พรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก ส่อเค้าปิดสวิตช์สภาสูงล่ม


เพิ่มเพื่อน    

 

           ความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา สัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ฉะนั้นระหว่างอาทิตย์นี้พรรคการเมืองที่เคยประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยื่นร่างต่อประธานรัฐสภาแล้ว ล่าสุด ชวน หลีกภัย เปิดเผยว่า สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ประสานมาคร่าวๆ ว่าจะยื่นในวันที่ 15 มิ.ย.

            ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ยังอืดเป็นเรือเกลือ ใกล้จะมีการประชุมร่วม ส.ส.และ ส.ว.แล้ว ก็ยังไม่ระบุวันยื่นร่างแต่อย่างใด

            โดยฝ่าย ประชาธิปัตย์ ระบุไว้ตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ว่า ทั้ง 3 พรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกันในหลักการ มีการปรับแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น

            กระทั่งวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดชัดว่า “เรามีร่างฯ ของเราอยู่แล้ว ยืนยันไม่มีเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เสนอมาเราก็โหวตแบบใบเดียว จะแพ้ชนะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 5 ปีนั้น กว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็ใกล้หมดวาระพอดี ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงครึ่งหลังแล้ว”

            ด้วยเหตุนี้ อาจเป็นไปได้ที่ทำให้การนำเสนอร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลชะงัก ชักช้า เพราะถ้าขาดเสียง ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย จำนวน 62 เสียง ก็จะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดไว้

            โดยมาตรา 256 กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้มี ส.ส.จำนวน 483 คน หมายความว่า หากจะเสนอร่างแก้ไขต้องมีเสียงร่วมเสนอ 97 คนขึ้นไป

            3.ส.ส.และ ส.ว.รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และ 4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน

            หมายความว่าลำพังพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะมี ส.ส.เพียง 52 คน ถ้าขาดเสียงของพรรคภูมิใจไทยในการร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอันจบเห่ ยกเว้นแต่เพียงว่าจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคฝ่ายค้าน

            อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขแยกเป็นแต่ละเรื่อง ทำให้พรรคเสนอ 6 ร่าง เพื่อป้องกันว่า หากสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับประเด็นใด ก็ให้ตกเฉพาะฉบับนั้นๆ

            ผิดจากของพรรคพลังประชารัฐที่รวมทุกประเด็นไว้ในฉบับเดียวกัน ถ้าสมาชิกไม่เห็นด้วยกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ย่อมทำให้ประเด็นอื่นๆ ที่อยู่ในฉบับเดียวกันตกไปด้วย

            อย่างไรก็ตาม ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข 6 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างฉบับที่หนึ่ง เกี่ยวกับสิทธิของประชาชน เช่น สิทธิชุมชน สิทธิในที่ดินทำกิน ประชาชนในแผ่นดินนี้ควรได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

            ร่างฉบับที่สอง เป็นเรื่องระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน จากเขตเลือกตั้ง และ 100 คน จากบัญชีรายชื่อ โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนกระบวนการคำนวณสัดส่วนคะแนนนั้นจะให้มีการกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ

            ร่างฉบับที่สาม เกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา เชื่อมโยงกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการเตรียมร่างไว้จากเดิมที่มีการเสนอบัญชีนายกฯ ไว้ ได้ปรับแก้ว่าบุคคลที่จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในสภา จะต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีนายกรัฐมนตรีที่เสนอจากพรรคการเมือง หรือเป็นบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะถือว่าได้ผ่านการตรวจสอบ และผ่านการเลือกจากประชาชนมาแล้วส่วนหนึ่ง และมาตรา 272 ไม่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี

            ร่างฉบับที่สี่ เป็นกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้ว คือ ตัดอำนาจของวุฒิสมาชิกออกในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออก และใช้จำนวนสมาชิก 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่

            ร่างฉบับที่ห้า ในเรื่องการดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญมาตรา 236 กำหนดว่า ให้ ส.ส. หรือสมาชิกรัฐสภา ยื่นเรื่องไปให้ประธานรัฐสภา และให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเห็นด้วยจะส่งดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งหากเราต้องการให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นไปอย่างเข้มข้น ไม่ควรกำหนดเป็นเช่นนี้ แต่ควรเปลี่ยนเป็นว่า ยื่นดำเนินคดี ป.ป.ช.ต่อประธานรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภาจะเป็นเพียงคนกลางในการส่งต่อไปยังศาล แล้วให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยต่อไป และร่างฉบับที่หก เป็นร่างที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น

            จะเห็นว่า ร่างฉบับที่สามของพรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีปัญหา เพราะขณะนี้ทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย ประกาศชัดไม่ขอเกี่ยวข้อง จะมีก็แต่ฝ่ายค้านที่เห็นด้วยกับการปิดสวิตช์ ส.ว.

            ฉะนั้น จับตาผลการประชุมพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"