'โพล'ย้ำชาวบ้านระอาแก้ปากท้อง


เพิ่มเพื่อน    

 

 

   ประชาชนบ่นเศรษฐกิจแย่-ของแพง-เงินไม่พอใช้ กระทุ้งเร่งแก้ปัญหาปากท้อง คุมราคาสินค้า แต่เชื่อรัฐบาลทำไม่สำเร็จ เพื่อไทยข้องใจตั้งงบปี 62 สูง สวนทางคนจนเพิ่มขึ้น "อนุสรณ์" ห่วงวิกฤติหนี้อิตาลีร้ายแรงกว่ากรีซ ไทยเลี่ยงผลกระทบยาก
    เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน "สวนดุสิตโพล"  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ “เสียงบ่น” ของคนไทย ณ วันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1,334 คน ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย.2561 สรุปผลได้ ดังนี้ 1.“5 อันดับ” เรื่องที่ประชาชนบ่น ณ วันนี้ พร้อมบอกสาเหตุและแนวทางแก้ไข อันดับ 1 ร้อยละ 63.46 เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพสูง เงินไม่พอใช้ สาเหตุที่บ่น เพราะเศรษฐกิจซบเซา ภาระเยอะ ค่าใช้จ่ายสูง ข้าวของมีราคาแพง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ต้องกู้ยืม ฯลฯ แนวทางแก้ไข คือ เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กระตุ้นการค้าการลงทุน ควบคุมราคาสินค้า ขึ้นเงินเดือน เพิ่มค่าแรง ฯลฯ
        อันดับ 2 ร้อยละ 40.59 การเมืองไทยวันนี้ยังวุ่นวายไม่หยุด สาเหตุที่บ่น เพราะกระทบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ เบื่อมัวแต่ทะเลาะกัน ยังไม่มีเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย ฯลฯ แนวทางแก้ไข คือ รับฟังความคิดเห็น ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เห็นแก่บ้านเมือง มีการเลือกตั้ง ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน ฯลฯ,  อันดับ 3 ร้อยละ 32.39 ปัญหาสังคม และอาชญากรรมยังน่ากลัว สาเหตุที่บ่น เพราะเป็นภัยใกล้ตัว เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ มีหลายรูปแบบ รุนแรงมากขึ้น สังคมย่ำแย่ ยาเสพติดแพร่ระบาด ฯลฯ แนวทางแก้ไข คือ เจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขัน กฎหมายเด็ดขาด เพิ่มสายตรวจทุกจุด ปลูกฝังจิตสำนึก ช่วยกันดูแล ฯลฯ
      อันดับ 4 ร้อยละ 31.75 การทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณภาครัฐ ท้องถิ่นยังมีอยู่มาก สาเหตุที่บ่น เพราะมีข่าวให้เห็นบ่อยครั้ง เป็นการเอาเปรียบประชาชน ไม่เป็นธรรม แก้ไม่หมด ประเทศไม่พัฒนา ฯลฯ แนวทางแก้ไขคือ ตรวจสอบและลงโทษอย่างจริงจัง ไล่ออก ยึดทรัพย์ จำคุกตลอดชีวิต ไม่ช่วยเหลือปกป้องพวกพ้อง ฯลฯ, อันดับ 5 ร้อยละ 23.44 พฤติกรรมของคนในสังคม แล้งน้ำใจ สาเหตุที่บ่น เพราะคนเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ ใช้อารมณ์ ขาดสติ ใช้สื่อโซเชียลในทางที่ผิด เป็นห่วงลูกหลาน ฯลฯ แนวทางแก้ไขคือ รณรงค์กระตุ้นให้ทุกคนมีวินัย เคารพซึ่งกันและกัน พัฒนาการศึกษา มีคุณธรรม พ่อแม่มีเวลาให้ ฯลฯ
        2.ประชาชนคิดว่ารัฐบาลน่าจะแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่? ประชาชนส่วนใหญ่คาดว่ารัฐบาลไม่น่าจะแก้ไขเสียงบ่นได้สำเร็จ อันดับ 1 การทุจริตคอร์รัปชันงบประมาณภาครัฐ ท้องถิ่นยังมีอยู่มาก ไม่สำเร็จร้อยละ 48.82, สำเร็จร้อยละ 19.87, ไม่แน่ใจร้อยละ 31.31  อันดับ 2 การเมืองไทยวันนี้ยังวุ่นวายไม่หยุด ไม่สำเร็จ ร้อยละ 45.14, สำเร็จร้อยละ 20.73, ไม่แน่ใจร้อยละ 34.13 อันดับ 3 เศรษฐกิจแย่ ค่าครองชีพสูง เงินไม่พอใช้ ไม่สำเร็จร้อยละ 41.68, สำเร็จร้อยละ 24.41, ไม่แน่ใจร้อยละ 33.91 อันดับ 4 ปัญหาสังคม และอาชญากรรมยังน่ากลัว ไม่สำเร็จร้อยละ 39.74,  สำเร็จร้อยละ 27.15, ไม่แน่ใจร้อยละ 33.11 อันดับ 5 พฤติกรรมของคนในสังคม แล้งน้ำใจ ไม่สำเร็จร้อยละ 36.36, สำเร็จร้อยละ 30.91, ไม่แน่ใจร้อยละ 32.73
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท และได้ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบว่า รู้สึกเป็นห่วงที่รัฐบาลใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี รวมแล้ว 16 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้าใช้เม็ดเงินอย่างถูกทาง มีประสิทธิภาพ ชาวบ้านน่าจะอยู่ดีกินดี แต่กลับตรงข้าม มีข้อมูลเชิงประจักษ์ปรากฏว่า ชาวบ้านมาลงทะเบียนขอบัตรคนจนถึง 14.1 ล้านคน จากประชากร 70 ล้านคน สะท้อนว่ายิ่งอยู่นานชาวบ้านยิ่งยากจนหรือไม่ ขณะที่แม่น้ำ 5 สายรับเงินเดือนและค่าตอบแทนกี่ทาง หากอยู่แล้วดีก็อนุโมทนาสาธุ แต่ถ้าอยู่แล้วคนจนเพิ่มขึ้น น่าจะพิจารณาประสิทธิภาพการบริหาร
    ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลกระทบความเสี่ยงวิกฤติยูโรโซนรอบใหม่และปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและการเมืองอิตาลีว่า ขณะนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังจำกัดวงอยู่ที่ตลาดการเงินโลก แม้นวิกฤติการเมืองอิตาลีจะคลี่คลายลงบ้าง แต่เชื่อว่าความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เงินยูโรอาจอ่อนค่าลงอย่างมากและอาจเป็นเป้าหมายของการถูกโจมตีหรือเก็งกำไรได้ หากมีการโจมตีค่าเงินอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้ และเศรษฐกิจไทยก็จะหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก  
    ทั้งนี้ การไหลออกของเงินทุนระยะสั้นจากตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย กระแสเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ของไทยอาจจะไหลออกไปลงทุนในสหภาพยุโรป (อียู) และอิตาลีเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินทรัพย์ในอิตาลีและอียูจะปรับตัวลง ผลกระทบจะขยายวงไปสู่ภาคการค้าและภาคเศรษฐกิจจริงหรือไม่ อยู่ที่ว่ ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะและการเมืองอิตาลีนำไปสู่แรงกดดันให้เกิดการถอนตัวออกจากยูโรโซนหรือไม่ และอิตาลีสามารถทำตามแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 130% ของจีดีพีได้หรือไม่ 
    "หากอิตาลีไม่สามารถทำได้ตามเงื่อนไขของอียูกำหนดเอาไว้ ปัญหาผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกจะรุนแรงกว่ากรณีของวิกฤติหนี้สินของกรีซที่ปะทุขึ้นเมื่อปี 2552 เนื่องจากปริมาณหนี้สาธารณะที่ใหญ่กว่าเกือบ 5 เท่า ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งคือ การจัดการเลือกตั้งใหม่ในเร็วๆ นี้ มีความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนการถอนตัวออกจากอียูอาจชนะการเลือกตั้งนำไปสู่การลงประชามติเพื่อออกจากยูโรโซนได้แบบ BREXIT (อังกฤษออกจากอียู) ดังนั้นผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในอิตาลี จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าระบบยูโรโซนจะดำรงอยู่ด้วยความมั่นคงหรือไม่" นายอนุสรณ์ระบุ
    สำหรับไทย ส่งออกไปอียูคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-11% ของมูลค่าส่งออก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอิตาลี และอียูอาจจะชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ขณะที่ประเทศไทยส่งออกไปประเทศอิตาลีเพียงประมาณ 0.8% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด แต่มีความเชื่อมโยงกับกิจกรรมการส่งออกต่อเนื่องไปยังอียูมาก โดยสินค้าส่งออกหลักคืออาหารแปรรูป อัญมณีเครื่องประดับ เสื้อผ้า เครื่องหนัง รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นต้น 
    นายอนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย เตือนว่า การอ่อนแอลงของเศรษฐกิจอิตาลีและยูโรโซนจะทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และจะมีการชะลอมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน (QE EXIT) ภาวะดังกล่าวจะกดดันให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักและเงินบาท เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้อีก ส่งผลกระทบต่อกิจการส่งออกที่ปรับตัวไม่ทัน และธนาคารแห่งประเทศไทยควรเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยความระมัดระวังความเสี่ยง ไม่ให้เกิดการขาดทุนทางบัญชีเพิ่มสูงมากเกินไป      
    ขณะที่ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 2.15 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีมากเกินความจำเป็น เพราะการมีทุนสำรองฯ ในระดับ 1 แสนล้านดอลลาร์เกินพอสำหรับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยแล้ว ดังนั้นควรนำมาจัดตั้งกองทุนเพื่อบริหารผลตอบแทน นำรายได้ไปลงทุนเพื่อประโยชน์ของประชาชน ดูแลสวัสดิการและแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ โดยการดำเนินการนี้จะต้องมีการกำกับควบคุมที่ดีและมีธรรมาภิบาล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"