พรรคใหญ่ลุ้นแลนด์สไลด์  แก้รัฐธรรมนูญย้อนยุค 


เพิ่มเพื่อน    


ที่ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านพ้นการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ร่างแก้ไขของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เสนอเข้ามา เปิดโอกาสให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายข้อดี ข้อเสีย ตลอด 2 วัน 2 คืน 
บทสรุปสุดท้าย Lucky Number มีเพียงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างที่ 13 ร่างเดียวของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่มี ส.ส.ภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมเข้าชื่อเสนอแก้ไข เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้รับเสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาด้วยมติเห็นชอบ 552 เสียง ส.ส. 342 เสียง ส.ว. 210 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 130 เสียง 
 ส่วนฉบับอื่นๆ เนื่องจากเสียง ส.ว.ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ต้องตกไป โดยเฉพาะฉบับที่ขอให้ปิดสวิตช์ ส.ว. และร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีปัญหาเสนอแก้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญ ส.ว. จากที่ถูกมองว่าเป็นร่างทรงเครือข่ายคณะยึดอำนาจ ไม่ว่าการออกเสียงขอความเห็นชอบกฎหมายสำคัญๆ เรื่องใด 250 เสียง ส.ว.ไม่เคยแตกแถว โดยเฉพาะการลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่อาจจะด้วยกระแสสังคมกดดัน ตั้งข้อครหาต่างๆ นานา ทำให้ระยะหลังๆ ส.ว.บางคนได้เอกสิทธิ์ส่วนตัวมากขึ้น ตั้งแต่การโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปลายปี 2563  
 การโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 1 ส.ว.ใช้เอกสิทธิ์ส่วนตัวลงมติเกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.ในการโหวตแต่งตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ร่าง คือร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 เกี่ยวกับที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ามี 22 ผู้กล้า ส.ว.ยอมกดปิดสวิตช์ตัวเองคือ นายคำนูณ สิทธิสมาน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นางประภาสรี สุฉันบุตร นายประมนต์ สุธีวงศ์ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ นายพิศาล มาณวพัฒน์ นายมณเฑียร บุญตัน นายวันชัย สอนศิริ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล นายอำพล จินดาวัฒนะ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายบรรชา พงศ์อายุกูล นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ นายสม จาตุศรีพิทักษ์ นายสมชาย เสียงหลาย และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ  
สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายข้องใจ พลังประชารัฐแก้ไขมาตรา 144 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการกำหนดโทษ ส.ส.หรือ ส.ว. หรือคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่แปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนใช้งบประมาณ แก้ไขมาตรา 185 ลดความเข้มงวดเรื่องทุจริต ยกเลิกการห้าม ส.ส.หรือ ส.ว.ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ 
 ถือว่าเข้าไป “ทำลายหัวใจรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” จะทำให้เป็นเหมือนเดิม ให้ ส.ส.ยุ่งเกี่ยวงบประมาณ แทรกแซงราชการ ที่เปิดช่องให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง พวกพ้อง อาจนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชัน โดยปมประเด็นนี้ ว่ากันว่าสองคีย์แมนคนสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ อีกคนเป็น รัฐมนตรี อีกคนเป็นคนกำหนดเกมในสภา ร้องขอให้มีการเพิ่มประเด็นดังกล่าวเข้าไป 
จึงไม่แปลกใจที่บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะส่งสัญญาณไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับบรรดา ส.ว. ต่างมองว่าทำลายเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง นำมาซึ่งการพร้อมใจโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่เป็นพรรคการเมืองที่ใกล้ชิด ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมากที่สุด 
 โดย ส.ว.ไม่เพียงไม่เห็นด้วยกับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ยังพร้อมใจกันโหวตคว่ำในส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น การได้มาซึ่งนายกฯ-ตัดอำนาจ ส.ว.-ยุทธศาสตร์ชาติ ล้างมรดกคณะรัฐประหาร หรือแม้แต่เพิ่มเติมสิทธิเสรีภาพประชาชนในการเข้าถึง ได้รับการช่วยเหลือทางกระบวนการยุติธรรม ต่างถูกโหวตล้มไปทั้งหมด 
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านพ้นในวาระที่ 1 รับหลักการ ยังต้องผจญในวาระ 2-3 แปรญัตติ และโหวตในขั้นตอนสุดท้าย ในชั้นแปรญัตติ มีการตั้งกรรมาธิการจำนวน 45 คน แบ่งสัดส่วน พรรคร่วมรัฐบาล 17 คน ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 4 คน พรรคประชาธิปัตย์ 3 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และเศรษฐกิจใหม่ 1 คน ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 8 คน พรรคก้าวไกล 3 คน พรรคเสรีรวมไทย 1 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน มีกำหนดแปรญัตติ 15 วัน  
