เป้าหมาย-เส้นทาง พรรค รปช. ภูมิทัศน์การเมืองใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 เป้าหมาย-เส้นทางพรรค รปช. หนุนใครเป็นนายกฯ?

หลังมีข่าวมานานว่าอดีตแกนนำ-ผู้เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส.จะมีการจัดตั้งพรรคการเมือง จนต่อมามีการไปจดแจ้งการใช้ชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กับสำนักงาน กกต. เมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ในที่สุดกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.ก็จะมีการแถลงข่าวการจัดตั้งพรรคในวันอาทิตย์ที่ 3 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยรังสิต 

ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่มีประสบการณ์และดีกรีทางการเมือง-แวดวงการวิชาการมามากมายหลายสิบปี ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมายนับไม่ถ้วน กับสถานะในวันนี้ที่เป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรค รปช. บอกเล่าที่มาที่ไปของการตัดสินใจกลับสู่ถนนการเมืองการเลือกตั้งอีกครั้งหลังห่างหายไปร่วม 13 ปี ตลอดจนเรื่องราวจุดกำเนิด-อุดมการณ์-เป้าหมายทางการเมืองของพรรค รปช.ภายใต้ความตั้งใจส่วนตัวว่า ที่กลับมาทำพรรค รปช.ครั้งนี้หวังว่าจะเป็นภารกิจสำคัญครั้งสุดท้ายของชีวิต ที่ตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด เพื่อต้องการให้พรรค รปช.เป็นอีกหนึ่งพาหนะสำคัญทางการเมืองที่จะสร้างภูมิทัศน์การเมืองใหม่ให้กับประเทศ โดยเฉพาะการทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนพรรค รปช.จะใช่พรรค กปปส.หรือไม่ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส.จะมีบทบาทอย่างไรในพรรค ทุกข้อสงสัยมีคำตอบ..

ดร.เอนก เริ่มต้นด้วยการพูดถึงเหตุที่มาทำพรรครวมพลังประชาชาติไทยว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองไทยมีอยู่ 3 แบบตลอด 70 ปีที่ผ่านมา แบบแรก พรรคของผู้นำที่ส่วนใหญ่เป็นทหาร ที่มีความจำเป็นต้องลงเลือกตั้ง ผ่านการเลือกตั้ง จึงต้องทำพรรคการเมือง แต่ก็เป็นแค่พรรคแต่ชื่อ เพราะความจริงก็เป็นเพียงเครื่องมือ-พาหนะของผู้นำทางทหาร เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำพรรคเสรีมนังคศิลา, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ตั้งพรรคชาติสังคม หรือจอมพลถนอม กิตติขจร กับพรรคสหประชาไทย รวมถึงพลเอกสุจินดา คราประยูร ก็มีพรรคสามัคคีธรรม แต่พรรคเหล่านี้ไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง

พรรคแบบที่สอง เป็นพรรคของนักธุรกิจการเมือง ที่ได้ข้อสรุปว่าการร่ำรวยอย่างรวดเร็วและมหาศาล ไม่มีอะไรดีกว่าการทำธุรกิจการเมือง จึงตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ซึ่งพรรคลักษณะดังกล่าวมีหลายพรรค แต่ไม่ขอพูดถึงชื่อ เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่

พรรคแบบที่สาม คือพรรคของคนที่สนใจการเมือง ชอบที่จะมีอาชีพทางการเมือง เช่น เคยเป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่น แล้วสนใจอยากขยับขึ้นไปเป็น ส.ส. อยากเป็นรัฐมนตรี พรรคแบบนี้ก็มีอยู่

...ตัวผมเองก็เคยทำงานการเมืองมา ก็อยากทำพรรคให้เป็นพรรคการเมืองที่มีคุณภาพ แต่ก็ยากที่จะสำเร็จ มีบางครั้งคนเชิญไปเป็นหัวหน้าพรรค ก็เข้าไปทำงานกับเขาอยู่ แต่เนื่องจากมีเราอยู่คนเดียว และมีคนช่วยสนับสนุนไม่กี่คน แต่ด้วยโครงสร้างพรรค-จิตวิญญาณพรรค-อุดมการณ์ มันไปด้วยกันไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถทำการเมืองได้ยาวนาน ก็ต้องออกมา

ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา ผมเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงมาก ประชาชนมีบทบาทมีส่วนในการสร้างประชาธิปไตยที่ดีมาตลอด แล้วผมก็อยู่ในกระบวนการนี้ไม่ใช่น้อย เช่น เหตุการณ์ช่วง 14 ต.ค.16 หรือ 6 ต.ค.19 ซึ่งประชาชนออกมาเป็นแสนเพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวโดยไม่กลัวเจ็บกลัวตายหรือกลัวพิการ ตอนนั้นผมอายุก็ยังน้อยๆ ยังหนุ่มกว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล ในเวลานี้ จบจากเหตุการณ์ตอนนั้นก็คิดว่าคงไม่มีเหตุแบบนี้อีกแล้ว แต่ก็มาเกิดการเคลื่อนไหวช่วงพฤษภาคม ปี 2535 ที่เป็นการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง คนออกมาเต็มท้องถนน มีคนเสียชีวิต-สูญหายมากมาย จากนั้นก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่างๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ, กลุ่ม กปปส.

