ราชวิทยาลัยจุฬาฯปัดดีลท้องถิ่น


เพิ่มเพื่อน    

 

"อนุทิน" การันตี 7 มิ.ย. มีวัคซีนฉีดให้คนไทยทุกคน ย้ำส่งมอบแอสตร้าฯ ไม่มีโรคเลื่อน เผยร่างสัญญาซื้อขายไฟเซอร์-จอห์นสันฯ ส่งถึงอัยการแล้วเหลือรอเซ็นสั่งซื้อ ท้องถิ่นลุ้น! นายกฯ ไฟเขียวหรือสกัดควักกระปุกซื้อฉีดเอง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจงยังไม่เปิดดีลกับ อปท. "บิ๊กตู่" สะดุ้งนิด้าโพลเผย ปชช.ไม่พอใจ รบ.เพิ่มเพราะจัดหาวัคซีนล่าช้า  

    เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดในเดือนมิถุนายน โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ ได้ส่งเอกสารการตรวจมาตรฐานมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว จากการติดตามพบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี รอการตรวจรับรอง และปล่อยวัคซีนเท่านั้น โดยยืนยันว่าวัคซีนมีฉีดให้คนไทยทุกคน เพราะทุกวัคซีนมีคุณสมบัติเท่าเทียมกันในการลดความรุนแรงของโรค
    รมว.สาธารณสุขกล่าวว่า เมื่อมีจำนวนวัคซีนที่มากขึ้น ในการบริหารจัดการ ก็เตรียมดำเนินการตามแผนกระจายที่วางไว้ทันวันที่ 7 มิ.ย.แน่นอน โดยสัดส่วนของวัคซีนให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้พิจารณา เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และเนื่องจากแอสตร้าฯ มีประสิทธิภาพสร้างภูมิได้ดีเร็วหน่อย ก็อาจต้องนำลงไปในพื้นที่ให้รวดเร็วเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งปล่อยให้เป็นหน้าที่ตามหลักวิชาการ และไม่ขอเปิดเผยจำนวนวัคซีนแอสตร้าฯ ที่เข้ามา แต่ในเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาครบตามจำนวน 6 ล้านโดส หากมีปัญหาบริษัทจะต้องจัดหามาให้ได้ พร้อมกันนี้นายอนุทินปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับการกระจายวัคซีนไปพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ เพราะขณะนี้สวมหมวกเป็น รมว.สาธารณสุข
    นายอนุทินกล่าวย้ำว่า รัฐบาลมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนทุกคนที่ลงทะเบียนผ่านภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข และแอปพลิเคชันอื่นที่ประสานงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยการกระจายวัคซีนต้องเป็นไปตามแผน ไม่สามารถระบุได้ว่าเอาไปในพื้นที่ไหน เอาไป  1 ล้านโดสเพื่อกระจาย-ไม่ได้ ทุกอย่างต้องทำตามความเหมาะสมและหลักวิชาการ
    นายอนุทินกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการสั่งซื้อวัคซีนชนิดอื่น ในส่วนของวัคซีนไฟเซอร์ ขณะนี้ร่างสัญญาเบื้องต้นที่ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดผ่านการพิจารณาเรียบร้อย เหลือเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีนซึ่งจะนำมาฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป สำหรับการจัดซื้อวัคซีนจอห์นสันฯ นั้นเบื้องต้นกำหนดที่ 5 ล้านโดส ส่งไตรมาส 4 ของปี โดยได้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดพิจารณาเช่นกัน ส่วนวัคซีนซิโนแวคก็มีการสั่งซื้อเข้ามาทุกเดือน
    ส่วนกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องการนำเงินสะสมของท้องถิ่นไปจัดซื้อวัคซีนทางเลือกฉีดให้ประชาชนในพื้นที่นั้น
    เรื่องดังกล่าว พล.อ.ณัฏฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จะรับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและหารือกับ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานกรรมการในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม จากนั้นจะเสนอแนวทางให้นายกฯ พิจารณาต่อไป  อยากทำความเข้าใจว่าการจัดซื้อวัคซีนมี 2 รูปแบบ คือ การสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร และการซื้อภายในจากหน่วยงาน ซึ่งประชาชนเกิดความสับสนว่า อปท.จัดซื้อจากภายนอกได้เองซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น
    เมื่อถามว่า อปท.จะต้องซื้อจากหน่วยงานภายในของรัฐมีแนวโน้มอย่างไร เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ก็ต้องดูอีกทีเพราะตอนนี้มีเงื่อนไขทางกฎหมาย และทางนโยบายที่ต้องรอนโยบายจากนายกฯ ขณะที่ ศบค.ต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเสนอเรื่องมาให้นายกฯ พิจารณา
    ด้านนายนพดล เภรีฤกษ์? โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา? ได้ชี้แจงกรณีการขอหารือประเด็นการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน Covid-19 เพื่อฉีดให้ประชาชน?ว่า?  เรื่องนี้ได้มีการหารือโดยสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งการพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการรับปรึกษา ให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 ซึ่งข้อ 3 แห่งระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า กรรมการกฤษฎีกาจะพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี  กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องโดยผ่านทางกระทรวง ทบวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ซึ่งคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรให้ขอความเห็นทางกฎหมายเป็นการเฉพาะราย แต่โดยที่สมาคมทั้ง 3 แห่งดังกล่าวมิได้เป็นหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลตามที่กำหนด ดังนั้น สำนักงานจึงไม่อาจรับข้อหารือดังกล่าวไว้พิจารณาได้ และได้แจ้งให้ผู้ขอหารือทราบแล้ว
