พอช.ร่วมกับหน่วยงานภาคีพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จ.อุทัยธานี ซ่อมสร้างบ้านในเมืองและชนบทรวม 1,183 หลัง-ซ่อมแพแล้วกว่า 100 แพ


เพิ่มเพื่อน    

ลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวอุทัยธานี

 

อุทัยธานีพอช. ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี  เทศบาล  และหน่วยงานภาคี  เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองรอบเขาสะแกกรัง  และในชนบทที่ .ห้วยคต  รวม 1,183 หลัง  ใช้งบกว่า 60 ล้านบาท  ขณะที่การอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนชาวแพสะแกกรัง  โดยการซ่อมสร้างแพที่ชำรุดทรุดโทรมคืบหน้าไปแล้วกว่า 100 แพจากทั้งหมด 122 แพ  พร้อมทั้งมีแผนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายในประเทศไทย  สร้างตลาดชาวแพ  อนุรักษ์ปลาและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้ชาวชุมชนมีอาชีพ  มีรายได้  ขณะที่กรมชลประทานเตรียมศึกษาหาทางแก้ปัญหาน้ำสะแกกรังแห้งแล้ง

 

วันนี้  (28 มิถุนายน) ระหว่างเวลา 10.00-12.00 ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองอุทัยธานี  อ.เมือง  จ.อุทัยธานี  พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วม มือ การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย   รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยจังหวัดอุทัยธานี ระหว่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กับหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยมนายณรงค์  รักร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  นายชาดา ไทยเศรษฐ์   .. จังหวัดอุทัยธานี   และนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน  มีผู้แทนส่วนราชการ  ภาคีเครือข่าย  และผู้แทนชุมชนเข้าร่วมงานประมาณ  100 คน

 

ในการลงนามครั้งนี้   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้มอบงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดอุทัยธานี  ประกอบด้วย 1. โครงการบ้านมั่นคงเมือง  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตรอบเขาสะแกกรัง  รวม  392 ครัวเรือน  งบประมาณ  23 ล้านบาทเศษ  2.โครงการบ้านมั่นคงชนบท  ตำบลห้วยคต  อ.ห้วยคต  รวม 304 ครัวเรือน  งบประมาณ 12.9 ล้านบาท 

 

3.โครงการบ้านมั่นคงชนบท ตำบลทองหลาง  อ.ห้วยคต รวม 219  ครัวเรือน  งบประมาณ 11.3 ล้านบาท  และ 4.โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลสุขฤทัย  อ.ห้วยคต รวม  268 ครัวเรือน  งบประมาณ  12.9 ล้านบาท   รวมจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,183  ครัวเรือน  งบประมาณทั้งหมด 60 ล้านบาทเศษ  โดยจะเริ่มโครงการทั้งหมดนี้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

 

มอบงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

 

ทั้งนี้หน่วยงานที่ร่วมลงนามการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวอุทัยธานีทั้งในเมืองและชนบท  รวมทั้งหมดกว่า 40 หน่วยงาน   เช่น  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  อบจที่ดินจังหวัด  ธนารักษ์จังหวัด  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด  เกษตรและสหกรณ์จังหวัด  สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด  โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด  การประปาส่วนภูมิภาค  ผู้แทนขบวนที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินภาคเหนือ  ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการลงนามเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตดังกล่าวแล้ว  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในจังหวัดอุทัยธานีตั้งแต่ปี 2553  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงเมืองอุทัยธานี  จำนวน 70 ครัวเรือน  โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลระบำ  อำเภอลานสัก  สร้างบ้านใหม่ในที่ดิน ส... ในปี 2560-2561 รวม 349 ครัวเรือน  ฯลฯ   รวมทั้งโครงการในปัจจุบัน  คือ  ชุมชนชาวแพ, ชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  และบ้านมั่นคงชนบท อำเภอห้วยคต  รวม 7 โครงการ  จำนวน 1,729 ครัวเรือน

 

ภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชนรอบเขาสะแกกรัง

 

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.กล่าวว่า  พอช.เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มีเป้าหมายในการสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน  รวมทั้งสร้างความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำ  พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  เช่น  การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบทตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (..2560-2579) 

 

ส่วนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุทัยธานีนั้น  พอช.เริ่มสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังตั้งแต่ต้นปี 2563   โดยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรังในเรื่องที่อยู่อาศัยทรุดโทรมและคุณภาพชีวิต  จึงได้มอบหมายให้ พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นบรูณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  โดยมีการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งหมด 122 หลัง (แพ)  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  รายได้ ฯลฯ  ใช้งบประมาณรวม 8.8 ล้านบาทเศษ  ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 100 หลัง (แพ) 

