จับตา! กลเกมการเมือง ได้-ไม่ได้ แก้ไขรัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

ผ่านพ้นวันแรกไปแล้ว การประชุมร่วมกันรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่บรรดาพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ร่วมกันเสนอแก้ไข ที่มีทั้ง พรรคนั้นๆ เสนอร่างแก้ไขพรรคเดียว บ้างก็มีหลายพรรค รวมกันเสนอทั้งสิ้น 13 ฉบับ 

                แม้เนื้อหาในรายละเอียดปลีกย่อย อาจจะมีความแตกต่างกันไปได้ แต่จาก 13 ร่าง สิ่งที่หลายพรรคโฟกัสตรงกันมีเพียง 2-3 ประเด็นเท่านั้น 

                - ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกี่ยวพันโยงใยกันทั้งมาตรา 83, 85 ,86, 90, 91 เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การได้มาซึ่งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ นำการเลือกตั้งแบบเดิมกลับมาใช้ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง 400 เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แม้ในรายละเอียดการคำนวณคะแนนเพื่อนำมาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค จะใช้สูตรคิดแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าพรรคไหนเสนอมา ล้วนแล้วผ่านการคิดคำนวณให้เอื้อต่อพรรคนั้นๆ มากที่สุด

                - การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยเฉพาะไม่ให้ ส.ว. 250 คน เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี

                - การแก้ไขมาตรา 144, 185 ในการห้ามไม่ให้ ส.ส. ส.ว. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณ พร้อมกับการกำหนดบทลงโทษ รวมไปถึงการยกเลิกมาตรา 65 การจัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่มีการมองกันว่าแก้ไขได้ยากมาก ไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ควรแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อสถานการณ์

                พลันเปิดประชุมร่วมรัฐสภาวันแรก พรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ที่บรรดาหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค ส.ส.ฝีปากกล้า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย ต่างอภิปรายไปในทิศทางเดียวกัน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้บังคับใช้มาแล้วกว่า 4 ปี เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งเรื่องระบบเลือกตั้ง การนำคะแนนมาคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน การให้อำนาจบางบุคคล บางองค์กรมากเกินไป

                ในส่วนของ ส.ว.ที่ตกเป็นเป้า พรรคการเมือง นักการเมืองมานาน ในการทำงานที่ถูกข้อครหา เอาใจคณะผู้มีอำนาจ ผู้ที่แต่งตั้งให้ได้เข้ามารับตำแหน่ง มีผู้ที่อภิปรายด้วยเหตุด้วยผล แม้จะไม่เห็นด้วยต่อรัฐธรรมนูญนี้ทั้งหมด แต่ก็ติเตียนอย่างมีเหตุผล อาทิ นายตวง อันทะไชย ส่วน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว.มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี

                พรรคพลังประชารัฐ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ แม้จะสนับสนุนในภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยอมรับว่า หลายมาตรามีปัญหา มาตรา 41, 45 ที่ขอแก้ไขเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การประกันตัว การให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากรัฐในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับการที่ควรมีสูตรคิดคำนวณที่ถูกต้อง ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สนับสนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระบบเขตเลือกตั้ง 400 บัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นต้น ไพบูลย์ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงมาโดยตลอด กลับเห็นพ้องที่ควรจะให้มีการแก้ไขมาตรา 144 ที่ให้ตัดบทลงโทษ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการฯ ที่แทรกแซงการแปรญัตติงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

                การพิจารณารัฐธรรมนูญ คาดกันว่าน่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 24 หรือ 25 มิ.ย. มีการลงมติในวาระที่ 1 ขอคะแนนเสียงจาก ส.ส. ส.ว. 750 คน โดยการขานชื่อ แล้วให้ระบุร่างแก้ไขฉบับที่ 1-13 เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย งดออกเสียง หรือไม่อย่างไร จะได้ผลสรุปออกมาอย่างไร

                แต่ในห้วง 1-2 วันที่ผ่านมา ได้เห็นปฏิกิริยาแปลกๆ ทั้งจากฝั่ง ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ส.รัฐบาล และ ส.ว.แน่นอน ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ เสรีรวมไทย พลังปวงชนไทย คงจะเห็นพ้องไปในทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอนอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกัน ก็มี ส.ส.บางคนที่ไม่นับรวม พวกงูเห่าหน้าเดิม ขอสงวนความเห็น เตรียมใช้เอกสิทธิ์ส่วนตัวอันเนื่องจากเหตุผลบางประการ 

                ส.ส.ฝั่งรัฐบาล ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา แม้จะติติง ท้วงติง ร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นไปตามหลักการ ในภาพรวม ผลสุดท้ายก็คงจะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน

                ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เดิมทีมองกันว่า 250 ส.ว.ไม่เคยแตกแถว การโหวตลงมติไปในทิศทางเดียวกันเสมอมา ที่น่าจับตา สัญญาณทั้งจาก พญ.พรทิพย์ ที่มีเสียง ส.ว.บางคนออกมาขานรับ เห็นด้วยที่ ส.ว.ไม่ควรมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ได้ออกมาระบุถึงการหารือร่วมกันของ ส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแย้มทิศทางการลงมติที่จะปล่อยผ่านบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ไม่เอาด้วยทุกเรื่อง แตะบทเฉพาะกาล ไม่ยอมให้ตัดอำนาจ ส.ว.โหวต นอกจากนี้ ในร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับพลังประชารัฐ หวังปลดล็อก ปราบโกง แต่กลับเขียนในร่างแก้ไข ผูกโยงปม ส.ส.ยุ่งเกี่ยวงบ เข้ากับบัตร 2 ใบ แถมตัดบทลงโทษทิ้ง หากจะโหวตตกฉบับนี้ ก็จะตกทั้งฉบับ เลยอาจจะ  ปล่อยผ่านก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้นแปรญัตติ  

                ที่น่าสนใจและน่าจับตา ขุนพลในพรรคพลังประชารัฐ แม้นาทีนี้มองว่า อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เอาระบบเลือกตั้ง 400:100 แม้ทิศทางบางเรื่องจะแปร่งๆ ไปบ้าง ตามที่ไพบูลย์ให้ความเห็นผ่านการอภิปราย

                กลเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองกันว่า สามารถพลิกกลับ 360 องศาได้ทั้งนั้น พรรคพลังประชารัฐที่ถือเป็นพรรคใหญ่ กุมเสียงความได้เปรียบมากสุด แถมยังมี ส.ว. 250 อีก 250 เสียงที่พร้อมเป็นกองหนุน และเสียงส่วนใหญ่ต่างมีท่าทีชัดเจน ไม่เอาด้วยต่อการไปแตะบทเฉพาะกาล ไม่เห็นด้วยต่อการตัดอำนาจ ส.ว. แถมยังมีผลต่อการโหวตลงมติ ทั้งในวาระ 1-2-3 ที่เกมสามารถพลิกไป พลิกมาได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจังหวะและสถานการณ์ในเวลานั้นๆ 

                รับไปก่อน แล้วค่อยคว่ำ หรือ คว่ำไปเลย หากปัญหาเยอะ เพราะไม่ว่ากลเกมออกมาหน้าไหน พลังประชารัฐยังได้เปรียบอีกหลายพรรค ผลสรุปสุดท้าย รัฐธรรมนูญ 2560 จะได้แก้ไข-ไม่ได้แก้ไข คงต้องตามลุ้นจนถึงนาทีสุดท้าย.

  

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"