เด็กตายที่แคนาดา


เพิ่มเพื่อน    

  โรงเรียนประจำของเด็กชนพื้นเมือง “เซนต์พอล” ในแวนคูเวอร์ แคนาดา (ภาพจาก Indian Residential School History and Dialogue Centre)

 

            ข่าวการพบโครงกระดูกเด็กนักเรียนจำนวน 215 ศพในเมืองแคมลูปส์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เมื่อปลายเดือนที่แล้ว สร้างความเศร้าสะเทือนใจ ระคนโกรธเคืองศาสนจักรที่ปล่อยให้มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากสถานที่พบศพเป็นที่ตั้งของอดีตโรงเรียนประจำสำหรับเด็กชนพื้นเมืองที่บริหารจัดการโดยโบสถ์คริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก พวกเขาเรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากวาติกัน เช่นเดียวกับ “จัสติน ทรูโด” นายกรัฐมนตรีแคนาดาก็ได้ทูลขอไปเช่นกัน

            วันอาทิตย์ที่ผ่านมา “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส” ตรัสว่าพระองค์ “รู้สึกเจ็บปวด” กับสิ่งที่เกิดขึ้น และ  “ขอร่วมกับบิช็อปและโบสถ์คาทอลิกในแคนาดาแสดงความแนบแน่นกับชาวแคนาดาที่ประสบทุกข์โศกจากข่าวอันน่าตกตะลึงนี้

            เมื่อไม่ได้ยินคำว่า “ขอโทษ” รวมอยู่ด้วย ผู้คนที่ออกมาวางดอกไม้ วางของเล่น วางรองเท้าเด็ก และจัดกิจกรรมคล้ายดั่งงานศพให้แก่เด็กที่ตายไปก็ได้เปลี่ยนอารมณ์มาเป็นการเดินขบวนประท้วง

            ที่เมืองโทรอนโต รัฐออนตาริโอ ซึ่งมหาวิทยาลัยไรเออร์สันตั้งอยู่ รูปปั้นอันเด่นสง่าของ “เอเกอร์ตัน ไรเออร์สัน”  ถูกผู้ประท้วงเอาเชือกไปผูกที่ส่วนคอแล้วช่วยกันดึงกระชากจนตกลงมาจากฐาน จากนั้นยังถูกละเลงด้วยสีและเขียนข้อความต่างๆ ที่ฐาน บนพื้น และกำแพง ซึ่ง “เอเกอร์ตัน ไรเออร์สัน” คือผู้วางรากฐานการศึกษาในแคนาดา เช่นเดียวกับวางระบบที่นำไปใช้กับชนพื้นเมือง “เฟิสต์เนชัน”

            มีคนเขียนข้อความว่า “กลับบ้านไปซะ กลับไปยังที่ที่พวกคุณจากมา ฉันและลูกสาวของฉันเกลียดพวกนักล่าอาณานิคม”

                อีกข้อความ “215 ศพ จงขุดขึ้นมา” เพราะ 215 ศพที่พบนั้นได้จากระบบเรดาร์ที่สแกนยืนยัน ยังไม่ได้มีการขุดศพขึ้นมา

            ทั้งนี้ โรงเรียนแคมลูปส์เป็นโรงเรียนประจำสำหรับชาวเฟิสต์เนชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีเด็กนักเรียนถึงประมาณ 500 คนในช่วงที่รับได้สูงสุด ดำเนินการโดยโบสถ์คาทอลิกระหว่างปี ค.ศ.1890-1969 จนรัฐบาลเข้ามาบริหารเองและปิดตัวลงในปี ค.ศ.1978

            ก่อนหน้านี้โบสถ์คริสต์นิกายเพรสไบทีเรียน นิกายแองกลิกัน และยูไนเต็ดเชิร์ชแห่งแคนาดา ได้เคยออกมาขอโทษเกี่ยวกับบทบาทของพวกตนที่เคยก่อไว้ในโรงเรียนต่างๆ ทางด้านรัฐบาลแคนาดาก็เสนอที่จะเยียวยาชดใช้ผู้ได้รับผลกระทบ

            วัฒนธรรมถูกกลืน ศพถูกแอบฝัง และคำขอโทษที่ยังไม่ได้ยิน

            ดินแดนแคนาดาในปัจจุบันปรากฏหลักฐานมนุษย์อยู่อาศัยมาอย่างน้อย 14,000 ปีก่อนที่นักสำรวจจากยุโรปจะเริ่มเข้าไปในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 และต่อมาได้ทำการค้ากับชนพื้นเมือง สินค้ายอดนิยมคือขนสัตว์

