วัน Juneteenth วันเลิกทาสอเมริกา


เพิ่มเพื่อน    

คุณยายโอปอล์ ลี เดินวันละ 2.5 ไมล์ จากรัฐเท็กซัสบ้านเกิดไปยังอาคารรัฐสภาในวอชิงตัน ดี.ซี (เครดิตภาพ opalswalk2dc.com)

 

                “อับราฮัม ลินคอล์น” ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ออกคำประกาศเลิกทาสเมื่อวันที่ 22 กันยายน ค.ศ.1862 ในระหว่างสงครามกลางเมือง (ค.ศ.1861-1865) ให้มีผลในวันที่ 1 มกราคมปีถัดมา

            ความเป็นทาสและการใช้แรงงานทาสในรัฐเทกซัสยังลากยาวต่อไปอีกถึง 2 ปีครึ่งกว่าความหมายในคำประกาศจะเกิดผล นั่นคือในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1865

            วันสำคัญ “19 มิถุนายน” นี้ถูกเรียกขานมานานในชื่อ Juneteenth (จูนทีนท์) ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง June และ Nineteenth

 

******************

การเลิกทาสอันแสนยากเย็น

            กองทัพสมาพันธรัฐ (Confederacy) หรือ “ฝ่ายใต้”  รวมกัน 11 รัฐ ต้านทานการบุกของกองทัพสหภาพ (Union) หรือ “ฝ่ายเหนือ” ต่อไปอีก 2 ปีครึ่ง หลังมีคำประกาศเลิกทาส (Emancipation Proclamation) ออกมา

            ทาสที่ไม่สามารถหลบหนีข้ามเขตจากฝ่ายใต้ไปทางฝ่ายเหนือได้ยังคงไม่ได้รับอิสรภาพ ชีวิตยังอยู่ในกำมือของกองทัพและนายทาสฝ่ายใต้

            เพื่อหลบเลี่ยงสงครามที่กำลังรบพุ่ง นายทาสผิวขาวจำนวนมากจัดการลำเลียงทาสของตนไปยังรัฐเทกซัสซึ่งอยู่ทางใต้และห่างไกลจากฝ่ายเหนือ จากก่อนนั้นที่เคยมีทาสอยู่ในรัฐเทกซัสหลักหมื่น ในเมืองใหญ่อย่างฮิวสตันเองมีอยู่เพียงหลักพัน แต่พอถึงปี 1865 ในรัฐเทกซัสมีทาสรวมกันถึงราว 250,000 คน

            “นายพลโรเบิร์ต เอ็ดเวิร์ด ลี” ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายใต้ยอมแพ้แก่ฝ่ายเหนือที่รัฐเวอร์จิเนียในวันที่ 9 เมษายน 1865 แต่ยังมีหน่วยรบทรานส์-มิสซิสซิปปี (ครอบคลุมเทกซัส, ลุยเซียนา และอาร์คันซอ) ต่อสู้ต่อไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม และศิโรราบอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน

            ตอนเช้าวันที่ 19 มิถุนายน “พันเอกกอร์ดอน แกรนเจอร์” ของฝ่ายเหนือเดินทางมาถึงเมืองกัลเวสตัน รัฐเทกซัส เพื่อบัญชาการทหารฝ่ายเหนือ 1,800 นายที่คุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว “พันเอกแกรนเจอร์” และกองทหารพาเหรดไปตามย่านต่างๆ กลางเมือง แวะหลายสถานที่สำคัญเพื่ออ่านประกาศ General Order No.3

                “ชาวเทกซัสโปรดจงทราบว่า เพื่อให้เป็นไปตามคำประกาศเลิกทาสซึ่งเป็นคำสั่งจากฝ่ายบริหารของสหรัฐอเมริกา ทาสทุกคนเป็นอิสระแล้ว นี่ยังรวมถึงความเสมอภาคในทางสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สินระหว่างอดีตนายทาสและทาส และความเกี่ยวข้องระหว่างทั้งฝ่ายต่อจากนี้ไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ขอแนะนำให้ทาสที่เป็นอิสระจงอยู่อย่างเงียบสงบในนิวาสสถานเดิม และทำงานเพื่อค่าแรง นอกจากนี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้รวมตัวกันในบริเวณหน่วยทหาร และไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม”

            ใช่ว่าทาสทุกคนจะเป็นไทตามคำประกาศโดยทันที นายทาสตามไร่ตามนายังคงลังเลที่จะประกาศความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทาสของตนทราบ บางแห่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไปบอกคำสั่งเอง และนายทาสส่วนมากก็โชคดีที่สามารถประวิงเวลาไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ใช้แรงงานฟรีต่อไปได้อีกฤดูกาล