    ขณะที่ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda  "ต้องขอโทษอีกแล้ว ผมพูดไม่ชัด….. ณ วินาทีนี้ผมและราชวิทยาลัยฯ ยังไม่มีนโยบายหรือได้พูดคุยกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไหนๆ ในเรื่องวัคซีนตัวเลือกนะครับ"
    วันเดียวกันนี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “COVID-19 รอบ 3” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17-19 และ 27-28 พ.ค.64 จำนวน  1,312 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความกลัวของประชาชนว่าจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการแพร่ระบาดในขณะนี้ พบว่าร้อยละ 32.09 ระบุว่ามีความกลัวมาก เพราะโควิด-19 มีการเเพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก จำนวนผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อง่าย ร้อยละ 37.96 ระบุว่าค่อนข้างมีความกลัว เพราะผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่ารอบที่แล้ว  จำเป็นต้องเดินทางไปทำงานต้องเจอกับผู้คนจำนวนมาก  และอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ร้อยละ 17.00  ระบุว่าไม่ค่อยมีความกลัว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี ไม่ไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และได้ทำการจองการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว และร้อยละ 12.95 ระบุว่าไม่มีความกลัวเลย เพราะไม่ได้ออกไปไหนอยู่แต่ที่พักอาศัย และประชาชนบางส่วนได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ COVID-19 รอบใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีความกลัวและไม่มีความกลัวเลยมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่ามีความกลัวมากมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
    สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการดำเนินการของรัฐบาล ตั้งแต่ 1 เม.ย.ถึง พ.ค.64 ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 3 พบว่า ร้อยละ 12.20 ระบุว่าพอใจมาก เพราะรัฐบาลตั้งใจทำงานและดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ และมีนโยบายที่ดีเพื่อช่วยเหลือประชาชน ร้อยละ 33.31 ระบุว่าค่อนข้างพอใจ เพราะ เข้าใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่าเป็นทั่วโลก มีการจัดหาวัคซีนมาให้ประชาชน และรัฐบาลพยายามทำงานเต็มที่แล้ว ร้อยละ  30.49 ระบุว่าไม่ค่อยพอใจ เพราะมีมาตรการป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ล่าช้า การสื่อสารกับประชาชนทำได้ไม่ดี ทำให้ประชาชนส่วนมากยังไม่เข้าใจมาตรการต่าง ๆ และการจัดหาวัคซีนมีความล่าช้ามาก ร้อยละ 22.56  ระบุว่าไม่พอใจเลย เพราะการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน มาตรการป้องกันไม่เข้มงวดเท่ากับรอบก่อน การบริหารจัดการวัคซีนมีความล่าช้า และไม่สามารถเลือกวัคซีนเองได้
    "เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ COVID-19  รอบใหม่ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าพอใจมาก และค่อนข้างพอใจมีสัดส่วนลดลง ในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยพอใจและไม่พอใจเลยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น" ผลสำรวจระบุ
    สำหรับการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.04 ระบุว่าจะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล รองลงมาร้อยละ 17.99 ระบุว่าจะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ร้อยละ 15.93 ระบุว่าจะยอมเสียเงินเองในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐ ร้อยละ 3.73 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 0.31  ระบุว่าจะไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ COVID-19 รอบใหม่  เดือน ก.พ.64 พบว่า ผู้ที่ระบุว่าจะรับบริการฉีดวัคซีนฟรีจากรัฐบาล และจะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 มีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่าจะยอมเสียเงินเอง ในการฉีดวัคซีนตามโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงยี่ห้อวัคซีนที่ประชาชนต้องการหากต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ  30.71 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ รองลงมาร้อยละ 20.58 แอสตร้าเซนเนก้า ร้อยละ 19.05 ซิโนแวค ร้อยละ 14.56 ไฟเซอร์ ร้อยละ 4.57 โมเดอร์นา ร้อยละ 3.13 จอห์นสัน  แอนด์ จอห์นสัน ร้อยละ 0.46 สปุตนิก วี และร้อยละ 6.94  ยังไงก็จะไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
    ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันที่ 7 มิ.ย.นี้จะคิกออฟฉีดวัคซีนให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่ไม่มีผู้ติดเชื้อตามพื้นที่สีแดง  37 เรือนจำเป็นเฟสแรก จากนั้นจะดำเนินการทั่วประเทศต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"