            ชนพื้นเมืองแคนาดาสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะแบบอินเดียนแดง มีหลายชนเผ่า เรียกรวมๆ ว่า เฟิสต์เนชัน (First Nations),  กลุ่มชาวอินูอิต และชาวเมทิส

            ในช่วงต้นที่ชาวยุโรปเข้าไปตั้งรกรากนั้นมีชนพื้นเมืองอยู่เท่าไหร่ไม่แน่ชัด ประเมินว่าอยู่ที่ระหว่าง 2 แสน - 2  ล้านคน (คณะกรรมาธิการเพื่อชาวอะบอริจินัลแห่งแคนาดาที่ตั้งขึ้นในปี 1991 ให้ตัวเลขไว้ที่ 5 แสนคน) หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดจำนวนลงไป 40-80 เปอร์เซ็นต์ ที่สูญพันธุ์ไปเลยก็มีอาทิ ชาวเฟิสต์เนชันกลุ่มชาติพันธุ์ Beothuk

            สาเหตุที่จำนวนประชากรชนพื้นเมืองลดลงเกิดจากการติดเชื้อโรคที่อังกฤษและชาวยุโรปอื่นๆ นำเข้าไป เพราะพวกเขาไม่มีภูมิคุ้นกันมาก่อน เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคฝีดาษ นอกจากนี้ก็ยังเกิดจากความขัดแย้งกับผู้เข้าไปตั้งอาณานิคมในหลายเรื่อง ทั้งอำนาจการปกครอง การค้า และการแย่งชิงที่ทำกิน จนชนพื้นเมืองสูญเสียระบบการพึ่งพาตนเอง

            สงคราม 7 ปีระหว่างผู้เล่นหลักฝ่ายอังกฤษและฝ่ายฝรั่งเศสที่รบกันไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกจบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมือดินแดนอาณานิคมขนานใหญ่

            ในแคนาดา กองทัพฝรั่งเศสยอมแพ้ต่ออังกฤษในปลายปี 1759 ทำให้ “นิวฟรานซ์” อาณานิคมของฝรั่งเศสทางฝั่งตะวันออกของแคนาดากลายเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษตาม  “สนธิสัญญาปารีส ค.ศ.1763” อังกฤษได้ครอบครองแคนาดาทั้งหมด

            ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 กระบวนการทำให้ชนพื้นเมืองถูกกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมของคนผิวขาวได้เริ่มขึ้น มีหลากหลายวิธีด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือแยกเด็กๆ ออกมาจากผู้ปกครอง ป้อนเข้าสู่ระบบโรงเรียนประจำ (Residential  School)

            ก่อนหน้านั้น “นิวฟรานซ์” ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็เคยมีความพยายามในการเปลี่ยนวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองมาแล้ว โดยหมอสอนศาสนาของพวกเขาได้ตั้งโรงเรียนกินนอนขึ้นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่เข้าไปตั้งรกรากชาวฝรั่งเศสก็ยังมีปัญหาอื่นอีกหลายด้าน  รวมถึงการมีโบสถ์ไม่เพียงพอ แม้แต่สำหรับเด็กกำพร้าของฝรั่งเศสเองที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

            ระบบโรงเรียนประจำสำหรับเด็กชนพื้นเมืองเริ่มใหม่ในช่วงประมาณปี 1820 มีกฎหมายรองรับเกิดขึ้นในปี 1876  ตามพระราชบัญญัติอินเดียนแดง (Indian Act) ได้รับงบประมาณจากกระทรวงกิจการอินเดียนแดงของรัฐบาลแคนาดา และส่วนมากบริหารจัดการโดยฝ่ายศาสนา นำโดยโบสถ์คาทอลิกเป็นหลัก

            โรงเรียนประจำสำหรับเด็กชนพื้นเมืองเคยมีมากสุดในปี 1931 มีจำนวนถึง 80 โรงเรียน ดำเนินการโดยโบสถ์คาทอลิก 44 แห่ง โดยแองกลิกันเชิร์ชแห่งแคนาดา 21 แห่ง โดยยูไนเต็ดเชิร์ชแห่งแคนาดา 13 แห่ง และโดยเพรสไบทีเรียน 2 แห่ง รัฐบาลเป็นผู้ก่อสร้างและซ่อมแซมสถานที่ ฝ่ายศาสนาทำหน้าที่หาครูสอนและจัดทำหลักสูตร

            พระราชบัญญัตินี้บังคับให้เด็กๆ ชนพื้นเมืองเฟิสต์เนชันทุกคนต้องเข้ารับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนแบบไปกลับ หรือโรงเรียนกินนอน โดยกำหนดเกณฑ์อายุไว้ที่ 7-16  ปี ต่อมาเปลี่ยนเป็น 6-15 ปี

