การแบ่งชนชั้นวรรณะวัคซีนโควิด-19


เพิ่มเพื่อน    

 

วารสาร THE LANCET Infectious  Diseases เดือนกรกฎาคม ตีพิมพ์บทความ  Global COVID-19 vaccine inequity  (ความไม่เสมอภาคของโลกเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19)  สรุปสาระสำคัญได้ว่า
    • ความไม่เท่าเทียมในการกระจายวัคซีนดูลดลงจากก่อนหน้านี้ แต่ประเทศรายได้สูงก็ยังมีอัตราส่วนการฉีดวัคซีนให้ประชากรของตัวเองมากกว่าประเทศรายได้ต่ำถึง 69 เท่า
    • หากชาติร่ำรวยแบ่งวัคซีนออกไป 1 พันล้านโดส  พวกเขาก็ยังมีวัคซีนเพียงพอ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับฉีดให้ประชากรของพวกเขาทุกคนที่อายุเกิน 12 ปี
    • ปัจจุบัน 10 ประเทศฉีดวัคซีนคิดเป็น 77  เปอร์เซ็นต์ของโลก ตลาดนี้เป็นของประเทศร่ำรวย  สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ซื้อวัคซีนไปมากกว่าที่จำเป็นต้องใช้จำนวนมหาศาล
    ดร.มาร์กาเร็ต แฮร์ริส จากองค์การอนามัยโลก  กล่าวว่า “ประเทศเหล่านั้นมีวัคซีนเป็นทะเลสาบ โคแวกซ์ได้รับมาบางหยด หากประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ประเทศรายได้สูงก็ควรเปิดประตูทะเลสาบระบายวัคซีนออกมาบ้าง”
    ทั้งนี้ โคแวกซ์ควรได้รับวัคซีนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดสก่อนสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงวันที่ 17  มิถุนายน ได้รับมาแค่ 88 ล้านโดสเท่านั้น

*********************
    ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิจนถึงต้นฤดูร้อนของทวีปยุโรป ผมได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งท่องโลกอินเทอร์เน็ตไปกับเว็บไซต์ 2 ประเภทอย่างค่อนข่างหมกมุ่น คือเว็บไซต์สายการบิน และเว็บไซต์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวในยุโรป รวมถึงเว็บไซต์สถานทูตประเทศต่างๆ เพื่ออ่านประกาศกฎเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศ ถึงขั้นส่งอีเมลไปถามสถานทูตไทยในบางประเทศก็มี
    สายการบินจำนวนหนึ่งเสนอเงื่อนไขขายตั๋วแบบยืดหยุ่นการเดินทางชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน อนุญาตให้เปลี่ยนวันทางได้ไม่จำกัด เช่นเดียวกับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางและการคืนเงินโดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งขีดกรอบระยะเวลาการยืดหยุ่นนี้ไว้ถึงประมาณ 2 ปี
    จากนั้นผมก็มาดูประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 ไม่รุนแรง และอนุญาตให้คนไทยเดินทางเข้าไปได้ สัก 2 เดือนก่อนหน้านี้มีประเทศแอลเบเนียที่รับนักท่องเที่ยวทุกคนเข้าประเทศ และประเทศใกล้เคียงในคาบสมุทรบอลข่านอีกบางประเทศ เช่นเซอร์เบียที่เปิดให้นักท่องเที่ยวบินเข้าไปฉีดวัคซีนได้
    ปัญหาของคนไทยในการเดินทางในกลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลข่านก็คือ ต้องขอวีซ่าแยกย่อยทีละประเทศ และสถานทูตหรือตัวแทนออกวีซ่าของบางประเทศเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองไทย ทางแก้คือขอวีซ่าเข้ากลุ่มประเทศเชงเกนแบบดับเบิลเอ็นทรี หรือมัลติเพิลเอ็นทรี (เข้าออก 2  ครั้งหรือมากกว่า) เมื่อเข้าประเทศกลุ่มเชงเกนแล้วท่านก็สามารถเดินทางต่อไปยังชาติบอลข่านได้
