‘กทม.-ปากนํ้า’พุ่งนิวไฮ ดูแล3มื้อรักษาตัวที่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

ยอดติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 4,662 ราย เสียชีวิต 36 ราย "กทม." พุ่งวันเดียว 1,692 ราย "ปากน้ำ" 647 ราย "ศบค." ชี้ป่วยไม่หนักรักษาที่บ้านต้องมีมาตรการรอบคอบ "สปสช." แย้มนำร่องแล้วที่ รพ.ราชวิถี เตรียมขยายเพิ่มไปทั่ว ปท. ย้ำคัดผู้ป่วยไม่ใช่ผลักภาระ หวังแก้ปัญหาเตียงวิกฤติ "ครม." ไฟเขียวปรับเกณฑ์ค่าใช้จ่ายรักษาโควิด
    เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,662 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อภายในประเทศ 4,624 ราย จากเรือนจำ 10 ราย จากต่างประเทศ 28 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 254,515 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,793 ราย หายป่วยสะสม 177,638 ราย กำลังรักษาอยู่ 47,481 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตรายใหม่ 36 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,846 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 527 ราย เสียชีวิตสะสม 1,876 ราย  
    ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตในวันนี้แบ่งออกเป็นกรุงเทพมหานคร 19 ราย นนทบุรี 7 ราย นครปฐม เชียงราย จังหวัดละ 2 ราย และสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี สงขลา ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม จังหวัดละ 1 ราย โดยแบ่งออกเป็นเพศชาย 20 ราย และหญิง 16 ราย มีค่ากลางอายุ 67.5 ปี (41-93 ปี) อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเป็นชาวไทย 35 ราย และนิวซีแลนด์ 1 ราย โดยผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวคล้ายเดิม ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง จำเป็นต้องระมัดระวังตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังคงเป็นคนในครอบครัว
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ข้อมูลการติดเชื้อรายจังหวัด 10 อันดับแรก กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุด 1,692 ราย สมุทรปราการ 647 ราย สมุทรสาคร 293 ราย นนทบุรี 185 ราย สงขลา 182 ราย ปทุมธานี 180 นครปฐม 168 ราย ชลบุรี 146 ราย ปัตตานี 143 ราย และยะลา 89 ราย โดยแนวโน้มแต่ละจังหวัด กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ส่วนนนทบุรีส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามาตรวจในโรงพยาบาล และสมุทรปราการผู้ติดเชื้อพุ่งอย่างชัดเจน
    "การตั้งสมมติฐานพื้นที่แพร่ระบาดประกอบด้วย ชุมชน แคมป์ก่อสร้าง และตลาด โดยจากการเฝ้าระวังแบบสุ่มตรวจแล้ว ปรากฏว่าตลาดมีโอกาสติดเชื้อสูงสุด ซึ่งจากการตรวจตลาด 32 แห่ง พบผู้ติดเชื้อ 6 แห่ง ส่วนคลัสเตอร์ใหม่มาจากโรงงานห้องเย็น อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 9 ราย โรงงานทำสบู่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 46 ราย โรงงานยางรถยนต์ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 14 ราย บริษัทผลิตสายไฟ 12 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง 12 ราย บริษัทผลิตแผงวงจรไฟฟ้า อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 11 ราย บริษัทแห่งหนึ่ง (ไม่ระบุ) อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี 25 ราย" โฆษก ศบค.กล่าว
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงมาตรการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน โดยแพทย์ให้คำแนะนำผ่านแอปพลิเคชันว่า เริ่มพิจารณาแล้ว แต่แนวทางของเราคือตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติม เวลานี้สถานที่และอุปกรณ์มีเพียงพอ แต่ปัญหาคือบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเราไปดึงจากต่างจังหวัด อาจจะทำให้พื้นที่นั้นขาดความพร้อม 
เล็งขยายป่วยรักษาที่บ้าน
    "แนวทางการรักษาตัวที่บ้านต้องมีมาตรการที่รอบคอบ ถ้าไม่รอบคอบอาจมีอาการหนักขึ้น กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงตรงนี้ และเวลานี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศหลักเกณฑ์แล้ว เหลือแค่พิจารณาระบบที่จะรองรับ เพราะทุกมาตรการที่จะออกไป ศบค.และ ศบศ.จะต้องทำอย่างรอบด้าน" ผอ.ศปก.ศบค.กล่าว  
    ขณะที่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนคนไข้ปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหายกับที่เข้ามาใหม่ไม่สมดุลกัน ทำให้เตียงว่างมีไม่พอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ในช่วงนี้ และสิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักมาหลายเดือนอยู่แล้วมีไม่พอ ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน หรือ Home Isolation เข้ามาใช้เพื่อให้มีจำนวนบุคลากรที่สามารถดูแลผู้ป่วยในปริมาณมากๆ ได้ โดยขณะนี้มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี และจะมีการประชุมโรงพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมขยายระบบดังกล่าวไปทั่วประเทศ
