ประจานนักการเมืองแก้ รธน. อ้าง ปชต.สนองอำนาจตัวเอง


เพิ่มเพื่อน    

มหกรรมการแก้รัฐธรรมนูญจำนวน 13 ร่างของทุกพรรคการเมืองที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาในวาระแรก ในวันที่ 23-24 มิ.ย.นี้ กำลังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการจัดละครโรงใหญ่ แหกตาชาวบ้านอีกครั้ง หลังหลายฝ่ายออกมาฟันธงว่าแก้ไขเพื่อสนองอำนาจนักการเมือง

            โดยเฉพาะหัวใจของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือ เปลี่ยนกติกาเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400  คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (คำนวณคะแนนที่พรรคได้รับ) โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ฝั่งรัฐบาลขานรับ คือ พลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และรวมทั้งพรรคฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยเห็นด้วย

            สาเหตุที่พรรคขนาดใหญ่เห็นด้วย เพราะจะสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐและคะแนนความนิยมของพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเต็มที่ ส่งผลให้ได้รับ ส.ส.ทั้งระบบเขตและจำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อเต็มจำนวน ไม่ถูกตัดออก และทำให้มีโอกาสได้เสียงแบบแลนด์สไลด์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแบบเด็ดขาด

            ผิดกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะไม่ชอบ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลที่แปลงสภาพมาจากพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเดิมได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม ที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 60 ออกแบบไว้เพื่อขจัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้ได้เสียงข้างมากในสภา ขณะที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ใช้รูปแบบการนับคะแนนแบบเดิม เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้ ส.ส.เพิ่มจากพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมี และจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

            ที่สำคัญ การแก้ไขโดยเปลี่ยนเป็นบัตรสองใบยังมีความเป็นไปได้มากที่จะแก้ไขได้สำเร็จ ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 368 เสียง จากเสียงรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 738 เสียง โดยมาจากพรรคพลังประชารัฐ 122 เสียง และวุฒิสภา 250 เสียง (ไม่แตะอำนาจ ส.ว. จึงมีแนวโน้มเห็นด้วย) รวม 372 เสียง ยังไม่นับพรรคประชาธิปัตย์อีกประมาณ 50 เสียง และมีแนวโน้มจะได้เสียงจากฝ่ายค้านร้อยละ 20 เสียง คือ พรรคเพื่อไทย ที่มีเสียงรวมฝ่ายค้านถึงร้อยละ 60 ซึ่งเกิน 368 เสียงแน่นอน

            ขณะที่ ประเด็นข้อเรียกร้องจากสังคมมากที่สุดคือ การเลิกมาตรา 272 วุฒิสภาร่วมเลือกนายกฯ หรือปิดสวิตช์ ส.ว. ที่เกือบทุกพรรคลงชื่อสนับสนุน เว้นแต่พรรคพลังประชารัฐ พร้อมเสียงวุฒิสภาออกมา ส่งสัญญาณคว่ำร่างตั้งแต่วาระแรกเป็นที่เรียบร้อย เพราะเป็นการตัดอำนาจ ส.ว.

            โดยพรรคการเมืองที่เรียกร้องนี้นำโดย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ทั้งนี้บางพรรคถูกจับตาว่าจะเป็นการเล่นละครฉากใหญ่เพื่อหวังหาเสียงจากประชาชน เพราะท้ายสุดก็ทำไม่สำเร็จ และโยนความผิดให้ พปชร.และวุฒิสภาเป็นผู้ขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 กำหนดต้องได้เสียงวุฒิสภาเห็นด้วยถึง 84 เสียง จึงมีความเป็นได้ยากที่จะแก้ไขสำเร็จ เพราะไปตัดแขนตัดขาหรืออำนาจของสภาสูง

            ถึงขนาด "นายกรณ์ จาติกวณิช" หัวหน้าพรรคกล้าและอดีต รมว.คลัง ออกมาดักคอเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 โดยพุ่งไปที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

                "พรรคพลังประชารัฐเขาชัดเจนว่าไม่แก้ มาตรา 272 แน่ แต่ขอพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องมั่นคงกับประชาธิปไตย ขอให้ชัดเจน! กล้ามั้ยยื่นคำขาด หากพลังประชารัฐและ ส.ว.ไม่โหวตแก้ ม.272 ห้าม ส.ว.แต่งตั้งเลือกนายกฯ จะไม่ยกมือแก้รัฐธรรมนูญมาตราอื่นทุกกรณี” นายกรณ์กล่าว

            นอกจากนี้ยังมีร่างอื่นๆ ที่มีแนวโน้มสำเร็จ แต่ก็มองว่าทำเพื่อประโยชน์นักการเมือง โดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์คัดค้าน โดยเฉพาะร่างของ พปชร.ที่เสนอแก้ไขมาตรา 144 ตัดบทลงโทษ ส.ส., ส.ว. และกรรมาธิการที่แทรกแซงการจัดทำงบประมาณประจำปี และมาตรา 185 ตัดข้อห้ามมิให้ ส.ส.และ ส.ว.แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของราชการ

            "การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ พปชร.ได้ยื่นขอ นอกจากจะเปิดทางให้เกิดการคดโกงแล้ว ยังขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและการมีผลประโยชน์ทับซ้อนตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่... ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันขอคัดค้านอย่างถึงที่สุด"

            ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ก็ออกมาฟันธงว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับจาก 3 กลุ่มพรรคการเมือง คือ พปชร. 1 ฉบับ พท. 4 ฉบับ และพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค 8 ฉบับ จำแนกได้ 9 ประเด็น สรุปภาพรวม 3 ประเด็น คือ 1.สมนาคุณพรรคใหญ่ 2.ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง 3.ปิดสวิตช์ ส.ว.

                "เชื่อว่าประเด็นที่หวังผลเต็มร้อยคือการสมนาคุณพรรคใหญ่และถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกงที่อยู่ในร่างพรรค พปชร. มีโอกาสผ่านความเห็นชอบมากที่สุด มีอยู่ในร่างของทุกกลุ่ม ส่วนการถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง แม้เสนอโดยพรรค พปชร. แต่ลึกๆ แล้วทุกพรรคเห็นด้วย ส่วนประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. ไม่อาจหวังผลได้ ยากจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. เสนอเพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย"

            ทั้งหมดนี้คือบทสรุป การจัดละครทางการเมืองโรงใหญ่ในการแก้รัฐธรรมนูญภาคสอง ที่ประชาชนอาจไม่ได้ประโยชน์.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"