอเพิ่มอีก 4 คลัสเตอร์ ยอดรวม 43 คลัสเตอร์แล้ว เหตุระบาดวงกว้าง 409 แคมป์คนงานโยกย้ายแรงงานบ่อย

    เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,803 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,050 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,421 ราย จากการค้นหาเชิงรุก 629 ราย อยู่ในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง 2,702 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 51 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 149,779 ราย ผู้ป่วยหายเพิ่ม 4,439 ราย ยอดผู้หายป่วยสะสม 102,311 ราย อยู่ระหว่างรักษา 46,480 ราย อาการหนัก 1,221 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 406 ราย
    ผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 34 ราย เป็นชาย 18 ราย หญิง 16 ราย อยู่ใน กทม. 21 ราย ปทุมธานี เชียงราย สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ นนทบุรี อยุธยา ราชบุรี สงขลา และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงมีผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย พนักงานรักษาความปลอดภัย ขับรถสาธารณะรวมอยู่ด้วย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 988 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 170,126,628 ราย เสียชีวิตสะสม 3,537,568 ราย
    สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ติดเชื้อโควิดมี 1 รายมาจากกัมพูชาโดยช่องทางธรรมชาติ จึงขอเน้นย้ำอย่าเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ เพราะฝ่ายความมั่นคงต้องทำงานกันอย่างหนัก และถ้าดูยอดรวมผู้เดินทางเข้าช่องทางธรรมชาติวันเดียวกันนี้มีถึง 245 ราย มีการส่งบุคลากรทั่วประเทศช่วยชาว กทม.และปริมณฑล เพราะหลายพื้นที่ยังต้องการบุคลากรเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องทำงานอย่างหนักเพื่อไม่ให้มีการแพร่เชื้อผ่านพรมแดน ขณะผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่วันนี้มีถึง 2,702 รายนั้น เป็นการพบเชื้อที่ จ.นนทบุรีถึง 2,450 ราย อยู่ในเรือนจำบางขวาง 481 ราย เรือนจำนนทบุรี 1,969 ราย ซึ่งทางจังหวัดได้ชี้แจงว่ามีการจัดพื้นที่ดูแลผู้ป่วยหนักในเรือนจำ และมีสัญญาณเชิงบวกว่าสามารถควบคุมได้ มีการตรวจหาเชื้อเชิงรุกยังทำอย่างต่อเนื่อง การพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นไปตามตารางการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ติดเชื้อมาดูแล
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มากที่สุดคือ กทม. 1,0541 ราย, สมุทรปราการ 215 ราย,  นนทบุรี 186 ราย, ชลบุรี 80 ราย,  ปทุมธานี 65 ราย ขณะภาพรวมของประเทศมีจังหวัดไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อไม่ถึง 10 ราย 30 จังหวัด รวมกันแล้วมีพื้นที่สีขาวและสีเขียว 58 จังหวัด จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำให้เกิดตัวเลขตรงนี้ ขอให้ทรงตัวเลขเหล่านี้อย่าให้เพิ่มขึ้น
    "เราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ถ้ามีตัวเลขศูนย์ต่อไปสัก 14 วัน จะทำให้สบายใจกันขึ้น ถ้าเกิน 14 วันจะยิ่งสบายใจว่าเชื้อจะหมดไปจากจังหวัด ขอให้ยืนระยะเวลานานๆ การคงตัวเลขศูนย์ 14 วันคือเป้าหมายของจังหวัดที่ไม่พบเชื้อ จึงขอแรงประชาชนดูแลชุดพฤติกรรมส่วนตัว ผู้ประกอบการก็ดูแลพื้นที่ของตัวเอง ถือเป็นการช่วยกัน"
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับการระบาดที่พบในจังหวัดที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในวันที่ 28 พ.ค.นั้น มีพื้นที่ที่น่าสนใจคือจังหวัดมหาสารคาม มีการระบาดคลัสเตอร์ใหม่ที่ อ.กันทรวิชัย ในมหาวิทยาลัยของรัฐ พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย ในพื้นที่เขาย้อย จ.เพชรบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในโรงงานผลิตรองเท้ามีผู้ติดเชื้อ 21 ราย อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ในชุมชนบางทราย มีผู้ติดเชื้อ 32 ราย และ อ.กันตัง พบผู้ติดเชื้อใหม่ 36 ราย ในโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์
