เสียงสะท้อน ท้องถิ่นรับมือโควิด รัฐบาลอย่าบั่นทอนความคล่องตัว


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังวิกฤติ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในแต่ละวันช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ทะยานแตะที่ระดับ 3,000  คนขึ้นไปมาหลายวันติดต่อกัน ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนก็ยังมีปัญหาที่จำนวนวัคซีนไม่พอต่อความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ จนเกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งเรื่องวัคซีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เกิดขึ้นกับหลายจังหวัดทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร โดยหนึ่งในองคาพยพที่พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาดังกล่าว ก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ที่ยื่นขอจัดซื้อวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่

            บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรับมือกับสถานการณ์โควิดและะวิกฤติวัคซีนขาดแคลน มีความเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองส่วนท้องถิ่นมาหลายปี พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ที่ได้รับเลือกให้เป็น นายกเทศมนตรีนครยะลา มาต่อเนื่อง 4 สมัย และล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่เป็น 1 ใน 3 สมาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีบทบาทในการเมืองท้องถิ่นของประเทศไทยมาหลายสิบปี ซึ่งประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย

            เริ่มต้นที่ พงษ์ศักดิ์-นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการที่ผู้บริหารท้องถิ่นมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอจัดซื้อวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนว่า เกิดจากการที่ผู้บริหารท้องถิ่นต่างก็ได้สัมผัสกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง โดยก่อนที่จะมีการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนเองได้ ผู้บริหารท้องถิ่นได้รับทราบปัญหาจากทั้งที่สื่อมวลชนเสนอข่าว รวมถึงจากเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นเองคิดว่าพวกเราในฐานะที่ดูแลประชาชน น่าจะมีโอกาสได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน แต่ตอนนั้นเราคิดเสร็จ แต่เราก็ทำไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดในประเทศไทยหนักๆ ตอนช่วงต้นปี คือประมาณเดือนมกราคม ก็มีท้องถิ่นหลายแห่งได้แสดงเจตนาต้องการจัดซื้อวัคซีน แต่ก็ไม่มีการตอบรับจากทางรัฐบาล ต่อมาก็มีหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาในช่วงเดือนภุมภาพันธ์ ที่แจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง มาทำความเข้าใจกับท้องถิ่นว่าในระยะแรกท้องถิ่น ไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ ขอให้เป็นเรื่องการบริหารจัดการจากฝ่ายรัฐบาลกลาง และส่วนที่สอง คือบอกว่าท้องถิ่น ไม่สามารถซื้อวัคซีนได้เองจากผู้ผลิตวัคซีนโดยตรง มันเลยทำให้กระแสเรื่องการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่นหยุดไปเพราะจากหนังสือฉบับดังกล่าว

            จนกระทั่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เปิดเผยข้อมูลเรื่อง วัคซีนทางเลือก-ซิโนฟาร์ม ขึ้นมา กระแสต่างๆ ก็เลยเกิดขึ้น เพราะท้องถิ่นเองก็ต้องการเข้ามาช่วยเติมเต็มให้รัฐบาลอยู่แล้ว เลยเป็นกระแสที่ทุกคนฮือฮาขึ้นมา ผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งก็แสดงความจำนงที่ต้องการจะซื้อ แต่ประเด็นที่มันเกิดขึ้นก็คือ ยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัคซีนที่มีผลต่อท้องถิ่น

            โดยหนังสือฉบับแรกคือหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ทำถึงกระทรวงมหาดไทย ที่บอกไว้ข้างต้น ที่แม้จะทำไว้เดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็ยังมีผลค้ำอยู่ เลยทำให้ไม่มีใครกล้าขยับ แต่จากสถานการณ์โควิด เรื่องวัคซีน เลยทำให้สถานการณ์บีบคั้นพอสมควร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ยืนยันต้องการจะซื้อวัคซีน โดยที่รัฐบาลเองได้เห็นเจตนาของท้องถิ่น ก็เลยเริ่มที่จะคลายล็อกต่างๆ เช่นที่ รมว.มหาดไทย ออกมาระบุว่าเรื่องนี้จริงๆ เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องขออนุมัติจากศบค.

             ขณะเดียวกัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเองก็ออกหนังสือ จดหมายเวียนว่า ท้องถิ่นสามารถดำเนินการเรื่องวัคซีนเองได้ และยังได้แสดงจุดยืนออกมาด้วยว่า ควรให้มีการฉีดวัคซีนได้โดยเร็ว จนต่อมา รมว.มหาดไทยได้ทำหนังสือถึง ศบค. จนเป็นที่มาของมติ ศบค. ที่อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนได้ โดยให้ไปจัดซื้อได้จาก 5 แหล่งที่เป็นหน่วยงานในสังกัดราชการทั้งสิ้น คือ 1.กรมควบคุมโรค 2. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ 3.สภากาชาดไทย 4.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และ 5.องค์การเภสัชกรรม

            นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่า แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กรมควบคุมโรคก็มีแต่ซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า ที่ก็คงไม่ขายให้กับท้องถิ่นอยู่แล้ว ส่วนสภากาชาดไทย ปัจจุบันก็ยังไม่มีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาในไทย ส่วนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง ขณะที่องค์การเภสัชกรรมก็ยังมีเฉพาะโมเดอร์นา ที่ก็ขายให้เฉพาะกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงเหลือเพียงแค่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้แสดงเจตนาที่จะขายวัคซีนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ทำไมเราจึงต้องซื้อวัคซีนของยี่ห้อ "ซิโนฟาร์ม"

            ...วันนี้หากถามเรื่องการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่นมีการติดขัดอะไรหรือไม่ ถึงวันนี้ก็ไม่ได้ติดขัดมาก ยังเหลือแค่ประเด็นเดียวคือว่า ยังให้เราซื้อวัคซีนได้เฉพาะจากหน่วยราชการ 5 แห่งเท่านั้น ยังไม่ได้มีการเปิดกว้างให้เราไปซื้อจากแหล่งอื่น เช่น บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ที่นำเข้าวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรือให้เราซื้อจากไฟเซอร์เอง แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เรียกร้องอะไร เพราะประเด็นวันนี้ อย่างน้อยเราก็จะได้มีวัคซีนไปช่วยเสริมรัฐบาลในท้องถิ่นของเราเอง ก็คือตัววัคซีน "ซิโนฟาร์ม"

            -ในทางปฏิบัติ กระทรวงมหาดไทยยังต้องดำเนินการแก้ไขระเบียบหรือคำสั่งอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อรองรับการจัดซื้อวัคซีนของท้องถิ่น?

            ช่วงหลังกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ทำหนังสือเวียนไปถึงท้องถิ่นทั่วประเทศทุกแห่ง ในเรื่องแนวทางการใช้เงินงบประมาณ และแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าต้องใช้แนวทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ตอนนี้ก็เหลือแต่แนวทางแต่ละจังหวัดที่ต้องนำเข้า ศบค.จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

            หลักสำคัญที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาในเรื่องการจัดหาวัคซีน ก็เพื่อเข้ามาช่วยเสริม หน้าที่หลักก็ยังเป็นฝ่ายรัฐบาลกลางในการต้องดูแลบริหารจัดการเรื่องวัคซีน สิ่งที่ท้องถิ่นเข้าไปจึงเป็นการเสริมในการนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนที่ก็ยังเป็นส่วนน้อย อาจจะสักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในพื้นที่ หรือประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เพราะคงไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะเหตุผลที่ท้องถิ่นเข้าไปช่วย ก็เพื่อให้จำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์โดยเร็วตามหลักวิชาการ เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ท้องถิ่นก็พยายามเติมการฉีดวัคซีนเข้าไปให้มากขึ้น แต่การจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ก็มีหลักเหมือนกัน เพราะว่าถ้าหากปล่อยเวลาไปเนิ่นนาน เปรียบเทียบก็เหมือนกับเช่นจะเบื่อหนูในตลาด  ถ้าในพื้นที่มีอยู่ 4 ตลาด แล้วจะทำการเบื่อหนูทีละตลาด หนูก็จะวิ่งจากตลาดหนึ่งไปยังตลาดสอง และจากตลาดสองไปยังตลาดสาม แต่หากมีการเบื่อหนูพร้อมกัน 4 ตลาดมันก็หายหมด

            การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องทำพร้อมๆ กันทีเดียวเลย จึงทำให้ต้องเร่งกับเวลา แข่งกับเวลา ซึ่งแม้สัดส่วนวัคซีนที่ท้องถิ่นจะจัดซื้ออาจไม่ได้มาก แต่กติกาก็คือ คนที่รู้เรื่องการควบคุมโรคดีที่สุดก็คือกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เป็นเพียงผู้ดูภาพรวมทั้งหมด และคอยกำกับดูแลให้เป็นไปตามกรอบ

