อีกหนึ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในนามเยอรมนี


เพิ่มเพื่อน    

      “ข้าคือนายพลผู้ยิ่งใหญ่ของทหารเยอรมัน ขอส่งคำประกาศนี้ต่อชาวเฮเรโร แต่นี้ไปชาวเฮเรโรไม่ได้เป็นคนของเยอรมันอีกต่อไป พวกมันฆ่า ขโมย และตัดหูทหารเยอรมันที่บาดเจ็บ บัดนี้พวกมันกลับขี้ขลาดเกินกว่าจะต่อสู้ ใครก็ตามที่จับตัวระดับหัวหน้าของพวกมันมาได้จะมีรางวัลให้ 1 พันมาร์ก และสำหรับตัวแซมมูเอล มาเฮเรโร รับไปเลย 5 พันมาร์ก จากนี้ไปชาวเฮเรโรต้องออกไปจากประเทศ หากปฏิเสธข้าก็จะขับไล่ด้วยปืนใหญ่ ชาวเฮเรโรคนไหนถูกพบในเขตแดนเยอรมัน จะมีปืนหรือไม่มี จะมีวัวหรือไม่มี จะต้องถูกประหาร ข้าจะไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก ข้าจะออกคำสั่งเพื่อยิงและไล่พวกมันออกไป…”

            “พลโทโลธาร์ ฟอน โทธา” ผู้บัญชาการสูงสุดของเยอรมนีประจำแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ ส่งคำเตือนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1904 ไปยังชนพื้นเมืองแอฟริกาที่ลุกขึ้นสู้กับกองทัพเยอรมนีในดินแดนอาณานิคมที่เป็นประเทศนามิเบียในปัจจุบัน

                หลังจากการยื่นคำขาดนั้นก็เป็นที่ทราบกันว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็อุบัติขึ้น และกินเวลาถึง 4 ปี

                ชาวเฮเรโรและชาวนามา

                ชาวเฮเรโรเป็นชนชาติที่เลี้ยงปศุสัตว์แบบเร่ร่อน ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็สัญจรรอนแรมมาถึงเขตแดน “ดามาราแลนด์” ปัจจุบันคือพื้นที่ของประเทศนามิเบีย นอกจากเลี้ยงสัตว์แล้วพวกเขายังเป็นนักรบที่เหี้ยมเกรียม ไม่นานก็สามารถขับไล่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมให้กระจัดกระจายออกไปได้ ส่วนชาว “นามา” ก็เป็นชนเผ่าที่เลี้ยงสัตว์ตามทุ่งหญ้า อาศัยอยู่ทางใต้ของเขตชาวเฮเรโร

                ปี ค.ศ.1884 เยอรมนีได้เข้ายึดและตั้งอาณานิคมในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ (เหนือสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในปัจจุบัน) ผู้พัน “ทีโอดอร์ ลอยต์ไวน์” เป็นผู้ว่าการ เยอรมนีได้ใช้แรงงานชนพื้นเมืองและค่อยๆ ยึดที่ดินของพวกเขาเพื่อจัดสรรให้กับผู้เข้ามาตั้งรกราก ซึ่งส่วนมากจะได้ปศุสัตว์ติดมากับที่ดินด้วย สร้างความยากลำบากให้กับชาวเฮเรโรและชาวนามา รวมถึงค่อยๆ สั่งสมความขมขื่นคับแค้น

                เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในวันหนึ่งของเดือนมกราคม 1903 พ่อค้าชาวเยอรมันชื่อ “ดีทริช” เดินเท้าจากบ้านพักของเขาเพื่อจะไปซื้อม้าในเมืองใกล้ๆ ระหว่างทางมีครอบครัวลูกชายของหัวหน้าชาวเฮเรโรเผ่าหนึ่งนั่งรถม้าผ่านมา พวกเขามีน้ำใจให้ดีทริชขึ้นรถไปด้วย คืนนั้นระหว่างการพักในแคมป์เขาดื่มเหล้าจนเมาหนัก และเมื่อทุกคนนอนหลับดีทริชได้ข่มขืนภรรยาของลูกชายหัวหน้าเผ่า พอเธอขัดขืนดีทริชก็ใช้ปืนยิงเธอเสียชีวิต

