​​​​​​​ธรรมนัสยึด พปชร. สมการการเมืองอาจพลิก "กลุ่มสมศักดิ์"กลืนเลือด!


เพิ่มเพื่อน    

จังหวะเดินทางการเมืองของ พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาลต่อจากนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง หลังพลังประชารัฐมีการจัดทัพกันใหม่ เมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กับการที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าไปกุมบังเหียนพรรคพลังประชารัฐแบบเต็มตัว หลังยึดเก้าอี้ เลขาธิการพรรค มาจาก อนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สำเร็จ หลังตระเตรียมแผนการนี้มานานหลายเดือน

 ทำให้หากนับจากระยะเวลาแล้ว พบว่า เสี่ยแฮงค์- อนุชา เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐได้ไม่ถึงหนึ่งปีด้วยซ้ำ เพราะอนุชาเข้ามาเป็นเลขาธิการพรรคเมื่อ 27 มิถุนายน 2563

            บนฉากทัศน์การเมืองที่ถูกมองว่า การก้าวขึ้นสู่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐของธรรมนัสถือเป็นชัยชนะของ กลุ่ม 4 ช. หรือกลุ่ม 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่ประกอบด้วย ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ-สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ลูกชายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่กลุ่ม 4 ช.เดินเกมทั้งบนดิน-ใต้ดิน จนเอาชนะ กลุ่ม 4 รัฐมนตรีว่าการ คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม-อนุชา นาคาศัย และสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

จนทำให้กลุ่ม 4 ว.เสียดุลอำนาจการเมืองในพลังประชารัฐและในรัฐบาลไปอย่างมาก เมื่อเก้าอี้เลขาธิการพรรคที่เป็นเบอร์สองของทุกพรรคการเมืองรองจากหัวหน้าพรรค ถูกกลุ่ม 4 ช. ช่วงชิงไปได้สำเร็จ

            หลังสองกลุ่มการเมืองดังกล่าวในพลังประชารัฐปักหลักแยกขั้ว ชิงอำนาจกันในพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลอย่างเข้มข้นมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ภายใต้การคุมเกมของ กลุ่ม 4 ช. ที่ได้เปรียบกลุ่ม 4 ว. ในเรื่องเช่น กระสุนดินดำ-เสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพลังประชารัฐ-แรงหนุนจากผู้ให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มทุน ที่ไม่เปิดเผยตัว แต่มีอิทธิพลในพลังประชารัฐในการกำหนดจังหวะเดินทางการเมืองของพรรคในกระดานการเมืองสำคัญๆ เป็นต้น

             ยิ่งแกนนำกลุ่ม 4 ช. อย่าง ธรรมนัส-สันติ มีบุคลิก ใจถึง-พึ่งได้-กล้าได้กล้าเสีย ดูแลทุกกลุ่มทุกคน หากร้องขอให้ช่วยเหลือ จึงได้ใจ ส.ส.พลังประชารัฐหลายคน จน ส.ส.พลังประชารัฐบางคนที่เคยอยู่กับกลุ่มสมศักดิ์-สุริยะ ก็มีข่าวว่า ตอนนี้ย้ายข้างมาอยู่กับกลุ่มธรรมนัสหลายเดือนแล้ว เพราะติดใจ การดูแลเอาใจใส่แบบ รายเดือน-รายสะดวก

            เลยทำให้ช่วงที่ผ่านมา ส.ส.กลุ่มธรรมนัสและกลุ่ม 4 ช. มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ไม่นับรวมกับขุมข่ายทางการเมืองและธุรกิจ ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ที่ธรรมนัสไปเชื่อมต่อ-วางขุมกำลังไว้ หลายจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมกันแล้วหลายสิบจังหวัด จนช่วงหลังคนในพลังประชารัฐหลายกลุ่มให้ข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบันนี้ขุมกำลังทางการเมืองของธรรมนัสและกลุ่ม 4 ช. ทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่อเหลียวไปมอง กลุ่ม 4 ว. กลับพบว่า สภาพออกมาค่อนข้างตรงกันข้าม เพราะมีข่าวว่ากลุ่ม 4 ว. นอกจากไม่มีการสร้างขุมกำลังเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองในพลังประชารัฐและในรัฐบาล แต่คนของกลุ่มตัวเอง ก็มีข่าวว่าค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ จนขุมกำลังของกลุ่มสมศักดิ์ ระยะหลังถูกมองว่ากำลังเข้าช่วงขาลง

