ภาวะคนไทย“ไร้ตัวเลือก” กลืนเลือดรับ“ผู้นำ”แบบเดิม


เพิ่มเพื่อน    

 

ในภาพรวมของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีการเปรียบเทียบว่าเหมือนระยะทางการวิ่งมาราธอนกับการต่อสู้กับไวรัส ซึ่งจะผ่านพ้นไปได้อาจต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร ถึงขนาดที่อาจารย์หมอบางท่านเคยประมาณการคร่าวๆ ว่าน่าจะอยู่ในห้วงระยะเวลากว่า 2 ปี

ซึ่งถ้านับจากที่ประเทศไทยได้เจอกับผู้ติดเชื้อรายแรก ไล่มาถึงปัจจุบันที่เป็นการแพร่ระบาดในระลอก 3 รวมถึงมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่ทั้งอินเดีย-แอฟริกาใต้ เข้ามาเป็นโจทย์ใหม่ในช่วงที่รัฐบาลกำลังกระจายวัคซีน สภาวะการวิ่งมาราธอนขณะนี้ น่าจะเปรียบเทียบกับ “ปีศาจกิโลเมตรที่ 35” ซึ่งเป็นคิดเป็น 3 ใน 5 ของระยะมาราธอน 42 กิโลเมตร กับช่วงเวลาที่คนไทยต้องเจอกับวิกฤติโควิดคือ ประมาณ 1 ปีกว่า

เป็นจังหวะที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้ามาบริหารราชการหลังการเลือกตั้งทั่วไปได้พักใหญ่ ในช่วงการระบาดครั้งแรก รัฐบาลถูกโจมตีอย่างหนักเนื่องจากรับมือกับการแพร่ระบาดได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาที่ต้องเจอครั้งแรกไม่เพียงพอ

อาจจะเรียกได้ว่า เหล่าบรรดา “อาจารย์หมอ” ที่เข้าให้คำปรึกษากับรัฐบาลในรอบนั้นทำให้รัฐบาลรอดวิกฤติรอบแรกมาได้อย่างหวุดหวิด โดยรัฐบาลทุ่มเทมาตรการตามคำแนะนำในลักษณะที่ว่า “เกิน” ดีกว่า “ขาด” จนทำให้ตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ในระยะเวลาหลายวัน กว่าจะเจอการแพร่ระบาดในระลอกสองซึ่งสามารถคุมได้ทัน ตามมาด้วยระลอกที่ 3 จากสถานบริการย่านทองหล่อ ผสมโรงด้วยเชื้อนำเข้าสายพันธุ์ต่างๆ แต่ในห้วงระยะเวลาทั้งหมดนั้นรัฐบาลต้องใช้เงินมหาศาลในการต่อสู้กับโรคระบาด รวมถึงเยียวยาประชาชนจากการล็อกดาวน์ในรอบแรก

จนทำให้การรับมือในระลอกที่สาม รัฐบาลไม่ใช้วิธี “เทหมดหน้าตัก” ด้วยการล็อกดาวน์เหมือนเดิม เพราะนั่นหมายความว่ารัฐบาลจะต้องใช้เงินมหาศาลในการเยียวยาประชาชน แต่เลือกใช้วิธีประคับประคองสถานการณ์ช่วง “สุญญากาศ” ที่ต้องรอวัคซีน ด้วยการขอความร่วมมือ ผ่อนหนัก-ผ่อนเบา ตามพื้นที่ เพื่อเข้าสู่ “อีเวนต์” ฉีดวัคซีนอย่างจริงจังเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมาอย่างทุลักทุเล

ปมประเด็นที่ฝ่ายค้านพยายามปลุกเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องการเมืองภายในและภายนอกประเทศ เริ่มเข้าเค้าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1.8 ล้านโดสถูกส่งมอบ กระแสสังคมร่วมโจมตีรัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนล้มเหลว ไม่แทงม้าหลายตัวตั้งแต่ต้น “เข้าล็อก” การอภิปรายของคณะก้าวหน้า-พรรคก้าวไกลก่อนหน้านี้