 

นอกจากนี้ พอช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีสำรวจปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบท   โดยในเมืองสำรวจชุมชนผู้มีรายได้น้อยบริเวณรอบเขาสะแกกรังในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานี  พบผู้เดือดร้อนทั้งหมด 392 ครัวเรือน (มี 3 โซน  คือ 1. โซนชุมชนหน้าเขาและหลังสนามกีฬา 2. โซนชุมชนหลังเขา  และ  3. โซนหน้าวัดสังกัดรัตนคีรีส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินสาธารณะและที่ดินวัด 

 

สภาพชุมชนรอบเขาสะแกกรัง

 

หลังจากนั้นในช่วงต้นปี 2564 จึงเสนอโครงการไปยังคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช.เพื่อเสนอขออนุมัติโครงการและงบประมาณ  และได้รับอนุมัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตรวมทั้งหมด 392 ครัวเรือน  (อุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  พัฒนาสาธารณูปโภค  สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต  บริหารจัดการ  เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท) รวมงบประมาณ 23,354,800 บาท

 

โดยมีรูปแบบการพัฒนาตามสภาพชุมชน  เช่น  การปรับปรุงที่อยู่อาศัยในชุมชนเดิมที่มีสภาพแออัด  บ้านเรือนทรุดโทรม  ให้มีสภาพเหมาะแก่การอยู่อาศัย  การรื้อเพื่อปรับผังชุมชนและสร้างบ้านใหม่  ฯลฯ  จะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้   โดยจะใช้ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2-3 ปี  ทำให้ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีมีความน่าอยู่   รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เพื่อทำใช้คุณภาพชีวิตชาวชุมชนดีขึ้น

 

ชุมชนรอบเขาสะแกกรัง

 

นายณรงค์  รักร้อย  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี  กล่าวว่า  การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย  โดยเฉพาะชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  ถือเป็นโอกาสที่ชุมชนจะใช้เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ด้วย  เพราะนอกจากจะแก้ไขปัญหาเรื่องชุมชนแออัดแล้ว  ควรจะต้องใช้โอกาสนี้พัฒนาเรื่องการศึกษาให้ลูกหลาน  รวมถึงเรื่องอาชีพของชาวชุมชน  โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัดและกระทรวงจะต้องร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

 

นางสาวปานัดฌา  ไทยเศรษฐ์  นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองอุทัยธานีมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยในชุมชนรอบเขาสะแกกรัง  แต่ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมีปัญหาทับซ้อนกันระหว่างที่ดินวัดสังกัสรัตนคีรีกับที่ดินสาธารณะและเป็นปัญหามานาน  ดังนั้นในขณะนี้เทศบาลจึงขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดมารังวัดและตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้แน่ชัด  หากพื้นที่ใดเป็นที่ดินสาธารณะ  เทศบาลจะได้ทำเรื่องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนเช่าหรืออยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมาย  และเทศบาลจะร่วมกับ พอช.พัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนต่อไป

 

นางกาญจนี  ปรีดารัตน์  กรรมการชุมชนหลังเขาสะแกกรัง  บอกว่า  ชาวชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย  ทำงานรับจ้างทั่วไปในเมืองอุทัยธานี  ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง  ต้องอยู่อาศัยในที่ดินสาธารณะและที่ดินวัดสังกัสรัตนคีรีมานานหลายสิบปี  ที่ผ่านมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดมาติดประกาศห้ามบุกรุกที่ดิน  ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวล  เพราะไม่รู้ว่าจะถูกขับไล่ในวันใด  เมื่อมีการลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในวันนี้  ทำให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจ  และจะร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ทรุดโทรมให้มีความแข็งแรง  ปลอดภัย  มีสภาพแวดล้อมที่ดี

 

ชุมชนรอบเขาสะแกกรัง

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี  ฯลฯ  สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับชาวชุมชน  เช่น  สร้างความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  จัดทำแผนที่  วิเคราะห์ผังชุมชน  ส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  สาธารณูปโภค  สิ่งแวดล้อม  ทำแนวกันไฟ  พัฒนาคุณภาพชีวิต  และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับกรรมการเมืองและคณะทำงานขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยจังหวัดอุทัยธานี  เพื่อพัฒนาชุมชนรอบเขาสะแกกรังทั้งหมด 3 ชุมชน  รวม 392 ครัวเรือน

 

ชุมชนชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นเตรียมซ่อมบ้าน-ทำประปาภูเขา