    ทว่าประเทศกลุ่มเชงเกนที่มีพรมแดนติดกับชาติบอลข่าน ได้แก่ ฮังการี ไม่รับนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาคของโลก อิตาลีและออสเตรียที่มีพรมแดนติดกับสโลวีเนียตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงอยู่มากในเวลานั้น ผมจึงลองเปลี่ยนทิศทางไปยังยุโรปกลางหรือทางเหนือ พบว่ามีโปแลนด์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยและเปิดให้คนไทยเดินทางเข้าไปได้ หากฉีดวัคซีนครบแล้ว
    นอกจากโปแลนด์แล้วยังมีอีกหลายประเทศที่รับคนไทย เว็บไซต์ของ IATA “สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ” ตามลิงก์นี้ www.iatatravelcentre.com/world.php มีประโยชน์มาก ท่านสามารถจิ้มประเทศต่างๆ ในแผนที่โลก แล้วจะพบเงื่อนไขว่าใครสามารถเข้าประเทศนั้นๆ ได้บ้าง
    สำหรับประเทศในทวีปยุโรปน้อยคนจะทราบ โดยเฉพาะพวกที่ชอบดูถูกประเทศตัวเอง นอกจากพลเมืองของเขาและคนจากประเทศเสี่ยงต่ำในทวีปอื่นไม่กี่ประเทศแล้ว ก็มักจะมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย แม้ว่าตัวเลขการติดเชื้อของเราเริ่มสูงขึ้นก็ตาม ชาติในทวีปเอเชียนอกจากไทยก็จะมีญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน, สิงคโปร์  รวมอยู่ในลิสต์ยินดีต้อนรับของชาวยุโรป เวียดนามถึงจะมีผู้ติดเชื้อไม่มากก็มักไม่ติดอันดับกับเขา สิงคโปร์, ฮ่องกง,  มาเก๊า ติดบ้างไม่ติดบ้าง
    การที่ประเทศในยุโรปยังเห็นว่าไทยไม่อันตราย  (อย่างน้อยก็จนถึงตอนนี้) ถึงจะติดเชื้อหลักหลายพัน ก็เพราะเขาเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของเราที่ทำได้ดีในการระบาดรอบก่อนๆ เขาอาจมองว่าเรามีชายแดนติดกับหลายประเทศ มากด้วยช่องทางธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเกาะที่ควบคุมการติดเชื้อได้ง่ายกว่าอย่างนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง สถานการณ์ก็ยังไม่ถึงกับแย่  นอกจากนี้ไทยย่อมต้องมีเครดิตในอดีตจากหลายๆ ปัจจัยรวมกันด้วย
    ผมลองไล่ตัวเลขผู้ติดเชื้อทุกประเทศทั่วโลก โดยเทียบอัตราส่วนต่อประชากรจากเว็บไซต์ worldometers.info ไม่นับประเทศที่เป็นเกาะ ย้อนไปเกือบ 1 เดือนที่แล้ว ไทยทำได้ดีเป็นรองแค่จีนและเวียดนามเท่านั้น (ขออนุญาตไม่นับลาวและกัมพูชา) ซึ่งประเทศทั้งสองเป็นชาติคอมมิวนิสต์ที่คงจัดการ-ควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากรได้ง่ายกว่ามาก
    แต่กรณีการเข้าโปแลนด์ของผมก็ต้องสะดุด เพราะเมื่อตรวจสอบต่อไปก็พบว่าเขารับเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีนที่อนุมัติโดย European Medicines Agency (EMA) หรือ “องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป” เท่านั้น จนถึงตอนนี้มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และแอสตร้าเซนเนก้า ตัวผมมีกำหนดฉีดวัคซีนครบ 2 โดสในปลายเดือนมิถุนายน แต่เป็นวัคซีนซิโนแวคจึงหมดสิทธิ์  (ย้ำว่าคนไทยที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเดินทางไปต่างประเทศได้คล่องตัวมากครับในเวลานี้)