                ในการพิจารณาของศาลที่กรุงวินด์ฮุค เมืองหลวงของอาณานิคมเยอรมนี ดีทริชอ้างว่าเป็นอุบัติเหตุ และเขาก็พ้นผิด ศาลเห็นว่าเขาป่วยเป็นไข้ป่าและมีอาการบ้าชั่วคราว สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเฮเรโรอย่างหนัก “ผู้พันลอยต์ไวน์” เห็นท่าไม่ดีจึงสั่งให้มีการพิจารณาคดีใหม่ ดีทริชถูกตัดสินให้มีความผิดและถูกสั่งจำคุก คราวนี้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวอาณานิคมเยอรมัน หาว่าลอยต์ไวน์เป็นคนทรยศต่อชนชาติ

 ผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเฮเรโรและชาวนามา (เครดิตภาพ : wikimedia commons)

 

                ต่อสู้ผู้กดขี่

                ชาวเฮเรโรทราบข่าวว่าเยอรมนีจะแบ่งพื้นที่โดยใช้เส้นทางรถไฟขีดเส้นให้เป็นเขตสงวนหรือกำหนดให้เป็นสถานที่อยู่ของชาวเฮเรโร ก่อนนั้นพวกเขาก็ถูกยึดที่ดินไปแล้วมากกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่ที่เคยมีอยู่ 130,000 ตารางกิโลเมตร ให้กับชาวอาณานิคม

                นอกจากนี้ยังมีกรณีการชดใช้หนี้สินที่ชาวเฮเรโรไปกู้มาจากชาวเยอรมันในอัตราดอกเบี้ยสุดโหด เวลาผ่านไปหนี้ส่วนใหญ่ไม่ถูกทวงถาม แต่ปริมาณหนี้พอกพูนทบต้นทบดอก “ผู้พันลอยต์ไวน์” ออกคำสั่งในปลายปี 1903 ว่าหนี้ที่เก็บไม่ได้ภายในปีถัดไปถือว่าเป็นหนี้สูญ เจ้าอาณานิคมก็เลยรีบยึดปศุสัตว์และของมีค่าต่างๆ ของชาวเฮเรโรเพราะลูกหนี้ไม่มีปัญญาจ่ายเป็นเงินสด

                ปัจจัยเรื่องการถูกเหยียดเชื้อชาติก็มีส่วนสำคัญ ผู้ตั้งรกรากผิวขาวมักเรียกชาวแอฟริกันผิวดำว่าเป็น “ลิงบาบูน” และปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างหมิ่นแคลน อีกทั้งเกิดเหตุการณ์ปลุกปล้ำข่มขืนหญิงสาวชาวพื้นเมืองอยู่เป็นระยะ

                ต้นปี 1904 ชาวเฮเรโรฉวยโอกาสที่ผู้พันลอนต์ไวน์ขนกำลังเกือบทั้งหมดจากทางเหนือไปปราบกบฏทางใต้ ชาวเฮเรโรนำโดย “แซมูเอล มาเฮเรโร” จัดการสังหารชาวอาณานิคมเยอรมันไปเกือบ 150 คน จากนั้นปิดล้อมเมืองโอคาฮันดยา ทำลายเส้นทางรถไฟและสายโทรเลขที่เชื่อมกับกรุงวินด์ฮุค

                ผู้พันลอยต์ไวน์ส่งสารไปบอก “มาเฮเรโร” เพื่อขอเจรจาและยุติสงครามโดยไม่ได้ขออนุมัติจากทางรัฐบาลในเยอรมนีซึ่งกำลังโกรธแค้นชนพื้นเมือง อับอายและต้องการเอาคืนด้วยเลือด ฝ่ายชาวเฮเรโรก็นึกว่ากองกำลังเยอรมันไม่กล้าสู้แล้วจึงไม่ยอมสงบศึกให้เสียเชิง

                การมาของอินทรีพิฆาต

                ในที่สุดผู้พันลอยต์ไวน์ก็ส่งหนังสือไปทางเยอรมนีเพื่อขอกำลังเสริม “พลโทโลธาร์ ฟอน โทธา” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการสูงสุดในแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ในเดือนพฤษภาคม 1904 ซึ่งนำกำลังจำนวน 14,000 นาย มาถึงแอฟริกาในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

