ฝ่าพายุซักฟอกงบฯ กองทัพใน3ปีข้างหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 

               ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทุกเหล่าทัพกำหนดมาตรการในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มข้น เพราะไม่ต้องการตกเป็นจำเลยในข้อหา ซูเปอร์สเปรดเดอร์ จุดเริ่มต้นกระจายเชื้อเหมือนการแพร่ระบาดในระลอกแรก ในขณะที่ภารกิจประจำยังคงเดินหน้าต่อไป ที่เพิ่มเติมคือภารกิจการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ขณะนี้

                การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารทาง ไลน์กลุ่ม ตอกย้ำภาพภารกิจของเหล่าทัพที่เพิ่มปริมาณและถี่ขึ้นในแต่ละวัน โดยมีภาพจากหน่วยต่างๆ ในทุกกองทัพภาค จัดส่งเข้ามาผ่านการกลั่นกรอง ก่อนส่งให้สื่อ ในขณะที่การแถลงข่าวจะใช้เป็นการแจกเอกสารข่าวทางช่องทางไลน์ เน้นข่าวบวก เสริมสร้างภาพลักษณ์ และแทบจะไม่มีการสื่อสารแบบสองทาง หรือเปิดโอกาสให้ถามตอบ

                ยิ่งเหล่าทัพตีกรอบตัวเองในการงดให้ความเห็นทางการเมือง แต่การเมืองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง และจับกองทัพมาเป็นเป้าในการโจมตี โดยเฉพาะในสมรภูมิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติรายจ่ายประจำปี 2564 รวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่พาดพิงกองทัพ การเลือกที่จะไม่ชี้แจงโดยเชื่อว่าเมื่อนานไปเรื่องก็เงียบ ยังเป็นแบบธรรมเนียมที่ถูกฝังหัว และยากที่จะเปลี่ยนกรอบคิดเหล่านี้ได้

                แต่ในเนื้อหาของการอภิปรายงบประมาณฯ ที่กองทัพกลายเป็นเป้าใหญ่ที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะการที่ถูกโจมตีว่า เป็นการตัดงบประมาณ แต่ตัดไม่สุด ทำให้เห็น ส.ส.ที่วิพากษ์ทหาร รุกไล่รีดงบจากกองทัพออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิดให้มากที่สุด

                ยุทโธปกรณ์เชิงยุทธศาสตร์ ถูกมองว่าไม่มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบันที่ภัยคุกคามจากสงครามขนาดใหญ่ในรอบประเทศเรายังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ทำให้ปี 63-64 กองทัพเรือ (ทร.) ซึ่งเป็นเหล่าทัพที่ซื้อ “ของชิ้นใหญ่” ต้องเฉือนงบการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2 ออกไป (งบตั้งโครงการในปีแรก) บวกกับงบโครงการอื่นรวมแล้วกว่า 7.8 พันล้านบาท

ในขณะที่พระราชบัญญัติงบประมาณปี 2565 กองทัพเรือที่ไม่สามารถตั้งโครงการใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาลได้ ส่วนใหญ่พัฒนากองทัพฯ จึงไปตกอยู่ที่ “เงินงวดผ่อนของ” ในสองโครงการใหญ่ ทั้ง เรือดำน้ำจีน-เรือฟริเกตเกาหลี” โดยต้องจัดสรรงบประมาณซ่อมบำรุง เพื่อยืดอายุใช้งานยุทโธปกรณ์แบบอื่นให้สามารถดำรงความพร้อมได้ในระดับต่ำ ซึ่งในแต่ละปี ทร.น่าจะเป็นเหล่าทัพที่ต้อง “กลืนเลือด” และใช้งบอย่างระมัดระวังที่สุด

ทางด้าน กองทัพอากาศ (ทอ.) ที่มีการจัดทำสมุดปกขาวเผยแพร่แผนพัฒนากองทัพในช่วง 10 ปีอย่างโปร่งใส จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปี นี้ ทอ.ต้องจัดหาเครื่องบินรบหลักทดแทนฝูง 102 ที่ใกล้ปลดประจำการ รวมไปถึงการริเริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ เพื่อใช้ทดแทน C-130 ที่ปฏิบัติภารกิจใน ทอ.และหน่วยราชการอื่น อย่างเต็มขีดความสามารถมาหลายทศวรรษ 

แต่ดูเหมือนว่าโครงการระดับ “หมื่นล้าน” จะไม่ถูกผลักดันออกไปให้สังคมเกิดคำถาม การปรับตัว และการวางแผนรับมือโดยใช้วิธี “ผ่อนหนัก-ผ่อนเบา” จากยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ในหน้าตักทั้งหมด ด้วยการซ่อมบำรุง ยืดอายุการใช้งาน ถนอมชั่วโมงการใช้งาน ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ทอ.ก็ได้จัดหายุทโธปกรณ์ค่อนข้างเป็นไปตาแผนงานแล้ว รวมไปถึงการเสริมสร้างองค์ความรู้ จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศผู้ผลิตที่เราได้จัดหายุทโธปกรณ์เข้ามา ก็เชื่อว่า ทอ.จะเอาตัวรอดได้ในสถานการณ์ข้างหน้า