แต่เมื่อทุกอย่างคลี่คลาย มีการกระจายวัคซีนไปยังจุดต่างๆ ทั่วประเทศ แม้จะขลุกขลัก เนื่องจากวัคซีนส่งมอบไม่ต่อเนื่อง บางแห่งต้องเลื่อน หรือมีวัคซีนไม่เพียงพอ แต่ในสัปดาห์หน้าที่จะมีวัคซีนเข้ามาอีกล็อตใหญ่ สังคมก็จะโฟกัสไปที่การฉีดวัคซีน และอาการข้างเคียงของวัคซีนที่มีผลต่อชีวิตของผู้ฉีด กระแสการโจมตีรัฐบาลก็จะเบาลง

“รัฐบาล” ที่เคยตกเป็นเป้าก็น่าจะผ่านพ้นกระแสโจมตีช่วงนี้ไปได้ เมื่อเกมในสภาและนอกสภาเอื้อให้อยู่ต่อไปได้พักใหญ่ บันไดขั้นแรกคือการลงมติผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วาระแรกไปแล้ว ตามด้วยการผ่านร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2546 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ก็ผ่านไปได้อย่างฉลุย

แม้จะมีข่าวลือเรื่อง “ยุบสภา” แต่ก็เป็นช่วงที่สังคมกำลังฟาดงวงฟาดงาเกี่ยวกับวัคซีน แต่เมื่อผ่านช่วงมาราธอนกิโลเมตรที่ 35 มาได้ บรรยากาศเริ่มคลี่คลาย “รัฐบาล” อาจจะยังไม่ถูกกดดันมากนัก จนกว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนกันครบ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือในจำนวน 100 ล้านโดสตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ ซึ่งก็คือในช่วงปลายปีไปแล้ว จึงคาดว่าจะยังไม่มีการ “ยุบสภา” เกิดขึ้น 

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจช่วงนี้จึงเทน้ำหนักไปที่การสะสมขุมกำลังของพรรคพลังประชารัฐ ที่ปรากฏออกมาในรูปของ “งูเห่า” จากการโหวต “พ.ร.ก.เงินกู้ฯ” ไล่เรียงมาตั้งแต่ที่พรรคก้าวไกล นายขวัญเลิศ พานิชมาท, นายคารม พลพรกลาง, นายเอกภพ เพียรพิเศษ และนายพีรเดช คำสมุทร ได้ลงมติเห็นด้วย ซึ่งทั้ง 4 คนแสดงตัวชัดเจน โดยไปนั่งร่วมกับ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยตลอดการอภิปราย แต่ในที่น่าสนใจคือ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ที่ไม่เคยปรากฏข่าวว่าเป็นงูเห่า หรือย้ายพรรค ปรากฏผลคะแนนเป็น - หรือยัติภังค์ ที่หมายถึงผู้ไม่ลงมติ/ผู้ลาประชุม/ผู้ขาดประชุม

สำหรับพรรคเพื่อไทยลงมติไม่เห็นด้วยเกือบทั้งพรรค ยกเว้นนายจักรพรรดิ ไชยสาส์น, นายไตรรงค์ ติธรรม, น.ส.พรพิมล ธรรมสาร, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, นายสมคิด เชื้อคง, นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ และนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ซึ่งทั้ง 7 คนนี้ปรากฏผลคะแนนเป็น - หรือยัติภังค์เช่นกัน

ขณะที่ การลงคะแนนของพรรคเล็กและพรรคขนาดกลาง อาทิ นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ไม่ลงคะแนนเสียง, นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ ลงมติเห็นด้วย

เลยไปถึง การวางหมากแก้ไข รธน.ที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ไม่มีเรื่องการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ ขณะที่พรรคเล็กและพรรคขนาดกลางย่ำแย่ อีกทั้งเป็นแนวทางที่เชื่อว่าจะถอดสลัก แบ่งเก้าพื้นที่อีสานฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยมาได้บางส่วนจากบางพื้นที่

อีกทั้ง ยังคุมสภาพพรรคขนาดกลาง อย่างภูมิใจไทยที่ไม่ได้เป็นมิตรแบบจูบปากกันหวานชื่นเหมือนเมื่อก่อน หรือแม้กระทั่งในพื้นที่ภาคใต้ที่พรรคพลังประชารัฐอยากรุกคืบพรรคประชาธิปัตย์ หวังคุม แบ่งเก้าอี้จากพรรคเก่าแก่ให้มากที่สุด