            ดังนั้น พอท้องถิ่นขอจัดซื้อหรือขออนุมัติจัดซื้อวัคซีน ก็จะต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อและคณะกรรมการยับยั้งและป้องกันโรค ที่ก็จะดูในภาพรวมและภาพใหญ่ของจังหวัดในเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด-อำเภอ-เมืองต่างๆ

            อย่างกรณี เทศบาลนครยะลา พอแจ้งความจำนงการซื้อวัคซีน ก็จะต้องมีการนำเรื่องนี้ไปเข้าที่ประชุมให้พิจารณา เพราะเทศบาลเอง ก็ไม่ได้ต้องการจะจัดซื้อมาก เพราะก็อาจจะกระทบกับฐานะทางการคลังของเทศบาลด้วย เพราะเวลาจะจัดซื้อเราต้องดูจากสถานะทางการคลังด้วยว่ามีงบประมาณมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็จะไปพิจารณาว่าประชาชนกลุ่มไหนที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะมีการนำวัคซีนไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวก่อน ในขณะเดียวกันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ก็วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรไป 10 เปอร์เซ็นต์ต้องนำไปช่วยดูแลคนที่ด้อยโอกาสที่ความสามารถในการเข้าถึงวัคซีนอาจจะสู้คนที่มีความรู้ มีฐานะ การศึกษาไม่ได้ ก็ให้ช่วยดูแลคนกลุ่มนี้ด้วย เทศบาลทุกแห่งก็ทราบกติกา ที่ทุกแห่งก็พร้อมอยู่แล้ว เพราะก็คือประชากรในพื้นที่อยู่แล้ว

            เมื่อถามถึงกรณีก่อนหน้านี้ มีเสียงทักท้วงว่าหากปล่อยให้ท้องถิ่นแต่ละแห่งยื่นเรื่องขอซื้อวัคซีนไปฉีด อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้น เพราะท้องถิ่นบางแห่งก็มีงบประมาณจำนวนมาก แต่ท้องถิ่นอีกหลายแห่งก็มีงบประมาณจำกัด จนอาจเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงวัคซีน เรื่องดังกล่าว พงษ์ศักดิ์-นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย แจงว่า จริงๆ ในเชิงพื้นที่ ที่เทศบาลจะจัดซื้อวัคซีน จะมีการกระจายหมด อย่างเทศบาลนครยะลา ก็มีการเปิดให้ลงทะเบียนทั้งแบบออนไลน์ ที่ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แล้วก็มีทั้งแบบออฟไลน์ ที่ไปลงทะเบียนแบบออนไซต์ ณ สถานที่ต่างๆ ที่กระจายไปทุกมุมเมือง เพราะเราต้องการกระจายคนที่จะได้รับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม ดังนั้นในเชิงของพื้นที่ ผมคิดว่าในเชิงความเหลื่อมล้ำแทบไม่มีเลย ขณะเดียวกันเราก็ยังกันวัคซีนไว้อีกส่วนหนึ่งให้กับคนด้อยโอกาสตามเกณฑ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

            ขณะเดียวกันในภาพใหญ่ขึ้นมาอีก ท้องถิ่น มีอยู่สองระดับ ระดับล่างคือเทศบาลกับ อบต. ระดับบนคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังนั้นในระดับล่าง หากเทศบาลหรือ อบต.แห่งใดไม่มีการจัดซื้อวัคซีน ทาง อบจ.ก็สามารถเข้าไปเสริมได้ เช่น อบจ.ซื้อไว้ส่วนหนึ่ง แล้วเทศบาลกับ อบต.ขาดอยู่ ไม่ได้จัดซื้อ ทาง อบจ.ก็สามารถเข้าไปเติมเต็มได้ แล้วขณะเดียวกัน หากมองต่อออกมาอีก ก็ยังมีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลอีก ที่หากเปรียบเป็นตะกร้าใบหนึ่งก็คือจังหวัดหนึ่ง มันก็สามารถหมุนเวียนอยู่ในจังหวัดนั้นได้ เพราะฉะนั้นก็สามารถไปเติมตรงนั้นแล้วลดตรงนี้ออกได้ ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

งบซื้อวัคซีน

ท้องถิ่นนำมาจากไหน?

            สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนของ อปท.แต่ละแห่ง นำงบจากส่วนใดมาจัดซื้อเรื่องนี้ พงษ์ศักดิ์-นายกเทศมนตรีนครยะลา อธิบายว่า เรื่องการจัดซื้อวัคซีนโควิดเป็นเรื่องกะทันหันมาก ทำให้แทบทุกแห่งไม่สามารถใช้งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ แต่วิธีการที่ท้องถิ่นจะทำก็คือ  หนึ่ง จะโอนเงินงบประมาณที่เรามองว่าการซื้อขายวัคซีน ใช้เงินเหลือจ่ายที่ท้องถิ่นมี ก็ทำการโอนไปจัดซื้อวัคซีนได้ สอง ก็คือจะดูว่า โครงการใดที่ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นเมื่อเทียบกับการจัดซื้อวัคซีน เราก็อาจยกเลิกโครงการแล้วนำเงินส่วนนั้นมาจัดซื้อวัคซีนได้ สาม ก็คือนำเงินที่เราเหลือจ่ายในแต่ละปีที่มีการสะสมไว้ที่เรียกว่า "เงินสะสม" ของแต่ละท้องถิ่นนำมาจัดซื้อวัคซีนได้ เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้วเกือบทุกแห่งก็จะใช้เงินสะสม เพราะเป็นเรื่องที่ฉุกละหุก กะทันหัน และมีความสำคัญ แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไร โดยวิธีการแล้วการจัดซื้อก็จะต้องขออนุมัติจากสภาท้องถิ่นของแต่ละ อปท.

            ...วันนี้การที่ท้องถิ่นซื้อวัคซีนจากรัฐ มันก็คือจีทูจี ราคาที่ซื้อ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า ก็เหมือนกับโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา ก็คือระหว่างภาครัฐด้วยกัน เพราะฉะนั้นในแง่ความโปร่งใส มันก็ไม่มีข้อกังขาอะไรเลย อย่าง สตง.เอง ผมดูจากจดหมายข่าวของ สตง.ที่เผยแพร่ออกมา สตง.ไม่ได้กังวลเลย เพราะ สตง.ก็รู้ดีว่าท้องถิ่นต้องซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แต่สิ่งที่ สตง.ต้องการคือจะทำอย่างไรให้วัคซีนกระจายได้ทั่วถึงและรวดเร็ว

             ส่วนสถานการณ์โควิดที่ยะลา ในเขตเทศบาลค่อนข้างโอเค เพราะเราทำเชิงรุกตั้งแต่ตั้งหน่วยตรวจเชื้อโควิดแบบรวดเร็ว ซึ่งการตรวจแบบนี้ใช้เวลาไม่นานและใช้กับคนหมู่มาก มันก็ช่วยไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ได้เมื่อมีการติดเชื้อต่างๆ พอเราตรวจเร็ว ค้นหาเร็ว สอบสวนโรคได้เร็ว ก็ทำให้โอกาสที่จะมีการติดเชื้อและขยายวงก็น้อยลง โอกาสเกิดคลัสเตอร์ก็น้อยลง แต่เราก็มีปัญหานอกเขตบ้าง แต่ก็พยายามเข้าไปช่วยในการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ โดยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงหลัง เทศกาลฮารีรายอ คนกลับมาบ้าน และอาจด้วยการการ์ดตก ก็เลยทำให้มีการติดเชื้อกันในบางอำเภอค่อนข้างมาก ก็มีความพยายามควบคุมอยู่ ในเขตเทศบาลก็ใช้กลไกของ อสม.-ประธานชุมชน-สมาชิกสภาเทศบาล ลงไปช่วยกันติดตามกลุ่มเสี่ยงเพื่อนำไปตรวจ

            นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ย้ำถึงบทบาทขององค์กรปกครองส่วนถิ่น กับการจัดการตัวเอง จากกรณีวิกฤติไวรัสโควิด-การขาดวัคซีนว่า ท้องถิ่นมีศักยภาพ เพราะเราเข้าใจพื้นที่ของตัวเอง เรารู้จักคนของตัวเอง โดยเฉพาะการสอบสวนโรค ที่ต้องหาความสัมพันธ์ คนท้องถิ่นก็จะรู้ดีที่สุดว่าใครสนิทกับใคร ใครไปกับใคร แต่ละคนมีวิถีชีวิตอย่างไร เมื่อท้องถิ่นเข้ามาช่วยตรงนี้ ก็จะช่วยเรื่องการติดตามและการสอบสวนโรคได้ดีขึ้น