            ซึ่งทุกความเคลื่อนไหวข้างต้น บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็รู้มาตลอดว่าชั่วโมงนี้ในพลังประชารัฐ หากบิ๊กป้อมต้องเลือก แทงม้าได้ตัวเดียว บนสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกหนุนกลุ่มไหนระหว่าง กลุ่ม 4 ว. กับกลุ่ม 4 ช.

            ชั่วโมงนี้บิ๊กป้อมก็ต้องเลือกแทงม้าที่กลุ่ม 4 ช. เพื่อเอา ธรรมนัสขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเป็นเสนาธิการทางการเมืองข้างกายบิ๊กป้อม มากกว่าที่จะต่อวีซ่า ให้อนุชาเป็นเลขาธิการพรรคอีกต่อไป

            ท่ามกลางข่าวว่า กลุ่มสมศักดิ์-สุริยะ-อนุชา รู้มาตั้งแต่เดือนเมษายน ที่เดิมจะมีการประชุมใหญ่พรรควันที่ 17 เม.ย. แต่ต้องเลื่อนออกไปจากสถานการณ์โควิดระบาดหนัก จนมาประชุมกันเมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มสมศักดิ์รู้ตั้งแต่ตอนเดือนเมษายนแล้วว่า ยากที่จะรักษาเก้าอี้ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐไว้ให้เป็นโควตากลุ่มตัวเองต่อไปได้ เพราะธรรมนัสเอาแน่กับการเดินเกมเปลี่ยนตัว เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เพื่อหวังเข้ามายึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในพลังประชารัฐ ที่จะเป็นบันไดก้าวต่อไปในการพาสชั้นขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ ยามเมื่อมีการปรับ ครม.เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ รมช.เกษตรฯ แบบปัจจุบัน อีกทั้งเพื่อว่าเมื่อเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐแล้ว ก็จะทำให้ธรรมนัส พาสชั้นขึ้นมาเป็นเสมือน ผู้จัดการรัฐบาลเบอร์สอง รองจากบิ๊กป้อม ที่จะทำให้กลุ่ม 4 ช. มีบทบาทในรัฐบาลมากขึ้นตามไปด้วย 

            โดยพอเริ่มมีข่าวบิ๊กป้อมไฟเขียว ให้มีการประชุมใหญ่พรรคที่ขอนแก่น 18 มิ.ย. โดยจะมีการ ล้างไพ่-จัดทัพ กันใหม่ ในส่วนของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐก็มีข่าวว่า กลุ่มสมศักดิ์ช่วงแรกก็คิดว่าถึงเวลาจริงๆ อาจจะต่อรองกันได้ เพื่อให้การเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคดูสมูธมากกว่าการที่ธรรมนัสจะขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคในจังหวะอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เช่นอาจรอไปอีกสักระยะเพื่อให้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคพลังประชารัฐผลักดันอยู่เกิดผลสำเร็จเสียก่อน แล้วค่อยหาจังหวะเปลี่ยนตัวให้ดูสมูธทางการเมืองมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้กลุ่มสมศักดิ์เสียหน้าเกินไป

            จนมีข่าวว่าช่วง 2-3 วันสุดท้ายก่อนการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐเมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มสมศักดิ์-สุริยะ-อนุชา เลยพยายามต่อรองขอเคลียร์ใจกับบิ๊กป้อม เพื่อต่อเวลาการเป็นเลขาธิการพรรคให้อนุชาออกไปอีกสักระยะ แต่สุดท้ายตามข่าวที่ปรากฏ เมื่อมีการพบกันของทั้งบิ๊กป้อมและกลุ่มสมศักดิ์เมื่อช่วง 17 มิ.ย. เพื่อหารือรอบสุดท้าย เมื่อบิ๊กป้อมยืนกรานว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค เพราะถึงจังหวะเวลาแล้ว รอช้ากว่านี้ไม่ได้ กลุ่มสมศักดิ์ก็เลยต้องยอมกลืนเลือดอย่างที่เห็น