    วัคซีนที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกแล้วและกำลังอยู่ในการพิจารณาของ EMA มีอีก 4 ตัว  ได้แก่ เคียวแวกซ์, โนวาแวกซ์, สปุตนิก วี และซิโนแวค  ซึ่งดูเหมือนจะใช้เวลานานกว่าปกติและน่าสงสัยว่ากำลังถูกเลือกปฏิบัติหรือไม่
    มีเรื่องเล่าจากเพื่อนชาวเซิร์บของผม เขามีครอบครัวในสาธารณรัฐเช็กมานานสิบกว่าปี ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคเข็มแรกเมื่อต้นเดือนมิถุนายน แม่ของเขายังอยู่ในเซอร์เบีย ฉีดวัคซีนสปุตนิก วี เรียบร้อย 2 เข็มก่อนหน้าเขาเสียอีก ปกติเขามักจะขับรถจากเช็ก ผ่านสโลวาเกีย และฮังการี ลงใต้ไปรับแม่ที่บ้านชานกรุงเบลเกรด ประเทศเซอร์เบียเพื่อขึ้นไปอยู่กับหลานในสาธารณรัฐเช็ก แต่อียูไม่อนุญาต
    “ย้อนแย้งและน่าหงุดหงิด” เขาบอกผมอย่างนี้  เพราะในขณะที่ชาวฮังการีส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนสปุตนิก วี จนถึงตอนนี้เกือบ 10 ล้านโดส พอๆ กับจำนวนประชากรทั้งประเทศเกือบ 10 ล้านคน ฮังการีเป็นชาติในอียู เดินทางในอียูได้ แต่เขาพาแม่เข้าอียูไม่ได้ทั้งที่ฉีดวัคซีนตัวเดียวกับชาวฮังการี
    พูดถึงฮังการี หลายท่านคงเห็นจากการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป “ยูโร 2020” ที่กำลังโม่แข้งกันอยู่ในเวลานี้ ทางสนามปุสกัสอารีนาในกรุงบูดาเปสต์ หนึ่งในเจ้าภาพร่วม ได้อนุญาตให้แฟนบอล (ที่ฉีดวัคซีนแล้ว) เข้าสนามได้เต็มความจุ 100 เปอร์เซ็นต์  ในขณะที่เจ้าภาพชาติอื่นๆ อนุญาตเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ในรอบแรกของการแข่งขัน) เพราะยังกระจายวัคซีนได้ไม่ตามเป้าและผู้ติดเชื้อยังมากอยู่ ส่วนฮังการีมีตัวเลขติดเชื้อล่าสุด 37 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต
    ฮังการีจะทำไม่ได้เลยถ้ารอวัคซีนของยุโรปและอเมริกาที่มีปัญหาในการส่งมอบและกระจายอย่างล่าช้าในช่วงต้นปี ซึ่งถ้าไม่มีสปุตนิก วี ของรัสเซียแล้ว บรรยากาศการแข่งขันฟุตบอลที่แท้จริงจะไม่เกิดขึ้นในยูโรหนนี้ แต่สิ้นทัวร์นาเมนต์น่าจะมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งในฮังการีเองและอีก 10 ชาติเจ้าภาพร่วม โดยเฉพาะในอังกฤษที่ทะยานขึ้นสู่วันละเกือบ 3 หมื่นเรียบร้อยแล้ว
    วันที่ 1 มิถุนายน องค์การอนามัยโลกอนุมัติรับรองการใช้วัคซีนของซิโนแวค (รับรองซิโนฟาร์มก่อนหน้านั้นในวันที่ 7 พฤษภาคม) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู อนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกไม่จำเป็นต้องกักตัว ซึ่งก่อนหน้านี้สวิตเซอร์แลนด์ก็ไม่ได้ปฏิเสธชาวไทยอยู่แล้ว
