วัคซีนทุกคนต้องได้ฉีด ยกเว้น! ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้แพ้วัคซีนรุนแรง


เพิ่มเพื่อน    

          มส.ผส. ร่วมกับ สสส. จัดเสวนา “COVID-19 การเข้าถึงบริการทางสังคมและสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อไขคำตอบให้ผู้ฟังผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ฟันธงทุกคนควรฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่ต้องกลัวเข็ม ต้องกลัวโควิด-19 มากกว่า ย้ำผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือน และผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนรุนแรงอย่าเพิ่งฉีด เสี่ยงปัญหาสุขภาพ ต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

 

          ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้ดำเนินรายการ หยิบยกปัญหาที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนหรือไม่ ทั้งกลุ่มที่มีปัญหาทางสุขภาพ มีโรคประจำตัว และกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs พร้อมถอดบทเรียนว่ากลุ่มไหนที่ควรได้รับการยกเว้นฉีดวัคซีนจากปัจจัยสุขภาพ โดยในวงเสวนามีการถอดบทเรียนจากผู้เชี่ยวชาญผู้สูงอายุ 3 ท่านที่สะท้อนมุมมอง พร้อมเสนอแนะแนวทางระบบการจัดการวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุในเมืองไทย

 

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน

 

          ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน แพทย์อายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การบริหารจัดการวัคซีนมีความจำเป็นต้องมีระบบจัดการที่ตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่สุขภาพมีปัญหา ร่างกายยังไม่เหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ทันที เพราะอาจส่งผลกระทบกับร่างกาย ซึ่งกลุ่มคนที่ยังไม่ควรได้รับวัคซีนในตอนนี้ หรือจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ให้รอบคอบ คือ “ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย” ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าอาจจะมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือนข้างหน้า เพราะถ้าฉีดวัคซีนเข้าไปอาจจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ได้ นั่นหมายความว่าวัคซีนโควิด-19 อาจจะไม่มีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ถ้าฉีดไปก็ไม่มีประโยชน์กับชีวิต

          ผศ.พญ.สิรินทร กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ยังไม่เหมาะสมที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 คือ ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือแพ้ยาอย่างรุนแรง เพราะอาจได้รับผลกระทบหลังจากการฉีดซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่ทำให้สุขภาพและชีวิตมีปัญหา เช่น เป็นไข้ บวม ช้ำ ปวด ผื่นขึ้นบริเวณที่ฉีดวัคซีน หรือมีอาการหอบหืด เพราะร่างกายมีปฏิกิริยาที่ไม่ตอบรับกับวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้คนไข้ที่เคยได้รับพลาสมาหรือยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19 ให้รอดชีวิตได้ หรือคนไข้ที่เป็นโควิด-19 ใน 10 วันยังไม่ควรได้รับวัคซีน แต่กลุ่มนี้จะมีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปขึ้นอยู่กับแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวที่ยังควบคุมได้ เช่น โรคทางระบบประสาทและสมอง เป็นเรื่องที่ต้องคุยกับหมอเป็นพิเศษ ใครที่มีประวัติเลือดออกต้องกินยาละลายลิ่มเลือดจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์

          “ทุกคนที่แข็งแรง ไม่แพ้วัคซีนหรือรักษาโควิดหายแล้ว ยังจำเป็นต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 อยากย้ำว่าทุกคนอย่าได้กลัววัคซีน เพราะการแพทย์ของเรา คนไข้หนักๆ ก็สามารถบริหารจัดการได้ ถ้าปล่อยให้มีการติดโควิด-19 จำนวนมากจะทำให้อัตราการตายสูงขึ้น อาจารย์อยากบอกทุกคนว่า เราอาจกลัวโควิด-19 ได้ แต่อย่ากลัววัคซีน เพราะมันจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ได้” ผศ.พญ.สิรินทรกล่าว

 

 

          ผศ.พญ.สิรินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าจะวิเคราะห์ผู้สูงอายุบางกลุ่มว่ากลัวเข็มฉีดยา หรือไม่อยากจะฉีดวัคซีน-19 จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี สิ่งที่อยากย้ำคือ กระทรวงสาธารณสุขต้องทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับผู้สูงอายุว่ามีผลกับเส้นเลือดตีบหรือไม่ หรือมีเปอร์เซ็นต์การเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนกลุ่มนี้ เพราะเรามีพันธุกรรมต่างกับชาวต่างประเทศ ฉะนั้นควรให้ข้อมูลกับผู้สูงอายุให้มากที่สุด จากสถิติคนที่ติดโควิด-19 ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไป บางคนแค่เริ่มต้นมีอาการป่วยก็เสียชีวิต จึงอยากย้ำว่าขอให้ฉีดวัคซีน-19 ไม่ต้องเลือกวัคซีนยี่ห้อใด แต่อยากให้ร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไปด้วยกันก่อน

