ขวากหนามแก้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยื่นศาลวินิจฉัยกระทบมาตราอื่น?


เพิ่มเพื่อน    

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญขั้นตอนที่หนึ่งผ่านไปแล้ว  เสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเห็นชอบรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่พรรคร่วมรัฐบาลเป็นฝ่ายเสนอ

            โดยให้ยกเลิกมาตรา 83 และมาตรา 91 ของเดิม  และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

                มาตรา 83 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน

                ในกรณีที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด และยังไม่มีการเลือกตั้งหรือประกาศชื่อ ส.ส.ขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย ส.ส.เท่าที่มีอยู่

                ในกรณีมีเหตุใดๆ ที่ทำให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมีจำนวนไม่ถึง 100 คน ให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่

                มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 

            โดยขณะนี้อยู่ระหว่างชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แต่ดูเหมือนหนทางจะมีอุปสรรคขวากหนามเมื่อมี ส.ส.จุดพลุ อย่างเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย.)  โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และ สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ทักท้วงว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะเสนอเพียง 2 มาตรา ทั้งที่ความจริงมีมาตราอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วย

            เช่น ร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ หรือแม้แต่ฝ่ายค้านเสนอในเรื่องเดียวกันนี้ ก็ขอแก้ไขมาตรา  85, 86, 90, 92 เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 86 ว่าด้วยการกำหนดจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง หากไม่แก้ไขก็ยังคงยึดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต  350 คนเช่นเดิม

            จึงเกิดคำถามว่า ขณะที่คณะกรรมาธิการกำลังแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน แต่มาตรา  86 ยังกำหนด 350 คน จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

            โดย โกวิทย์ กล่าวว่า ความเห็นของคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายคนก็เป็นห่วงในประเด็นนี้มาก แต่ยังมีกรรมาธิการอีกหลายคนเริ่มทำตัวเป็นศรีธนญชัย บอกว่าเมื่อรับหลักการไปแล้วก็สามารถแก้ไขได้ จึงคิดว่าเมื่อไม่ได้รับหลักการมาตรา 86 ก็จะยังคงเป็นรัฐธรรมนูญที่ระบุถึง ส.ส. 350 คนอยู่ และหากไม่แน่ใจก็ควรจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนที่กรรมาธิการจะเดินหน้าดำเนินการไปทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา จึงคิดว่าน่าจะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างแน่นอน

            ด้าน จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้ริเริ่มร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยืนยันไม่มีปัญหาแน่นอน และเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภาที่จะต้องไปปรับปรุงแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่ยังขัดแย้งอยู่กับหลักการที่รับไปให้สอดคล้องกับหลักการได้

            แม้แต่แก้ตัวเลขมาตราอื่นๆ ก็แก้ได้ หลายครั้งก็มีถึงขั้นแก้ตัวเลขมาตราเพื่อให้มันสอดคล้องกัน เพราะถ้าผลของการรับหลักการทำให้ต้องเพิ่มบางมาตรา มาตราที่เหลือก็ต้องขยับชื่อตัวเลขไป ก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่รัฐสภารับหลักการไป แม้ระบุไว้แค่ 2-3 มาตรา แต่มาตราไหนที่แก้แล้วขัดแย้งกับมาตราหลักที่รับหลักการไปก็สามารถที่จะแก้ไขได้ เป็นไปตามข้อบังคับ เพราะฉะนั้นไม่คิดว่าจะมีอุปสรรคอะไรในการที่จะเดินหน้าต่อไปได้ และขณะนี้ก็มีผู้เริ่มยื่นเรื่องขอแปรญัตติเข้าไปแล้วที่กรรมาธิการ

            เช่นเดียวกับเนติบริกร วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาที่จะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ที่สงสัยคืออาจจะขัดข้อบังคับ ซึ่งการขัดข้อบังคับอาจจะมีวิธีการทำอย่างอื่นได้ เช่น ข้อบังคับคือว่าจะต้องเสนอแก้ไขในหลักการอะไร เมื่อหลักการนั้นที่คุณถือ คือมาตรา 83 หรือ 91 ซึ่งไปกระทบกับมาตราอื่นเข้า มันอาจจะเกิดปัญหาที่บางคนอาจจะเห็นว่าไม่ได้ไปกระทบกับมาตราอื่น ก็คือไม่ได้เขียนไว้ แต่ในความเป็นจริงกระทบได้

                เชื่อว่าการแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่ในชั้นกรรมาธิการอาจจะไปกระทบมาตราอื่นๆ อีก 4 มาตราได้  เพราะเคยทำมาแล้ว และผมเชื่อว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ยังไปได้ และที่สำคัญกว่านั้นคือ การทำกฎหมายลูก  เพราะหลายอย่างไปเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายลูก ซึ่งเป็นเทคนิคของการเขียนกฎหมาย เพราะมีคนอย่างนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์  นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคนเหล่านี้คงคิดออก

            อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐสภามีความเสี่ยงที่อาจจะมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ฉะนั้น คณะกรรมาธิการจึงเลื่อนการประชุมออกไป จากเดิมนัดไว้วันที่ 29 มิ.ย. ไปเป็นวันที่ 6 ก.ค. ซึ่งต้องจับตาว่าใครจะได้รับเลือกเป็นประธาน และคงต้องติดตามเซียนกฎหมายจะแก้เกมปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

            ที่สำคัญ จะมีฝ่ายใดยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยหรือไม่!!!

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"