                ขอกล่าวย้อนไปในปี 1900 ทูตเยอรมันในกรุงปักกิ่งถูกสังหารในเหตุการณ์ “กบฏนักมวย” นายพลโทธาได้รับความไว้วางใจจาก “ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2” ให้ไปปราบกบฏนักมวย โดยท่านไกเซอร์ผู้ไม่โปรดคนผิวเหลืองและชนที่ดูต่ำต้อยกว่า สั่งให้นายพลโทธาแสดงความโหดเหี้ยมให้ชาวจีนได้ประจักษ์ และผลงานจากเมืองจีนก็ทำให้นายพลโทธาได้รับภารกิจแบบเดียวกันที่นามิเบีย

                ผู้พันลอยต์ไวน์นั้นเป็นคนของกระทรวงอาณานิคม มีหน้าที่รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี ส่วนนายพลโทธารายงานตรงต่อ “คณะเสนาธิการใหญ่” ได้รับการสนับสนุนจากไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2

                ขณะที่ผู้พันลอยต์ไวน์ต้องการเอาชนะชาวเฮเรโรและเจรจาให้พวกเขายอมแพ้เพื่อจัดระเบียบทางการเมืองเสียใหม่ ด้านนายพลโทธากลับมีแผนที่จะบดขยี้ชนพื้นเมือง และในเดือนสิงหาคม 1904 กองกำลังเฮเรโรก็ถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ในระดับที่น่าสะพรึงกว่าเหตุการณ์ในกรุงปักกิ่งหลายเท่า

                นายพลโทธาสั่งประหารผู้ชายชาวเฮเรโรที่ถูกจับได้ ขณะที่ผู้หญิงและเด็กถูกขับไล่ออกไปสู่ทะเลทราย ซึ่งความตายรออยู่เช่นกัน เขายอมรับว่าไม่จำเป็นต้องมีข้อยกเว้นสำหรับผู้หญิงและเด็ก เพราะพวกนี้อาจทำให้ทหารเยอรมันติดเชื้อโรคได้ อย่างไรก็ตาม ทหารเยอรมันก็ยังข่มขืนผู้หญิงเฮเรโรก่อนสังหาร หรือไม่ก็ปล่อยให้ไปตายกลางทะเลทราย

            “หากข้าปล่อยให้มีท่อเล็กๆ สำหรับผู้หญิงพื้นเมืองหนีรอดไปได้ ก็จะเป็นความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงสำหรับภารกิจในแอฟริกา เทียบได้กับหายนะที่เกิดกับการสู้รบในยุทธภูมิเบเรโซเนีย” นายพลโทธาเขียนไว้ในปี 1909 เปรียบเทียบกับการถอยทัพของนโปเลียนออกจากการยึดครองกรุงมอสโกเมื่อปี 1812 ซึ่งเยอรมนีอยู่ร่วมกับฝ่ายฝรั่งเศส

            “คณะเสนาธิการใหญ่” ตีพิมพ์ในหนังสือทางการ ชื่อ Der Kampf (การยุทธ) ของพวกเขา ระบุว่า “ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวสำแดงแสงอิทธิฤทธิ์และการไร้ความปรานีในการบังคับบัญชาเพื่อเข่นฆ่าศัตรู เราไม่เจ็บปวด ไม่สูญเสีย ในการกำจัดเศษซากสุดท้ายของข้าศึก ดั่งสัตว์ป่าบาดเจ็บถูกตามล่าจากหลุมไปสู่รู จนพวกมันพบจุดจบในสภาพแวดล้อมที่พวกมันคุ้นเคยดี ทะเลทรายอันแห้งแล้งเวิ้งว้างทำงานในส่วนที่เหลือที่กองทัพเยอรมันได้เริ่มไว้ : การขุดรากถอนโคนชาติเฮเรโร”

            ค่ายกักกันและการทดลอง

                ปลายปี 1904 ผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกต้อนไปยังค่ายกักกันบนเกาะฉลาม (Shark Island) เกาะเล็กๆ ติดกับอ่าวลูเดอริตซ์ ชายฝั่งนามิเบีย นักโทษถูกคัดเป็นกลุ่มที่ทำงานได้และทำงานไม่ได้ มีการออกใบมรณบัตรไว้ล่วงหน้าสำหรับแต่ละคน แจ้งสาเหตุการตายคืออ่อนเพลียจากการขาดอาหาร เรื่องนี้รัฐบาลอังกฤษได้ตีพิมพ์เป็นรายงานออกมาในปี 1918