            และเนื่องจากว่าโรงเรียนมักจะจงใจตั้งให้อยู่ห่างไกลจากชุมชนหรือเขตของชาวพื้นเมือง การเข้าโรงเรียนกินนอนจึงเป็นทางเลือกเดียวของเด็กเฟิสต์เนชันจำนวนมาก  เข้าทางความประสงค์ของรัฐ เพราะรัฐต้องการให้พ่อแม่และเด็กติดต่อสัมพันธ์กันให้น้อยที่สุด ตัดความเชื่อมโยงกับระบบสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิม

            “จอห์น เอส. มิลลอย” นักประวัติศาสตร์ เคยกล่าวว่าระบบนี้มุ่งหมายสำหรับ “ฆ่าความเป็นอินเดียนแดงในตัวเด็ก” ขยายความได้ว่าการจะตัดรากเหง้า ตัวตน ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีออกจากคน ก็ต้องทำเมื่อยังเป็นเด็ก

            ด้วยเหตุที่ระยะทางระหว่างโรงเรียนกับเขตที่อยู่ชนพื้นเมืองค่อนข้างห่างไกล ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเดินทางไปเยี่ยมบุตรหลานได้ไม่บ่อย และการเยี่ยมแต่ละครั้งอาจไม่ได้พบกับเด็กเป็นการส่วนตัว หรือครอบครัวที่มากันหลายคนไม่สามารถพบกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตา บางแห่งไม่อนุญาตให้พูดภาษาของตัวเอง และพ่อแม่บางคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย

            ต่อมามี “กฎการผ่านเขต” ออกมาใช้ในปี 1885 เป็นการกันชาวเฟิสต์เนชันไว้ในเขตสงวน ไม่ให้ออกไปปะปนกับชาวยุโรปผู้เข้ามาตั้งรกราก ชาวเฟิสต์เนชันคนใดต้องการออกจากเขตสงวนต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษจากเจ้าหน้าที่ “อินเดียน เอเยนต์” ทำให้การไปเยี่ยมบุตรหลานของบรรดาผู้ปกครองยากลำบากขึ้นไปอีก เด็กบางคนไม่เจอพ่อแม่คราวละ 10 เดือน หรือนานกว่า 1 ปี

            กฎการผ่านเขตดำรงอยู่ถึง 60 ปี ชาวเฟิสต์เนชันที่ถูกจับนอกเขตโดยไม่มีเอกสารอนุญาตต้องถูกส่งกลับเขตสงวนของตนหรือไม่ก็ถูกจำคุก

            โรงเรียนประจำของเด็กชนพื้นเมืองเปิดดำเนินการในเกือบทุกรัฐของแคนาดา ยกเว้นเพียงแค่นิวบรันสวิก และเกาะปรินซ์เอ็ดเวิร์ด เด็กชนพื้นเมืองค่อยๆ ห่างไกลจากครอบครัวและสังคมของตน ลืมเลือนภาษาเดิมเพราะถูกบังคับให้พูดแต่ภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศส ห้ามประกอบพิธีของชาติพันธุ์ อีกทั้งเมื่ออยู่ในโรงเรียนประจำก็ต้องเผชิญกับการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ไม่เว้นแม้แต่ถูกคุกคามทางเพศ

            มีหลักฐานพบการทดลองทางวิทยาศาสตร์ภายในโรงเรียนประจำของชนพื้นเมือง โดยเด็กที่เข้ารับการทดลองไม่ได้ยินยอม ผู้ปกครองก็ไม่ทราบเรื่อง เช่นการทดลองเกี่ยวกับการขาดสารอาหาร ทดลองอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ  การทดลองวัคซีนวัณโรค สารฆ่าเชื้ออะมีบา การทดลองเกี่ยวกับการรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสพิเศษ เป็นต้น

            เมื่อจบการศึกษาแล้ว เด็กที่กลับไปยังชุมชนเดิมก็มีความแปลกแยก จบลงที่ความหดหู่ ทุกข์ทรมาน ติดเหล้า มีปัญหาทางอารมณ์ ฆ่าตัวตายก็ไม่น้อย ฝ่ายที่อยู่ต่อไปในสังคมภายนอกก็ต้องผจญกับการถูกเหยียดเชื้อชาติและหางานทำยาก

            อย่างไรก็ตาม ระบบโรงเรียนประจำดังกล่าวนี้ในมุมมองของรัฐบาลแคนาดาและศาสนจักรก็ต้องถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะการส่งผ่านประเพณี ความเชื่อ วัฒนธรรมของชนพื้นเมืองจากรุ่นต่อรุ่นขาดตอนและมีปัญหา