...การเคลื่อนไหวของ กปปส. แม้ผมจะไม่ได้เข้าร่วม แต่ก็พบว่ามีคนออกมาร่วมด้วยมหาศาล มีคนออกมาเป็นเรือนล้าน ที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยรักบ้านรักเมือง อยากเห็นประชาธิปไตยที่ดี

ผมก็คิดว่าคนไทยมีศักยภาพที่สูงมาก หลายเดือนที่ผ่านมาก็มีผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.ที่จำนวนหนึ่งก็มาจากอดีตกลุ่ม กปปส.เดิม ก็มาชวนให้ผมมาทำพรรคการเมือง ผมก็คิดว่า ถ้า กปปส.ในอดีต ถ้าได้คิดข้ามไปอีกขั้นเดียวเท่านั้น คือเนื่องจากตอนนี้เรามีกำลังที่เป็นจริงแล้ว แต่กำลังที่เป็นจริงของเราแสดงออกในยามที่บ้านเมืองคับขันอันตรายสุดขีด จนออกมาร่วมกันต่อสู้ ยอมเจ็บยอมตาย เสร็จแล้วเราจะไปยกบ้านเมืองให้คนอื่นทำอะไรต่อไปอีก ซึ่งเราก็เห็นๆ อยู่ว่า ไม่หนักแน่นเท่าที่พวกเราจะเข้าไปทำกันเอง ผมก็คิดว่าโอกาสที่จะทำพรรคที่มีคุณภาพอย่างที่ผมคิดอยากจะทำ และพร้อมจะทำ มาบรรจบกันได้

ดร.เอนก-ผู้ก่อตั้งพรรค รปช. กล่าวต่อไปว่า ข่าวการตั้งพรรค รปช.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็ออกมาด้วยกระบวนทัศน์แบบเดิม ว่าเขาจะยกให้ผมเป็นหัวหน้าพรรคอีก แล้วผมถึงได้ออกมาปฏิเสธโดยสุภาพว่ายังไม่มีใครมาทาบทามผมเป็นหัวหน้า แล้วผมก็ยังไม่ได้ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้า แล้วพรรค รปช.ก็จะไม่ทำงานการเมืองแบบพรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่มีมา คือเราจะไม่เริ่มจากเจ้าของพรรค นายทุนพรรค ที่เมื่อรู้แล้วว่าใครจะทำพรรค ก็ประกาศตัวเองขึ้นมาเป็นเจ้านายทันที แล้วมาคอยตามหาลูกน้อง เอานักการเมืองที่ดูแล้วมีแววจะได้เป็น ส.ส.ไปกวาดต้อนเอาเข้ามา แจกจ่ายเงินทอง แล้วก็วางแผนการเลือกตั้ง ด้วยความตั้งใจจะเข้าไปเป็นรัฐบาลเพื่อไปแบ่งเก้าอี้ แล้วก็มีตัวคนไว้แล้วว่าจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ที่หากไม่ใช่หัวหน้าพรรคตัวเองแล้วจะเป็นคนไหน ที่เป็นการเมืองแบบเก่า

ผมถึงได้บอกว่าจากนี้ไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน พรรครวมพลังฯ จะไม่มีหัวหน้า-เลขาธิการพรรค หากจะมีก็เป็นชั่วคราว ตอนนี้เรามีผู้ก่อตั้งและสมาชิกอยู่ประมาณ 200 คน หากเรามีผู้ก่อตั้ง 500 เมื่อใด ที่คาดว่าคงอีกไม่นาน เราก็จะเปิดประชุมผู้ก่อตั้งพรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชั่วคราว จากนั้นพรรคถึงจะไปหาสมาชิกได้ ที่จะใช้เวลาหาสมาชิกประมาณ 3 เดือน จะมีการรณรงค์ทั่วประเทศ เราจะเดินไปหาประชาชนให้มากที่สุดในทุกที่ทุกแห่งทั้งในเมืองและชนบทเพื่อหาสมาชิกให้ได้ระดับหลักหมื่นหลักแสน โดยสมาชิกพรรคจะต้องช่วยกันเสียสละด้วยการอุทิศเงินให้กับพรรคปีละ 365 บาท ไม่ใช่แค่ร้อยบาท ที่ก็ไม่แพงและไม่ถูก เฉลี่ยก็วันละบาท

ส่วนผู้ร่วมก่อตั้งพรรค จะต้องบริจาคคนละ 5 หมื่นบาท ตอนนี้ก็มีคนบริจาคแล้วเป็นเงินร่วม 10 ล้านบาท เราจะหาผู้ก่อตั้งให้ได้มากที่สุด โดยจะหาไปจนถึงวันที่ก่อตั้งพรรคได้แล้วก็จะหยุดรับผู้ก่อตั้ง แต่ก็จะหาสมาชิกพรรคต่อไป

สำหรับสมาชิกพรรคทุกคนจะต้องมาร่วมกันเลือกกรรมการบริหารพรรค โดยกรรมการบริหารพรรคจะมีด้วยกัน 9 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละไม่เกิน 4 ปี แต่หัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรค จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 ปี จากนั้นต้องให้คนอื่นขึ้นมาเป็นแทน เพราะเราไม่อยากเห็นหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค ที่เป็นคนคนเดียวไปตลอดกาล รวมถึงสมาชิกพรรคก็จะเป็นผู้ให้การตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าพรรคควรต้องส่งคนลงเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ

โดยผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทางพรรคจะมีการส่งคนลงสมัครในรูปแบบที่เป็นเสียงของประชาชาติไทยจริงๆ คือให้มีสัดส่วนผู้สมัครชายหญิงใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสที่จะได้อยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับต้นๆ รวมถึงการให้โอกาสกับกลุ่มต่างๆ เช่น ชาวเขาเผ่าต่างๆ, คนพิการ, ผู้ด้อยโอกาสต่างๆ รวมถึงลูกหลานคนต่างชาติที่มาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้คิดกัน เช่น ลูกชาวอินเดีย, ชาวตะวันตก, คนผิวดำ เราก็จะส่งลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ โดยให้อยู่อันดับต้นๆ เพื่อทำให้เห็นว่า เป็นประชาชาติไทยจริงๆ ที่เป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็นมานานแล้ว

