ตีกรอบปลดล็อกอปท.ซื้อวัคซีน


เพิ่มเพื่อน    

 “ประยุทธ์” เรียก “วิษณุ” หารือประเด็นให้เอกชน-อปท.จัดหาวัคซีนหลังออกประกาศในราชกิจจาฯ  “ณัฐพล” ย้ำไม่ใช่เดินดุ่มๆ ไปซื้อเองได้ ต้องซื้อผ่านหน่วยงานรัฐที่กำหนดไว้ หวังให้ อปท.แค่ทำหน้าที่สนับสนุน เพราะกลัวซ้ำซ้อนแผน ศบค. “หมอหนู” เล็งเพิ่มโควตาวัคซีนให้ กทม. ชี้หากคนกรุงมีภูมิเท่ากับแก้ทั้งประเทศ

    เมื่อวันพุธ ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ
ไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 123 ง ที่สาระสำคัญคือการให้สถานพยาบาลเอกชน, เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถจัดหาวัคซีนเองได้
โดยมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เข้าพบประมาณ 1 ชั่วโมง โดยคาดว่าเป็นการหารือถึงข้อกฎหมายและรายละเอียดการปลดล็อกให้ อปท.สามารถจัดซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนในพื้นที่เองได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบจาก ศบค.
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวเรื่องนี้ว่า การฉีดวัคซีนหากมีหน่วยงานใดเข้ามาให้การสนับสนุนช่วยเหลือและเป็นประโยชน์กับประชาชน สธ.ก็ยินดีและขออนุโมทนาสาธุ พร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ซึ่งในส่วนของ สธ.นั้น อปท.ยังไม่มีใครประสานมา ถ้าติดต่อมาก็ต้องพิจารณา แต่เรื่องนี้ต้องชี้แจงว่า สธ.จัดซื้อนั้นมีการใช้เงินภาษีของประชาชน ดังนั้นวัคซีนที่ได้มาต้องเป็นวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนฟรี ซึ่งขณะนี้ก็ครอบคลุมกลุ่มประชากร ดังนั้นถ้า อปท.จะจัดซื้อและฉีดก็ต้องดูแผนของ ศบค. ต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน การจัดซื้อต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง  เป็นไปตามพระราชบัญญัติยา
“ย้ำว่าสิ่งที่ทำจะต้องเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่หากผลประโยชน์เกิดกับคนใดคนหนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ยอม” นายอนุทินกล่าว
    พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงว่า  พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) ได้ชี้แจงเกี่ยวกับประกาศ ศบค.เรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม โดยสาระสำคัญคือการให้กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ,  สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชนร่วมมือกันจัดหาวัคซีน ส่วนที่เปิดให้ อปท.รวมถึงสถานพยาบาลภาคเอกชนจัดหาวัคซีนนั้น ก็ต้องดำเนินการจัดหากับหน่วยงานข้างต้น ไม่ได้หมายความว่า อปท.จะนำเข้าวัคซีนได้เอง และต้องทำตามกฎหมายโดยสอดคล้องกับงบประมาณ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดคอยกำกับดูแล
พล.อ.ณัฐพลให้สัมภาษณ์เรื่องนี้อีกครั้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินทำข้อเสนอแนะมาที่ ศบค. โดยอยากให้ ศบค.กำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับวัคซีน จึงเรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์รับทราบ และได้ออกเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในทันที
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การสั่งซื้อต้องซื้อจากหน่วยงานรัฐที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่สามารถซื้อโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ในระยะนี้ขอให้เป็นแบบนี้ไปก่อน เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัด ซึ่งแต่ละประเทศผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขจำหน่ายให้คือ จำหน่ายให้หนึ่งประเทศหนึ่งสัญญา สมมุติว่าถ้าทั้งรัฐและเอกชนต้องการซื้อต้องแบ่งปริมาณกัน ก็จะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเนื้อหาประกาศมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.กำหนดหน่วยงานที่สามารถนำเข้ามา 2.ให้เอกชนและ รพ.เอกชนสามารถสั่งซื้อจากหน่วยงานที่กล่าวข้างต้น ไม่สามารถซื้อโดยตรงจากบริษัทได้ และ 3.ให้ อปท.ดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แผนงานงบประมาณ แผนกระจายวัคซีนของ ศบค. เนื่องจาก  อปท.ต้องใช้เงินแผ่นดิน จึงต้องใช้งบให้คุ้มค่ามากที่สุดและสอดคล้องกับแผนวัคซีนที่กำหนดแนวทางไว้
