โรดแมป-แก้รธน. ทำไมต้องบัตรเลือกตั้งสองใบ?


เพิ่มเพื่อน    

 โรดแมป แก้รธน.รายมาตรา ร่างฯฉบับไหน จะฝ่าด่านหิน?

            ในช่วงวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญก็คือ การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในวาระแรกขั้นรับหลักการ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจาก 3 กลุ่มหลักคือ 1.ร่างแก้ไข รธน.รายมาตราของพรรคพลังประชารัฐ 2.ร่างแก้ไข รธน.ของสามพรรคร่วมรัฐบาลคือ พรรคภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา 3.ร่างแก้ไขรธน.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองโดยเฉพาะการพิจารณาจากคณิตศาสตร์ทางการเมืองเรื่องจำนวนเสียงสนับสนุนของสมาชิกรัฐสภาในการโหวตรับหลักการร่างแก้ไข รธน. แวดวงการเมืองต่างเห็นตรงกัน ร่างแก้ไข รธน.ที่น่าจะผ่านความเห็นชอบมากที่สุด อาจจะเกือบทุกร่างในวาระแรก ก็คือร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอโดย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

            เรื่องดังกล่าว ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ คีย์แมนพรรคพลังประชารัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กับพรรคพลังประชารัฐมาตลอด และล่าสุดผลการประชุมใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อ 18 มิ.ย. ที่จังหวัดขอนแก่น นายไพบูลย์ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอีกครั้งตามความคาดหมาย โดยเขาได้วิเคราะห์การเมืองเรื่องการแก้ไข รธน.ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษในครั้งนี้

            ไพบูลย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. เกริ่นนำถึงการเสนอแก้ไข รธน.รายมาตราของพรรคพปชร. ว่าพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้มีการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อร่างแก้ไข รธน.มาตรา 256 ที่จะให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอแก้ไขรอบที่แล้วตกไป พรรคพลังประชารัฐก็มาเสนอแก้ไข รธน.รายมาตราในครั้งนี้ โดยได้นำประเด็นใกล้เคียงกับอันเดิมที่พรรคเคยเตรียมไว้ก่อนหน้านี้มาเสนอแก้ไข รธน.ในรอบนี้ เพื่อแสดงถึงความจริงใจและจริงจังว่าพรรคพลังประชารัฐไม่ได้ขวางการแก้ไข รธน.เพราะเราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ถ้ามีความเห็นพ้องต้องกัน

...มาครั้งนี้ จากที่ได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไข รธน.ของสภา เคยได้พูดคุยกับทั้ง ส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา จนพบว่าหากจะมีการเสนอแก้ไข รธน.รายมาตราในประเด็นที่พรรคพลังประชารัฐเสนอไป เขาค่อนข้างเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีโอกาสครั้งนี้พรรคพลังประชารัฐจึงยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรารวม 5 ประเด็น 13 มาตรา

            สำหรับรายละเอียดการแก้ไข รธน.แต่ละประเด็น ไพบูลย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าวสรุปสาระสำคัญไว้ เช่นประเด็นแรกที่เสนอคือ การเสนอให้เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 29 มาตรา 41 และมาตรา 45 เช่น เสนอแก้ไขในส่วนของกระบวนการยุติธรรม ที่อยู่ในมาตรา 29 เรื่อง สิทธิการให้ประกันตัว ที่เห็นว่าควรเขียนให้ชัดเจนสำหรับผู้ที่ถูกดำเนินคดี สิทธิในการได้รับการประกันตัวต้องมี และเป็นสิทธิหลักการไม่ให้ประกันตัวต้องมีเหตุอธิบาย แม้ตำรวจจะอ้างเหตุคัดค้านการประกันตัวในลักษณะคาดว่าผู้ถูกดำเนินคดีเกรงจะหลบหนีหรือไปทำผิดซ้ำ แต่ก็ควรยอมให้ได้รับการประกันตัวไปก่อนเพื่อให้ได้สิทธินี้  แต่หากคนที่ได้รับการประกันตัวในครั้งที่หนึ่งแล้วไปทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น หลบหนี ไปทำผิดซ้ำ แล้วถูกจับกุมตัวได้ แบบนี้ไม่ต้องให้ประกันอีกเลยก็ได้ รัฐธรรมนูญไม่คุ้มครอง ก็จะแก้ไขเพื่อเขียนให้มาตรา 29 มีความชัดเจนมากขึ้น

รวมถึงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 41 เรื่องของสิทธิของชุมชนในการได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมจากรัฐ เพราะการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ชุมชนมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ แต่ประชาชนอาจมีข้อจำกัด เช่น เรื่องความสามารถทางกฎหมาย ก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเขียนเพิ่มให้รัฐต้องมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย เช่น ช่วยเหลือด้านจัดหาทนายความให้กับชุมชนที่มีข้อพิพาทกับรัฐ  หากชุมชนเห็นว่าถูกรัฐละเมิด ชุมชนก็มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายได้ และเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยู่ในมาตรา 45 ในเรื่องของ พรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มารวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง เหมือนกับเป็นเอกชน แต่พบว่ามีการไปออกหลักเกณฑ์หยุมหยิมจนเกินเหตุ กลายเป็นว่าพรรคการเมืองถูกควบคุมยิ่งกว่าหน่วยงานของรัฐ มันก็ไม่เป็นธรรมในเรื่องของพรรคการเมือง จึงเสนอให้กลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะเหมาะสมกว่า

            และประเด็นที่ พปชร.เสนอแก้ไข รธน.รอบนี้ที่หลายฝ่ายสนใจมากที่สุด คือที่เสนอแก้ไข ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็เสนอแก้เป็นให้ใช้ บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยรายละเอียดของเรื่องนี้ ไพบูลย์ สรุปให้ฟังว่า เรื่อง การแก้ไขระบบเลือกตั้ง เป็นประเด็นที่สอง ตามร่างแก้ไข รธน.ที่พลังประชารัฐเสนอ สำหรับการที่เสนอแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะมีเสียงครหามาตลอดว่าพลังประชารัฐได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้ง เลยไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องระบบเลือกตั้งก็มีหลายคนในพรรคบอกว่าระบบที่ใช้ปัจจุบัน (บัตรใบเดียว) ก็ดีอยู่แล้ว จะไปเสนอแก้ทำไมเรื่องระบบเลือกตั้ง แต่ผมมองว่าหากเราไม่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบบัตรสองใบเหมือนตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เหมือนกับที่พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล อย่างที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องมันก็ไม่จบ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เรียกร้องมากเรื่องบัตรสองใบ เราก็คล้ายกับประนีประนอม หรือทำอะไรที่ต้องยอมรับฝ่ายเขาบ้าง ก็ควรแก้ไขให้เป็นบัตรสองใบ มันจะทำให้บรรยากาศดีขึ้น ที่ได้เห็นความจริงใจของพลังประชารัฐ พรรคก็เสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นบัตรสองใบ โดยให้ใช้แบบรัฐธรรมนูญตอนปี 2540 ที่แบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 400 เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แยกบัตรลงคะแนนเป็นสองใบ คะแนนคิดแยกกัน เวลาเลือกตั้งใช้เลขเดียว

            รองหัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวต่อไปว่า ตอนเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น 2 ปัญหา โดยปัญหาแรกคือการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วปัดเศษ เราก็เลยเขียนไว้ในร่างที่เสนอไปว่า พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้คะแนนเสียงรวมกันทั่วประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ถึงจะนับคะแนน เพราะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ร้อยละ 1 ก็คือได้ 1 คน แต่ถ้าได้ต่ำกว่าร้อยละ 1 ก็ตัดคะแนนทิ้ง ไม่ให้นำมานับ เพื่อแก้ปัญหาเรื่อง ส.ส.ปัดเศษ ประเด็นที่สองคือ มีเสียงครหาว่ามีพรรคการเมืองขนาดเล็กเข้ามาเยอะแยะ อาจจะมีส่งบัญชีรายชื่อ แต่ไม่ค่อยส่งคนลงสมัคร ส.ส.เขตมาก ทำให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ก็เลยเขียนกำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองใดจะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ต้องส่งผู้สมัครลง ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 เขต