            ที่เมืองกัลเวสตัน ซึ่งอยู่ติดชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก อดีตนายกเทศมนตรีของฝ่ายสหพันธรัฐเยาะเย้ยกฎหมายด้วยการบังคับชาวผิวสีที่เป็นอิสระแล้วกลับไปทำงานอีกครั้ง

                “ซูซาน เมอร์ริตต์” อดีตทาสผิวสี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือของ “ลีออน ลิตแวค” นักประวัติศาสตร์ชื่อดังว่า “...คุณจะเห็นนิโกรจำนวนมากถูกแขวนคออยู่บนต้นไม้ใกล้แม่น้ำซาไบน์ เพราะว่าพวกนั้นถูกจับขณะว่ายน้ำข้ามฝั่ง แล้วก็โดนยิง”

            “เคที ดาร์ลิง” กล่าวในหนังสือของนักประวัติศาสตร์ “เอลิซาเบธ เฮนส์ เทอร์เนอร์” ว่า หลังจากทำงานให้กับนายหญิงของเธอเป็นเวลา 6 ปี จนมีคำประกาศเลิกทาส แต่นายหญิงของเธอก็ยังฟาดเธอด้วยแส้ต่อไปเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

            ในเวลานั้นยังมีอีก 2 รัฐ ได้แก่ เดลาแวร์ และเคนตักกี ที่การใช้แรงงานทาสยังดำเนินอยู่จนกระทั่งวันที่ 18 ธันวาคม 1865 เมื่อ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 13” ได้รับการประกาศใช้ ยกเลิกการใช้แรงงานทาสและการใช้แรงงานที่ไม่สมัครใจทั่วประเทศ

 

***************

รำลึกวัน Juneteenth

            รัฐส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ยึดเอาวันที่ 4 กรกฎาคมอันเป็นวันประกาศอิสรภาพในการรำลึกและเฉลิมฉลองการเลิกทาส เรียกว่าวัน Jubilee Day บางรัฐถือเอาวันประกาศเลิกทาสคือวันที่ 22 กันยายน หรือวันที่ 1 มกราคมวันที่ประกาศมีผล แต่ในรัฐเทกซัสกำหนดเจาะจงลงไปที่ “19 มิถุนายน” โดยเริ่มครั้งแรกในปีถัดมาหลัง “ผู้พันเกรนเจอร์” อ่านคำสั่ง General Order No.3 เรียกว่า Jubilee Day เช่นกัน

            “...พ่อของผมเคยบอกว่าพวกเขาตะโกนโห่ร้อง เจาะรูบนต้นไม้ด้วยสว่าน จากนั้นยัดดินปืนเข้าไป แล้วจุดไฟ มันก็จะระเบิด นั่นคือวิธีการฉลองของพวกเรา” หนังสือของ “เอลิซาเบธ เฮนส์ เทอร์เนอร์” ถ่ายทอดปากคำชาวผิวสีในยุคหลังเลิกทาสไม่นาน

            ในรัฐเทกซัส มีบางเมืองที่คนผิวดำยังถูกกีดกันไม่ให้ใช้สถานที่สาธารณะร่วมกับคนผิวขาว พวกเขาจึงเรี่ยไรเงินกันเพื่อซื้อที่ดินสำหรับจัดงานนี้ขึ้นโดยเฉพาะ และมีการจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1867 ที่เมืองออสตินภายใต้การสนับสนุนของ “สำนักงานทาสที่เป็นไท” (Freedmen’s Bureau) ของรัฐบาล และตั้งแต่ปี 1872 งานนี้ได้รับการบรรจุอยู่ในปฏิทินกิจกรรมสาธารณะประจำปี ซึ่งปีนั้นพวกเขารวบรวมเงินได้ 1,000 เหรียญฯ เพื่อซื้อที่ดิน 10 เอเคอร์ หรือประมาณ 25 ไร่ สำหรับสร้างสถานที่เพื่อรำลึกวันเลิกทาส ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “สวนเลิกทาสฮิวสตัน”

            ปีต่อๆ มา มีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วทั้งรัฐเทกซัส และในคริสต์ทศวรรษที่ 1890 เริ่มมีการเปลี่ยนชื่องานจาก Jubilee Day เป็น Juneteenth