แต่กว่าจะได้ข้อยุติก็คงสู้อีกหลายยก เพราะเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐคงไม่ยอม แต่ก็คงต้านทาน “อิทธิพล และพลังอำนาจ ของ 3 ป. และองคาพยพโดยรอบได้ยาก เพราะแม้กระทั่ง ส.ส.ในมือยังถูกดูดไปแล้ว เหลือเพียงชื่อฝากเลี้ยงไว้ในพรรคเท่านั้น

หันมาดู ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา จะเข้าสู่ขั้นตอนตั้งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาวาระสอง คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ประชุม 4-5 ครั้ง หรือประมาณ 1 เดือนจึงจะได้ข้อสรุป จากนั้นก็นำเข้าสู่การโหวตวาระสามได้ในเดือน ส.ค.

ในช่วงนี้จึงนับได้ว่าเป็นช่วงของการเตรียมการ เพื่อลุ้นว่าสถานการณ์ต้นปีจะเข้าสู่โหมดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือนายกฯ ประยุทธ์จะอยู่ยาวจนครบวาระต่อไป โดยที่ปัจจัยภายในและภายนอกสภาทำอะไรไม่ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยภายนอกสภา จากการขับเคลื่อนของมวลชนเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่อยู่ในอาณัติ “3 ป.” ที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อกลยุทธ์ของผู้อยู่เป็นเงาต้องการ “ย่อยพลัง” การต่อสู้ของฝ่ายซ้าย ด้วยการเปลี่ยนเป้าให้ไปโฟกัสรัฐบาลแทนสถาบันฯ ก็ทำให้สังคมเริ่ม “ไม่เก็ต” ต่อข้อเรียกร้องที่ต้องการเปลี่ยนแค่ “หัว” ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของของ “ไทยไม่ทน” ในการให้นายกฯ ลาออก และเลือกนายกฯ ใหม่ หรือกลุ่ม “ประชาชนคนไทย” หรือ ปท. นำโดย “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ ที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก พร้อมทั้งให้รัฐสภาเปิดทางให้มีการเลือกรายชื่อคนมาใหม่จากนอกบัญชีพรรคการเมือง หรือ “นายกฯ คนนอก” ตามมาตรา 272 วรรคสอง ก่อนตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามา “สร้างชาติ”

พร้อมผุดชื่อ ศุภชัย พานิชภักดิ์, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, แพทย์หญิงภัททิรา ทางรัตนสุวรรณ, ดร.วิรไท สันติประภพ, พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ขึ้นมา แต่ไม่มีเสียงฮือฮาตอบรับ

หรือถ้าจะย้อนกลับไปยังข้อเสนอให้นายกฯ จากพรรคการเมือง หรือเรียกว่า “นายกฯ ส้มหล่น” ก็เห็นแค่ “อนุทิน ชาญวีรกูล” แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยหนุนส่งใดที่จะชี้ชัดได้ว่า “เสี่ยหนู” จะได้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศในขณะนี้

            ในขณะที่พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ที่ยังเล่นการเมืองสองขา ใน-นอกสภา ถูกพันธมิตรฝ่ายขวา “บอนไซ” ตัดวงจรการเติบโตทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว ส่วน ส.ส.หลายคนเริ่มขยับรับสภาพความเป็นจริง ที่นักการเมืองในอุดมคติยากจะโหนกระแสเข้ามาเป็น ส.ส.อีกสมัย หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน

“ผู้นำ” ที่เป็นนักการเมืองที่จะเข้าสู่ระบบพรรคการเมือง และลงสมัครรับเลือกตั้งเข้ามาในสมัยหน้าจึงน่าจะเดินไปข้างหน้าได้ยากยิ่ง ส่งผลให้คนไทยเองก็แทบจะไม่มีตัวเลือก และอาจจำใจต้องมีนายกฯ ชื่อ “ประยุทธ์” จากการวางหมากทางการเมืองรองรับไว้อย่างรอบด้าน

ตราบใดที่คนไทยยังสาละวนเรื่องใกล้ตัว และวิกฤติที่กระทบชีวิต ความเป็นอยู่ ปากท้อง ปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมโดยการกำหนดของผู้อื่น เราก็ต้องกลืนเลือดอยู่กับลุงต่อไปอีกยาว!!!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"