                อาหารที่ชาวค่ายได้รับมีเพียงข้าวปริมาณน้อยนิด ไม่มีกับข้าว นอกจากนี้ข้าวยังหุงไม่ค่อยสุก ทำให้อาหารไม่ย่อย หากโชคดีม้าและวัวตายลงในค่ายจึงได้กินเนื้อสัตว์ การป่วยไข้ด้วยโรคบิดและโรคเกี่ยวกับปอดถือเป็นเรื่องปกติ

                หนังสือพิมพ์ Cape Argus ของแอฟริกาใต้ตีพิมพ์คำให้สัมภาษณ์ของนักบัญชีคนหนึ่งผู้ได้รับงานเกี่ยวกับการขนส่งในอ่าวลูเดอริตซ์

            “...นักโทษมีอยู่หลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก มีชายชราจำนวนไม่กี่คน เมื่อพวกเขาล้มลงก็ถูกทหารหวดด้วยแส้เต็มแรงจนกว่าพวกเขาจะลุกขึ้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเห็นผู้หญิงแบกเด็กทารกผูกติดอยู่บนหลัง และทูนกระสอบข้าวอยู่บนศีรษะ เมื่อล้มลงเธอก็ถูกหวดด้วยแส้เป็นเวลานานกว่า 4 นาที ทารกน้อยก็โดนหวดไปด้วย ผู้หญิงค่อยๆ ยันกายลุกขึ้นและเดินต่อได้สำเร็จ ตลอดเวลาเธอไม่ส่งเสียงออกมาแม้แต่นิดเดียว มีเพียงเสียงร้องของทารกเท่านั้นที่ดังลั่น”

                พ่อค้าเพชรชาวอังกฤษเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังอ่าวลูเดอริตซ์ตอนที่เกาะฉลามกลายเป็นค่ายกักกันนักโทษชาวเฮเรโรและนามา เขาเขียนบันทึกเกี่ยวกับค่ายแห่งนี้ไว้ว่า “กลางคืนอากาศหนาวเหน็บ ลมทะเลพัดกัดกร่อนร่างให้ปวดแสบ ทุกๆ วันมีคนตายจากความหนาว ความหิวโหย โรคภัย และความบ้าคลั่ง ร่างไร้วิญญาณถูกนำใส่รถเข็นไปยังชายหาด พื้นทรายถูกขุดตื้นๆ ฝังพอให้มิดศพยามที่น้ำลง และเมื่อน้ำขึ้นศพก็ถูกชะออกไปสู่ทะเล เป็นอาหารของปลาฉลาม”

            “ลุดวิก ฟอน เอสทอร์ฟ” ผู้บัญชาการค่ายกักกันเขียนรายงานว่า จนถึงปี 1907 มีนักโทษประมาณ 1,700 รายเสียชีวิตลง ฝ่ายหมอสอนศาสนารายงานว่า มีคนตายวันละ 12-18 คนทุกวัน รวมแล้วนักโทษบนเกาะฉลามเสียชีวิตลงถึง 80 เปอร์เซ็นต์

                นอกจากนี้ยังมีการทดลองทางการแพทย์กับนักโทษโดยหมอชาวเยอรมัน เช่น การฉีดยาให้กับนักโทษที่เป็นโรคลักปิดลักเปิดด้วยสารต่างๆ รวมทั้งสารหนูและฝิ่น และเมื่อนักโทษเสียชีวิตลง หมอก็ศึกษาผลของการใช้สารเหล่านั้นด้วยการผ่าศพ ซึ่งการใช้ศพของนักโทษเป็นอาจารย์ใหญ่เกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และส่วนมากแล้วชำแหละศพทันทีหลังจากเสียชีวิต

                มีการส่งกะโหลกศีรษะจากค่ายแห่งนี้กลับไปยังเยอรมนีประมาณ 300 ตัวอย่าง รัฐบาลนามิเบียขอคืนในปี 2008 การเจรจาดำเนินอยู่ 3 ปี เยอรมนีก็คืนให้ 20 กะโหลก จากนั้นในปี 2014 ส่งคืนเพิ่มอีก 14 กะโหลก

                สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น ประมาณกันว่าชาวเฮเรโรเสียชีวิต 65,000-80,000 คน ชาวนามาเสียชีวิต 10,000-20,000 คน หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และ 50 เปอร์เซ็นต์ ของชาวเฮเรโรและชาวนามาที่เคยมีอยู่ตามลำดับ

                นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อมโยงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องค่ายกักกันและการทดลองทางการแพทย์กับกรณี “พันธุฆาตชาวยิว” ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ของ “อดอล์ฟ ฮิตเลอร์” รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวอาร์มีเนียในปี 1915 ที่ฮิตเลอร์นำมาปรับใช้

                ทั้งนี้ เยอรมนีสูญเสียนามิเบียในชื่อ “เซาท์เวสต์แอฟริกา” ให้กับอังกฤษในปี 1915 ระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 1 จากนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของแอฟริกาใต้ ก่อนได้รับเอกราชในปี 1990 ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ของนามิเบียเป็นชาว “โอวัมโบ” เสียราวครึ่งหนึ่ง ขณะที่ชาวเฮเรโรเป็นส่วนประกอบเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ และชาวนามาประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น


อนุสาวรีย์ผู้พิชิตบนหลังม้า ตั้งตระหง่านสดุดีวีรกรรมทหารเยอรมันอยู่ในกรุงวินด์ฮุค เมืองหลวงของนามิเบียเป็นเวลา 1 ศตวรรษ กว่าจะมีการย้ายออกไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน (เครดิตภาพ : Leo Koolhoven)

 

                การยอมรับและการชดใช้

            วันศุกร์ที่แล้ว รัฐบาลเยอรมนีโดย “ไฮโค มาส” รัฐมนตรีต่างประเทศประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการว่า เหตุการณ์ระหว่างปี 1904-1907 ที่กองทัพเยอรมันแห่งอาณานิคมเซาท์เวสต์แอฟริกากระทำต่อชาวเฮเรโรและชาวนามานั้น ในมาตรฐานมุมมองของปัจจุบันคือ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (“ราฟาเอล เลมคิน” นักกฎหมายชาวยิว-โปล เป็นผู้นิยามคำว่า Genocide ในปี 1944 และองค์การสหประชาชาติเริ่มใช้ในปี 1948)

                เยอรมนีขออภัยต่อนามิเบียและลูกหลานของเหยื่อเมื่อ 1 ศตวรรษก่อน และขอชดใช้เงิน 1.1 พันล้านยูโร ให้กับรัฐบาลนามิเบีย สำหรับโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงการด้านสุขภาพ และการฝึกอบรมต่างๆ โดยทยอยจ่ายเป็นงวดในระยะเวลา 30 ปี

                รัฐบาลนามิเบียโดย “ฮาเม เกอิงกอบ” โฆษกประจำตัวประธานาธิบดีอ้าแขนรับข้อเสนอ และกล่าวว่าเยอรมนีทำในสิ่งที่เรียกว่า “ก้าวหนึ่งในทิศทางที่ถูกต้อง”

                ตรงกันข้ามกับ “สภาหัวหน้าเผ่า” ของชาวเฮเรโรและนามาที่ออกแถลงการณ์ว่า “ไม่สามารถยอมรับได้” และ “ดูหมิ่นการมีอยู่ของพวกเรา” โดยขอให้รัฐบาลนามิเบียเจรจากับเยอรมนีใหม่ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้มอบให้กับลูกหลานชาวเฮเรโรและชาวนามาผู้ได้รับผลกระทบ

            “ฮูเพรชต์ พูเลนซ์” หัวหน้าทีมเจรจาของเยอรมนี กล่าวว่า ในการพูดคุยจนนำมาสู่ข้อสรุปที่ออกมานั้นเน้นไปที่ “ความรับผิดชอบทางศีลธรรมและทางการเมือง” และ “เราไม่ได้เจรจาประเด็นการชดใช้ค่าเสียหายในทางกฎหมาย.

 

***************

 

แหล่งข้อมูล :

- en.wikipedia.org/wiki/Herero_and_Namaqua_genocide

- dw.com/en/german-recognition-of-namibia-genocide-sees-mixed-reactions

- worldwithoutgenocide.org/genocides-and-conflicts/herero-and-nama

- ushmm.org/collections/bibliography/herero-and-nama-genocide

 

 

 

 

 

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"