คำว่ารวมพลังประชาชาติไทยไม่ใช่ชื่อพรรคที่ตั้งชื่อไว้ให้มันยาวเล่น แต่มีนัยอยู่

ดร.เอนก-แกนนำพรรค รปช. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สมาชิกพรรคก็จะได้เลือก กรรมการวินัยและจริยธรรมของพรรค ที่จะมีบทบาทในการควบคุม พิจารณาและตัดสินถ้าผู้นำพรรคทำอะไรบกพร่องเสียหาย เช่น ทำผิดกฎหมาย โดยให้มีอำนาจลงโทษปลดหัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคได้-ปลดรัฐมนตรีของพรรคออกก็ได้ โดยกรรมการวินัยฯ แจ้งกับกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้ถอดชื่อคนของพรรคที่มีปัญหาดังกล่าวออกจากตำแหน่ง เช่น ให้ลาออกหรือขับออกจากพรรค หากไปทำอะไรผิด

ทั้งหมดคือสิ่งที่พรรค รปช.แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสนใจที่จะเข้ามาทำพรรค

หลายคนก็เป็นห่วงผมมากว่าชื่อเสียงที่ดีงาม ที่เคยสะสมเอาไว้ คราวนี้จะมัวหมองหรือไม่ ผมก็ได้บอกคนที่รักที่ใกล้ชิดผมไปว่า ไม่ต้องห่วงผมหรอก เพราะทำพรรครอบนี้ ผมอาจไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค แล้วหากไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค ผมก็เต็มใจที่จะไปทำงานตำแหน่งอื่นๆ เพราะเป็นการเลือกของสมาชิกพรรค ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด เป็นประชาธิปไตยในพรรค ซึ่งถ้าประชาธิปไตยในพรรคตัดสินอย่างไรผมก็พร้อม หากเขาให้ผมเป็นรองหัวหน้าพรรค ผมก็ยินดีรับใช้หัวหน้าพรรค หากเขาให้ผมเป็นเลขาธิการพรรค ผมก็ยินดีทำงานรับใช้พรรค แต่หากเขาโหวตให้ผมเป็นกรรมการบริหารพรรค 1 ใน 9 คน ที่ไม่มีตำแหน่งอะไร ผมก็ยินดีรับทำงานรับใช้พรรค เพราะมันเป็นความชอบธรรม ที่สมาชิกพรรคเป็นผู้ตัดสินจริงๆ ทำให้สมาชิกพรรครู้สึกว่า พรรคดีไม่มีฟรี ถ้าอยากได้พรรคที่ดีก็ต้องออกเรี่ยวออกแรง ไม่ใช่คอยแต่บ่น คอยแต่ด่า แต่ตัวเองไม่มาทำ

ดังนั้นผมจะทำให้ดู แล้วก็จะชวนคนอื่นๆ ให้มาดูว่าการทำพรรคการเมืองไม่ได้น่ากลัวอะไร แต่เป็นการลงทุนตอกเสาเข็มให้กับประเทศชาติ ให้กับลูกหลานตัวเองแท้ๆ จะปล่อยให้คนในวัย 10-20 ปีตอนนี้อยู่กับสิ่งที่มันฟอนเฟะเน่าเหม็นต่อไปอีกหรือ แล้วนานๆ ครั้ง พอทนไม่ได้ก็ลุกขึ้นมา แล้วก็นองเลือดกันอีก จะตายแบบที่ผ่านมาอีกสักกี่ครั้ง ผมก็พูดในวัยที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว ที่ต้องคิดทำอะไรให้ลูกหลาน ประชาชาติไทยของเรา

ผมถึงได้พูดกับบางคนว่า สิ่งที่ทำต่อไปนี้คือภารกิจ หรือโปรเจ็กต์สุดท้ายในชีวิตของผม ที่ก็ไม่ได้กลัวจะล้มเหลว หรือกลัวอะไร เพราะเราไม่ได้คิดจากมุนนั้น ไม่ได้คิดว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ต้องสำเร็จ แล้วเราก็จะทำในส่วนที่เราทำได้ และที่เราทำได้ ได้คิดไว้หลายบทบาทมาก เช่น การเป็น ผอ.โรงเรียนพรรคเป็นต้น

 คือต้องทำให้ดีที่สุด จะทำอยู่สักพักหนึ่ง แล้วก็จะให้คนอื่นขึ้นมาทำแทน ไม่ทำนาน ถ้าเป็นอุดมคติจริงๆ ก็คิดว่าจะทำอีก 4-5 ปี ในระยะเฉพาะกาลของ รธน.ฉบับปัจจุบัน จากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตที่ผมชอบมากที่สุดคือการเป็นครูอาจารย์

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการตั้งพรรค รปช.ว่าผู้ก่อตั้งพรรคคุยกันนานแค่ไหน ถึงได้ข้อสรุปร่วมกันจนตกผลึกในการตั้งพรรคครั้งนี้ ดร.เอนก เปิดเผยว่า เขาคุยกันมาเป็นปีแล้ว แต่ผมไปร่วมพูดคุยกับเขาก็ประมาณช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ตัวผมก็ไม่ได้คุยกับผู้ก่อตั้งพรรค รปช.พรรคเดียว ก็คุยหลายพรรค มีบางพรรคเขาพูดออกมา แล้วผมคิดว่าผมไม่เหมาะ แล้วก็มีบางพรรคที่คิดว่าหากไปอยู่กับพรรคนั้น อนาคตผมได้เป็นรัฐมนตรีแน่ๆ แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอกไว้ ชีวิตผมไม่ได้เริ่มที่ว่า ต้องมีตำแหน่งอะไร แต่เริ่มที่ว่า จะมีงานอะไรที่จำเป็นน่าสนใจ ซึ่งหากไปอยู่กับบางพรรคแล้วได้เป็นรัฐมนตรี แต่ไม่ได้ทำให้การเมืองก้าวกระโดด มีโอกาสใหม่ๆ ผมก็รู้สึกเฉยๆ แต่คนที่กระโดดมาทำพรรคการเมืองแบบที่กำลังทำตอนนี้ ไม่น่าจะมีมากนัก

ผมคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เรียกกันว่า Windows of Opportunity เกิดหน้าต่างแห่งโอกาสขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดง่ายๆ ที่จริงมันช้าไปนิด เพราะถ้า กปปส.ยุติบทบาทแล้วการเมืองกลับสู่ประชาธิปไตยใน 1-2 ปี กระแสความรักชาติ ที่อยากกอบกู้ประเทศชาติ-ประชาธิปไตย มันยังเหลืออยู่มาก แต่ตอนนี้ผ่านมา 4 ปีแล้ว ผมว่าลดลงไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังคิดว่าจิตใจคนไทยเป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ก็คิดว่าหากได้อธิบายให้เขาฟัง ประชาชนจะตื่นตัว

สำหรับที่มาที่ไปของการใช้ชื่อพรรครวมพลังประชาชาติไทย ดร.เอนก เล่าที่มาที่ไปให้ฟังว่า เราพยายามที่จะไม่ตั้งชื่อพรรคที่เป็น กปปส.ที่จะทำให้คนรู้สึกว่าเป็น กปปส. เพราะคนที่เคยร่วมเคลื่อนไหวในนาม กปปส.ตอนนี้ก็กลับคืนสู่พรรคการเมืองที่เคยสังกัดเดิม กลับไปสู่งานเดิม วิถีชีวิตเดิม เราจะเอาชื่อเขามาตั้งเป็นชื่อพรรค เราต้องเคารพพวกเขา พวกเขามีอะไรร่วมกันตอนนั้นที่แสดงออกมันเรื่องเดียวคือเรื่อง ต่อสู้กับประชาธิปไตยที่ฉ้อฉล อำนาจที่ฉ้อฉล แต่หลังจากนั้นเขาก็กลับไปสู่ชีวิตปกติของเขา

ดังนั้นการที่เราจะไปหยิบชื่อที่เคยใช้ร่วมกันมาใช้อีกทีหนึ่ง ก็ไม่เหมาะแล้ว แต่เราก็ชื่นชม นิยมนับถือในความคิดอุดมการณ์ของคนที่อยากเสียสละเพื่อชาติเพื่อบ้านเมือง เรายังจะเก็บรักษาไว้ แล้วเราก็จะชวนคนที่เคยเคลื่อนไหว กปปส.จำนวนหนึ่งที่เราก็หวังว่าจะเป็นจำนวนมากให้เขากลับมาคิดต่อว่ามันยังเดินไปได้อีกสเต็ปหนึ่ง ที่จะทำพรรคการเมืองที่ไม่ต้องใช้ชื่อ กปปส. แต่ว่าสืบทอดภารกิจของ กปปส. แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องใจกว้างและต้องลืมอดีตพอสมควร เราต้องพยายามหากำลังคนใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ กปปส. ที่ไม่ใช่ กปปส.คือเราจะแสดงให้เขาเห็นชัดว่า ไม่มีอะไรที่เป็นทางการกับ กปปส.แล้ว แต่เราก็สามารถทำอะไรหลายอย่างที่ กปปส.ไม่ได้ทำ แต่สามารถทำได้ เช่น พรรค รปช.ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะภารกิจหนึ่งสิ้นสุดลงแล้ว ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่อีกภารกิจหนึ่งแล้ว เราจะไปยึดถือทุกอย่างของ กปปส.มันก็คงไม่ใช่ แม้แต่ กปปส.เองก็ยุติบทบาทไปแล้ว เราจึงต้องหาสมาชิก หาผู้ก่อตั้งที่ไม่ใช่ กปปส.ด้วย

ผู้ก่อตั้งพรรค รปช.-ดร.เอนก กล่าวต่อไปว่า ทางผู้ร่วมตั้งพรรคก็คิดว่าคำไหนที่จะเหมาะกับการใช้ชื่อตั้งพรรค คำว่า รวมพลัง จึงต้องมี เพราะผู้ก่อตั้งพรรคเป็นพวกมีพลัง มีความคึกคัก กระตือรือร้น หนักแน่น แล้วเราก็มาคิดต่อว่ามีคนไทยมากมายที่ด้อยโอกาส ไม่ค่อยได้รับการอุปถัมภ์ดูแลเท่าที่ควรที่มีหลายกลุ่ม เช่น คนพิการจำนวนหลายล้านคน ที่ยังไม่ได้รับอะไรจากรัฐ-สังคมมากเท่าที่ควร จึงควรต้องช่วยเขา ก็เลยคิดว่าเราคงจะหาคะแนนจากปาร์ตี้ลิสต์ได้ไม่น้อย คือถึงจะแย่ที่สุดอย่างไร แต่ก็น่าจะได้ไม่น้อย ทั้งปาร์ตี้ลิสต์และจาก ส.ส.เขตจำนวนหนึ่ง แต่เราก็ไม่ได้มุ่งที่เขตมากนัก เรามุ่งที่ปาร์ตี้ลิสต์ โดยรายชื่อผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ ก็จะให้สัดส่วนกับคนที่ไม่เคยอยู่ในแวดวงการเมืองมาเลย เพื่อให้เข้าไปอยู่ในสภาฯ จะได้ทำให้สภาผู้แทนราษฎรของเราเป็นสภาของประชาชนจริงๆ เสียที ได้เข้าไปพูดได้เข้าไปทำอะไรในสภาฯ จะได้เห็นสิ่งใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

