ศบค.ส่อล็อกดาวน์! รอประเมินติดเชื้อยังหนักต้องคุมเข้มเหมือนเม.ย.63


เพิ่มเพื่อน    

ศบค.แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มอีก 5,420 ราย เสียชีวิต 57 ราย กทม.และปริมณฑลยังครองแชมป์ป่วยใหม่สูงสุด คลัสเตอร์ใหม่ๆ โผล่พรึ่บ หมอทวีศิลป์เผยอีโอซี สธ.รายงานสายพันธุ์อินเดียขยายตัวเกิน 2 เท่าในเมืองกรุง “หมออุดม” ชี้ต้องถือเป็นโควิด-19 ระลอก 4 แล้ว รับหากตัวเลขติดเชื้อรายวันยังพุ่งสูงระบบสาธารณสุขไทยจะรับไม่ไหว ตอนนี้  “หมอ-พยาบาล” สูญเสียขวัญกำลังใจ  ต้องเอาบุคลากรอื่นมาฝึกช่วย แย้มอาจต้องล็อกดาวน์เหมือนช่วงสงกรานต์ปีที่แล้วหากเซมิล็อกดาวน์ไร้ผล
    เมื่อวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,420 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,375 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,070 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,305 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 37 ราย รวมทั้งผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 294,653 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 3,586 ราย หายป่วยสะสม 227,023 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 65,297 ราย อาการหนัก 2,350 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 643 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 57 ราย เป็นชาย 35 ราย หญิง 22 ราย อยู่ใน กทม. 33 ราย, สมุทรปราการ 4 ราย, นครปฐม, ระยอง, ปทุมธานี, ชลบุรี, สงขลา และสระบุรี จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, สมุทรสงคราม, นราธิวาส, ปัตตานี, สกลนคร และนครพนม จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,333 ราย 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,492 ราย, สมุทรสาคร 398 ราย, สมุทรปราการ 318 ราย, ชลบุรี 266 ราย, ปัตตานี 262 ราย, นนทบุรี 242 ราย, ปทุมธานี 208 ราย, นครปฐม 206 ราย, ยะลา 135 ราย และสงขลา 132 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานผ้าอ้อม อ.เมืองสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย, จ.ชลบุรี ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.บางละมุง 12 ราย, จ.นนทบุรี ที่ชุมชนหลังเมเจอร์ฯ อ.ปากเกร็ด 44 ราย, จ.ปทุมธานี ที่โรงงานอลูมิเนียม อ.ธัญบุรี 19 ราย, ที่โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อ.ลาดหลุมแก้ว 15 ราย และ จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด 61 ราย ส่วนพื้นที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 116 แห่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ที่สถานพยาบาลแห่งหนึ่งในเขตราชเทวี   
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือถึงสายพันธุ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในไทยตอนนี้ พบว่ามีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายอัลฟาจากอังกฤษ, สายพันธุ์เดลตาจากอินเดีย และสายพันธุ์เบตาจากแอฟริกา โดยสายพันธุ์เดลตาพบในแคมป์คนงานหลักสี่ หลังจากนั้นแรงงานได้กระจายกลับบ้านในภาคเหนือและอีสาน ส่วนสายพันธุ์เบตากระจุกตัวอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มขึ้นไปที่ จ.สุราษฎร์ธานีและชลบุรี ซึ่งยังอยู่ในการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 
เดลตาแพร่กระจายเท่าตัว
