ลักหลับคุมเข้ม10จว. ห้ามนั่งกิน-ห้างปิด3ทุ่ม! ไม่ให้รวมกลุ่มเกิน20คน


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.ประกาศยกระดับพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด คลอด 10มาตรการเข้มล็อกโควิด เริ่ม 28 มิ.ย.  ห้ามนั่งกินในร้าน-ไม่ให้รวมกลุ่มเกิน 20คน "บิ๊กปั๊ด" สั่งกองบัญชาการทุกพื้นที่ตรวจตราควบคุม “ทหาร-ตร.-สธ.-กทม.” หมื่นนายซีล 575 แคมป์คนงานทั่วกรุง ปลัด สธ.กำชับผู้ว่าฯ เฝ้าระวังรับมือแรงงานหนีกลับภูมิลำเนา ทำเนียบฯ เข้มต่อ "ชวน" ยังไม่สั่งงดประชุมสภาสัปดาห์นี้  วิปรัฐบาลแจ้งสมาชิกงดถก กมธ.ทุกคณะ​ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการ ศบค. โดยมีสาระสำคัญถึงการปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 4 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด ประกอบ ด้วย กรุงเทพมหานคร, นครปฐม, นนทบุรี, นราธิวาส, ปทุมธานี, ปัตตานี,ยะลา, สงขลา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
    วันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษายังแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25) โดยมีสาระสำคัญระบุตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาด โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล อยู่ในความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข จำเป็นต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้ออย่างเร่งด่วน และหยุดยั้งอัตราการเร่งของจำนวนผู้ป่วย
    สำหรับมาตรการสำคัญ มีทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้​ 1.มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ สำหรับเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ให้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 30 วัน เพื่อควบคุมและชะลอการระบาด ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนกระจายหลายพื้นที่ รวมทั้งสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายเดินทางของกลุ่มเสี่ยงเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่ออกเป็นวงกว้างสู่พื้นที่อื่น โดยให้ประเมินสถานการณ์และมาตรการทุก 15 วัน โดยให้นำมาตรการควบคุมบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.2564 ใช้บังคับกับพื้นที่ดังกล่าว​ 2.การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณามีคำสั่งปิดแคมป์คนงานทุกประเภท รวมทั้งมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน 
ห้ามนั่งกินอาหารในร้าน
    3.การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานในสถานประกอบการและโรงงานในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal 4.มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล นอกจากข้อปฏิบัติตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิ.ย.2564 ให้เพิ่มเติมมาตรการต่อไปนี้อย่างน้อย 30 วัน​ ได้แก่​ การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการถึง 21.00 น. โดยงดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร, โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการ ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา และการจัดเลี้ยง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลรวมกันมากกว่า 20 คน 
    5.มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในเขตชุมชน ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กวดขันการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการเข้าไปตรวจตราเขตชุมชน ตลาด หรือสถานที่ที่ได้ประเมินแล้ว ว่ามีความเสี่ยงต่อการระบาดโรค เมื่อพบแหล่งระบาดเป็นกลุ่มก้อน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเพื่อมีคำสั่งปิดเขตชุมชนหรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อกำกับ หรือจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ระบาด​ 6.การให้ความช่วยเหลือประชาชน เมื่อได้มีคำสั่งและดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ให้เจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่หรือจำกัดการเดินทางเข้าออกจากพื้นที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน 
    7.กำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมและตรวจคัดกรองการเดินทาง ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัด เพื่อคัดกรองการเดินทางอย่างน้อย 30 วัน ได้แก่​เส้นทางเข้าออกจังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ให้ตั้งด่านตรวจอย่างเข้มงวด เส้นทางเข้าออก กทม.และจังหวัดปริมณฑล การตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานข้ามเขตจังหวัดให้ดำเนินการอย่างเข้มงวด 
    8.การปราบปรามผู้กระทำผิดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้มงวดตรวจตราเพื่อปราบปรามไม่ให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุมกระทำการที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเดินทางหรือขนย้ายแรงงาน หรือรับแรงงานต่างด้าวที่ออกจากสถานที่พักคนงานโดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบคัดกรองโรค เป็นเหตุให้เกิดการระบาดกลุ่มก้อนขึ้นใหม่ อาจต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป 9.ให้คงพิจารณาดำเนินการมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขึ้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ 10.งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มในลักษณะการสังสรรค์ จัดเลี้ยง หรืองานรื่นเริง ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป
    ทางด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งดังกล่าวว่า ข้อกำหนดที่เข้มข้น เป็นการยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว  เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยมีผลในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงสูง  สำหรับพี่น้องประชาชนทั่วไปยังสามารถเดินทางและดำเนินกิจกรรมประจำวันตามปกติ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงนี้
    นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่าในช่วงที่การปิดแคมป์ กระทรวงจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50% ของค่าจ้างให้คนงานทุกๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วยตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง
สั่งผู้ว่าฯ รับมือแรงงานหนีกลับ
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เตรียมมาตรการรองรับแรงงานบางส่วนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากการปิดแคมป์คนงานใน กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา เป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ซึ่งทุกจังหวัดมีมาตรการและประสบการณ์ตั้งแต่การล็อกดาวน์ในการระบาดระลอกแรกและช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้ให้กรมควบคุมโรค ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดตั้งทีมค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคในทุกอำเภอ หมู่บ้าน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านร่วมทีมออกเคาะประตูบ้าน เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา และให้ความรู้ในการแยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นทั้งในที่พักจนครบ 14 วันนับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา รวมทั้งการปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเคร่งครัด 
    “ขอความร่วมมือผู้ประกอบการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็ว ส่วนแรงงานที่เดินทางกลับบ้าน ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ก่อนเดินทางต้องคัดกรอง และเมื่อถึงภูมิลำเนาขอให้รายงานตัวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้งดเดินทาง กลับที่พักไปสังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน” ปลัด สธ.ระบุ
    นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. มีการระบาดกว่า 110 คลัสเตอร์ ทำให้พื้นที่การทำงานกระจายออก ตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อนข้างมาก การควบคุมโรคมีความซับซ้อน ต้องใช้จำนวนคนลงไปทำงานเยอะ นอกจากนี้ยังการติดเชื้อในชุมชนแออัดและโรงงาน เชื่อว่าตอนนี้ยังมีคลัสเตอร์ที่เราระบุได้ไม่หมดอีกจำนวนหนึ่ง ครั้งที่คุยกับทีมงานถึงตัวเลข หากเราดูจำนวนผู้ป่วยรายวัน จะมียอดหนึ่งที่ไม่สัมพันธ์กับคลัสเตอร์ ซึ่งทีมงานต้องใช้ความพยายามติดตามตัวเลขส่วนนี้อยู่ว่าอยู่ที่ไหน มาจากไหน 
    พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องทุกพื้นที่ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานทหาร สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และหน่วยที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมสนับสนุนกำลังเมื่อมีการร้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ทั้งการควบคุมการปิดแคมป์แรงงานและจำกัดพื้นที่การเคลื่อนย้ายแรงงาน อย่างน้อย 30 วัน (เฉพาะ กทม. และปริมณฑล) ออกตรวจสอบการจำหน่ายอาหารหรือของร้านอาหารต่างๆ  การเปิด-ปิดห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้าตามเวลาที่กำหนด การห้ามจัดกิจกรรมต่างๆ ตามเงื่อนไขที่ ศบค.และคำสั่งของจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้กำหนด หากพื้นที่ใดมีการปล่อยปละละเลย จะพิจารณาความบกพร่องทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดต่อไป นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งข้อมูลมายังหมายเลขสายด่วน 191 หรือ 1599 ตลอด 24 ชม.
    พล.ต.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา รองโฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด/หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ( ผบ.ทสส./หน.ศปม.) ได้สั่งการให้ ศปม.ตร., กองบัญชาการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง และศปม.เหล่าทัพ จัดกำลังพลร่วมสนธิและวางกำลังในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกับกรุงเทพมหานครและกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเจ้าหน้าที่รวมจำนวนกว่า 10,000 นาย เข้าปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่ 50 เขตของ กทม. จำนวน 575 แคมป์งานก่อสร้าง
งดประชุม กมธ.สภาทุกคณะ
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ รักษาการ ผอ.สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งต่อสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ ว่า ทำเนียบฯ ขอใช้มาตรการความร่วมมือเดิมในการปฏิบัติหน้าที่ โดยสถานีโทรทัศน์ช่องละ 2 ทีม สำนักข่าว และหนังสือพิมพ์สังกัดละ 2 คน และขอเพิ่มมาตรการให้ทุกคนระมัดระวังสูงสุดในการป้องกันการแพร่โควิด-19 รวมทั้งขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการรุมสัมภาษณ์แหล่งข่าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ​ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอแจ้งให้รับทราบถึงการของดและยกเลิกการประชุมระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-2 ก.ค. หลังจากที่มีการกำหนดนัดหมายประชุมในหลายคณะ เนื่องจากในข้อกำหนดและคำสั่งศบค. ได้มีมาตรการงดจัดกิจกรรมการประชุมหรือรวมตัวกันมากกว่า 20 คน ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ จึงได้แจ้งงดประชุมพรรคพลังประชารัฐประจำสัปดาห์ทุกวันอังคาร และยกเลิกการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 28 มิ.ย. ยกเลิกการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 รวมถึงการประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 30 มิ.ย. และ 1 ก.ค.นี้ ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้การประชุมยังเป็นไปตามเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าวุฒิสภาจะงดการประชุมในวันจันทร์และอังคารนี้แล้ว เนื่องจากทางฝั่งวุฒิสภามีสมาชิกติดเชื้อทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสมาชิกติดเชื้อ จึงถือว่าได้รับผลกระทบน้อยหรือมีความเสี่ยงต่ำ ขณะเดียวกันสภาได้ทำบิ๊กคลีนนิงทั้งห้องประชุมสภา และบริเวณจุดเซ็นชื่อสมาชิกแล้ว จึงมีความมั่นใจในมาตรการป้องกันโควิด-19. 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"