..สำหรับประเด็นที่สามคือ เสนอแก้ไขมาตรา 144 ที่เป็นบทบัญญัติเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ เพราะพบว่ามีปัญหากระทบต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ จึงเสนอแก้ไขโดยให้ใช้ข้อความตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แทน เพราะที่เป็นอยู่มีการเขียนจนเกินไป จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เขาไม่กล้าจะมาทำงานอะไรเพื่อช่วยการทำงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ เลย จนเป็นปัญหา-อุปสรรค คือเรื่องการตรวจสอบมันก็เป็นสิ่งที่ดี แต่มันเกินมากไป เลยเสนอแก้ไขให้กลับไปเหมือนเดิมตอนรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ก็ยังห้าม ส.ส.และ ส.ว.ไปยุ่งเกี่ยวกับการเสนอแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพรรคพวกจะกระทำมิได้ โดยหากใครไปทำ ป.ป.ช.ก็ลงโทษได้ ไม่ได้จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่มีการบิดเบือนใส่ร้ายว่าจะแก้เพื่อให้มีงบ ส.ส.

            ...ประเด็นที่สี่ เป็นเรื่องที่พบว่า ส.ส.และส.ว. โดยเฉพาะ ส.ส. จะมีปัญหาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 185 ที่ไม่สามารถไปติดต่อหน่วยงานของรัฐ ส่วนราชการ เช่น หากประชาชนมีความเดือดร้อนแล้วเขาไปติดต่อที่อำเภอหรือศาลากลางจังหวัด แล้วหากเช่นเผลอไปทำหนังสือเพื่อขอให้ไปช่วยเหลือประชาชน ก็จะโดนเล่นงานจากหนังสือฉบับนั้นจนถูกยื่นถอดถอนเป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะไปฝ่าฝืนมาตรา 185 โดยที่ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนในต่างจังหวัดเวลาเดือดร้อนจะไปพึ่งใครได้ จะไปพึ่งข้าราชการ แต่ก็เป็นระบบราชการแบบภูมิภาค ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องไปพึ่ง ส.ส. แต่ ส.ส.ถูกตัดอำนาจ ถูกควบคุม-ถูกห้าม ไปให้เข้าไปยุ่ง ส.ส.ก็ทำได้คือไปพูดในที่ประชุมสภา 2 นาที เพื่อให้บันทึกไว้ในสภา แล้วสภาส่งเรื่องไปยังหน่วยงานนั้น แล้วหน่วยงานก็ไปดำเนินการ คิดดูว่าจะใช้เวลาอ้อมไปตั้งเท่าไหร่ แต่หากแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ได้ ส.ส.ก็พาประชาชนไปติดต่อ พาไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ที่เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ประเด็นนี้ไม่ได้เสนอเพื่อ ส.ส.พลังประชารัฐ แต่ทำเพื่อ ส.ส.ทั้งสภา แต่ก็ยังคงไว้ในเรื่องไม่ให้ ส.ส.เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ไม่ให้ไปวิ่งเต้น ไปฝากคน หากใครทำ ก็มีความผิด ก็เสนอให้นำหลักมาตราในประเด็นนี้ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 นำกลับมาใช้อีกครั้ง

            ประเด็นที่ห้า ที่เป็นประเด็นสุดท้ายคือเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาล ที่บัญญัติให้วุฒิสภาเพียงฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่และอำนาจติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดปฏิรูปประเทศ รวมถึงการติดตามการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ ในร่างก็เสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหม่จากที่เป็นอำนาจของวุฒิสภาฝ่ายเดียว ให้แก้เป็นอำนาจของรัฐสภาเพื่อให้ ส.ส.เข้าไปมีส่วนเรื่องนี้ได้ โดยอาจทำในรูปแบบของการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภาขึ้นมา เพื่อไปติดตามและรายงานผลต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา

            ไพบูลย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. ย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐคิดว่าการเสนอแก้ไข รธน. ไม่ใช่การเสนอแก้ไขแค่ครั้งเดียว คงต้องเสนอแก้ไข รธน.กันหลายครั้ง แต่การเสนอแก้ครั้งแรก ควรแก้ในประเด็นที่หลายฝ่ายรับกันได้มากที่สุด

....เราก็ยอมถอยไปก้าวหนึ่ง ต่างฝ่ายต่างประนีประนอมกันเพื่อให้มันผ่านไปได้หนึ่งฉบับ อย่างร่างที่พลังประชารัฐเสนอไป 5 ประเด็น 13 มาตราในครั้งนี้ จากนั้นเมื่อแก้ไขแล้วเสร็จ มีการประกาศใช้ ก็ทิ้งช่วงไปสักระยะ จากนั้นก็มาว่ากันในประเด็นอื่นๆ ต่อไป ค่อยๆ คุยกันเพื่อหาความเห็นร่วมกัน ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลังประชารัฐคือทางออก ไม่ใช่แก้ครั้งเดียวแล้วจบ ผมก็คิดว่าหากตราบใดยังไม่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นแบบเป็นรูปธรรม ข้อที่มัวแต่พูดกัน ประชาชนก็จะกลายเป็นเครื่องมือนักการเมือง ไปเที่ยวปลุกปั่นว่า รธน.ฉบับปัจจุบันมีปัญหาเหลือเกิน เช่น ทำให้เกิดการสืบทอดอำนาจ คือมัวแต่ไปพูดแต่เรื่องแย่งชิงอำนาจกัน ไม่พูดเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนกันจริงจัง

 

มั่นใจสภาสูง เทเสียงหนุนเต็มสูบ 

-ทาง พปชร.มั่นใจว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่างของพรรค ทาง ส.ว.จะสนับสนุนผ่านหมดทุกร่าง?

            อันนี้ผมไม่ได้คิดเอง แต่เกิดจากที่ได้ทำงานร่วมกับ ส.ว. ทั้งในกรรมาธิการของรัฐสภา ที่ศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านมาก็สอบถามแล้ว หากไม่ไปแตะมาตรา 272 (อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ) และมาตรา 279 เขาก็รับได้ แต่หากไปแตะ 272 กับ 279 เขาไม่ยอม ที่ไม่ยอม ไม่ได้มีแต่ ส.ว.ที่ไม่ยอม พลังประชารัฐ ก็ไม่ยอม

ตอนนี้พลังประชารัฐมี ส.ส. 122 คน ส่วน ส.ว.มี 250 คน รวมกันก็ 372 คน ตอนนี้สมาชิกรัฐสภามีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่มีเสียงประมาณ 738 คน เสียงกึ่งหนึ่งก็ประมาณ 368 เสียง การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 368 เสียง หาก 372 เสียง (พลังประชารัฐ-สมาชิกวุฒิสภา) ไม่เห็นชอบด้วย แล้วจะไปเอาเสียง 368 เสียงมาจากไหน จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไง ก็ไม่ได้ หากฝ่ายพรรคพลังประชารัฐกับฝ่าย ส.ว.ไม่เห็นด้วย ซึ่งพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และมาตรา 279 รวมถึงการเสนอแก้ไขทั้งฉบับ 

จึงเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เสนอแก้ไขมาตรา 272 ที่ต้องไปหาเสียงสนับสนุนให้เกิน 368 เสียงเพื่อให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้มาตรา 272 ผ่านความเห็นชอบ ที่หาไม่ได้อยู่แล้วก็ตกไป เพราะไม่ได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องเสียงส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 เลยด้วย เพราะเกินกึ่งหนึ่งเสียงก็ไม่ถึงแล้ว

