พบสารพิษ1.6พันตัน หวั่นโรงงานบึ้มซ้ำ!


เพิ่มเพื่อน    

  ในหลวงทรงรับศพนักผจญเพลิงเหตุไฟไหม้โรงงานย่านกิ่งแก้วไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์  พระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ผวจ.สมุทรปราการประกาศให้ 4 ตำบล 30 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เดือดร้อน 8 หมื่นราย ผู้อพยพ 2,000 คน กระจายใน 9 ศูนย์รองรับ กรอ.หวั่นบึ้มอีกรอบเหตุพบสารเคมีตกค้างอื้อ คพ.ห่วงมลพิษในรัศมี 1 กม.บางจุดเกินมาตรฐาน ตั้งหน่วยตรวจวัดแจ้งเตือน ชาวบ้านทยอยเข้าแจ้งความตำรวจต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่เร่งประเมินความเสียหาย  ด้านบริษัทแถลงเสียใจพร้อมชดใช้ค่าเสียหาย

    กรณีเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล โรงงานผลิตโฟมและพลาสติก ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมาก ใช้เวลาในการควบคุมเพลิงนานกว่า 33 ชั่วโมง นับตั้งแต่ช่วงเวลา 03.00 น.ของวันที่ 5 ก.ค. ล่วงเลยมาจนถึงช่วงเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 6 ก.ค.จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ซึ่งทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับมีการอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมี 5  กิโลเมตรไปยังศูนย์รองรับผู้อพยพ ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก  
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ให้การช่วยเหลือจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับศพผู้เสียชีวิต คือ นายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครดับเพลิง ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์  และพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ พร้อมกับสงเคราะห์งานศพผู้เสียชีวิต พระราชทานถุงยังชีพพระราชทานในเบื้องต้นเป็นการเร่งด่วน
     ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต ผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ 904 เชิญพวงมาลาหลวง และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ไปวางหน้าหีบศพนายกรสิทธิ์ ลาวพันธ์ อาสาสมัครดับเพลิง ณ วัดทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร การได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ ยังความปลื้มปีติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างหาที่สุดมิได้
    สำหรับความคืบหน้าเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้  ย่านกิ่งแก้วครั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  (ปภ.) รายงานว่า ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ณ มูลนิธิร่วมกตัญญู สมุทรปราการ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ มูลนิธิและจิตอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงาน ณ วันที่ 5 ก.ค. รวม 751 คน ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 100 หลัง ผู้บาดเจ็บ 40  ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย ขณะนี้เพลิงสงบแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเฝ้าระวังการปะทุของไฟอย่างต่อเนื่อง
ที่จังหวัดสมุทรปราการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือชีวิตความเป็นอยู่ โดยจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพจำนวน 9 แห่ง มีผู้อพยพ 1,992 คน ปภ.สนับสนุนรถประกอบอาหารและรถผลิตน้ำดื่ม ณ จุดอพยพ อบต.บางพลีใหญ่ ขณะที่จุดอพยพแห่งอื่นๆ ได้รับการสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม และชุดเครื่องนอนจากอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เหล่ากาชาด  มูลนิธิฯ ภาคเอกชน และประชาชน
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า ความเสียหายพื้นที่โรงงานและบริเวณรอบข้างขยายเป็นวงกว้าง บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก มีพื้นที่ประสบสาธารณภัย 4 ตำบล 30 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.ราชาเทวะ หมู่ที่ 1-15 จำนวน 22,563 ครัวเรือน  ประชากร 34,736 คน, ต.บางพลีใหญ่ หมู่ที่ 13-17  จำนวน 7 หมู่บ้าน 12,363 ครัวเรือน ประชากร  18,490 คน, ต.บางแก้ว หมู่ที่ 6, 7, 8, 10, 13,  14 จำนวน 17,188 ครัวเรือน 23,277 คน และ  ต.บางโฉลง หมู่ที่ 4-5 จำนวน 4,177 ครัวเรือน ประชากร 4,413 คน ขณะนี้ภัยยังไม่สิ้นสุด มีราษฎรที่ประสบภัยโดยรวม 80,916 คน บาดเจ็บ 33 คน เสียชีวิต 1 คน นอกจากนี้ยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ต้องติดตามสถานการณ์ภายใน 1-2  วันอาจจะกลับเข้าบ้านได้