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการพัฒนาชุมชนรอบเขาสะแกกรังแล้ว  พอช.ยังมีแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตตามโครงการ บ้านมั่นคงชนบทในอำเภอห้วยคต  จังหวัดอุทัยธานี  รวม 3 ตำบล  คือ  ทองหลาง  ห้วยคต  และสุขฤทัย  เนื่องจากสภาพบ้านทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน  และชาวบ้านมีรายได้น้อย  รวมทั้งหมด 791 ครัวเรือน    ใช้งบประมาณรวม  37 ล้านบาทเศษ (เฉลี่ยครัวเรือนละ 46,000 บาท)  โดยจะเริ่มโครงการได้ภายในเดือนสิงหาคมเช่นกัน

 

 ชาวกะเหรี่ยงภูเหม็นร่วมออกแบบการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

 

ลุงอังคาร  คลองแห้ง  ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  ต.ทองหลาง  อ.ห้วยคต  บอกว่า  ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็นมีประมาณ 200 ครัวเรือน  มีอาชีพปลูกข้าวไร่เป็นหลัก  ต้องอาศัยน้ำธรรมชาติในการทำไร่และนำมาใช้ในครัวเรือน  จึงจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทเสนอต่อ พอช.และได้งบสนับสนุนประมาณ 1 ล้านบาทเศษ  เพื่อนำมาจัดทำโครงการต่างๆ  เช่น  ซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรม  จำนวน 51 ครัวเรือน  ทำประปาภูเขาโดยต่อท่อประปาจากแหล่งน้ำเข้ามาในหมู่บ้านระยะทางประมาณ 500 เมตร  จัดทำครัวกลางเพื่อใช้ทำอาหารในงานพิธีต่างๆ  จัดทำพิพิธภัณฑ์ชุมชน  และสร้างพื้นที่สีเขียว  โดยจะปลูกไม้ผล  ไม้ยืนต้นในที่ดินรอบๆ ชุมชน  รวมทั้งหมด 61 แปลง  จะเริ่มโครงการได้ในเดือนสิงหาคมนี้         

 

ซ่อมแพในแม่น้ำสะแกกรังแล้วกว่า 100 แพ

ส่วนความคืบหน้าการฟื้นฟูและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  อ.เมือง  จ.อุทัยธานี   ซึ่งประสบปัญหาเรือนแพทรุดโทรม  แพเกยตื้นและลูกบวบพยุงแพเสียหายเพราะแม่น้ำสะแกกรังแห้งแล้ง   ปัญหาแม่น้ำเน่าเสีย  ผักตบชวาขวางกั้นการเดินเรือ  ทำให้ชาวเรือนแพซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  จับปลา  ทำประมงพื้นบ้าน ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนนั้น

 

 สภาพแม่น้ำสะแกกรังที่แห้ง  ทำให้แพเกยตื้น

 

พอช. ร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดอุทัยธานี  จัดทำแผนงานพัฒนาที่อยู่อาศัย (เรือนแพรวมทั้งหมด 122 หลัง  เริ่มซ่อมสร้างตั้งแต่เดือนกันยายน 2563  ปัจจุบัน (มิถุนายน 2564)  ซ่อมสร้างเสร็จแล้วประมาณ 102 หลัง  ส่วนที่เหลืออีก 20 หลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน   คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคมนี้ 

 

สภาพแพที่ทรุดโทรม  ต้องรื้อซ่อมใหม่

 

หลังจากนั้นหน่วยงานต่างๆ  จะร่วมกันพัฒนาชุมชนเรือนแพเพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ใช้ต้นทุนที่มีอยู่พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว  สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวชุมชน  เช่น  มีตลาดชาวแพ  หรือแพจำหน่ายสินค้า  แพกลางเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูล  บริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ                

 

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำในแม่น้ำสะแกกรังแห้งแล้งนั้น  นายชาดา ไทยเศรษฐ์  ..อุทัยธานี  พรรคภูมิใจไทย  กล่าวว่า  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา  ตนได้พูดคุยกับชลประทานจังหวัดอุทัยธานี  ทราบว่าขณะนี้กรมชลประทานมีโครงการศึกษาการแก้ไขปัญหาแม่น้ำสะแกกรังแห้งแล้ง  อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤต  น้ำในเขื่อนที่จะปล่อยลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้อย  จึงไม่สามารถสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาเติมได้   โดยกรมชลประทานจะใช้งบประมาณ 30 ล้านบาทเพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจข้อมูลปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาตลอดลำน้ำสะแกกรัง (ระยะทางจากต้นน้ำที่ จ.กำแพงเพชร  ลงมาถึง จ.อุทัยธานี  ประมาณ 225 กิโลเมตร) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้

 

ผู้แทนหน่วยงานและภาคีต่างๆ ที่ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตกับผู้แทนชุมชน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"