            ที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ พลันที่ธรรมนัสผงาดขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐเต็มตัว แวดวงการเมืองบางกลุ่มก็มองฉากทัศน์การเมืองไปข้างหน้า โดยเฉพาะ สมการทางการเมือง ว่าด้วยเรื่อง

            การจับขั้วการเมือง-การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง   

            เพราะเลือกตั้งรอบหน้า แม้ต่อให้มีการเลือกตั้งเร็วสุดปีหน้า 2565 หรือสภาอยู่ครบเทอมจนมีการเลือกตั้งปี 2566 ถึงตอนนั้น กระแสการเมืองแบบตอนเลือกตั้ง 2562 ที่มีการแบ่งขั้วประชาธิปไตย-เผด็จการ จะเบาบางลงไปมาก จนทำให้พรรคการเมืองในขั้วรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ปัจจุบัน เมื่อเลือกตั้งรอบหน้าจบลง ก็อาจมีบางพรรคสลับขั้ว-ย้ายข้าง-เปิดดีล จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้งกันได้ หากดีลนั้นลงตัวและวิน-วินด้วยกันทั้งหมด โดยบางพรรคก็อาจยกวลีสวยๆ ขึ้นมาสนับสนุนการเปิดดีลจับมือกันตั้งรัฐบาล เช่น เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้-เพื่อจับมือกันทำงานสร้างประโยชน์ให้ประชาชน

             ถึงตอนนั้น อะไรหลายอย่างก็อาจเกิดขึ้นได้ ก็เหมือนกับตอนพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทิ้งไพ่ช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้ง มีนาคม 2562 ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ แต่พอเลือกตั้งเสร็จ ประชาธิปัตย์ก็มีมติร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ-หนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ จนอภิสิทธิ์ต้องลาออกจาก ส.ส.เพื่อเปิดทางสะดวกให้ประชาธิปัตย์

            เหตุที่ฉากทัศน์การเมืองดังกล่าวมีการถูกพูดถึงสาเหตุก็คงเพราะมองว่า ธรรมนัส-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เคยอยู่เพื่อไทยมาก่อน เคยลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อไทยตอนปี 2557 แต่เลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยแวดวงการเมืองรู้กันดีว่า ธรรมนัสมีสายสัมพันธ์อันดีกับแกนนำเพื่อไทยหลายกลุ่มหลายสาย ทำให้เมื่อวันนี้ธรรมนัสขึ้นมาเป็นเบอร์สองของพลังประชารัฐ และเป็นผู้เดินเกมการเมืองให้บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่ เต็มตัวนับจากนี้

            เลยไม่แปลกที่แวดวงการเมืองจะมีการมองฉากทัศน์การเมืองในอนาคตถึงโอกาส-ความเป็นไปได้ ที่พลังประชารัฐจะจับมือกับเพื่อไทย โดยมีธรรมนัสเป็นมือดีล ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ใช่ว่าสูตรนี้จะปิดประตูตายล็อกสนิท

            เพียงแต่สูตรดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นในเงื่อนไข เช่น พลังประชารัฐไม่แฮปปี้หรือไม่สามารถจับมือตั้งรัฐบาลกับพรรครัฐบาลเวลานี้อย่าง ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ได้อีกแล้ว เลยสลับขั้วจะเปิดดีลตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทย แต่ถ้าพลังประชารัฐ ยังแฮปปี้กับพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ อย่างภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ มันก็ไม่มีเหตุอะไรเลยที่พลังประชารัฐจะต้องไปจับมือกับเพื่อไทย ให้กองเชียร์พลังประชารัฐก่นด่าจนเสียแนวร่วม

            ฉากทัศน์และสมการเมืองทางการเมืองในจังหวะคุมเกมโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง และแน่นอน คนที่จะมีบทบาทสำคัญในการคุมจังหวะเดินแต่ละก้าวของพลังประชารัฐต่อจากนี้ก็คือ ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"