สิ่งที่ผมอยากทำจริงๆ ก็คือการเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียนพรรค เพราะเท่าที่คุยกันในกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรค เราก็เห็นว่าพรรคต้องนำด้วยพลังของศีลธรรม พลังของปัญญา และคุณธรรม การทำเรื่องใหญ่ มันไม่ได้สำเร็จด้วยเงินหรืออำนาจ แต่จะสำเร็จได้ด้วยพลังแห่งศีลธรรม พลังแห่งจิตวิญญาณ จึงต้องมีการปลูกฝังสมาชิกของเราให้มีพลังแห่งศีลธรรม-คุณธรรมให้มาก โดยโรงเรียนพรรคจะทำหน้าที่ดังกล่าว เพื่อให้สมาชิกพรรคทุกระดับทั้งระดับบน-ล่าง มีพลังทางศีลธรรม พลังทางปัญญา-อุดมการณ์ใกล้เคียงกัน แบบนี้ ถึงจะทำให้พรรคทำการเมืองแบบล่างขึ้นบน หรือ Bottom-up ที่มีคุณภาพได้จริงๆ ซึ่งแน่นอนการทำพรรคบางทีก็ต้องทำจากบนลงล่าง Top-down แต่หลายครั้งก็ต้องให้จากล่างขึ้นมาข้างบน ที่หากมีมากเท่าไหร่จะยิ่งดี เพราะมันคือประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นแบบล่างขึ้นบนที่มีคุณภาพด้วย จึงมีการทำโรงเรียนพรรค ที่จะเริ่มอบรมสัมมนาผู้ก่อตั้งพรรค ตั้งแต่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับนโยบายพรรคเวลานี้ยังไม่มี เพราะต้องให้ที่ประชุมผู้ก่อตั้งพรรค วันที่ 3 มิ.ย. แต่งตั้งบุคคลมาทำหน้าที่กรรมการร่างนโยบายพรรค ซึ่งผมคิดว่าเขาจะเสนอผมให้ทำงาน 2 ตำแหน่ง คือประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคกับ ผอ.โรงเรียนพรรค ที่ 2 ตำแหน่งนี้ผมก็เต็มใจ ตั้งใจที่จะทำ โดยหากพรรคอนุญาตให้ทำได้ ก็อยากเป็น ผอ.โรงเรียนพรรคตลอด 4 ปี เพราะผมเชื่อว่าพรรคต้องนำด้วยจิตวิญญาณและอุดมการณ์ โดยเฉพาะการทำภารกิจใหญ่ ที่จะต้องสร้างพลังขึ้นมา ที่ก็ไม่มีพลังอะไรที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าอานุภาพแห่งความเสียสละ-ทุ่มเท ซึ่งผมคิดว่าคนไทยมีอยู่แล้ว แต่ต้องปลุกขึ้นมา

-หลายคนสงสัยบทบาทของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ กปปส.ในพรรค รปช.?

คุณสุเทพก็บอกเอาไว้แล้วว่าเขาจะเป็นสมาชิกพรรค และจะเป็นผู้ก่อตั้งพรรค แต่ก็เป็นเพียงคนหนึ่ง และก็ขอยืนยันว่าผมก็จะไม่เห็นด้วยแน่ๆ นั่นก็คือ ถ้าจะมาเป็นกรรมการบริหารพรรคพวกเราก็คงไม่เอา หรือถ้าจะมาเป็นรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเราก็ไม่ยอม แล้วคุณสุเทพก็คงไม่เอาด้วย คือพวกตำแหน่งทางการเมือง ตำแหน่งที่จะมามีอำนาจ คุณสุเทพก็ตั้งใจจะไม่เป็น แล้วผมคิดแบบนี้ว่าคุณสุเทพ ก็คงไม่มีเวลาที่จะมามีตำแหน่งอะไรเหล่านี้ เพราะต้องใช้เวลาไปกับการสู้คดีมากมายเต็มไปหมด

-มีบทบาทเพียงแค่สมาชิกพรรค ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค?

ผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุน

-จะไม่มีอิทธิพลใดๆ ในพรรค?

ก็ถ้าพรรคมีกรรมการบริหารอะไรต่างๆ ก็ต้องทำงานไปตามนั้น หากจะแนะนำก็ในฐานะที่แนะนำ เท่านั้นเอง ก็จะคล้ายๆ กับอีกหลายคนที่ทำหน้าที่เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค แต่พวกตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคคุณสุเทพก็คงไม่เป็น

ถามว่าช้าไปหรือไม่ที่พรรค รปช.เพิ่งมาเปิดตัวตอนนี้ ดร.เอนก กล่าวว่าต้องพยายามทำ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ดีนัก แต่ก็พอทำได้ แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งครั้งเดียวแล้วพรรคจะได้ ส.ส.มากพอจนตั้งรัฐบาลได้ แต่ขอให้เราได้ผ่านการเลือกตั้งสักสองครั้ง ก็คิดว่าพรรคนี้ก็จะไปได้ดี

ดร.เอนก กล่าวย้ำหนักแน่นว่าพรรค รปช.ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ ยิ่งถ้าคนทั้งพรรคเห็นด้วยอย่างที่ผมเห็น และเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำอย่างไรที่เราจะแปรเปลี่ยนความรักความหวงแหนในชาติบ้านเมืองของคนไทย ความเกลียดชังการฉ้อฉล แล้วถอดออกมาให้เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ผมคิดว่าพรรคนี้จะเป็นพรรคที่ยั่งยืน พรรคนี้เริ่มต้นที่เมื่อไปชวนใครให้มาเป็นสมาชิกพรรค หากเขาสนใจก็ต้องร่วมสนับสนุนพรรค สมัครเป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องควัก 365 บาท หลายคนที่ผมไปชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคแล้วจ่ายเงินค่าสมาชิก 365บาท ผมก็บอกเขาว่าหากพรรคไม่ดีต้องจัดการเลย