    เป้าหมายของผมก็เปลี่ยนจากโปแลนด์เป็นสวิตเซอร์แลนด์ เมื่ออยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ระยะหนึ่งแล้วการเข้าเยอรมนีไปทางเขตแบล็กฟอเรสต์ เมืองไฟร์บวร์ก คงไม่ยากเย็นนัก แล้วจึงขึ้นเหนือไปยังสตุตการ์ต แฟรงก์เฟิร์ต  เบนทิศไปทางตะวันออกที่เมืองไลป์ซิก ต่อไปที่เมืองเดรสเดน เข้าสู่โปแลนด์ที่เมืองวรอตซวาฟ ลงใต้ไปที่กรากุฟ และบินกลับเมืองไทยจากวอร์ซอ
    อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้มีบางประเทศที่ไม่รังเกียจวัคซีนจากจีนและรัสเซีย ผมจึงเปลี่ยนแผนอีกครั้ง เพราะสวิตเซอร์แลนด์นั้นค่าครองชีพสูงเหลือเกิน การจะอยู่ให้ครบตามกำหนดที่จะสามารถเดินทางเข้าเยอรมนีได้น่ากลัวจะหมดเงินเสียก่อน หรืออดมื้อกินมื้อ ถึงกรุงวอร์ซอก็ผอมโซ
    ข้อมูลจาก schengenvisainfo.com ล่าสุดระบุมติจากหน่วยงานหลักของอียู ให้ชาติสมาชิกกำหนดใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด หรือ “กรีนพาส” สำหรับเดินทางข้ามแดนไปมาหากันได้อย่างเสรี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วและสำหรับนักท่องเที่ยวจากชาตินอกอียูที่ไม่ติดอยู่ในลิสต์เสี่ยงสูง โดยเจาะจงวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจาก EMA และให้ถือเป็นสิทธิของชาติสมาชิกว่าจะอนุญาตการเดินทางสำหรับผู้ที่รับวัคซีนมาครบ 2 โดส หรือเพียง 1 โดส
    จุดที่น่าสนใจคือ เอกสารจากคณะกรรมาธิการยุโรปที่ออกมาเมื่อกลางเดือนมิถุนายนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาติสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะพิจารณารับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนอื่นก็ได้
    ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่อ้าแขนรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติทั้งจาก EMA และองค์การอนามัยโลกตั้งแต่เดือนมีนาคม ล่าสุดมีกรีซและสโลวีเนียเพิ่มเข้ามา ส่วนฮังการีก็ได้เปิดกว้างแล้วสำหรับผู้ฉีดวัคซีนของรัสเซีย, จีน และบางวัคซีนจากอินเดีย อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกอียูส่วนใหญ่ยังคงยึดในแนวทางการแบ่งวัคซีนตามลักษณะภูมิรัฐศาสตร์โลก
    ในส่วนของวัคซีนที่ชื่อ “โควิชีลด์” จากสถาบันเซรุ่มของอินเดียยังเป็นปัญหาในตลาดอียูอย่างน่าขัน เพราะโควิชีลด์นี้แท้จริงก็คือ “แอสตร้าเซนเนก้า” เพียงแต่ใช้ชื่อต่างกันเพราะผลิตในอินเดีย จึงพลอยทำให้ชาวอินเดียที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า “เมดอินอินเดีย” ต้องถูกกีดกันจากอียู แม้ว่าจะได้รับอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกไปตั้งแต่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์แล้วก็ตาม
    ประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ได้รับวัคซีนโควิชีลด์จนถึงตอนนี้มากกว่า 90  เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนทั้งหมดในโครงการ
    ทูตพิเศษสหภาพแอฟริกัน “สไตรฟ์ มาสิยิวา”  กล่าวว่า “จนถึงตอนนี้ไม่มีวัคซีนแม้แต่โดสเดียวเดินทางออกมาจากโรงงานในยุโรปสู่แอฟริกา”