ยังต้องจับตาดูต่อไปว่าร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง จะถูกดีไซน์ออกมาอย่างที่หลายฝ่ายหวังอยากจะได้ระบบ ส.ส.แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งวิธีการคิดคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีหลักคิด หลักการคำนวณอย่างไร จะย้อนกลับไปคิดเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 หรืออิงกับระบบเยอรมัน หรือจะมีสูตรอื่นอะไรออกมาอีกหรือไม่  
แต่ที่แน่ๆ เชื่อได้ว่าการคิดคำนวณการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีวิธีคิดเป็นหลักคณิตศาสตร์สูตรเดียวที่ทุกพรรคเข้าใจได้เหมือนกันหมด คงไม่เหมือนกับการคิดคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนการเลือกตั้ง 2562 อีกแล้ว ที่จนถึงวันนี้ แม้แต่หน่วยงานจัดเลือกตั้ง กกต. หากให้อธิบายการได้มาซึ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ วิธีคิดคำนวณ ไม่รู้ว่ายังจะพูดเหมือนเดิมอีกหรือไม่ 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ระบบเลือกตั้ง ที่คาดว่าหากเพิ่มจำนวน ส.ส.เขตจาก 350 คน เป็น 400 คน สิ่งที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้นการคิดคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งกันใหม่ ส.ส.พื้นที่ที่มีมากถึง 30 เขต เช่น ส.ส.นครราชสีมามี 14 คน ในจังหวัดอื่นๆ ที่ผลของรัฐธรรมนูญ 2560 จังหวัดที่เคยมี ส.ส.มาก จากรัฐธรรมนูญ 2550 จะมีการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด  
พรรคที่แอบฝันหวาน ชอบใจกับระบบการเลือกตั้งแบบเดิม คงหนีไม่พ้นบรรดาพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ ที่ต่างหวังจะครองตลาดเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าเพียงพรรคเดียว โดยพรรคพลังประชารัฐก็เจอพิษรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ปวดหัวพรรคเล็ก เกิดปัญหาฤาษีเลี้ยงลิง ปัญหาแจกกล้วย ที่มีปัญหาความเป็นเอกภาพ ความระหองระแหง สั่นคลอนเสียรภาพ ความเชื่อมั่นเป็นระยะๆ 
ขณะที่ พรรคเพื่อไทย ที่คุ้นชินกับการเลือกตั้งแบบนี้ ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 เคยได้ ส.ส.มามากถึง 377 เขต ที่ดูจะชอบใจและหวังอยากให้กลับไปใช้แบบเดิม   
 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่คิดคะแนนเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้นำคะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อที่ทุกพรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศมารวมกัน แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กับคะแนนรวมข้างต้น ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อจะได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้ เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น โดยคะแนนขั้นต่ำของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ต้องมีร้อยละ 5 ของคะแนนรวมทั้งประเทศ 
เพื่อไทยนำบทเรียนความผิดพลาดการเลือกตั้ง 2562 ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พัน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคพลังปวงชนไทย นั้นไม่เป็นผล พรรคไทยรักษาชาติเกิดอุบัติเหตุการเมือง อยู่ไม่จนถึงวันเลือกตั้ง ประกอบกับเพื่อไทยในเวลานั้นก็จัดสรรปันส่วน ส่งผู้สมัครเพียง 250 เขตเท่านั้น  
วางหมาก กำหนดเกม หวังตีโจทย์ แก้กับดักรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ตีไม่แตก สุดท้ายเลยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เลือกตั้งในที่สุด สำหรับสูตรการเลือกตั้งคงจะกลับไปแบบเดิม บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 คงจะเข้าทางเพื่อไทยไม่น้อย 
ว่ากันว่า ในการเลือกตั้งรอบหน้าจะเดินหน้าสู้ศึกอย่างเต็มตัว ส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งยังจะผนึกกำลังพรรคพันธมิตรอีกบางพรรครองรับเอาไว้ หวังสูง จะรวมเสียง ส.ส.เกิน 250 เสียงให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจ 250 เสียง ส.ว.ที่จะต้องมีส่วนร่วมเลือกนายกฯ 
เพื่อไทย พลังประชารัฐ ต่างมองไปถึง ‘แลนด์สไลด์’ หรือชนะอย่างถล่มทลายในการสู้ศึกเลือกตั้งหนหน้า  
 ทว่า กลไก กลเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่จบ ตราบใดที่ยังไม่ผ่านวาระ 3 ยังไม่เห็นเนื้อหาการแบ่งเขตเลือกตั้ง การคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ผลออกมาดีไม่ดีอาจจะไหลเข้าทางพรรคพลังประชารัฐมากกว่า หรือแม้แต่การล้มกระดานแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โหวตคว่ำ กลับไปใช้กลไกกติกาเดิม ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ 
บัตรเลือกตั้งใบเดียว ปัญหาความคลุมเครือนับคะแนน ส.ส.ปัดเศษ บวกกับปัจจัยกระสุนดินดำ กระแสข่าวงูเห่าเตรียมย้ายรัง เพราะสู้กลไกอำนาจรัฐ กลไกทางราชการไม่ได้ รวมไปถึงเครือข่ายคอนเน็กชั่นที่อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง ยืนอยู่ข้างพลังประชารัฐ ที่นาทีนี้ไม่ว่าออกมาหน้าไหน  
พลังประชารัฐดูจะขี่เพื่อไทยอยู่หนึ่งช่วงตัว ไม่ว่ากฎกติการัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. ระบบการเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือสองใบ การคิดคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะออกมาในรูปแบบใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"