เอนก กล่าวต่อไปว่า นโยบายพรรคตอนนี้ยังพูดไม่ได้ แต่สำหรับอุดมการณ์พรรครวมพลังประชาชาติไทยก็มีทั้งที่เป็นโลกทัศน์ของเรา และปรัชญาของเราว่าเราเห็นโลกเห็นสังคมเป็นอย่างไร และอยากเห็นเมืองไทยเดินไปทางไหน ที่เป็นคำมั่นสัญญา โดยอุดมการณ์พรรคก็จะไปต่อยอดเป็นยุทธศาสตร์-แนวทางพรรคที่มีด้วยกัน 7 ข้อดังนี้

1.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะเทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประชาธิปไตยที่จะน้อมนำเอาพระราชปรีชาญาณ พระบรมเดชานุภาพ และพระบรมราชวินิจฉัย มาเป็นหลักชัยในการนำพาประเทศอยู่เสมอ

2.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะให้ประชาธิปไตย ให้การเมืองการปกครองของประเทศเป็นธรรมาธิปไตย

คือเป็นประชาธิปไตยที่ต้องเป็นธรรมาธิปไตย คือมีธรรมะ มีธรรมาภิบาลในการดำเนินการภายในพรรคและในการดำเนินการทางการเมือง จะไม่ใช่ประชาธิปไตยที่มีแต่เสียงข้างมากเท่านั้น แต่จะต้องเป็นประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์ต่อมหาชน สอดคล้องกับความดีความงามความถูกต้อง รวมทั้งเอื้อต่อหลักธรรมของทุกศาสนา

3.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะทำให้พรรค รปช.เป็นสถาบันการเมือง ที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่เป็นสถาบันของเจ้าของหรือของนักการเมือง แต่มีประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง ประชาชนเป็นผู้อาสา ผู้ร่วมลงทุน ร่วมลงแรง ร่วมตัดสินใจและร่วมลงมือทำ มิใช่แค่มีส่วนร่วมเพียงผิวเผิน

 4.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านสำคัญ อันได้แก่ การเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ การศึกษา กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

5.พรรคมีอุดมการณ์ให้คนไทยรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันออก ภูมิใจในสถาบัน สืบทอดความคิดและแบบแผนที่ดีงามของบรรพชน รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรม ขนบประเพณีทางการเมืองการปกครองอันมีเอกลักษณ์เฉพาะของไทย และจะนำมาเป็นพื้นฐานของการปฏิรูป โดยการปฏิรูปต้องไม่ฉีกขาดจากความคิด แบบแผนจารีตที่ดีงามของไทย

6.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนในชาติพ้นจากความยากจน  สนับสนุนชุมชนและชาติพันธุ์ที่ขาดแคลนโอกาสและถูกทอดทิ้ง ให้มีเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะอนามัย และวิถีชีวิตที่ดีขึ้น น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาเป็นหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ตลาดเป็นเพียงเครื่องมือ มิใช่เป็นเป้าหมาย จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภาคครอบครัว ภาคชุมชนและท้องถิ่น ไม่น้อยกว่าเศรษฐกิจระดับชาติและระดับมหภาค

7.พรรคมีอุดมการณ์ที่จะเห็นการเมือง สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นองค์รวม การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ล้วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พรรคจะมุ่งรักษาความสมดุลที่สมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด

เราไม่เหมือนบางพรรคเพราะเราภูมิใจในความเป็นไทย ภูมิใจในอดีตที่ดีงาม และเรารู้ด้วยว่าขนบธรรมเนียมประเพณีการปกครองของเรามีเอกลักษณ์เฉพาะ เราก็จะนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นพื้นฐานของการปฏิรูป ไม่ใช่ปฏิรูปจากความว่างเปล่าหรือปฏิรูปตามทฤษฎี แต่ปฏิรูปจากข้อดีของเรา

-พรรคพร้อมจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่?

พรรคตั้งขึ้นโดยไม่ได้เริ่มต้นจากว่าจะทำพรรคเพื่อสนับสนุนใคร เพราะถ้าเริ่มแบบนั้นพลังจะต่ำมาก แต่เริ่มจากที่ว่าเราจะสร้างพรรคแบบไหน จะทำพรรคเพื่อไปทำภารกิจอะไร คำถามที่ว่าพรรคจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์หรือไม่เป็นคำถามจากกระบวนทัศน์เดิม ผมก็เข้าใจที่ต้องถามแบบนี้ แต่หนทางข้างหน้ายังมีอะไรอีกเยอะ ถ้าเราไปผูกมัดอะไรไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์ ตอนนี้เราไปทำเรื่องที่สำคัญของเราดีกว่า เช่นการเผยแพร่อุดมการณ์พรรค ทำให้คนอื่นเห็นว่าพวกเราที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทุ่มเทจริงๆ แล้วจากนั้นก็มาช่วยกันคิด หากถามผมตอนนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะไม่ใช่คนที่จะตัดสินใจอะไรได้ ไปถามคุณสุเทพก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้ เพราะจากนี้ไปทุกอย่างจะเคลื่อนไปเรื่อยๆ

ถามถึงทิศทางของพรรค รปช.ว่าจะมีส่วนในการสร้างภูมิทัศน์ใหม่การเมืองได้อย่างไร ดร.เอนก กล่าวว่า ภูมิทัศน์ใหม่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะ จะเป็นการเมืองที่ไม่ใช่ของนักการเมืองอย่างเดียว คนที่เป็นนักการเมืองจะมากมายหลากหลาย นักการเมืองจะไม่ใช่อาชีพตลอดกาล คนจะไหลเวียนกันเข้ามาสู่วงการการเมือง คนดีๆ มีโอกาสที่จะเข้ามาทำการเมือง เป็นการเมืองที่ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ทุกๆ คน ช่วยกัน อย่างที่เรากะว่าจะได้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสัก 500 คน ก็คาดว่าจะได้เงินประมาณ 25 ล้านบาท จากมวลสมาชิกพรรคที่ช่วยจ่ายเงินค่าสมัครสมาชิก 365 บาทต่อคน อย่างผมในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคก็จ่ายไปแล้วห้าหมื่นบาท แต่ถ้ามีสมาชิกพรรค 1 แสนคน ก็จะได้ประมาณ 36 ล้านบาทต่อปี