    ดร.มัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1  กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ชาวแอฟริกันยังจะถูกขัดขวางในเรื่องการเดินทางอีกหรือ ขนาดวัคซีนจะฉีดเราก็ยังไม่มี ไม่ว่ายี่ห้ออะไร”
    วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา โครงการโคแวกซ์ได้ออกแถลงการณ์ชื่อ “ความเสมอภาคในการรับรองวัคซีน”  ดังนี้
    โคแวกซ์ (หนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนการเข้าถึงวัคซีนโควิด ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก, คณะกรรมาธิการยุโรป และรัฐบาลฝรั่งเศส) ตั้งขึ้นเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างยุติธรรมและเท่าเทียมสำหรับประชากรโลก เพื่อการป้องกันชีวิต การดำเนินชีวิต รวมถึงความสามารถในการเดินทางและการทำธุรกิจ
    เนื่องจากการเดินทางและกิจกรรมต่างๆ เริ่มเปิดในบางส่วนของโลก โคแวกซ์สนับสนุนให้ทุกภูมิภาค ทุกประเทศ และทุกรัฐบาลท้องถิ่นรับรองผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว โดยเป็นวัคซีนที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากองค์การอนามัยโลก และ/หรือจากหน่วยงานของ 11 ประเทศที่มีระบบการควบคุมดูแลที่เข้มแข็ง  (SRAs – ได้แก่ ออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา,  EMA, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา) ให้ผู้ได้รับวัคซีนเหล่านั้นสามารถเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้
    มาตรการใดๆ ที่เจาะจงสำหรับผู้ที่ได้รับเฉพาะบางวัคซีนให้ได้รับประโยชน์จากการเปิดการท่องเที่ยวใหม่นี้  ถือเป็นการสร้างระบบ 2 มาตรฐานขึ้นมา อันจะนำไปสู่การแบ่งแยกวัคซีนในระดับโลกและทำลายความยุติธรรมไปอีกขึ้น ซึ่งก่อนนี้เราก็ได้เห็นกันมาแล้วกรณีการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่เป็นธรรม ในที่สุดก็จะเกิดผลกระทบทางลบต่อสภาวะเศรษฐกิจซึ่งกำลังสร้างความทุกข์ให้คนทั้งโลก
    “ในขณะเวลาที่โลกกำลังจะกลับมาค้าขาย ทำธุรกิจ และเดินทางท่องเที่ยว มาตรการพวกนี้จึงเป็นสิ่งตรงกันข้ามทั้งต่อเจตนารมณ์และผลลัพธ์” แถลงการณ์ของโคแวกซ์ระบุ และได้ขอให้ชาติต่างๆ รับผู้เดินทางที่้ฉีดวัคซีนทุกยี่ห้อที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลกและ 11 ชาติ SRAs โดยเรียกร้องให้ทุกประเทศและภูมิภาคปฏิบัติดุจเดียวกัน
    กลับมาที่แผนการของผมอีกครั้ง วัคซีนซิโนแวคที่มีคิวฉีดครบในปลายเดือนมิถุนายนดูจะเป็นอุปสรรคน้อยลงไปบ้าง ผมเริ่มหาเที่ยวบินจากยุโรปมาลงภูเก็ตเพราะไม่ต้องการกักตัวในโรงแรม 14 วันตามปกติที่ใช้กับผู้โดยสารที่บินเข้ากรุงเทพฯ
    ก่อนหน้านี้ โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”  กำหนดให้ท่องเที่ยวในภูเก็ตอย่างต่ำ 7 วันก่อนออกจากพื้นที่ได้ การอยู่ภูเก็ต 7 วันถือว่ากำลังดี ไม่มีอะไรเสียหาย ผมเองไม่ได้เที่ยวภูเก็ตมานานหลายปีแล้วด้วย
    แต่พอถึงประมาณวันที่ 10 มิถุนายน ทราบว่ามีการเพิ่มระยะเวลาพำนักในภูเก็ตเป็น 14 วัน ผมก็ปิดเว็บไซต์สายการบินทันที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"