 

 

          “ถ้าถามอาจารย์ว่าผู้สูงอายุควรจะเลือกฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร ซิโนแวคหรือแอสตร้าเซนเนก้าได้ทั้งนั้น ขอให้ได้วัคซีน-19 กันเถอะ การได้รับวัคซีนไม่ได้หมายความจะไม่ติดเชื้อ แต่เป็นการลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสป่วยให้น้อยลง แม้จะป่วยก็จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า โอกาสจะตายจากโควิดก็น้อยกว่า ขอให้ช่วยกันฉีดวัคซีนป้องกัน” ผศ.พญ.สิรินทรกล่าว

 

ดร.ณปภัช สัจนวกุล

 

          ดร.ณปภัช สัจนวกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลจากการสำรวจกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพช่วงล็อกดาวน์ ปี 2562 มีผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน พบผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย 4.9 ล้านคน และจากงานวิจัยมีผู้สูงอายุประมาณ 93% ของผู้มีรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ที่น่าสนใจคือ มีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเข้าถึงโครงการคนละครึ่งได้ยาก เพราะปัญหาการลงทะเบียนต้องใช้เทคโนโลยี ต้องให้ลูกหลานเข้ามาช่วยเหลือในการลงทะเบียนให้ ใครที่มีลูกหลานอยู่ในบ้านก็จะช่วยเหลือได้ทันท่วงที

 

 

          ดร.ณปภัช กล่าวต่อว่า อาชีพการทำมาหากินเปลี่ยนไป ทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบรุนแรงมากขึ้น พบผู้สูงอายุ 70-80% ถูกเลิกจ้างและพักงานในช่วงโควิด-19 นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังมีปัญหาในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และพบผู้สูงอายุมากกว่า 3 ใน 4 มีปัญหาเรื่องการหาทางออกในช่วงบั้นปลายชีวิต ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือในภาครัฐจะต้องไม่นิ่งนอนใจ ต้องช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มาตรการคนละครึ่ง เราชนะ ด้วยการเยียวยาเงิน 3,000 บาท 5,000 บาท การเพิ่มเงินช่วยเหลือ การเข้าถึงสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การได้รับการลดราคาก๊าซหุงต้ม ลดค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโดยสารในการเดินทางต่างๆ ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยไม่เคยใช้บริการสิทธิ์เหล่านี้ เดินทางด้วยความยากลำบาก ขณะเดียวกันภาครัฐต้องคิดหามาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วย

 

 

 

“การรักษาคนไข้ด้วยระบบ Telemedicine เป็นความหวังใหม่ในสถานการณ์โควิด”

 

ดร.ภญ.พัทธรา ลีฬหวรงค์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

              

          ผลการวิจัยที่มีการศึกษาในโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลในภูมิภาค เป็นข้อมูลระดับประเทศ การเข้าถึงบริการสุขภาพ คนไข้รับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน บริการฟื้นฟูผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง คนไข้ที่รับการผ่าตัดและนอนในโรงพยาบาล ในช่วงโควิดระบาดระลอกแรก ในช่วงนั้นเรายังไม่รู้จักโรคระบาดนี้ เพราะเป็นอุบัติใหม่ของโรค

          ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าโรคจะระบาดไปมากน้อยเพียงใด พบว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในช่วงแรกการให้บริการภายในโรงพยาบาลทั่วไปลดลง 10% ในบรรยากาศที่ประเทศล็อกดาวน์ มีผู้สูงอายุเข้าพบหมอเพื่อติดตามอาการของโรคต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของผู้ป่วย เกิดจากมาตรการภาครัฐในช่วงโควิดงดการเดินทาง การเคลื่อนย้าย ให้ทุกคนอยู่แต่ในบ้าน ทำงานที่บ้าน เรียนทางออนไลน์ ผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังเมื่อติดเชื้อโควิด โอกาสที่มีอาการรุนแรงสูง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มิฉะนั้นจะทำให้เสียชีวิตได้

          โรงพยาบาลต่างๆ มีมาตรการสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วน จะรับรักษาเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น การฟื้นฟูบำบัดในช่วงคนไข้ที่เจ็บป่วยด้วยหลอดเลือดสมอง ฟื้นฟูหลังจากที่ได้รับการรักษา จำเป็นต้องจัดสรรทรัพยากรสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ทาง รพ.ได้มีการสำรวจบริการเสริมเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลด้วย การให้บริการรับยาด้วยช่องทางต่างๆ การสั่งยาทางไปรษณีย์ รับยาใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล คนไข้ไม่จำเป็นต้องรับยาในโรงพยาบาล เพื่อลดความแออัดภายในโรงพยาบาล