สรุปผมจะบอกว่าประเทศไทยมีโภคทรัพย์ที่จะมาช่วยกันทำงานให้บ้านเมือง แต่โภคทรัพย์ดังกล่าวไม่ได้มาจากคนไม่กี่คน แต่เราอยากได้จากคนเป็นแสนที่ให้พรรคปีละ 365 บาทเฉลี่ยวันละบาท หรือแม้ไม่ต้องถึงกับได้สมาชิกเป็นหลักแสน แต่หากได้แค่ห้าหมื่นคน ก็ทำให้ไม่ต้องไปโกงไปกินอะไรเลย ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

-ปัญหาของพรรคการเมืองไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา?

ก็ไม่ได้มีความเป็นพรรค แต่เป็นองค์กรของผู้ที่ต้องการอำนาจ องค์กรของผู้ต้องการรักษาอำนาจ  แล้วก็นำสิ่งเหล่านี้ไปประสานกับความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตย แล้วก็คือมีการเลือกตั้ง ก็ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนสนับสนุนตัวเองให้มากที่สุดเพื่อจะได้เป็นรัฐบาล หรือหากไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้านที่น่าเกรงขาม สามารถผลัดเปลี่ยนขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ค่อยได้คิด  ส่วนความเฉียบแหลมสติปัญญาก็มีไม่มากนัก เพราะมัวแต่ทำเรื่องเช่นให้สัมภาษณ์สื่อ อภิปรายในที่ประชุมสภาให้เจ็บๆ เข้าไว้ ครั้นจะไปทำอะไรที่ยากๆ ลึกซึ้งก็ไม่มีเวลาทำ ก็ต้องไปถามข้าราชการประจำที่ก็จะชงใส่มือมา

เมื่อถามว่าพรรค รปช.พร้อมเพียงใดที่จะเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองทุกพรรค ดร.เอนก กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดถึง แต่ถ้าพูดถึงทั่วไปเราก็เป็นมิตรกับทุกพรรค เพราะในแง่หนึ่งเมื่อเป็นพรรคการเมืองด้วยกันก็ต้องปรารถนาดีต่อกัน ถ้าทำอะไรไม่ถูกก็ติติงกันอย่างสุภาพ หากจำเป็นต้องต่อสู้กัน ก็ต่อสู้กันตามกติกา ไม่โกรธแค้นอะไรกัน

“ผมคิดว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย เมื่อตั้งขึ้นมาแล้วก็จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง อีกพาหนะหนึ่งที่จะทำ จะเป็นช่องทางให้บ้านเมืองได้ใช้ เมื่อถึงเวลานั้นอาจจำเป็นต้องใช้ พรรค รปช.ทำอะไรบางอย่าง ซึ่งถ้าไม่มีก็ทำไม่ได้ แต่คืออะไรผมก็ยังไม่รู้ ผมก็ได้แต่คิดของผมไปเรื่อยๆ แต่การมีเครื่องมือมากๆ มีพาหนะมากๆ ก็ดีกว่ามีน้อย ผมก็ทำการเมืองเที่ยวนี้ด้วยความสบายใจ เพราะเป็นการเมืองแบบตรงไปตรงมา”.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 ........................................................

แกนนำพรรค รปช. มองการเมืองหลังเลือกตั้ง

สำหรับบทบาทของ ดร.เอนก-ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. ก่อนหน้านี้เคยเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยเมื่อถามว่าหลังการเลือกตั้งหากกลับไปมีบทบาทการเมืองในสภา จะนำเรื่องการสร้างความปรองดองไปขับเคลื่อนอย่างไร โดย ดร.เอนก กล่าวว่า นักการเมือง พรรคการเมืองต้องอย่าไปคิดว่าตนเองเป็นเหยื่อ เป็นคู่ขัดแย้งของการแตกแยกกัน แต่ต้องคิดว่าเมื่อแตกแยกกันจนเกินความเหมาะสม บ้านเมืองระส่ำระสาย จนกลายเป็นรัฐล้มเหลว ต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะกลับมาคืนดีกัน แต่คืนดีกันไม่ได้หมายถึงให้มาหอมแก้มกัน

...พูดง่ายๆ ทำเหมือนกับเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้บ้างไม่ได้หรือ ถ้าผลประโยชน์ของชาติจำเป็นที่ต้องทำแบบเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ แล้วทำไมคุณจะทำตัวเหมือนคิม จองอึน ไม่ได้เลยหรือ ทั้งที่ปีที่แล้วคนยังกลัวกันเลยว่าจะเกิดสงครามปรมาณูที่คาบสมุทรเกาหลี การริเริ่มของคิม จองอึน แล้วตามด้วย ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้เปลี่ยนโลกอย่างกะทันหันไปสู่สันติสุข ไปสู่ความมั่นใจว่าวันพรุ่งนี้คงจะมี ทั้งที่ก่อนหน้านี้คนเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ยังไม่รู้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะมีจริงหรือไม่ เข้านอนทุกคืนก็หวังว่าคืนนี้จะไม่มีปรมาณูมาลง จากจุดเริ่มจากนักการเมืองสองคน หรือหากจะมีโดนัลด์ ทรัมป์ และสีจิ้นผิงร่วมด้วยที่จะเปลี่ยนโลกได้ ทำให้วันพรุ่งนี้จะยังมีอยู่ ปรมาณูจะไม่มาลง ผมก็เคยบอกไปแล้ว แต่หลายคนก็แย้งว่าจะเป็นไปได้หรือ แต่ผมก็บอกว่าการเมืองคือศาสตร์ที่มีความเป็นไปได้ อะไรหลายอย่างที่ทำด้วยกลไกราชการหรือเอกชนอาจไม่สำเร็จ แต่หากทำด้วยการเมืองมันอาจจะได้ เพราะการเมืองเป็นศาสตร์และศิลป์สูงสุด ในเงื่อนไขที่ผู้คุมอำนาจอธิปัตย์เห็นว่าอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เช่นแบบแผนวิธีการทำงาน กฎหมายที่ไม่จำเป็น ก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้นอะไร