            ขณะเดียวกันเรื่องความรวดเร็วของท้องถิ่น ความรับผิดชอบของผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ของตัวเอง เราต้องยอมรับว่าในช่วงวิกฤติโควิด ผู้นำท้องถิ่นคนไหนบริหารไม่ได้ เอาไม่อยู่ ก็มีผลต่อการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน รวมถึงคนที่จะมาทำงานในจุดนี้ เขาต้องมีความเอาใจใส่ มีความรักในประชาชนของตัวเองเป็นพื้นฐาน และมีความรักในพื้นที่ตัวเอง เพราะต้องยอมรับว่าโควิดทำให้ประชาชนใช้ชีวิตลำบากมาก คนเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เมื่อเห็นประชาชนของตัวเองลำบาก ย่อมไม่มีใครมีความสุข

            -สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด เช่น การที่ท้องถิ่นพยายามจะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องการจัดหาวัคซีน คิดว่าส่วนกลาง กระทรวงมหาดไทย ควรต้องปรับมุมมองหรือมีทัศนคติต่อท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่?

            เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวันนี้การแก้ปัญหาโควิดเป็นเรื่องของความรวดเร็ว ผมคิดว่าความรวดเร็วของการสั่งการ การตัดสินใจ การควบคุมพื้นที่ ผมคิดว่ามันต้องกระจายออกไป เพราะถ้าไม่กระจายอำนาจ สุดท้ายแล้วการส่งข้อมูลต่างๆ ไปยังส่วนกลาง แม้เราจะบอกว่าวันนี้เรามีระบบอินเทอร์เน็ตอะไรต่างๆ แต่ถ้าหากระบบการตัดสินใจยังต้องส่งตามลำดับชั้นที่มีหลายขั้นตอน แล้วจากนั้นต้องรอให้ข้างบนส่งเรื่องกลับมายังข้างล่าง อีกทั้งยังต้องรอการประชุม รอการตัดสินใจ ลักษณะแบบนี้มันไม่ทันการณ์กับการพัฒนาการของเชื้อโรค แต่ถ้าระดับท้องถิ่นได้คุยกันด้วยข้อมูลและสภาพข้อเท็จจริงที่เห็นในพื้นที่ ด้วยการรับรู้และการที่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผมว่าจะทำให้การตัดสินใจแม่นยำกว่า รวดเร็วกว่า และส่งผลทำให้การบริหารงานต่างๆ ทำได้ดี

            -ช่วงก่อนหน้านี้ ฝ่ายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย ไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะดึงท้องถิ่นมาร่วมแก้ปัญหา จนกระทั่งเริ่มปรับท่าทีหลังผู้บริหารท้องถิ่น หลายแห่งออกมาเคลื่อนไหว?

            มันก็อาจมองได้ว่า ประเด็นแรก เรื่องวิกฤติลักษณะเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมากนัก ก็เลยอาจจะยังมองแบบไม่เข้าใจ คือมองว่าต้องรอส่วนกลางลงมาสั่งการ แต่ว่าบางสิ่ง ที่ต้องใช้เวลา ต้องแข่งกับเวลาในการตัดสินใจ แก้ปัญหา ผมคิดว่าสิ่งเหล่านั้นต้องใช้การกระจายอำนาจทั้งสิ้น

            ในส่วนที่สอง ก็ต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ผู้นำท้องถิ่น บางครั้งก็ทำให้ผู้ใหญ่มองว่ายังเป็นภาพลักษณ์ของคนยุคโบราณที่ไม่ทันสมัย แต่ผมคิดว่าวันนี้ผู้นำท้องถิ่นหลายคนจบปริญญาเอกก็มีมาก คนหนุ่มคนสาวที่เข้ามาสู่การเมืองท้องถิ่นที่เก่งๆ มีความสามารถ ก็ทำให้บริบทก็มีความแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเราเปิดใจให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระงานของรัฐบาล ผมคิดว่าด้วยความสำนึกของเขา สิ่งที่เขาอาสาเข้ามา ก็จะช่วยให้สิ่งที่เป็นความต้องการของรัฐบาลอาจจะดีขึ้น

อย่าเหมาเข่งท้องถิ่น

ต้องปลดล็อก -เร่งกระจายอำนาจ

            -สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเอง ตั้งแต่ระดับเทศบาลไปจนถึง อบจ. วิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องปรับภูมิทัศน์ในการทำงานอย่างไรบ้าง?