            แต่ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การเฉลิมฉลองนี้ได้ถูกรบกวนโดยสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจ เริ่มจากรัฐที่เคยเป็นฝ่ายใต้ได้ออกธรรมนูญของรัฐที่ส่งผลให้คนผิวสีไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง และการออกกฎหมายให้มีชนชั้นหนึ่งและชนชั้นสอง

            ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)  ระหว่างปี 1929 จนถึงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ทำให้ประชาชนผิวสีอพยพย้ายถิ่นขึ้นไปหางานทำในรัฐทางเหนือมากขึ้น ที่เหลืออยู่ในถิ่นฐานเดิมก็ไม่สามารถหยุดงานเพื่อเฉลิมฉลองวัน Juneteenth ได้

            สถานการณ์ค่อยดีขึ้นเมื่อภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจทุเลาลง ปี 1836 ในเมืองดัลลัสมีคนมารวมตัวกันในงาน Juneteenth ถึงเกือบ 2 แสนคน

            ช่วงปี 1940-1970 เกิดการอพยพรอบใหม่และใหญ่กว่าเดิม ชาวผิวสีมากกว่า 5 ล้านคนทิ้งเทกซัส ลุยเซียนา และรัฐอื่นๆ ทางใต้ขึ้นเหนือ และรัฐทางฝั่งตะวันตก คราวนี้พวกเขานำการรำลึกวัน Juneteenth ไปด้วย ต่อมาได้แพร่หลายในรัฐต่างๆ ส่งผลให้มีการฉลองกันทั่วประเทศ

            วัน Juneteenth กลายเป็นวันหยุดของรัฐเทกซัสตั้งแต่ปี 1979 จากนั้นก็เป็นวันหยุดประจำปีอีกหลายรัฐทั่วสหรัฐ จนถึงล่าสุดเหลือเพียงเซาท์ดาโกตาและนอร์ทดาโกตาเท่านั้นที่ไม่เข้าพวก

ภาพงานรำลึกวัน Juneteenth ในอดีต (เครดิตภาพ Grace Murray Stephenson, Austin History Center)

 

*********************

การอุทิศตนของคุณยาย “โอปอล์ ลี”

            ปัจจุบันสตรีผู้นี้อายุ 94 ปีแล้ว เกิดและเติบโตในรัฐเทกซัส เธอได้ฉลองวัน Juneteenth มาตั้งแต่จำความได้ กิจกรรมในงานเน้นอาหารเครื่องดื่ม การละเล่น และดนตรี จนเมื่อถึงงานฉลองตอนที่เธอมีอายุได้ 12 ขวบ ไม่กี่ปีหลังย้ายจากเมืองมาร์ชัลไปยังเมืองฟอร์ตเวิร์ท ซึ่งเป็นเมืองของคนผิวขาว ได้เกิดเหตุที่ไม่คาดฝันในคืนวันที่ 19 มิถุนายน 1939 กลุ่มคนผิวขาวจำนวนราว 500 คนได้บุกล้อมบ้านของเธอ ก่อนเข้าทำลายและจุดไฟเผาจนวอดไม่เหลือชิ้นดี คนร้ายทั้งหมดลอยนวลไปได้ ไม่มีใครถูกจับดำเนินคดี

            โชคดีที่เธอรอดชีวิต จากประสบการณ์ความเกลียดชังที่ได้รับ กลับส่งผลให้ใช้ชีวิตที่ตรงกันข้าม เธอเลือกเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงเรื่องบ้านและความมั่นคงทางอาหาร ก่อตั้งเครือข่ายการทำประวัติและการลำดับเครือญาติของชาวอเมริกันผิวสีในทาร์แรนต์เคาน์ตี รัฐเทกซัส รวมถึงเป็นกรรมการของ National Juneteenth Observance Foundation ซึ่งผลักดันในเรื่อง Juneteenth

            เดือนกันยายน ปี 2016 เมื่อมีอายุได้ 89 ปี “คุณยายโอปอล์ ลี” ตัดสินใจเดินเท้าจากเมืองฟอร์ตเวิร์ท รัฐเทกซัส มีจุดหมายปลายทางที่อาคารรัฐสภา วอชิงตัน ดี.ซี. ระยะทาง 1,400 ไมล์ เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้วันที่ 19 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันหยุดประจำชาติ

            คุณยายเดินวันละ 2.5 ไมล์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ “2 ปีครึ่ง” ที่ทาสในรัฐเทกซัสรอคอยในการเป็นไทซึ่งช้ากว่าส่วนอื่นของสหรัฐอเมริกา มีคนดังที่เป็นชาวผิวสีหลายคนออกมาร่วมเป็นกำลังใจและร่วมทำกิจกรรมในการรณรงค์ครั้งนี้