“หากเป็นไปได้อยากให้ อปท.ทำหน้าที่แค่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดประชาชนเข้ามาฉีดวัคซีนตามที่ ศบค.หรือกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการอยู่แล้ว” พล.อ.ณัฐพลระบุ
    เมื่อถามว่า อปท.ควรให้ ศบค.พิจารณาว่าจะจัดซื้อได้จำนวนเท่าไหร่ โดยดูจากรายได้เงินอุดหนุนของรัฐด้วยหรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ย้ำว่าต้องดูกฎหมาย ดูแผนงานที่ ศบค.แจกจ่ายให้ ซึ่งเราพิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว และไม่ได้หมายความว่า  อปท.ทุกแห่งจะซื้อได้ ต้องดูหลักเกณฑ์แนวทางนี้และพิจารณามาตามลำดับ ตั้งแต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน จากนั้นนำเข้า ศบค.พิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ว่าประกาศออกไปแล้ว อปท.สามารถซื้อได้เองทันที
    ถามอีกว่า จำนวนที่จะให้เอกชนหรือหน่วยงานซื้อได้กำหนดช่วงเวลาของการจัดซื้อในช่วงเวลาใด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่าไม่ได้กำหนด เพราะยิ่งได้ฉีดมากขึ้นเร็วขึ้นยิ่งดี  แต่เราจะดูปริมาณที่มา ขณะนี้รัฐบาลเตรียมวัคซีนให้ประชาชน 100 ล้านโดส สำหรับ 50 ล้านคน คนไทยมีประมาณ 67 ล้านคน ต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยประมาณ 2.6 ล้านคน รวมประมาณ 70 ล้านคน การที่เตรียมไว้สำหรับ 50 ล้านคนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ถ้าสามารถฉีดให้ได้มากกว่านี้ก็ดี
อนุทินเล็งเพิ่มวัคซีนให้ กทม.
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย  (มท.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  ตามประกาศ ศบค.อย่างเคร่งครัด ส่วนการจัดหาวัคซีนของ อปท.นั้น หากจะจัดหาวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ ให้จัดหาจากกรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานของรัฐ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และหลักเกณฑ์หรือแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.รวมทั้งสอดคล้องกับ ศบค.
    วันเดียวกัน นายอนุทินพร้อมคณะลงตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนเดอะมอลล์ บางแค โดยนายอนุทินกล่าวภายหลัง ว่า การฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งการฉีดเป็นไปตามนโยบายของ ศบค. โดยส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เห็นได้ชัดว่า สธ.จัดส่งมาตามคำร้องขอของกรุงเทพฯ ก่อนกระจายไปยังจุดฉีดทั้งในและนอกสถานพยาบาล แต่จากการมาตรวจเยี่ยมที่เดอะมอลล์ บางแค มีความพร้อมรองรับคนได้วันละ 3,000  คน แต่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเพียงวันละ 500 โดส ดังนั้นสิ่งที่อยู่ในหัวคือจัดสรรวัคซีนเพิ่ม ดังนั้นต้องหารือกับ สธ.และ ศบค.เพื่อทำการเพิ่มประสิทธิภาพในการฉีดให้ได้มากที่สุด ครอบคลุมประชากรมากที่สุด
    “จริงๆ กรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก  2 ล้านโดส เพราะระบาดมาก ส่วนในต่างจังหวัดสถานการณ์เบาลงแล้ว มีเพียง 3-4 จังหวัดที่ยังมีคลัสเตอร์อยู่ แต่ก็ควบคุมได้ ดังนั้นวันนี้ปัญหาใหญ่คือกรุงเทพฯ ถ้าแก้ปัญหาในกรุงเทพฯ ได้เท่ากับแก้ปัญหาของประเทศไทยได้ เพราะเป็นศูนย์กลางที่ผู้คนทั่วประเทศมาทำมาหากิน  ดังนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกรุงเทพฯ" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามถึงการจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่ยังมีไม่เพียงพอ เช่น อ.สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีรายงานว่าได้วัคซีนเพียง 1 ขวด จะพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การจัดสรรวัคซีนจะคำนวณจากจำนวนวัคซีนหารด้วยจำนวนจังหวัด และหารด้วยจำนวนประชากรในจังหวัด แล้วมาเทียบกับปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ ก็จะออกมาเป็นตัวเลขของวัคซีนในแต่ละจังหวัด  ซึ่งไม่มีจังหวัดไหนที่ได้เท่ากันแน่นอน แต่เป็นการจัดสรรอย่างเป็นธรรม  