    นพ.จเด็จกล่าวว่า ระบบ Home Isolation ของไทยนี้จะต่างจากของต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศจะให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง แต่ระบบของไทยจะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล โดยมอบอุปกรณ์วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวัน มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล
      "ระบบของไทยไม่ใช่การผลักผู้ป่วยให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาล เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ไม่ได้ทำกับผู้ป่วยทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่ โดย สปสช.จะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วัน ให้กับผู้ป่วยด้วย สิ่งที่เรากลัวคือท่านไม่อยู่บ้าน แต่ออกมาข้างนอก แต่คนไข้ที่จะทำแบบนี้ก็ต้องมีการแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวกันระดับหนึ่งเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎและอยู่บ้านจริงๆ" นพ.จเด็จกล่าว
    เลขาฯ สปสช.กล่าวว่า นอกจากการทำ Home Isolation ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคนก็อาจทำเป็นลักษณะ Community Isolation ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบ teleconference ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน ดังนั้นหลักการคือดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ให้มีระบบการดูแลติดตามอาการทุกวัน และมีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ 3 มื้อ 
    "ไม่ได้หมายความว่าถ้าตรวจพบเชื้อแล้วจะให้ไปอยู่บ้านทันที อาจจะเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลก่อน 7 วัน พอเชื้อในตัวหมดลง อาการดีขึ้นก็กลับไปดูแลตัวเองที่บ้านให้ครบ 14 วันก็ได้ และแนวทางนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำตลอดไป แต่เอามาใช้ในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มมีความตึงตัวเท่านั้น" เลขาฯ สปสช.กล่าว
ครม.ปรับค่าใช้จ่ายโควิด
    วันเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นการปรับปรุงรายละเอียดของฉบับก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดเป็นวงกว้าง รวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น และไม่ครอบคลุมถึงบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายบางรายการที่มีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19
    "สำหรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ปรับปรุงใหม่มีรายละเอียดที่สำคัญ ค่าห้องและค่าอาหารทั้งหอผู้ป่วยวิกฤติและห้องแยกโรควันละ 6,250 บาท, ค่าบริการพยาบาลทั่วไปไอซียูวันละ 7,400 บาท, ค่าบริการแพทย์ขณะส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลครั้งละ 2,000 บาท, ค่ารถยนต์รับส่งต่อผู้ป่วยจากบ้านหรือโรงแรมไป-กลับ ครั้งละ 875 บาท, ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดโรคชุดละ 13,750 บาท, ยา Remdesivir 100 mg inj. ให้เบิกจากกระทรวงสาธารณสุข” รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้ไปหารือกับนายพอลล์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดย สธ.ขอขยายพื้นที่เช่าศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองในฮอลกลางมาทำเป็นเตียงใน รพ.บุษราคัมเพิ่มอีก 2,000 เตียง รวมทำให้ รพ.บุษราคัมมี 4,000 เตียง ช่วยให้การบริหารเตียงมีความคล่องตัวมากขึ้น โดยการขยายนี้จะมีระยะเวลาไปจนถึงสิ้นเดือน ต.ค.
    "กรณี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังถูกโจมตีและล่าชื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์นั้น ได้โทรศัพท์ไปให้กำลังใจ ศ.นพ.ยง ซึ่ง ศ.นพ.ยงก็มีจิตใจเข้มแข็ง การทำหน้าที่ของคุณหมอจริงๆ ทำเพื่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภูมิคุ้มกัน หรือการตรวจหาเชื้อไวรัส ข้อมูลที่ให้ล้วนมีประโยชน์" นายอนุทินกล่าว
    จ.สมุทรปราการ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดยังพบรายใหม่ 647 ราย เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดผิดปกติ 
    จ.บุรีรัมย์ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 ราย ได้แก่ อ.ลำปลายมาศ 6 ราย อ.โนนสุวรรณ 3 ราย อ.นาโพธิ์ 2 ราย และ อ.เมือง 1 ราย รักษาตัวหายกลับบ้านแล้ว 222 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 57 ราย  และเสียชีวิตสะสม 3 ราย
    จ.ปัตตานี พบผู้ป่วยรายใหม่ 100 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เพศชายอายุ 55 ปี ชาว ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์แอฟริกา นอกจากนี้พบคลัสเตอร์ใหม่เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจำกัด มีพนักงานติดเชื้อกว่า 30 คน ทำให้พนักงานอีก 300 คนต้องกักตัวทันที 
    จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 182 ราย มาจากคลัสเตอร์กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ เช่น ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในโรงงาน สัมผัสผู้ป่วยในชุมชน สัมผัสผู้ติดเชื้อในร้านค้า ผู้สัมผัสเสี่ยงจากโรงเรียนสอนศาสนา จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา และผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อกลุ่มอื่นๆ. 

        


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"