            ระหว่างเส้นทางได้มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนถึง 1.54 ล้านคนในเว็บไซต์ Change.org และเธอได้ส่งเสียงเรียกร้องเหล่านั้นต่อให้กับสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2020 ในช่วงเวลาที่ “คดีฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์” กำลังอยู่ในกระแสสูงสุด

 

**************

สิ้นสุดการรอคอย 156 ปี

                หลังวุฒิสมาชิก “รอน จอห์นสัน” จากรัฐวิสคอนซิน พรรครีพับลิกัน ผู้ขัดขวางร่างกฎหมายนี้มาพักใหญ่ได้ประกาศว่าจะไม่คัดค้านอีกต่อไปแล้ว ทุกอย่างก็กลายเป็นเรื่องง่าย (ก่อนหน้านี้เขาไม่เห็นด้วยเรื่องการมีวันหยุดเพิ่มเพราะจะทำให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่ประมาณ 2 ล้านคน เป็นเงิน 600 ล้านเหรียญฯ โดยที่ไม่เกิดผลิตภาพใดๆ)

            จากนั้นประธานวิปทั้ง 2 พรรคในวุฒิสภาได้ทำการสำรวจเสียงอีก 99 คนที่เหลือ ทราบว่าไม่มีใครคัดค้าน ประธานวิปเสียงข้างมากฝ่ายเดโมแครตก็นำเข้าสู่ที่ประชุมในวันอังคาร ไม่มีการอภิปราย ทุกคนให้ความเห็นชอบ

            วุฒิสมาชิกส่งร่างกฎหมายกลับมายังสภาผู้แทนฯ ซึ่งสภาล่างก็จัดการโหวตรับรองทันทีในวันพุธ ชนะไปด้วยคะแนน 415 ต่อ 14 เสียง โดยทั้ง 14 เสียงคัดค้านมาจาก ส.ส.พรรครีพับลิกัน

            “แดนนี เค. เดวิส” .ส.ผิวสีจากรัฐอิลลินอยส์ พรรคเดโมแครต หนึ่งในผู้ร่วมเสนอร่างกฎหมายนี้ กล่าวว่า  “Juneteenth เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความมืดมัวที่ออกมาสู่แสงสว่าง เป็นการเฉลิมฉลองที่บรรพบุรุษของเราผ่านพ้นประสบการณ์อันทุกข์ทรมานมาได้”

            พลันที่ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” เดินทางกลับจากยุโรปมาถึงทำเนียบขาวก็ลงนามประกาศใช้กฎหมายนี้ในวันพฤหัสบดีโดยทันที และกล่าวว่า “ชาวอเมริกันทุกคนต่างรู้สึกได้ถึงพลังของวันสำคัญนี้ เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเรา ฉลองความก้าวหน้าและการต่อสู้ที่ผ่านมา และระยะทางที่เราจะเดินต่อไป”

            มีชาวอเมริกันผิวสีหลายคนร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม หนึ่งในนั้นคือ “คุณยายโอปอล์ ลี” และประธานาธิบดีไบเดนก็ได้เรียกเธอว่าเป็น “คุณยายของการเคลื่อนไหวที่ทำให้ Juneteenth เป็นวันหยุดประจำชาติ”

            ก่อนประธานาธิบดีไบเดนลงนามกฎหมายไม่กี่อึดใจ  “คุณยายโอปอล์ ลี” โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียของเธอว่า “...ขอบคุณทุกคนที่ทำให้พวกเราประสบความสำเร็จในภารกิจการเผยแพร่ความเป็นหนึ่ง ความรัก และความเสมอภาค จากนี้ไปขอเชิญทุกคนร่วมฉลองอิสรภาพของเรานับจากวันที่ 19 มิถุนายนไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม”

            วันหยุดมีผลทันทีในปีนี้ และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนตรงกับวันเสาร์ ชาวอเมริกันผิวสีก็ได้ฉลองกันอย่างทันควันในวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน

            วันหยุดประจำชาติทั้ง 11 วันของสหรัฐอเมริกา นอกจากวัน Juneteenth แล้วก็ยังประกอบไปด้วย วันคริสต์มาส, วันขึ้นปีใหม่, วันประกาศอิสรภาพ (วันชาติ),  วันเกิดของจอร์จ วอชิงตัน, วันรำลึกผู้พลีชีพเพื่อชาติ, วันทหารผ่านศึก, วันโคลัมบัส, วันแรงงาน, วันขอบคุณพระเจ้า และวันเกิดของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"