    ขณะภาพรวมการแพร่ระบาดเชื้อของโลกพบผู้ติดเชื้อลดลง แต่ในประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องแนวโน้มคงที่ ผู้ป่วยหนักค่อนข้างคงที่อยู่ที่กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง ดังนั้นในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ กลุ่มดังกล่าวจะเริ่มได้รับการฉีดวัคซีน ที่หลายคนกังวลว่ามีการพูดเรื่องชะลอไว้ก่อนนั้น คิวการลงทะเบียนในช่วงแรกๆ จะยังรองรับและคงสิทธิ์ของกลุ่มดังกล่าวไว้อย่างแน่นอน ที่ไม่สบายใจนั้นขออย่ากังวลใจ เพราะปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร 77 จังหวัด เพื่อซักซ้อมเตรียมการกระจายวัคซีน ไปยังแต่ละจังหวัด ทั้งการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมและช่องทางอื่นๆ
    สำหรับการประชุมศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล พบว่าภาพรวมการระบาดในพื้นที่ กทม.กราฟยังทรงตัว แต่ก็ยังสูงกว่าเดือนเม.ย. และภาพรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าภาพรวมของทั้งประเทศ จึงขอให้ประชาชนดูแลตัวเอง ครอบครัว และกิจการของท่าน
    "ขณะนี้มีจำนวนคลัสเตอร์ทั้งสิ้น 43 คลัสเตอร์ โดยวันเดียวกันนี้พบ 4 คลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้น คือแคมป์ก่อสร้างในเขตดินแดง วัฒนา ปทุมวัน และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในเขตคลองสามวา"
    นพ.ทวีศิลป์เผยว่า ประเด็นที่พูดคุยกันมากคือเรื่องแคมป์คนงาน เนื่องจากมีทั้งหมด 409 แคมป์ บางแคมป์ส่งคนงานไปทำงานอีกพื้นที่จึงมีการเคลื่อนย้าย ทำให้เกิดการกระจายของเชื้อ โดยตอนนี้มีถึง 37 คลัสเตอร์ ที่พบผู้ติดเชื้อภายใน 14 วัน และด้วยลักษณะของกทม. ประชาชนอยู่กันอย่างแออัด มีประชากรทั้งผู้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกทม.และผู้ที่เข้ามาพักอาศัยรวมแล้วเกือบ 10 ล้านคน ข้ามเขตกันไปมา ทำให้มีการพูดถึงการขับเคลื่อนป้องกันโควิดในลักษณะกลุ่มเขต
    โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่มเขต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการแก้ปัญหา คือ กรุงเทพฯ กลาง กรุงเทพฯ ตะวันออก กรุงเทพฯ ใต้ กรุงเทพฯ เหนือ กรุงธนใต้ และกรุงธนเหนือ โดยกลุ่มเขตที่พบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 14 วันจำนวนมากคือ เขตกรุงเทพฯ กลาง กรุงเทพฯตะวันออก กรุงเทพฯ ใต้ ซึ่งการขับเคลื่อนการบริหารสถานการณ์โควิดผ่านกลุ่มเขตนี้ จะมีการตรวจหาเชิงรุกในทุกพื้นที่
    และจากข้อมูลพบว่าทุกกลุ่มเขตมีตลาดรวมกันถึง 486 ตลาด จะให้แต่ละตลาดทำการประเมินตนเองผ่านทางไทยสต็อปโควิด และทางสำนักงานเขต เพื่อดูสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างตลาดเพื่อใช้โอกาสการแพร่ระบาดโควิดนี้เปลี่ยนแปลงตลาดให้ดียิ่งขึ้น
    เขาบอกว่า จากข้อมูลทั้ง 50 เขตที่มีจำนวนชุมชนรวมกันทั้งสิ้น 2,069 ชุมชน โดย ผอ.เขตต้องไปประชุมร่วมกับประธานชุมชน ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญเพื่อพูดคุยปรึกษากัน เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการบริหารจัดการ ขณะที่แคมป์ก่อสร้าง 409 แห่งนั้น มี 30 แคมป์ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องเข้าไปจับตามมองเพื่อปรับปรุง ต้องขอให้เจ้าของกิจการให้ความร่วมมือด้วย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวในตอนท้ายว่า ในที่ประชุมได้ยกตัวอย่างพื้นที่เขตบางกะปิขึ้นมา โดยจะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ป่วยรายใหม่ 10 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นมามีผู้ติดเชื้อถึง 896 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 12 ราย โดยพื้นที่บางกะปิมีทั้งตลาด คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า แฟลต หมู่บ้าน มีความแออัด มีถึง 6 คลัสเตอร์ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ และถ้าดูเฉพาะตลาดนั้น เขตบางกะปิมีถึง 5 ตลาด มีแผง 1,135 แผง มีผู้ค้าทั้งชาวไทยและต่างด้าว 1,646 คน ข้อมูลเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อจะได้ชี้แนะการดำเนินการลงไป
