เตือนรีบเปิดประเทศซ้ำรอยชิลี หนุนรัฐเทงบฯเดินหน้าวัคซีนโควิดChulaCov19


เพิ่มเพื่อน    

20 มิ.ย.64 - นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเร่งเปิดประเทศโดยไม่มีมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่ดีพออาจทำให้ไทย เผชิญความเสี่ยงการระบาดครั้งใหญ่ด้วย Covid-19 กลายพันธุ์ และ อาจซ้ำรอยความผิดผลาดของประเทศชิลีต้องกลับมาปิดประเทศและปิดเมืองหลวงอีกรอบหนึ่งแม้นฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 75% มีความเสี่ยงและมีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเพราะประเทศชิลีใช้ ซิโนแวค เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำแม้นจะป้องกันการเจ็บป่วยหรือการเสียชีวิตได้ก็ตาม


นายอนุสรณ์ กล่าวว่า  ประเทศชิลี ถือเป็นกรณีศึกษาที่ไทยสมควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าชิลีจะได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกกระจายให้ประชากรคิดเป็นร้อยละของประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้วกว่า 75% แต่ก็ยังการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่ จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ชิลีใช้วัคซีนของ Sinovac 17.2 ล้านโดส ซึ่งคิดเป็น 75% ของวัคซีนทั้งหมดที่ชิลีใช้ ส่วนที่เหลืออีก 25% นั้นเป็นของ Pfizer และ AstraZeneca ส่วนของไทยนั้น เราใช้วัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว 8.21% ของประชากร และรับวัคซีน 2 เข็มแล้ว 3.09% ของประชากร ส่วนใหญ่ฉีดวัคซีน Sinovac การระบาดระลอกใหม่ในชิลีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในระดับ 7,000 รายต่อวัน ขณะที่ไทยระบาดระลอกสามตอนนี้มีผู้ติดเชื้อวันละมากกว่า 3,000 คน ไทยใช้วัคซีน Sinovac เช่นเดียวกันกับชิลีฉะนั้นต้องมีความระมัดระวังการเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้อีก ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทว่าเมื่อได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วร่างกายจะปลอดภัยหยุดรับหรือแพร่เชื้อได้ ขณะที่ทฤษฎีการเข้าสู่ภาวะมีภูมิคุ้มกันหมู่ที่ 70% ของประชาชนนั้น ก็ยังมีเงื่อนไขเรื่องของการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงจนครบ 2 เข็มและร่ายกายได้สร้างภูมิคุ้มกันจนสำเร็จหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อยสองสัปดาห์ 


นายอนุสรณ์  กล่าวอีกว่า จากการประเมินความเสี่ยงต่างๆและการกระจายฉีดวัคซีนในไทยแล้ว เห็นว่าควรชะลอการเปิดประเทศไปช่วงต้นเดือนธันวาคม และ เลื่อน “ภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์” (Phuket Sandbox) เป็นต้นเดือนกันยายน หากเร่งเปิดประเทศ เปิดเมืองท่องเที่ยว โดยที่ยังไม่พร้อมในการรับมือการควบคุมการแพร่ระบาดได้มากกว่า 90% ต้องชะลอแผนเปิดเมืองไปก่อน ส่วนธุรกิจและผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้และบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจไปอีกสองเดือนนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม หากต้องการเร่งเปิดเกาะภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมไม่ควรอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติออกไปยังพื้นที่อื่นๆนอกเกาะภูเก็ต หากมีความจำเป็นต้องเดินทางจริงให้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่และต้องมีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบเท่านั้น 

นายอนุสรณ์  กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรจัดงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการสนับสนุนการผลิตวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคาดว่าจะได้วัคซีนคุณภาพสูงป้องกันเชื้อ Covid-19 กลายพันธุ์ได้ ขณะนี้ จุฬาลงกรณ์กำลังผลิตวัคซีนสองขนาน ขนานหนึ่ง พัฒนาโดยศูนย์วัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งพัฒนาวัคซีนโควิด ChulaCov19 เป็นชนิด mRNA ใช้เทคโนโลยีแบบไฟเซอร์และโมเดอร์นา ทำให้ได้วัคซีนประสิทธิภาพสูง การที่จุฬาฯผลิตวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะเทคโนโลยีนี้จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญมากในอนาคตเพราะสามารถใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆได้อีกด้วย รัฐบาลควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโรงงานเพื่อให้ วัคซีนโควิด ChulaCov19 สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเอง 

นายอนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะว่า เพื่อลดขั้นตอนในการทดสอบวัคซีน ChulaCov19 รัฐบาลไทยควรยื่นเรื่องให้องค์การอนามัยโลกกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิได้เท่าไหร่” หากมีความชัดเจนเรื่องเกณฑ์ อาจไม่ต้องทดสอบทางคลินิกเฟสสาม จะทำให้เราสามารถใช้วัคซีน ChulaCov19 ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่าไฟเซอร์ฉีดให้ประชาชนชาวไทยได้เร็วขึ้น 

นายอนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับ วัคซีนอีกขนานหนี่งของจุฬาฯนั้น รัฐก็ควรส่งเสริมเช่นเดียวกันเพราะเป็นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีอยู่ วัคซีนขนานนี้พัฒนาโดยบริษัท Start Up ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม พัฒนาโปรตีนวัคซีนจากใบพืช   นอกจากนี้ ควรจัดงบเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในการวิจัยเกี่ยวกับยารักษาโรคระบาดอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตผ่านทางมหาวิทยาลัยต่างๆและองค์การเภสัชกรรม ประเทศไทยน่าจะมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรค covid-19 และรักษาโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และ ไทยมีความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตวัคซีนเพื่อการส่งออกไปยังอาเซียนอีกด้วย การดำเนินการกระจายวัคซีนและทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าถึงวัคซีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของไทย 

นายอนุสรณ์ ระบุว่า  การเดินหน้าให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุข ต้องอาศัยยุทธศาสตร์และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การผลิตยาหรือวัคซีนภายใต้ทรัพย์สินทางปัญญาของบรรษัทข้ามชาติย่อมมีข้อจำกัด ในอนาคตประเทศไทยควรมีบริษัทที่สามารถผลิตวัคซีนและยาภายใต้ทรัพย์สินปัญญาของประเทศไทยเอง ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนจะได้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับบริษัทยาและวัคซีนข้ามชาติมากเกินไป .
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"