สำหรับ กองทัพบก (ทบ.) นับได้ว่ามีการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับหน่วยทหารราบ ทหารม้า และหน่วยบินมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดหารถเกราะ รถถัง รวมไปถึงเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้งานทางด้านยุทธการและธุรการอยู่ในจำนวนที่ไม่กระทบนัก และไม่ต้อง “จัดซื้อใหม่” ในห้วงเวลานี้

ทั้งเฮลิคอปเตอร์ “แบล็กฮอล์ก” ที่จัดหามาเป็นระยะๆ เลยไปถึงเฮลิคอปเตอร์ รุ่นต่างๆ  เช่น MI-17 หรือเฮลิคอปเตอร์จากค่ายยุโรป ที่จัดหาเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงรถเกราะ BTR จากยูเครน, Stryker จากสหรัฐ, VN-1 จากจีน, VT-4 รถถังจากจีน จะเหลือแค่เฮลิคอปเตอร์โจมตี ที่เหลืออายุใช้งานอีกไม่มากนัก และอาจต้องเตรียมในการจัดหา หากสถานการณ์งบประมาณดีขึ้น

ดูในภาพรวมแล้ว การจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพที่แม้จะไม่ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็นับได้ว่ายังเป็นไปตามแผน  นับแต่ปี 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร หรือแม้กระทั่งรัฐบาลพลเรือน ในช่วงที่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"  หรือ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"  เป็นนายกฯ รัฐบาลก็ไม่ค่อยแตะงบกองทัพมากนัก การตัดงบในขั้นของสำนักงบประมาณ และขั้นกรรมาธิการก็เป็นไปตามธรรมเนียม หรือมีปัญหาภายในกองทัพเอง ที่ต้องการยกเลิกบางโครงการ

ดังนั้น หลังสถานการณ์ของประเทศในช่วงโควิด-19 ประเทศยังต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจไปซักพัก ก็เชื่อว่ากองทัพยังดำรงสภาพความพร้อมด้านอาวุธได้  โดยไม่เดือดร้อน แต่สิ่งที่ทุกเหล่าทัพคงต้องตระหนักก็คือ การรุกของ “ฝ่ายการเมือง” ที่ต้องการลดงบประมาณกลาโหมอย่างถาวร และต้องการให้กองทัพเป็นหน่วยงานที่ถูกตรวจสอบได้

ส่วนหนึ่งด้วยการ รีดไขมัน ลดส่วนเกินจากการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย จากวัฒนธรรมที่ปลูกรากฝังลึกกันมา ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการที่หน่วยงานอื่นไม่มี เลยไปถึงแบบแผน อภิสิทธิ์ชน ที่เข้าใจว่าเป็นสิทธิ์ที่หน่วยต้องได้รับ ยังไม่นับการทวงถามเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปงบประมาณ ในส่วนของงบประจำที่เป็นงบเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ที่กินอัตราส่วนงบประมาณกระทรวงกลาโหมในภาพรวมไปกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

ที่กระทรวงกลาโหมเองก็มีแผนในการปฏิบัติว่า ในอีก 9 ปี ต้องลดบุคลากรลงไปให้ได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้านับรวมเหล่าทัพที่มีกำลังพลกว่า 3 แสนนาย โดยกองทัพบกมีมากถึง 2 แสนนาย ก็ต้องลดถึง 3 หมื่นนาย ซึ่งปฏิเสธว่าแนวทางการยุบหน่วยที่มีความซ้ำซ้อนเป็นไปได้สูง โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงกว่า 10 ปี มีการอนุมัติจัดตั้งกองพลทหารราบที่ 7 กับกรมทหารม้าที่ 3 โดยใช้การเกลี่ยอัตราเป็นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม

 ภายใต้งบประมาณ ที่ได้รับการจัดสรรในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ที่ยังมีงบผูกพันในการจัดซื้ออาวุธในปีก่อน น่าจับตามองว่า ในชั้นกรรมาธิการที่กระทรวงกลาโหมจะเข้าสู่การพิจารณาในช่วงวันที่ 10 ก.ค. นักการเมืองจะรุกหนักจนถึงขั้นต้องให้เหล่าทัพไปเจรจายืดการผ่อนชำระออกไปหรือไม่  ซึ่งในความเป็นจริงคงทำได้ยาก 

ส่วน 3 ปีข้างหน้า “ผู้นำเหล่าทัพ” ที่จะเข้ามาบริหารคง ต้องปรับแผนงาน และวิธีคิดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงอาจต้องปรับวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อดำรงกองทัพให้อยู่รอด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"