ธปท.สั่งแบงก์ลุยมาตรการอุ้มเอสเอ็มอีขยายพักหนี้ยาวถึงสิ้นปี


เพิ่มเพื่อน    

 

11 มิ.ย. 2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ได้เห็นชอบมาตรการที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 โดยส่งผ่านแนวทางที่เกี่ยวกับการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน

ประกอบด้วย 1. ขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้เอสเอ็มอี ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 มิ.ย. นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดระลอกใหม่ เช่น กิจการที่ยังไม่เปิดทำการตามปกติ จนไม่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพราะยังไม่เห็นกระแสเงินสด

ทั้งนี้ มาตรการนี้จะเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ใช่การชะลอการชำระหนี้เป็นวงกว้าง พร้อมทั้งขยายขอบเขตถึงลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบตามนิยามที่แต่ละสถาบันการเงินใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่าเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ทำให้มีลูกหนี้ที่เข้าข่ายได้รับการให้ความช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสอดคล้องกับกระบวนการปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่ต้องปรับระบบงานในการส่งผ่านความช่วยเหลือให้กับลูกหนี้ เพิ่มความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน โดยสถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นหนี้เดิมได้จนถึงวันที่31 ธ.ค. 2564 และในระหว่างนี้ ให้สถาบันการเงินเข้าไปดูแลลูกหนี้เพื่อเร่งหาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้โดยเร็วต่อไป

2. กำหนดกลไกเพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้ ระยะเวลาการจ่ายคืนหนี้ ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ของลูกหนี้ที่จะได้รับในอนาคต โดย ธปท. จะคงความยืดหยุ่นของการบังคับใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรอง หากสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขยายระยะเวลาชำระหนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งที่จูงใจให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น

“การปรับโครงสร้างหนี้ จะมีทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย แฮร์คัตเงินต้น ขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นคำตอบที่ช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างยั่งยืน ส่วนการขยายเวลาการชำระหนี้ คือการผักเงินต้น พักดอกเบี้ย เป็นแค่การประวิงเวลาเท่านั้น เพราะเมื่อครบกำหนดแล้วลูกหนี้จะยังต้องจ่ายหนี้อยู่” นายรณดล กล่าว

3. ให้สถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลได้ ไม่เกินอัตราจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio) ของแต่ละสถาบันการเงินในปี 2563 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 รวมถึงให้งดซื้อหุ้นคืน และห้ามไถ่ถอนหรือซื้อคืนตราสารเงินกองทุนก่อนครบกำหนด เว้นแต่มีแผนการออกทดแทน เพื่อคงมาตรการเชิงป้องกันในการดูแลความมั่นคงของระบบสถาบันการนเงิน รองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจาก ธปท. เห็นว่าสถาบันการเงินมีเงินกองทุน และเงินสำรองเพียงพอรองรับสถานการณ์เลวร้ายจากการระบาดได้ โดยปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) สูงถึง 20% มีสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึง 150% และมีสินทรัพย์สภาพคล่อง 187% จากเกณฑ์ปกติกำหนดไว้ที่ 100%

ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์การระบาดและแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2564 ในช่วงไตรมาส 4/2564 ต่อไป

นอกจากนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาความจำเป็นในการนขยายอายุมาตรการในการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อปี จากเดิมที่ 0.46% ต่อปี ซึ่งจะสิ้นสุด ณ สิ้นปี 2564 โดยโจทย์ที่สำคัญของการลดอัตราเงินนำส่ง คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เงินนำส่งที่ลดลงได้ส่งผ่านไปถึงลูกหนี้เป็นสำคัญ คงต้องมาดูมาตรการและกลไกต่าง ๆ ว่าเมื่อมีการลดอัตราเงินนำส่งแล้วสถาบันการเงินจะมีแนวทาง กลไกอย่างไรที่จะส่งผ่านเงินที่ได้ลดลงให้กับลูกหนี้ ความสำคัญอยู่ตรงนี้

สำหรับภาพรวมNPL ในระบบ ปัจจุบันยังไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หรือมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยยอมรับว่าอาจจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มท่องเที่ยวและบริการ แต่หากทั้งหมดได้รับมาตรการช่วยเหลือ มีการเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพตามมาตรการต่าง ๆ ก็จะเป็นการนช่วยบรรเทาภาระให้ลูกหนี้ ดังนั้นระดับ NPL ในระบบส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ด้วย รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีน และการเปิดประเทศ ซึ่งหากกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาได้เร็ว เชื่อว่าระดับ NPL ก็จะไม่ปรับเพิ่มสูงขึ้นมากนัก

นายรณดล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันฐานะของสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญค่อนข้างเยอะกว่าสิ่งที่เป็น สภาพคล่องมีเพียงพอ แต่ประเด็นที่จะต้องเร่งดำเนินการตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้สถาบันการเงินผ่านความช่วยเหลือให้ลูกหนี้อย่างมีคุณภาพ ช่วยเหลือลูกหนี้ให้อยู่รอดหลังโควิด-19 นั่นหมายถึงมาตรการพักต้น พักดอกเบี้ย จะเป็นการช่วยเหลือชั่วคราว ซึ่งไม่เพียงพอ สิ่งที่ ธปท. อยากเห็นและกระตุ้นให้สถาบันการเงินดำเนินการ คือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้และสอดรับกับรายได้ของลูกหนี้ในอนาคต ควบคู่ไปกับมาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า มาตรการชะลอการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งครอบคลุมลูกหนี้เอสเอ็มอีไม่เกิน 100 ล้านบาทนั้น กว่า 65% กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ และอีก 30% มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยังเหลืออีก 2% เท่านั้นที่ยืนยันว่าจะสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ภายใน มิ.ย. นี้ แต่เมื่อเดือน มี.ค. 2564 เกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง การควบคุมการระบาดยังทำได้ไม่เต็มที่ ธปท. จึงตัดสินใจขยายมาตรการชะลอการชำระหนี้ออกไป และให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มที่เกิน 100 ล้านบาทด้วย เพื่อรองรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดได้
ส่วนข้อเสนอที่ให้มีการปรับลดเงินนำส่งกองทุน FIDF เหลือ 0% นั้น คิดว่าคงไม่สามารถทำได้ เพราะกระทรวงการคลังยังมีภาระที่ต้องนำเงินไปจ่ายดอกเบี้ย โดยส่วนที่มีการปรับลดให้ก่อนหน้านี้คือการลดเงินต้นเท่านั้น


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"