            ระบบโรงเรียนประจำแห่งสุดท้ายปิดลงเมื่อปี 1996 มีเด็กนักเรียนประมาณ 150,000 คนเข้าเรียนตลอดระยะเวลาการดำเนินอยู่มากกว่า 100 ปี

            กลางปี 2008 “สตีเฟน ฮาร์เปอร์” นายกรัฐมนตรีแคนาดาในเวลานั้น ได้กล่าวขอโทษต่อสาธารณะในนามของรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ จากนั้นมีการตั้ง “คณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์” โดยคณะกรรมการดังกล่าวได้สัมภาษณ์ผู้เข้าโรงเรียนประจำที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วประเทศ รวบรวมเอกสารหลักฐาน อีกทั้งได้จัดการพบปะเสวนาในหมู่ชนพื้นเมืองหลายครั้ง

            ปี 2015 คณะกรรมการได้นำเสนอรายงาน 4 เล่มใหญ่  สำหรับจำนวนเด็กที่เสียชีวิตแท้จริงนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ การรายงานตัวเลขของเจ้าหน้าที่โรงเรียนไปยังส่วนกลางมีความบกพร่อง ไม่ต่อเนื่อง หลักฐานทางการแพทย์บางส่วนถูกทำลาย ทว่าพอจะยืนยันได้ว่ามีเด็กเสียชีวิตในโรงเรียนประจำ 3,201 คนเป็นอย่างน้อย โดยที่ผู้พิพากษา “เมอร์เรย์  ซินแคลร์” ประธานคณะกรรมการเชื่อว่าอาจมีมากถึง 6,000  คน

            สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่คือวัณโรค เนื่องจากโรงเรียนมีระบบระบายอากาศที่ย่ำแย่ ไม่มีการแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กไม่ป่วย โรงเรียนหลายแห่งมีสภาพความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานทางด้านสุขภาพอยู่มาก มีหลักฐานที่ระบุว่าในห้องเรียนแห่งหนึ่งมีนักเรียนป่วยถึง 16 คนในเวลาเดียวกัน และหลายคนมีอาการเหมือนใกล้ตาย แต่ถูกบังคับให้นั่งเรียนจนจบชั่วโมง

            ประธานคณะกรรมการยังเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า  “ค่อนข้างเป็นอะไรที่น่าประหลาดใจอยู่มาก เด็กจำนวนมากขนาดนั้นตายในโรงเรียน แล้วโรงเรียนก็ไม่แจ้งให้ครอบครัวทราบ”

            ในเรื่องเด็กหายและการไม่เปิดเผยจุดฝังร่างนั้น คณะทำงานคณะหนึ่งได้บังเอิญทราบข้อมูลเข้าตั้งแต่ต้นก็เสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่ของบประมาณเพิ่มเติม 1.5 ล้านเหรียญเพื่อตรวจสอบในประเด็นนี้โดยเฉพาะ แต่ถูกรัฐบาลปฏิเสธ คณะกรรมการจึงชี้ว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุจำนวนเด็กที่ตายหรือหายเพราะไม่รู้ว่ามีการนำศพเด็กไปฝังไว้ที่ไหน และแม้ว่าโรงเรียนส่วนใหญ่มีสุสานฝังศพ แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอน จงใจปกปิด และมีการก่อสร้างอาคารทับลงไปแล้ว

            คณะกรรมการได้สรุปว่า ระบบโรงเรียนประจำของชนพื้นเมืองที่ดำเนินการอยู่นานกว่า 1 ศตวรรษนั้นเปรียบได้กับ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทางวัฒนธรรม” และมาจากความเชื่อที่ว่าชาวอาณานิคมนำความเจริญเข้ามาสู่ผู้คนที่ยังป่าเถื่อน ผู้คนที่ไม่มีวันทำให้ตัวเองศิวิไลซ์ขึ้นได้ ภารกิจการสร้างความศิวิไลซ์นี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า คนผิวขาวมีเชื้อชาติและวัฒนธรรมเหนือกว่าผู้อื่น

            ข้อเรียกร้องของคณะกรรมการมีอยู่ด้วยกัน 94 ข้อ  เสนอไปยังภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในข้อเรียกร้องที่ส่งไปยังศาสนจักรโรมันคาทอลิกคือ “คำขอโทษ” อย่างเป็นทางการ

            ก่อนหน้านี้ในปี 2009 สมัย “โป๊ปเบเนดิกต์ที่ 16”  สำนักวาติกันเคยออกแถลงการณ์ “แสดงความเสียใจ” ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบโรงเรียนประจำของชนพื้นเมือง

                ขณะที่ล่าสุดโป๊ปฟรานซิสตรัส “แสดงความเจ็บปวด”.

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"