            "ในทางกลับกัน เราจึงย่อมมั่นใจถึงเสียงสนับสนุนการโหวตตามร่างที่พรรคพลังประชารัฐว่าจะได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งแน่นอน จะได้มาจากเสียง ส.ส.พลังประชารัฐ จากทางส.ว. รวมถึง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็สนับสนุนเรื่องบัตรสองใบ รวมถึงเพื่อไทยด้วย แต่เพื่อไทย จะมาด้วยหรือไม่ ก็ไม่เป็นไรเพราะเอาแค่เสียงทางนี้ พลังประชารัฐ ส.ว.และประชาธิปัตย์ก็เพียงพอ เพราะลำพังแค่พลังประชารัฐกับ ส.ว. หากมีความเป็นเอกภาพ ถ้าต้องการแก้ตรงนี้มันก็ผ่านอยู่แล้ว"

เมื่อถามย้ำไปว่าหาก ส.ส.พลังประชารัฐ ไม่ไปโหวตเห็นชอบร่างแก้ไข รธน.ของสามพรรคร่วมรัฐบาล จะไม่กลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลหรือ ไพบูลย์-รองหัวหน้าพรรค พปชร. ตอบว่า ไม่เกี่ยวกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความเห็นของแต่ละพรรคการเมืองที่อาจเห็นไม่ตรงกัน หากพลังประชารัฐไม่ไปโหวตให้ ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร เพราะอย่างการแก้ไขมาตรา 256 ครั้งที่แล้วก็เห็นชัดเจน พลังประชารัฐก็โหวตไปตามที่เห็นสมควร เพราะถือเป็นสิทธิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องของการเสนอกฎหมายโดยฝ่ายรัฐบาล แต่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภาด้วยกัน ดังนั้นหากจะโหวตไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องปกติ หากเสียงพอตามหลักเกณฑ์ร่างก็ผ่าน แต่เสียงไม่ถึงหลักเกณฑ์ร่างก็ตกไป ไม่เกี่ยวอะไรกับสถานะของรัฐบาล

-แต่ฝ่ายพรรค ปชป.ชูธงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด หากบางร่างที่พรรค ปชป.ผลักดันแล้วไม่สำเร็จ อาจจะมี ส.ส.ปชป.บางคนเสนอให้พรรคทบทวนการอยู่ร่วมรัฐบาล?

            มันอยู่ที่ประเด็น ก็ประชาธิปัตย์เขาก็อยากได้บัตรเลือกตั้งสองใบ เรื่องนี้ก็อยู่ในร่างของพลังประชารัฐแล้ว แล้วร่างที่ประชาธิปัตย์ยื่นแก้ไข ก็มีเรื่องบัตรสองใบ แต่พรรคภูมิใจไทยอาจไม่เอาด้วย หรือชาติไทยพัฒนา ก็ไม่เอาด้วย แล้วพรรคร่วมรัฐบาลแตกกันหรือไม่ สามพรรคดังกล่าว เขาก็เห็นไม่ตรงกันในเรื่องบัตรเลือกตั้ง หรืออย่างที่จะให้มาตรา 272 ทางภูมิใจไทยก็ไม่เห็นด้วย

            “เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้ถอดหมวกคำว่าพรรคร่วมรัฐบาล หรือพรรคร่วมฝ่ายค้านออก อย่างเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบ พรรคร่วมฝ่ายค้านกันเองก็เสียงแตก มีแค่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ที่เอาด้วยกับบัตรสองใบ แต่พรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ ไม่เอาด้วย แล้วพรรคร่วมฝ่ายค้านเขาแตกกันหรือไม่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเอาทั้งคำว่าพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านออกไป ให้เหลือแค่ว่าพรรคการเมืองที่จะมาดูว่า ประเด็นที่เสนอกัน ประเด็นเห็นตรงกัน ก็ว่ากันไป หากเสียงลงมติถึงเกณฑ์ร่างก็ผ่านความเห็นชอบไป”