          โควิดเป็นวิกฤติในโอกาสในการใช้มาตรการต่างๆ มากขึ้น เพื่อลดกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันทางโรงพยาบาลก็ต้องจัดพื้นที่ ปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วยเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิดระลอก 3 ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลทุติยภูมิรับส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนัก การขยายพื้นที่ ICU ขณะเดียวกันผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนในช่วงโควิดเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

 

          การให้บริการแพทย์ทางไกลขึ้นอยู่กับหมอแต่ละท่าน มีหน่วยตรวจที่จะให้ความสะดวก การใช้โทรศัพท์ในการพูดคุยหารือกับแพทย์ มีปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต คนไข้บางรายก็เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่สะดวกมากนัก การโทรศัพท์เพื่อติดตามอาการคนไข้ในโรงพยาบาลสุขภาพใกล้บ้าน การวัดระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจวัดความดันโลหิต บางครั้งคนไข้ที่มีโรคเรื้อรังก็ต้องได้รับการบริการดูแลอย่างใกล้ชิด

          บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นเพราะการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องถูกกักตัวรอดูอาการ ในขณะที่ผู้สูงอายุติดเตียง ญาติเข้ามาดูแลไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องมาดูแลแทนญาติ เมื่อบุคลากรก็ถูกกักตัว จำนวนหมอและพยาบาลลดลงไปอีก เราก็ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์เหล่านี้ด้วย คนที่ดูแลคนที่ติดบ้านติดเตียงในช่วงโควิด การฟื้นฟูการให้บริการคนไข้ที่บ้านก็ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย พบว่าในต่างประเทศมีสถิติกลุ่มเปราะบางมีอาการรุนแรง 44-72% มีคนเสียชีวิต บุคลากรที่ดูแลติดเชื้อไปด้วยในระหว่างการดูแล

          การรักษาคนไข้ด้วยระบบ Telemedicine เป็นความหวังใหม่ในสถานการณ์โควิด อันที่จริงโรงพยาบาลทุกแห่งได้เตรียมพร้อมที่จะใช้ระบบนี้มาก่อนที่จะมีโควิด แต่การขับเคลื่อนยากมาก ตอนนั้นผู้บริหารโรงพยาบาลคิดว่าภายใน 5-6 ปีจะต้องเดินหน้า พอดีเกิดโควิดโรคอุบัติใหม่ขึ้น จึงนำระบบ Telemedicine มาใช้ให้เป็นจริง แม้จะไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าบุคลากรทางด้านสาธารณสุขไม่ได้เก่งสารสนเทศกันทุกคน มีข้อจำกัดในบางกลุ่ม จึงต้องมีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในหลายภาคส่วนด้วย

          ขณะนี้ในบ้านเราพูดถึงเรื่องการฉีดวัคซีน ปัญหาคนป่วย ผู้สูงอายุ ปัญหาความยากจน หลายปัญหาถูกซ่อนไว้ใต้พรม มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคของตัวเองค่อนข้างสูง ยิ่งการระบาดของโควิดในระลอก 3 มีความรุนแรงยิ่งกว่า 2 ครั้งแรก ปีก่อนทั้งปีป่วย 3,000 ราย แต่ปีนี้พบผู้ป่วยในวันเดียว 9,000 ราย ผู้สูงอายุจึงมีความปริวิตกเป็นอย่างมาก มีการจัดทำคู่มือหรือให้ข้อมูลเพื่อเป็นการพึ่งพาตัวเอง อยู่ในที่พักอาศัยอย่างปลอดภัย มีโทรศัพท์สายด่วนติดต่อผู้สูงอายุโดยตรงแยกจากประชากรกลุ่มอื่นด้วย ทำให้ผู้สูงอายุได้รับฟังข่าวสารจากคนข้างเคียง

          ขณะนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีโครงการเรามีเรา กรมกิจการผู้สูงอายุมีโครงการไทยห่วงไทย คนไทยไม่ทิ้งกัน ใช้โทรศัพท์ปรึกษาหารือกันได้ ผู้สูงอายุบางรายไม่ได้มีโทรศัพท์มือถือส่วนตัว ไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ ก็ใช้บริการโทรศัพท์กลางภายในชุมชน มีอาสาสมัครช่วยลงทะเบียนให้ ประสบการณ์ในชุมชนเป็นเกราะคุ้มกันอย่างดีภายในชุมชน เมื่อมูลนิธิได้รับของบริจาคจะไม่เข้าไปในพื้นที่ เพราะผู้สูงอายุมีความหวั่นเกรงว่าจะนำโรคไปให้เขา ก็ต้องให้คนในชุมชนที่มีความคุ้นเคยกันนำสิ่งของต่างๆ ไปมอบให้.

 

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"