แก๊งสมคบคิดช่วย"คดีบอส”ผวา ป.ป.ช.ตั้งแท่นสอบ-"สุภา"นำทีม


เพิ่มเพื่อน    

มีความเคลื่อนไหวในการสอบสวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและฝ่ายการเมือง กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่เป็นข่าวคึกโครมเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา หลังก่อนหน้านี้เมื่อช่วงกรกฎาคมปีที่แล้วพอเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น จนกลายเป็นกระแส

                "คุกมีไว้ขังคนจน-เงินซื้อสำนวนคดีได้"

                ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 225/2563 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยมี วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน และต่อมามีการส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรี เมื่อ 31 สิงหาคม 2563 จนต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการตั้งกรรมการสอบสวนภายในผู้เกี่ยวข้อง แต่บางส่วนก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการสอบสวนภายในของฝ่ายอัยการ

                เพราะจากเดิม ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เมื่อ ต.ค.2563 มีการตั้งกรรมการสอบสวนชั้นต้น นายเนตร นาคสุข อัยการอาวุโสสำนักงานคดีอาญาพระโขนง อดีตรองอัยการสูงสุด ที่กลับคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว

                อย่างไรก็ตาม การดำเนินการไม่คืบหน้าเท่าที่ควร และยังเจอปัญหา เช่น ไพรัช วรปาณิ อดีต ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ขอถอนตัวจากประธานกรรมการสอบสวน ทำให้มีการตั้งคนใหม่ คือ ประสาน หัตถกรรม อดีตรองอัยการสูงสุด เป็นประธานการสอบสวนแทน และต่อมาที่ประชุม ก.อ.มีการตั้ง กายสิทธิ์ พิศวงปราการ ก.อ.ผู้ทรงคุณวุฒิ-อดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นใหม่ เป็นคนที่สาม เนื่องจากนายประสานพ้นจากการเป็น ก.อ. ทำให้ต้องนับหนึ่งใหม่ จนเมื่อเร็วๆ นี้ พชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการคนใหม่ล่าสุด ออกมาระบุว่า ต้องการให้การสอบสวนเรื่องดังกล่าวเสร็จภายในเดือน ก.ค. 

                เรียกได้ว่าแค่การสอบสวนเบื้องต้น ฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุดก็ใช้เวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 มาจนถึงตอนนี้ ก.ค.2564 กินเวลาไปร่วม 9 เดือนแล้ว การตรวจสอบก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา ทั้งที่เป็นแค่การสอบสวนเบื้องต้น

 ท่ามกลางข้อสงสัยของสังคมว่า งานนี้จะมีการดึงเรื่องอะไรกันหรือไม่ ในสำนักงานอัยการสูงสุด?

                อย่างไรก็ตาม ล่าสุดการตรวจสอบจากฝ่ายองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีความคืบหน้าออกมา เมื่อปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติตั้งองค์คณะไต่สวน โดยให้เป็นการสอบสวนโดย ป.ป.ช.รวม 8 คน จากที่มีอยู่ 9 คนร่วมเป็นองค์คณะ เพื่อไต่สวนว่าการสังไม่ฟ้อง วรยุทธ อยู่วิทยา เป็นการสั่งโดยมิชอบหรือไม่ โดยกรรมการ ป.ป.ช.หนึ่งคนได้ขอถอนตัวคือ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข เนื่องจากเคยเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยที่ กมธ.ของ สนช.เคยพิจารณาเรื่องดังกล่าว ทำให้ขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะฯ ของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ดี แม้การไต่สวนจะใช้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่เป็นองค์คณะ แต่คนที่คุมสำนวนทั้งหมดคือ สุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ ในฐานะ ป.ป.ช.เจ้าของสำนวน

                พบว่า การไต่สวนครั้งนี้มีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 15 ราย โดยมีข่าวว่า คนที่ถูกกล่าวหา มีตำรวจยศ พล.ต.อ. 2 คน พล.ต.ท. 2 คน พ.ต.อ. 2 คน พ.ต.ท. 2 คน พล.อ.ท. 2 คน อัยการ 2 คน ทนายความ 1 คน นักการเมือง 2 คน 

                ด้าน วิชา มหาคุณ-อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน-และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่า มติดังกล่าวของ ป.ป.ช.ที่ให้ ป.ป.ช.ทุกคนเป็นองค์คณะ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะในตอนที่ตนเป็นประธานกรรมการสอบเรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบเรื่องทั้งหมดโดยละเอียด มีเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมแล้วหลายพันหน้า โดยมีการส่งไปให้สำนักงาน ป.ป.ช.ด้วย พร้อมกับมีการตั้งข้อสงสัยไว้ในการตรวจสอบด้วยว่า ใครมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าน่าจะมีส่วนร่วมบ้าง         

                วิชา-อดีต ป.ป.ช. มองว่า การไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นลักษณะการไต่สวนการใช้อำนาจรัฐว่าใครบกพร่องอะไรหรือไม่ ใครประพฤติมิชอบ โดย ป.ป.ช.คงเห็นว่าเป็นคดีใหญ่ คนเกี่ยวข้องจำนวนมาก มีทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตำรวจ อัยการ จึงให้ ป.ป.ช.ทุกคนมาร่วมเป็นองค์คณะไต่สวนเต็มคณะ เพราะเห็นแล้วเรื่องใหญ่ขนาดนี้ หากจะตั้งอนุกรรมการไต่สวนปกติคงไม่ได้

                "สำหรับคนที่คุมสำนวนทั้งคุณสุภา และ พล.อ.บุณยวัจน์ ผมเชื่อมืออยู่แล้ว ส่วนใครจะผิดหรือไม่ผิด ก็อยู่ที่พยานหลักฐานต่างๆ ส่วนหน่วยงานที่คิดจะช่วยเหลือพรรคพวกกัน ผมเคยเตือนแล้วว่า โปรดระวัง สำนวนนี้ไม่ได้อยู่แค่หน่วยงานของคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่ที่ ป.ป.ช.ด้วย หาก ป.ป.ช.ที่สอบในเรื่องความผิดทางอาญา ถ้าสอบแล้วพบว่า บางหน่วยงานไม่ดำเนินการกับคนที่สมควรโดนสอบสวน เพราะอาจทำผิดทางวินัยหรือทำผิดจริยธรรม ที่ใช้อำนาจหน้าที่จนทำให้บ้านเมือง แผ่นดินเสียหาย หากหน่วยงานไหนไม่ทำ ก็เท่ากับละเว้นปฏิบัติหน้าที่ก็จะโดนมาตรา 157 ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนจะถูก ป.ป.ช.เอาผิดได้ หากไม่ดำเนินการ เพราะหาก ป.ป.ช.พบแล้วไม่ไปเอาผิด ป.ป.ช.จะโดนเอาผิดเองด้วยหนักสองเท่าเลย"

            ผลสรุปการไต่สวนของ ป.ป.ช.ในคดีนี้จะออกมาอย่างไร ก็ต้องรอติดตาม ส่วนการสอบสวนทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ-สำนักงานอัยการสูงสุด ประชาชน ต้องร่วมติดตามกันให้ดี เพื่อไม่ให้งานนี้มีการช่วยเหลือ อุ้มให้พ้นผิด.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"