...อย่างการลงมติวาระสาม ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระสาม นอกจากเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งแล้ว เสียงเห็นชอบต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน หรือก็คือ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านนั่นเอง อย่างพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ที่มีเสียง ส.ส.ในฝ่ายค้านร่วม 60 เปอร์เซ็นต์ แค่เพื่อไทยเห็นชอบด้วยแค่พรรคเดียว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ผ่านความเห็นชอบแล้ว ไม่จำเป็นที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคก้าวไกลต้องมาเห็นด้วย ผมถึงได้บอกตอนแรกๆ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากพลังประชารัฐ ส.ว.และพรรคเพื่อไทยเห็นชอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ผ่านหมด

จะบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ

พปชร.ก็ได้หมด ไม่มีเสีย

-มีการมองกันว่า ที่พรรค พปชร.ผลักดันให้มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ เพราะ พปชร.เกรงว่า หากไม่มีการแก้ไข การเลือกตั้งรอบหน้า พลังประชารัฐจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แบบเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่เจอมาแล้วตอนเลือกตั้งปี 2562?

            เวลามอง เราก็คือ เราก็ไม่เสีย แต่หลายคนในพลังประชารัฐ ก็ยังชอบบัตรใบเดียว คือ ดูแล้วมันก็ไม่เสีย เราก็ไม่เสียอะไร ในเรื่องบัตรสองใบ หรือจะให้เป็นบัตรใบเดียว เราก็ได้ทั้งสองอย่าง ก็คือหากอยู่ดีๆ แล้วเกิดว่าตอนลงมติวาระสาม พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้งหมด ไม่ลงมติเห็นชอบด้วยกับระบบบัตรสองใบตอนโหวตวาระสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ตกไป ก็ไม่ต้องใช้บัตรสองใบ ก็ยังคงใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เราก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่คนเดือดร้อนคือพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ที่เขาอยากได้บัตรสองใบ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคเขาก็ต้องไปดูเหมือนกัน

            พลังประชารัฐเราไม่ได้ทำเพราะว่าเราได้เปรียบเราถึงค่อยทำ คือเราไม่ได้เสียอะไร ดูแล้วไม่เสีย เราก็ได้ทั้งคู่ จะสองใบก็ได้ ใบเดียวก็ได้ แต่บางพรรค หากยังใช้ระบบเลือกตั้งแบบครั้งที่แล้ว เขาเสียหาย แต่กับบางพรรคเอง หากยังใช้ระบบเดิม ก็ดีกับพรรคแน่ อย่างเช่นพรรคก้าวไกล เขาก็ดีแน่ เขาเลยอยากได้แบบเดิมไว้ ภูมิใจไทยก็อาจจะชอบด้วย ก็อยากได้แบบเดิม ก็ประกาศแล้ว ก็เป็นเรื่องของการอยากได้แบบเดิมไว้ เพราะเป็นประโยชน์กับเขา จะมีก็พลังประชารัฐ ที่ยังไงก็ได้ แต่เพื่อไทย อยากได้บัตรสองใบ ประชาธิปัตย์ก็อยากได้บัตรสองใบ พลังประชารัฐ นี่แหละยืดหยุ่นที่สุด เราจะเอาแบบสองใบก็ได้ ใบเดียวก็ได้

-แต่คนก็มองว่าพลังประชารัฐเกรงจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หากใช้บัตรใบเดียว เลยรีบแก้เรื่องบัตรเลือกตั้งให้ใช้บัตรสองใบ?