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า  คพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และสารอันตรายในพื้นที่ที่เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ภายในโรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกและพื้นที่รอบนอก โดยในรัศมี 1  กิโลเมตรแรกจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งสารเคมีที่ต้องระวังคือ "โซลเวนต์" ที่ติดไฟได้ง่าย และ "สารสไตรีนโมโนเมอร์" ที่ใช้เป็นองค์ประกอบทำเม็ดพลาสติก เมื่อเกิดเพลิงลุกไหม้จะปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จากการตรวจคุณภาพอากาศในพื้นที่พบว่ากลับสู่สภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตามพื้นที่ในรัศมี 2 กิโลเมตรแรก สารอันตรายยังมีการกระจายตัว และยังมีการสวิงของค่าสารอันตราย ซึ่งพบว่าบางพื้นที่สูงบางพื้นที่ต่ำ ดังนั้นต้องขอควบคุมพื้นที่ไปก่อน โดยกำลังพิจารณาเรื่องลดพื้นที่เพื่อให้ประชาชนกลับมายังที่อยู่อาศัยได้ และ คพ.จะต้องเฝ้าติดตามด้านมลพิษอย่างต่อเนื่อง 3 วัน ขณะนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หากมีกรณีฝนตกลงมาอาจจะชะสารเคมีลงใต้ดิน  แหล่งน้ำ หรือท่อระบายน้ำ ซึ่งจะยากต่อการควบคุม และอาจต้องเข้าไปบำบัดเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
“ขณะนี้ คพ.ดำเนินการติดตั้งหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่เพิ่มเติมที่โรงเรียนกิ่งแก้ว พร้อมทั้งนำเครื่องตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 แบบอัตโนมัติสำหรับตรวจวัดภายนอกอาคารไปติดตั้งเพิ่มเติมตามชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีความเสี่ยง 2 ถึง 3 จุด เพื่อติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองและผลกระทบที่ชุมชนจะได้รับจากเหตุเพลิงไหม้ตลอด 3 วันนี้" นายอรรถพลกล่าว
พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค  1 กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของบ้านเรือนประชาชนที่อพยพไปพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพ เรามีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลในพื้นที่รัศมี 5  กิโลเมตร ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้ดูแลอย่างดี คืนวันที่ 5 ก.ค.มีการระดมสายตรวจ ระดมรถตรวจ ยังไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่เราทำเต็มที่เพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้วได้อุ่นใจ จะทำจนกว่าศูนย์บังคับบัญชาของจังหวัดจะสั่งการให้อพยพคนกลับเข้ามาอยู่ที่บ้านได้ โดยให้เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมรถตู้เอาไว้คอยให้บริการ และจะได้ตรวจสอบกันต่อไปว่าใครได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้มีผู้เสียหายเดินทางเข้ามาร้องทุกข์ในเรื่องความเสียหายหรือบาดเจ็บประมาณ 177  รายแล้ว ได้มีการสอบปากคำไปแล้ว 173 ราย ซึ่งความเสียหายก็กำลังประเมินอยู่ รวมถึงมีการสอบปากคำผู้จัดการโรงงานที่เกิดเหตุแล้ว เราได้ข้อมูลจากผู้จัดการว่ามีสารเคมีอยู่ประมาณ 16,000 ลิตรขณะเกิดเหตุ ส่วนในเรื่องอื่นต้องรอการสอบสวนอีกครั้ง
นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดทำแผนป้องกันเหตุ ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่เบื้องต้นพบว่า เครื่องจักรของโรงงานเสียหายทั้งหมด และมีสารเคมีตกค้างอยู่ประมาณ 4-5 ถัง ที่คาดว่าน่าจะเป็นสารเบนซีน โดยสารเคมีดังกล่าวจะต้องส่งไปทำลายทั้งหมดโดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ขณะที่ซากปรักหักพังทั้งในส่วนของโครงสร้างอาคาร เหล็ก อิฐปูนต่างๆ โรงงานต้องดำเนินการแจ้งมายัง กรอ.เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในเรื่องของการจัดการกากอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าอาจมีการปนเปื้อนด้วยเช่นกัน
“ในส่วนของสารตกค้างที่ยังอยู่ในพื้นที่สังเกตได้จากความร้อนใต้พื้นดินที่รู้สึกได้ แปลว่ายังมีโอกาสที่จะปะทุได้อีก ดังนั้นตอนนี้ยังต้องให้มีการฉีดน้ำเลี้ยงไปยังถังที่ยังหลงเหลือเพื่อเลี้ยงอุณหภูมิไว้ ขณะเดียวกันโรงงานกำลังดำเนินการนำสารเคมีบางชนิดมาจับเพื่อให้สามารถขนย้ายได้ง่ายและนำไปกำจัด โดย กรอ.ได้สั่งการให้โรงงานขนออกไปกำจัดอย่างถูกวิธี ทั้งนี้สารที่เหลืออยู่ตอนนี้มีสไตรีน น่าจะมีประมาณ 1,600 ตัน” นายวีระกิตติ์กล่าว
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ระเบิดและไฟไหม้บริเวณโกดังเก็บสารเคมีภายในโรงงาน จ.สมุทรปราการถือเป็นบทเรียน โรงงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาตั้งห่างไกลชุมชน แต่ด้วยความเจริญก็เริ่มมีที่พักที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานมากขึ้น ต้องกลับมาดูเรื่องผังเมือง การขีดเส้นพื้นที่ผังเมือง สิ่งแวดล้อม แม้จะพยายามผลักดันให้ทุกโรงงานยกระดับมาตรฐาน Green  Factory แล้วก็ตาม รัฐจะทำอย่างไรให้โรงงานทุกขนาดเข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานของนิคมอุตสาหกรรมได้ ห้ามสร้างที่พักที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้เคียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน เวลา 17.00 น. เพลิงไหม้ปะทุขึ้นอีกครั้งที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จ.สมุทรปราการ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครกู้ภัยต้องเร่งระดมฉีดโฟมระงับเหตุ ซึ่งสถานการณ์ภัยพิบัติสารเคมียังถือว่าไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ต้องเฝ้าระวังเหตุไฟไหม้ซึ่งมีโอกาสปะทุซ้ำตลอดเวลา.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"