    วันเดียวกันนี้ นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อจำนวน  215 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 175 ราย อำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 124 ราย, อำเภอพระประแดงจำนวน 29 ราย, อำเภอพระสมุทรเจดีย์จำนวน 5 ราย, อำเภอบางพลี จำนวน 10 ราย, อำเภอบางบ่อ จำนวน 2 ราย,  อำเภอบางเสาธง จำนวน 5 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการจำนวน 40 ราย เสียชีวิต 2 ราย 1.ชายไทยอายุุุ 60 ปี มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันมีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันสูง ขณะป่วยอยู่ที่ตำบลบางครุ อำเภอพระประแดง 2.ชายไทยอายุุุ 35 ปี เดินทางไปสถานที่เสี่ยง มีโรคประจำตัวโรคอ้วน น้ำหนัก 120 กิโลกรัม ที่อยู่ขณะป่วยทุ่งครุกรุงเทพฯ       
    ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวน 139 ราย (ไม่รวมเชิงรุกในแคมป์คนงาน = 72 ราย)     สามารถจำแนกออกเป็น คนงาน ตลาดสด และครอบครัว โดยมีเพศหญิง 53 ราย เพศชาย 86 ราย ต่างชาติ 58 ราย (เมียนมา 44 ราย, ลาว 4 ราย, กัมพูชา 10 ราย)
    นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จ.สระแก้วมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางข้ามมาจากฝั่งปอยเปต จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เพิ่มขึ้นอีก 47 ราย สะสมผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ จำนวน 294 ราย โดยไม่พบติดเชื้อในจังหวัดรายใหม่ รวมผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมรวม 787 ราย
    ขณะนี้กำลังรักษาอยู่ใน รพ.ของรัฐและ รพ.สนามจำนวน 284 ราย รักษาหาย 499 ราย และเสียชีวิตสะสม 4 ราย นอกจากนั้น ในช่วงสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.เป็นต้นไป ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสระแก้วได้ปรับแผนรับคนไทยกลับจากฝั่งปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากวันละ 100 คน เป็นวันละ 200 คน จันทร์-ศุกร์ รวมสัปดาห์ละ 1,000 คนด้วย
    ด้านนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการ จ.สงขลา เปิดเผยว่า จ.สงขลา พบติดเชื้อโควิดรายใหม่ 31 ราย จากกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กลุ่มจากคลัสเตอร์เรือนจำ รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 1,454 ราย เสียชีวิตสะสม 8 คน
    ที่ศูนย์แถลงข่าว ศบค.ตรัง ณ  ศาลากลาง จ.ตรัง นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผวจ.ตรัง เผยว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในโรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สาขาตรัง) ต.ควนธานี อ.กันตัง มีผู้ติดเชื้อยืนยันรวมทั้งหมด 39 ราย และได้ทำการตรวจหาเชื้อ (SWAP) จากโพรงจมูกและคอ พนักงานไปแล้วจำนวน 493 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลตรวจ
    นายขจรศักดิ์กล่าวว่า พนักงานของโรงงานมีทั้งหมดจำนวน 1.579 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักของโรงงานจำนวน 400 ราย เป็นแรงงานเมียนมา 291 ราย และเป็นคนไทยอีกจำนวน 1,288 ราย ซึ่งในขณะนี้มีความกังวลถึงการขยายเชื้อออกสู่พื้นที่ต่างๆใน จ.ตรัง เนื่องจากมีพนักงานที่ต้องเดินทางกลับบ้านพักในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะนำเชื้อไปสู่ชุมชนและครอบครัว แต่มีความมั่นใจว่าสามารถควบคุมอยู่ในเร็วๆ นี้ โดยเมื่อมีการ SWAP พนักงานและแรงงานของโรงงานทั้งหมดแล้ว จะทำการ SWAP ญาติครอบครัว และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลที่เดินทางกลับบ้านต่อไป.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"