“หากดูในภาพรวมของประเทศ ข้อมูลจนถึงวันที่ 2 ก.ค. พบว่าขณะนี้สายอัลฟามีการแพร่ไปถึง 65.1% สายพันธุ์เดลตา 32.2% สายพันธุ์เบตา 2.6% แต่หากดูเฉพาะในพื้นที่ กทม.พบสายพันธุ์อัลฟา 47% พบสายพันธุ์เดลตา 52% ถือว่าสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน กทม. เพราะเมื่อช่วงเดือน เม.ย.-20 มิ.ย. มีเพียง 22.5% เท่านั้น แต่ช่วง 28 มิ.ย.-2 ก.ค. กลับสูงขึ้นไปถึง 52% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก จึงขอให้ระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้เข้มข้นขึ้น เพราะทฤษฎีแพร่ระบาดที่ว่าอย่าอยู่ในห้องแอร์ร่วมกันเกิน 15 นาทีเป็นของปีที่แล้ว เมื่อไวรัสปรับตัวเอง เราก็ต้องปรับตัว ข้อแนะนำให้ใส่หน้ากากสองชั้นจึงเป็นเรื่องจริง” นพ.ทวีศิลป์ระบุ  
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า หากไปดูอาการของผู้ติดเชื้อจะพบว่า ผู้ติดเชื้อกลุ่มอาการน้อยมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ตามด้วยกลุ่มสีเหลืองที่ตัวเลขยังพุ่งขึ้นมา แต่ที่ยังโชคดีคือผู้ป่วยกลุ่มสีแดง แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ไต่ระดับไปอย่างช้าๆ ไม่เหมือนสีเขียว ซึ่งความสามารถทางการแพทย์ของเราจำเป็นต้องช่วยทุกคน สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ การใส่เครื่องช่วยหายใจโดยเร็ว จะเห็นว่าใน กทม.มีจำนวนใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น เพราะเป็นแนวทางการช่วยชีวิต ดังนั้นความต้องการเตียง ความต้องการเครื่องช่วยหายใจที่เรามีสะสมก่อนหน้านี้ก็ได้นำมาใช้ในช่วงนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่เพียงพอกับการติดเชื้อที่มีมากขึ้น อยากเรียนประชาชนว่าเราไม่อยากเห็นภาพนี้กับครอบครัวของเรา ก่อนหน้านี้อาจเห็นภาพผู้ใส่ท่อช่วยหายใจกลับมาปกติกันบ้าง แต่ว่าไม่แน่ใจแล้ว เพราะ ณ ตอนนี้เป็นสายพันธุ์ใหม่ คงต้องติดตามดูตรงนี้ด้วย เนื่องจากตัวเลขผู้เสียชีวิตยังมีให้เห็นอยู่ทุกวัน โดยเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนของการติดเชื้อ ตัวเลขสองวันหมื่นรายเช่นนี้ก็ต้องมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นแน่นอน   
    วันเดียวกัน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษา ศบค.แถลงข่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมากแพร่กระจายถึง 96 ประเทศ ส่วนสถานการณ์ในไทยเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลตา ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมาก ถ้านับเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ
    ศ.นพ.อุดมกล่าวอีกว่า สายพันธุ์เดลตามีความสามารถคือ 1.ระบาดเร็ว โดยสายพันธุ์อัลฟาระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม (อู่ฮั่น) 60-70% แต่เดลตาระบาดเร็วกว่าอัลฟาอีก 40% จึงเป็นเหตุผลที่เราคาดการณ์ว่า 1-2 เดือน ประเทศไทยและทั่วโลก ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นเดลตา และ 2.ภาพรวมของเดลตาไม่ได้รุนแรงกว่าอัลฟา แต่มีลักษณะพิเศษคือทำให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะต้องการออกซิเจน หรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติเร็วขึ้น เกิดปอดอักเสบเร็วขึ้น ซึ่งสำหรับอัลฟาใช้เวลา 7-10 วัน หลังติดเชื้อถึงพบอาการปอดอักเสบต้องใช้ออกซิเจน 
สาธารณสุขเริ่มรับไม่ไหว