    สำหรับกรณีข่าวหญิงอายุ 46 ปีเสียชีวิตจากฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น นายอนุทินกล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต สธ.มีการเฝ้าระวังติดตามเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด- 19 (AEFI) โดยมีการสอบสวนโรค ชันสูตร รวบรวมข้อมูล นำสู่เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ AEFI เพื่อพิจารณาว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ หากทราบผลการพิจารณาจะชี้แจงสร้างความเข้าใจกับครอบครัวและสังคมต่อไป และได้สั่งการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งเยียวยาเบื้องต้นให้เร็วที่สุดแล้ว
    ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ทันทีเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิตก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน สปสช. เขต 13 ลงไปในพื้นที่เพื่อติดตามประสานงานในเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว
พิสูจน์แล้วดับ 12 ไม่เกี่ยววัคซีน  
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  (คร.) กล่าวถึงกรณีพบคนหนุ่มสาวมีอาการไข้หลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า เป็นเรื่องปกติของการรับวัคซีน  ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโรคอื่นหรือโควิดก็จะมีปฏิกิริยาคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เป็นอาการชั่วคราว ไม่นานก็หาย  สามารถรับประทานยาแก้ปวด ลดไข้ เพื่อบรรเทาอาการได้  แต่หากอาการไม่ดีขึ้นก็สามารถมาพบแพทย์
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 28 ก.พ. มีจำนวนวัคซีนที่จัดสรรซิโนแวค 4,982,313 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 1,774,180 โดส รวมทั้งสิ้นการจัดสรรวัคซีนสองชนิด 6,756,493 โดส ซึ่งถ้าแยกจำนวนการฉีดวัคซีนในวันที่ 7-8 มิ.ย.จะเห็นว่าสามารถฉีดได้เกินวันละ 400,000 โดส ทั้งนี้ยอดรวมของการฉีดมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.คือ 5,107,069 โดส
    นพ.เฉวตสรรยังกล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนว่า มีรายงานมาแล้ว 28 ราย แต่หลังจากตรวจชันสูตรแล้วพบว่ามี 12 รายสาเหตุการเสียชีวิตไม่เกี่ยวกับวัคซีน ส่วนอีก 16 รายนั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน และจะติดตามเรื่องเหล่านี้มานำเสนอให้ทราบเป็นระยะ
    พญ.อภิสมัยแถลงว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 472,128 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 428,549  ราย เข็มสอง 43,669 ราย ทำให้ยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. มีทั้งสิ้น 5,107,069 โดส
สำหรับการฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ ในวันที่ 3 นั้น พบว่ายังคงคึกคักอยู่ต่อเรื่อง โดยที่ จ.ปทุมธานียังมีผู้ลงทะเบียนเดินทางมาใช้บริการต่อเนื่อง โดยนางสาวเรวิญานันท์ ทาเกิด หรือเบญ นักแสดงนางร้ายหน้าสวย  เจ้าของบทบาทลาวทองในละครเรื่องวันทอง ก็ได้เดินทางมาฉีดวัคซีนพร้อมเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมฉีดด้วย
ส่วนที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งตั้งเป้าการฉีดไว้ 70% คือ 1,285,000 คน ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 7.12% หรือ 91,504 ราย โดยแยกเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 63,576 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 27,828 ราย และจากการตรวจสอบภาวะไม่พึงประสงค์ที่ฉีดมา 2 วันนั้น พบว่ามีเพียง 2.2% เท่านั้นมีอาการความดันโลหิตสูง ปวดบวม ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้  และเหนื่อยอ่อนเพลีย ส่วน จ.ภูเก็ตก็ตั้งเป้าเช่นกันว่าจะฉีดให้ประชากรบนเกาะให้เสร็จสิ้นภายใน 30 มิ.ย.เพื่อให้เกาะปลอดโรค.
    

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"