            ก็อยากมองยังไงก็มองไป แต่เรามองว่าเราได้ทั้งสองอย่าง เราไม่ได้ชอบแบบด้านใดด้านหนึ่งเหมือนกับพรรคอื่นเขา เราได้ทั้งสองอย่าง  อย่างพรรคก้าวไกล ต้องชอบบัตรเลือกตั้งใบเดียวแน่นอน ส่วนเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ไม่ชอบบัตรใบเดียวแน่นอน แต่ในส่วนของเรา เดิมคือยังไง ก็ต้องบัตรใบเดียว แต่เราเปลี่ยนมาเป็นบัตรใบเดียวก็ได้ บัตรสองใบก็ได้แล้ว แต่เราก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กลับไปใช้บัตรสองใบเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือความรู้สึกที่ไม่ดี มาหาว่าเราไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ ลองหากเราไม่เสนอแก้เรื่องบัตรเลือกตั้ง ข้อกล่าวหา ก็จะกลับมาที่เราเหมือนเดิม เมื่อเราเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้บัตรเลือกตั้ง เสียงครหาก็จะหายไป หรือมาถามว่าทำไมเราไม่เสนอแก้มาตรา 272 กับ 279 ก็พลังประชารัฐบอกแต่ต้นแล้วว่าเราไม่แก้ เป็นพรรคอื่นที่บอกเองว่าจะแก้ ไม่ใช่พวกผมที่เคยไปบอกว่าจะแก้ แต่อย่างบัตรเลือกตั้ง เราก็ไม่เคยบอกว่าจะแก้ตอนแรก แต่ตอนนี้เราก็มาแก้ไขให้

            ไพบูลย์-แกนนำพรรค พปชร. กล่าวประเมินสถานการณ์เรื่องการแก้ไข รธน.ในช่วง 23-24 มิ.ย.นี้ว่า คงราบรื่น ไม่มีปัญหาอะไร โหวตผ่านก็เดินหน้าไป แต่มั่นใจว่าได้แก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ เรื่องนี้จะไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งอะไรในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะไม่เกี่ยวกัน

            ...ก็มีบางคนที่อยู่ในซีกฝ่ายค้านบอกว่า ที่พลังประชารัฐต้องรีบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพลังประชารัฐไปเตรียมการเรื่องไพรมารีโหวตผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไปหาตัวแทนประจำจังหวัดยังไม่ครบ ทั้งที่พลังประชารัฐตอนนี้ครบหมดแล้ว 350 เขต เราพร้อมจะเลือกตั้งบัตรใบเดียว พร้อมจะเลือกตั้งตามกฎหมายปัจจุบันได้หมดแล้ว แต่มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวข้องอะไรกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการยุบสภา ความพร้อมเราพร้อมที่สุด แต่ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราพร้อมแล้วทำไมต้องไปยุบสภาเร็ว ก็วาระสภายังเหลืออยู่ ก็ดำเนินการไปตามวาระ แล้วเรื่องยุบสภา เป็นเรื่องอำนาจของนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมือง ซึ่งการยุบสภา ก็ต้องมีเหตุให้ยุบสภา คือพรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุน กฎหมายของรัฐบาล เพื่อบีบให้นายกฯ ลาออก นายกฯ ก็จะไม่ลาออก ก็เลือกวิธียุบสภา แต่นายกฯ ก็อยู่ครบเทอมอยู่แล้ว เพราะยังไม่มีเหตุให้มีการยุบสภา

-ถ้าทุกอย่างเดินไปตามนี้ มีการแก้ไขรธน. และต่อมาเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง พลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่ใหญ่ขึ้นกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่?

            เชื่อว่าพลังประชารัฐจะเติบโตใหญ่ขึ้น เพราะพรรคมีความมั่นคง ที่สำคัญที่สุดพรรคได้หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นบุคคลที่ทุกคนเคารพ เป็นศูนย์กลางศูนย์รวมของคนในพรรคพลังประชารัฐ คือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สิ่งนี้คือจุดแข็งที่สุดของพลังประชารัฐ พลังประชารัฐจะเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็งมาก จะเข้มแข็งกว่าตอนเลือกตั้งรอบที่แล้ว เพราะเป็นการเลือกตั้งที่จะนำทัพโดยพลเอกประวิตร ที่ก็คงได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น แต่คงไม่ถึงกับเกินกึ่งหนึ่งของสภา เพราะคงไม่มีพรรคการเมืองไหนได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่ง

                                                โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"