...ผมก็เคยเสนอแนวคิดแบบนี้ไป แต่เมื่อต่อไปผมจะได้มีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองอีกครั้ง ผมก็ได้บอกคนที่พรรคไว้และคนในพรรคก็เห็นด้วย คือเราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เราต้องเป็นมือหนึ่งที่ต้องยื่นออกไป แล้วก็มีคนถามต่ออีกว่า แบบนี้หมายถึงต่อไปหากมีใครทำอะไรไม่ดี พรรคนี้ก็จะเมินเฉยหรือเพราะเห็นแก่ความปรองดองสมานฉันท์ ยืนยันว่าเป็นคนละเรื่อง เพราะต่อไปข้างหน้าใครทำอะไรผิดก็ต้องว่ากันไปต่อเพราะเราเป็นธรรมาธิปไตย เราจะไม่ยอมปล่อยให้เกิดความไม่ถูกต้องไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นในขณะที่เราทำงานการเมืองอยู่ แต่ว่าหลายอย่างที่มันผ่านไปแล้วและเพื่อทำให้บ้านเมืองผ่านไปได้ บางครั้งก็ต้องนำหลักความเมตตา หลักการให้อภัยมาใช้ด้วย และอิงหลักกฎหมายด้วย ไม่ใช่จะทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย และถ้าจะมีอะไรที่ทำให้เกิดความปรองดองสามัคคีครั้งใหญ่ก็ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย มีวิธีการทางกฎหมาย เพียงแต่การเมืองต้องเป็นพลังที่จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้

            -หมายถึงหากหลังเลือกตั้งจะเกิดรัฐบาลปรองดอง รัฐบาลแห่งชาติ รปช.ก็พร้อม?

ตอนนี้ก็ยังไม่เป็นพรรค คงยังไม่ถึงเวลา แต่หากฟังจากสปิริตของผู้ก่อตั้งต้องทำทุกอย่างเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด แต่จะออกมาแบบไหนก็มีสูตรเยอะ แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะสามารถบอกได้ตอนนี้

เมื่อให้วิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งจะมีโฉมหน้าอย่างไร ปัญหาความขัดแย้งเดิมๆ จะหายไป หรือไม่ รวมถึงบทบาททหาร เอนก มองว่าอันที่หนึ่งคือ จะจัดการกับระยะเฉพาะกาลในช่วง 5 ปีหลังจากนี้อย่างไร จะตั้งรัฐบาลอย่างไร ผมก็อยากให้รัฐบาลกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่จะกว้างร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงไม่มีที่ไหนในโลก แต่ก็อยากให้เป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่มีฐานกว้างเป็นพิเศษ อย่าเพียงให้เสียงเกินครึ่งของสภา เกินครึ่งของรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งเมื่อมารวมกันโดยกว้างขวางก็ต้องอดทน มีขันติธรรม เสียสละให้แก่บ้านเมือง ทุกพรรคต้องคิดแบบนั้น ทำอย่างไรไม่ให้บ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่เกิดการเดินขบวน ไม่เกิดม็อบ

...ก็ต้องเตรียมคิดเอาไว้ว่าถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หรือถ้าไม่ใช่พลเอกประยุทธ์  แต่เป็นทหารคนอื่นเป็นนายกฯ ซึ่งก็คงไม่ง่าย ที่เป็นไปได้มากสุดก็พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แล้วจะบริหารประเทศอย่างไร ก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทพอสมควร เพราะจะเป็นนายกฯ ที่มาจากระบอบประชาธิปไตยที่มีวิธีการแบบแผนอีกแบบหนึ่ง มาตรา 44 ก็จะใช้ได้อีกไม่นาน เมื่อมีรัฐบาลใหม่มาก็ใช้ไม่ได้แล้ว ก็จะเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

...พลังฝ่ายต่างๆ ที่มีทั้งความคึกคักเข้มแข็ง แต่ก็ต้องรู้จักประมาณตน ถ้าทำมากเกินไปก็จะวุ่นวายอีก แล้วก็อย่าไปคิดว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจะไม่มีการเว้นวรรคอีก ทุกฝ่ายต้องเป็นรัฐบุรุษ จะไม่มีใครที่เป็นเพียงผู้เล่น ผู้คึกคักเข้มแข็ง ผู้กล้าหาญยังไม่พอ แต่ต้องมีความเป็นผู้ใหญ่ ต้องคิดที่จะช่วยประคับประคองบ้านเมือง เพราะถ้าประคับประคองได้ดีประชาธิปไตยก็จะยั่งยืน

ส่วนรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบไม่พอใจก็มีวิธีการแก้ไข มีบางประเด็นแก้ไขไม่ได้ แต่ก็มีบางประเด็นแก้ไขได้ หากตรงไหนแก้ไขได้ ต้องใช้เสียงอย่างไรก็ว่ากันไป ซึ่ง รธน.ฉบับปัจจุบันที่อาจร่างโดยคนที่บางคนไม่ชอบ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผ่านประชามติมาแล้วก็ต้องคิดให้รอบคอบ.

...............................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"