พปชร.กางไทม์ไลน์แก้รธน. ดันบัตร2ใบ-จบมี.ค.65


เพิ่มเพื่อน    

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ส.-สว.) จะประชุมร่วมกันในสัปดาห์นี้ วันที่ 23-24 มิ.ย. เพื่อพิจารณา ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เป็นการประชุมวาระแรก ขั้นรับหลักการ โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะได้ไปต่อในวาระสองและวาระสาม จะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ อีกทั้งในเสียงเห็นชอบดังกล่าวต้องมี ส.ว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงจะถือว่าผ่านความเห็นชอบวาระแรก

            ทั้งนี้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณา พบว่ามีด้วยกันทั้งสิ้น 13 ร่าง เบื้องต้นวิปสามฝ่าย คือ รัฐบาล-ฝ่ายค้าน-วุฒิสภา วางกรอบเวลาไว้ว่า จะให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายสลับกันตั้งแต่เช้าวันที่ 23 มิ.ย. ไปจนถึงประมาณเกือบตีหนึ่ง แล้วมาประชุมอภิปรายกันต่อเช้าวันที่ 24 มิ.ย.จนถึงเวลา 17.00 น. จากนั้นจะปิดอภิปรายแล้วเริ่มลงมติออกเสียง ซึ่ง ส.ส.-ส.ว.ต้องออกเสียงแบบขานชื่อลงมติทีละคน เบื้องต้นเร็วสุดประเมินว่าจะใช้เวลาการลงมติประมาณ 4-5 ชั่วโมง เพื่อให้เสร็จไม่เกิน 23.00 น.ของวันที่ 24 มิ.ย.

            สำหรับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณามีการยื่นเสนอแก้ไขฯ เข้าไปจาก 3 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง จากพรรคพลังประชารัฐ สอง จากพรรคร่วมรัฐบาลสามพรรค ได้แก่ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา และสาม จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทย

                ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแกนนำพรรคในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในร่างฯ มีการเสนอแก้ไข รธน.หลายประเด็นเช่น การเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากปัจจุบัน ที่ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ก็มีการเสนอแก้ไขเป็นระบบการเลือกตั้งแบบใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ เหมือนตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 โดย ไพบูลย์ กล่าวถึงไทม์ไลน์การแก้ไข รธน.รอบนี้ว่า การลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไข รธน. วันที่ 24 มิ.ย.นี้ หากร่างฯ ฉบับไหนผ่านความเห็นชอบในวาระแรก ก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการร่วมวิสามัญพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ที่การพิจารณาอย่างเร็ว กมธ.คงใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ช้าสุดไม่เกิน 45 วัน ทำให้อาจแล้วเสร็จในชั้น กมธ.ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จากนั้นสัปดาห์ถัดไป กมธ.จะเสนอรายงานการพิจารณามายังรัฐสภา และคาดว่าจะสามารถนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารายงานของ กมธ.ในวาระสอง ที่เป็นการพิจารณารายมาตราในช่วงต้นเดือนสิงหาคม

ไพบูลย์-ส.ส.พปชร. กล่าวว่า อย่างร่างแก้ไข รธน.ของพลังประชารัฐที่เสนอแก้ไขไป 5 ประเด็น 13 มาตรา หากทุกร่างฯ ผ่านหมดในวาระแรก กระบวนการก็คงเสร็จช่วงต้นเดือนสิงหาคม พอพิจารณาในวาระสองเสร็จก็ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วัน เพื่อรอเรียกประชุมร่วมรัฐสภาวาระสาม การนัดลงมติในวาระสามก็คงอยู่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แต่ไทม์ไลน์ดังกล่าวอาจขยับได้ เช่น การพิจารณาของ กมธ.ใช้เวลาไปร่วม 45 วัน ไม่ใช่ 30 วัน ไทม์ไลน์ข้างต้นก็จะขยับออกไป ก็คือกระบวนการทั้งหมดกว่าจะผ่านวาระสาม กรอบเวลาจะขยับเป็นต้นเดือนกันยายน จากนั้นประธานรัฐสภาก็นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระสามขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วก็รอการโปรดเกล้าฯ เพื่อเตรียมประกาศใช้

...จากนั้นเมื่อมีการประกาศใช้ รธน.ที่มีการแก้ไขรายมาตราแล้ว ต่อไปต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญที่ถูกแก้ไข ทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง

“ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่จะเสนอแก้ไขขึ้นโครงไว้แล้ว พอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระสอง พรรคจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ”

...ซึ่งเมื่อที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามเสร็จ พรรคก็ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้เลยช่วงเดือนกันยายนในช่วงระหว่างการรอขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการเสนอแก้ไขกฎหมายลูกต้องมีขั้นตอน เช่น การรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ก็คาดว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนก็น่าจะพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับได้ในวาระแรก โดยการพิจารณาจะใช้ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งหากที่ประชุมเห็นชอบ ก็ตั้ง กมธ.ร่วมวิสามัญพิจารณาฯ ใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน ทำให้คาดว่า กมธ.จะส่งร่างฯ กลับมาให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติในวาระสองและวาระสามในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ หรืออย่างช้าก็เดือนมกราคม ปี 2565 และคาดว่าอาจจะมีผลบังคับใช้ช่วงเดือนมีนาคม 2565

“ยืนยันว่าไทม์ไลน์นี้ไม่เกี่ยวกับการยุบสภา เพราะการยุบสภาเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เป็นคนละเรื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้นำไปสู่การยุบสภา แต่เมื่อแก้แล้วจะทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ลดลง เมื่อความขัดแย้งลดลงก็ไม่มีเหตุให้ต้องยุบสภา เพราะการยุบสภาจะมีเหตุก็คือ พรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหากัน เช่น ไม่โหวตผ่านกฎหมายสำคัญ เพื่อให้นายกฯ ลาออก หากนายกฯ ไม่เลือกลาออกก็ยุบสภา ซึ่งนายกฯ ไม่ลาออกอยู่แล้ว ก็ยุบสภา ซึ่งตอนนี้ไม่มีร่องรอยว่าจะมีพรรคร่วมรัฐบาลไหนจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายของรัฐบาลเลยเท่าที่เห็นมาในปัจจุบันและในอนาคต เมื่อไม่มีเหตุนี้จึงไม่มีเหตุผลอื่นที่จะไปยุบสภา” ไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค พปชร. บอกไว้

สุดท้ายแล้ว ไทม์ไลน์ข้างต้นที่แกนนำพลังประชารัฐบอกไว้จะเกิดขึ้นหรือไม่ ลำดับแรกต้องรอดูผลการลงมติของที่ประชุมร่วมรัฐสภากลางดึกวันที่ 24 มิ.ย.นี้ก่อนว่า ร่างแก้ไข รธน.ที่จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ร่างฯ ไหน-ของพรรคการเมืองใด จะผ่านความเห็นชอบวาระแรกบ้าง โดยเฉพาะที่ต้องจับตาก็คือ ร่างฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ในเรื่องการเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้เป็น บัตรสองใบ

ที่ข่าวว่า เรื่องนี้มีค่ายกลการเมืองวางไว้แบบสลับซับซ้อน ชนิดหลายคนคาดไม่ถึง ภายใต้การหนุนหลังเต็มสูบของ "พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์" แต่พรรคอื่นๆ โดยเฉพาะภูมิใจไทย-ก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านต่างไม่แฮปปี้กับเรื่องนี้ แต่ถึงตอนนี้ก็ขวางได้ยากเสียแล้ว.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"