    “เมื่อเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อมากก็มีความต้องการเตียงป่วยหนัก เตียงไอซียู ห้องความดันลบเพิ่มขึ้นด้วย จึงเห็นว่าตอนนี้เตียงเราตึงมาก โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดง ดังนั้นหากเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องย้ำ หากไม่เจ็บป่วยรุนแรง การนอนเตียงที่กำลังตึงในตอนนี้ทั้งกลุ่มสีเขียว เหลืองและแดง และช่วยผ่อนภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังหนักมาก ทุกโรงพยาบาลใน กทม.และต่างจังหวัดหนักมากจริงๆ เช่นเตียงผู้ป่วยหนักสีแดง ในภาวะปกติเฉพาะใน กทม. ที่เป็น รพ.ใหญ่ทั้งหมด มีประมาณ 230 เตียง แต่ตอนนี้เรามีเพิ่มเท่าตัวเป็นกว่า 400 เตียง แต่คนเท่าเดิม หมอ พยาบาลเท่าเดิม เราต้องเอาบุคลากรจากแผนกอื่นมาฝึกสอนเพื่อมาอยู่ดูแลผู้ป่วย ตอนนี้ไม่ไหวจริงๆ ไม่มีขวัญกำลังใจ ที่เราเห็นตัวเลขตายวันละ 50-60 ราย ติดเชื้อใหม่วันละ 5-6 พันราย เดือนหนึ่ง 1.5-2 แสนราย แล้วมันจะไหวหรือไม่ เราต้องช่วย อย่างน้อยวัคซีนป้องกันให้เราไม่ต้องเจ็บป่วยเข้า รพ. ป้องกันไม่ให้เป็นผู้ป่วยหนัก ซึ่งคุ้มค่ามหาศาลสำหรับตัวท่านเอง และเพื่อป้องกันระบบสาธารณสุข”
    ศ.นพ.อุดมกล่าวว่า หากเราดูด้านที่เลวร้ายที่สุดของโรคโควิด-19 คือ ติดเชื้อแล้วเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลพบว่าคนในโลกนี้อัตรา 50 คนจะมีคนติดเชื้อ 1 คน และมีอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 2.1% ดังนั้นหากมีการติดเชื้อ 50 คนจะมีคนเสียชีวิต 1 คน เป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่สำหรับด้านดีที่สุดคือหากไม่ติดเชื้อ ก็ต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเฉลี่ยป้องกันได้ 60-70% เราจึงต้องช่วยป้องกันส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงเข้าที่แออัด เป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ 20% เป็นการติดเชื้อจากครอบครัว อีก 40% เป็นการติดเชื้อในองค์กร มาตรการบุคคลและองค์กรจึงสำคัญมาก
    เมื่อถามว่า ตอนนี้เข้าสู่ระลอก 4 หรือไม่ ศ.นพ.อุดมกล่าวว่า เรื่องนี้ยังเห็นแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ส่วนตัวถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม ส่วนคุณสมบัติสำคัญที่บอกเป็นเวฟ 4 คือ การแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว และองค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่ ตัวเลขขึ้น 5-6 พันราย ถือเป็นเวฟ 4 แล้ว ส่วนจะจบเมื่อไร เรายกระดับมาตรการแล้ว แต่ยังไม่สูงสุด
    "ขณะนี้เป็นแค่เซมิล็อกดาวน์กว่าจะเห็นผล 14 วัน ตามเวลาฟักตัวของไวรัส ต้องหลัง 14 วันไปก่อนถึงจะเริ่มเห็นผล ซึ่งจะครบช่วงวันที่ 11-12 ก.ค. และจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าจะไม่ให้มากเกินกำลังบุคลากรสาธารณสุข ทั้งเตียง ยา ต่างๆ เราต้องการเห็นตัวเลขไม่เกิน 500-1,000 วัน เราสู้ไหว ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าสู้ไม่ไหวต้องช่วยกัน คือเพิ่มมาตรการด้านสาธารณสุข มาตรการส่วนบุคคล และมาตรการสังคมมากกว่านี้ และเร่งฉีดวัคซีน 2 เข็มให้มากที่สุดเกิน 70% ของประชากรให้ได้ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญ" ศ.นพ.อุดมระบุ
    เมื่อถามว่า มาตรการที่ใช้อยู่พอเพียงหรือไม่ ต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม นพ.อุดมกล่าวว่ายังบอกไม่ได้ แต่จะประเมินในช่วง 15 วัน และ 30 วัน เชื่อว่าการติดเชื้ออาจลงบ้าง แต่อาจยังอยู่ในระดับ 3-4 พันคน ก็ยังเกินที่จะรับไหว สิ่งสำคัญคือต้องลดการเคลื่อนย้ายของคน เพราะเชื้อโรคไปเองไม่ได้ ต้องไปกับคน คนพาไป ถึงไม่อยากให้เคลื่อนย้าย ให้อยู่กับบ้าน ต้อง Work From Home 75% ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ถึง 50% เลย ต้องไม่ไปตลาด ศูนย์การค้า แต่คนยังไปกันเยอะมาก ยังออกต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องช่วยกัน ไม่นำเชื้อไปแพร่คนอื่น ถ้ายังทำไม่ได้คิดว่าต้องยกระดับมาตรการ ต้องล็อกดาวน์เหมือน เม.ย.2563 ที่ระบาดไม่กี่ร้อยคนทำแล้วคุมอยู่