             ในส่วนของอย่างเทศบาล ก็มีการปรับตัวพอสมควร เช่นวันนี้นายกเทศนตรีทุกคนก็ต้องรู้จักการใช้ระบบ ZOOM แล้ว เพราะต้องมีการประชุมผ่านระบบ ZOOM ตลอดเวลา รวมถึงการพูดคุยแชร์ประสบการณ์ในแต่ละพื้นที่ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นมา เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าแต่ละพื้นที่มีวิธีการจัดการแก้ปัญหากันอย่างไร ก็นำประสบการณ์มาแบ่งปันกันเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ สิ่งที่อยากฝากก็คือปัญหาบางอย่างที่มีความรุนแรง ต้องใช้เวลา ต้องแข่งกับเวลาในการแก้ปัญหา ผมคิดว่าการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน ตัวท้องถิ่นเอง สิ่งที่เป็นจุดแข็งก็คือความคล่องตัว ความยืดหยุ่น ความเข้าใจพื้นที่ การรู้จักคนในพื้นที่

            "อยากให้รัฐบาลได้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น และดึงพลังดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่อยากให้มัวแต่จะไปนั่งออกระเบียบที่จะบั่นทอนความคล่องตัว ความยืดหยุ่น เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความถี่ของการเปลี่ยนแปลงมีแต่มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงก็มีแต่รุนแรงขึ้น สิ่งที่ดีที่สุดในการรับการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการกระจายอำนาจออกไปยังแต่ละพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่ไปจัดการตัวเอง

            ดังนั้น ทุกสิ่งที่มันล็อก ที่มันทำให้ขาดความคล่องตัว จึงควรทำให้มีการคลายตัวมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าปล่อยไปทั้งหมด ก็ยังต้องมีระบบติดตาม ใครทำไม่ดี ก็ว่าไปตามพื้นที่ แต่อย่าไปใช้ระบบเหมาเข่ง"

            พงษ์ศักดิ์ ที่เพิ่งได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อ 1 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ยังได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานในฐานะนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นว่าสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่มีตัวแทนจากเทศบาลทุกแห่งในประเทศไทย รวมถึงกรุงเทพมหานครและพัทยา ที่ต่างก็เป็นสมาชิกของสมาคมสันติบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย  สิ่งที่สมาคมต้องทำเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเป็นศูนย์รวมรับปัญหาของเทศบาลทั้งหมด และเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับท้องถิ่น ตลอดจนเป็นตัวแทนของเทศบาลในการประสานงานด้านต่างๆ แล้ว งานอีกส่วนหนึ่งที่เห็นว่าควรให้ความสำคัญและควรต้องทำต่อจากนี้ ก็คืองานด้านวิจัยและพัฒนาในเชิงวิชาการที่ต้องศึกษา-วิจัยในเรื่องท้องถิ่น เพื่อคอยสนับสนุนงานของเทศบาลในการนำไปวางแผนงานด้านต่างๆ เช่น งานวิจัยและพัฒนาด้านการบริการสาธารณะ, ด้านการคลังท้องถิ่น, การสร้างนักวิชาการด้านท้องถิ่นให้มีมากขึ้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ เพราะอย่างในประเทศที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์คือจีน บทบาทก็อยู่ที่ ผู้ว่าการรัฐ-ที่ก็คือท้องถิ่น ดังนั้น เราก็ต้องสร้างความร่วมมือต่างๆ ในการนำประสบการณ์ไปแชร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นมีมากขึ้น

            "หากวันนี้ถ้าเราทำให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง ทั้งในเชิงของอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์กับประชาชน รวมถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่สามระบบโครงสร้าง คือส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค-ท้องถิ่น ผมคิดว่าท้องถิ่นคือคำตอบในการพัฒนาประเทศ เหมือนกับในหลายประเทศ เช่นประเทศจีนที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่จะเห็นได้ว่าจีนก็ใช้ท้องถิ่นเป็นตัวผลักดัน กลายเป็นว่าทุกเมืองทำงานแข่งกัน สุดท้ายก็มาต่อเป็นจิกซอว์ใหญ่คือประเทศจีน จนกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งและเข้มแข็ง" นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"