    “ตอนนี้ต้องบอกว่าช้าไปหน่อยแล้ว เราให้เวลา 2-3 เดือนยังคุมไม่ได้ ตอนนี้ขึ้นกับความร่วมมือของประชาชนที่ต้องช่วยกันปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ยกระดับสูงสุด ต้องคิดว่าคนที่ไปเจอ ทั้งคนในครอบครัวที่บ้าน ซึ่งบางส่วนออกไปทำงาน เสมือนเป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและอาจติดได้ และเราอาจไปแพร่เชื้อต่อ ต้องเข้มมาตรการส่วนบุคคล องค์กร และมาตรการสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเดินทางและใช้ Work From Home ตัวเลขถึงจะควบคุมได้” ศ.นพ.อุดมระบุ
แรงงานเคลื่อนย้ายพ่นพิษ
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 318 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 192 ราย
    ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ นพ.จตุชัย​ มณีรัตน์​ นายแพทย์​สาธารณสุข​จังหวัด​เชียงใหม่ ​กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อ​ใหม่อีก​ 26​ คน ซึ่งตรวจสอบไทม์ไลน์​เบื้องต้นล้วนมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง​สุด เช่น​ กรุงเทพ​ฯ และปริมณฑล​ ทำให้มียอดสะสม​ 4,235 คน​ รักษาตัวอยู่​ 96​ ราย​ อาการ​เล็กน้อย​ 55 ​ราย​ และตายสะสมเท่าเดิม​ 26 ราย
    ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน อ.เขาสมิง จ.ตราด นายธเนศ ภัทรวรินกุล สาธารณสุขอำเภอเขาสมิง ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 25 ราย นอกจากนี้ ในพื้นที่ อ.เมืองตราด ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 6 ราย จากกลุ่มเรือประมง และใน อ.คลองใหญ่อีก 1 ราย รวมติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 6 ก.ค. จำนวน 32 ราย ส่วนในพื้นที่ภาคอีสานนั้น จ.นครราชสีมา ระบุว่า พบผู้ป่วยรายใหม่ 69 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 19 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,555 ราย รักษาหาย 1,016 ราย ยังรักษาอยู่ 520 ราย โดยผู้ติดเชื้อใหม่พบว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงมากถึง 38 ราย ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ ก็พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 17 ราย ซึ่งทั้งหมดเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน
    ขณะที่สถานการณ์ในภาคใต้นั้น ยอดผู้เชื้อจากคลัสเตอร์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในกระบี่ อ.คลองท่อม 86 ราย ทำให้กระบี่มียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 90 ราย ทำให้ จ.กระบี่ ประกาศใช้โรงเรียนเป็น รพ.สนามชั่วคราว หลังพบโควิดในกลุ่มนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งได้สั่งปิด รร.ดังกล่าวเป็นเวลา 14 วัน
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อ กล่าวว่า พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 144 ราย ทำให้ยอดติดเชื้อสะสม 6,768 ราย และเสียชีวิตสะสม 24 คน จึงยังต้องขยายเวลาปิดสถานที่เสี่ยง เช่น อาบอบนวด, สนามแข่งขันนกเขา, สนามชนโค และสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ในส่วนสถานศึกษายังไม่อนุญาตให้เปิดเรียนที่โรงเรียน. 
    


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"