การบริหารจัดการของภาครัฐสําหรับเศรษฐกิจที่มี ‘แผลเป็น’


เพิ่มเพื่อน    

 

ก่อนหน้านี้ ดิฉันได้เขียนเรื่อง ‘แผลเป็นจากโควิด19’ ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้โควิดจะมีผลทําให้เศรษฐกิจถดถอยในเวลาสั้นๆ  แต่จะสร้างรอยแผลเป็น (economic scars) ไปอีกนาน ที่จะมีผลทําให้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีน้อยลงในระยะยาว

 

นั่นเป็นเพราะ ประการแรก วิกฤตจากโควิดสร้างหนี้ ทั้งหนี้ภาครัฐ หนี้ธุรกิจเอกชน และหนี้ครัวเรือน ที่จะมีผลในการลดการใช้จ่ายของภาคต่างๆในระยะยาว ประการที่สอง ปัจจัยการผลิตในระยะต่อไปจะมีน้อยลง  แรงงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งอาจจะออกจากตลาดแรงงานไปเลย บางส่วนอาจจะไปทํางานในเศรษฐกิจนอกระบบ (informal sector) หรือในภาคเกษตร ที่ทําให้รายได้และสวัสดิการลดลงในระยะยาว ปัจจัยทุนก็ลดลง ทั้งการเลิกกิจการและภาวะหนี้สินของธุรกิจที่ทําให้การลงทุนน้อยลง นอกจากนี้ วิกฤตจากโควิดยังทําให้มีคนจนมากขึ้นและความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้ที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว เลวลงอีก

 

การบริหารจัดการภาครัฐภายใต้รอยแผลเป็นนี้ควรเป็นอย่างไร

 

ที่สําคัญอย่างแรกและเร่งด่วนคือ ทําให้ ‘แผลสด’ หายเร็วที่สุด ไม่ให้แผลสดรุกราม บาดลึกและเรื้อรังจนกลายเป็น’แผลเป็น’ที่ยากจะเลือนหาย ยิ่งแผลสดหายเร็วเท่าไร ก็จะทําให้แผลเป็นมีน้อยลงมากเท่านั้น

 

แต่ดูเหมือนว่า ตอนนี้แผลสดทําท่าจะกว้าง ลึก จากการระบาดของโควิดระลอกที่ 3เมื่อกลางเดือนเมษายน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจําเป็นเร่งด่วนที่รัฐจะต้องควบคุมการระบาดนี้และบริหารจัดการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว เพราะเป็นทางเดียวที่จะหยุดแผลสดนี้ได้

 

เมื่อรัฐบาลลดการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้วก็ควรเดินหน้าที่จะสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ทดแทนส่วนที่สูญเสียไปจากวิกฤตครั้งนี้

 

ทิศทางที่รัฐจะนําพาประเทศไปข้างหน้านั้นมีอยู่แล้วตามแนวทางของร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (พศ. 2566-2570). ที่ต้องการพลิกโฉมประเทศไทย หรือการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ (Thailand’s Transformation) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสร้างคุณค่าและยั่งยืน (High-value and Sustainable Thailand)  แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเพื่อการสร้างศักยภาพของการเจริญเติบโตในระยะยาว

 

ในแผนพัฒนาฉบับนี้ ในด้านการผลิต จะมุ่งพัฒนาภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนตร์ไฟฟ้า อิเล็คทรอนิคส์ และบริการดิจิทัล รวมทั้งเป็นประตูการค้า การลงทุน สนันสนุนธุรกิจ SME  วิสาหกิจชุมชน และการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าในการกระจายรายได้ไปพร้อมๆกัน

 

เพื่อบรรลุการพัฒนาดังกล่าว รัฐควรจะลงทุนในโครงการสําคัญ 2 โครงการ คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการบริหารจัดการนํ้าอย่างเป็นระบบ

 

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนั้น เพื่อให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงและใช้ดิจิทัลในการผลิต การค้า การขนส่งและการดํารงชีวิตประจําวัน เพราะช่วงเวลาของโควิดชี้ให้เห็นว่า digital technology เป็นปัจจัยสําคัญที่ทําให้การผลิตของบางอุตสาหกรรมของไทยยังคงอยู่ในขบวนการห่วงลูกโซ่การผลิต (global value chain)ต่อไปได้ ไม่เช่นนั้น การเกิด supply disruption ในหลายประเทศเนื่องจากโรคระบาดคงทําให้หลายบริษัทหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้นในการผลิตสินค้าขั้นกลาง และ อาจทำให้GVC ที่พัฒนามาหลายทศวรรษสิ้นสุดลง ในประเทศเอง การทํากิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงโควิดก็ยังดําเนินต่อไปได้เพราะการใช้ ดิจิทัลนั่นเอง

 

ส่วนการลงทุนเพื่อบริหารจัดการนํ้าอย่างเป็นระบบทั่วประเทศก็มีความสําคัญต่อการพัฒนาภาคเกษตรมูลค่าสูงและการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้า เพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ถี่ขึ้น จึงทําให้เกษตรกรบางส่วนต้องเผชิญกับปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม อยู่ทุกปี นอกจากนี้ ยังช่วยให้รัฐไม่ต้องเสียงบประมาณในการเยียวยาฝนแล้งหรือชดเชยนํ้าท่วมปีละหลายหมื่นล้านปีแล้วปีเล่า  ซึ่งสิ้นเปลืองและเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่สร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ยังมีโครงการการลงทุนในด้านอื่นๆอีกมากเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 13

 

ปัญหาคือ รัฐจะสามารถลงทุนได้มากเพียงไรในยามที่หนี้สาธารณะเข้าใกล้ร้อยละ 60 ของ GDP อันเป็นผลเนื่องมาจากการใช้จ่ายทางด้านสาธารณะสุข มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ในหลายปีจากนี้ไป รัฐจะมีข้อจํากัดในการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปี แต่ที่สําคัญกว่านั้นคือ ในงบประมาณแต่ละปีนั้น ประมาณ3ใน 4 ของงบประมาณเป็นรายจ่ายประจำเช่น ค่าจ้าง เงินเดือน การซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐ มีเพียง 1 ใน 4 ที่เป็นการลงทุน ซึ่งเป็นข้อจํากัดที่สําคัญในการสร้างศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

 

จึงเป็นความจําเป็นเร่งด่วนที่รัฐจะต้องปฏิรูประบบการคลัง เพิ่มการจัดเก็บรายได้ ลดการใช้จ่าย เช่น การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน การบริหารการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพ  ในด้านการใช้จ่าย รัฐจะต้องจัดอันดับความสําคัญ(priority)ของการใช้เงินงบประมาณเพื่อสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นอันดับแรก ถือเป็นวาระแห่งชาติที่จะเลิก ลด หรือชะลอการใช้งบประมาณที่ไม่จําเป็นในการสร้างศักยภาพของการเจริญเติบโตลงให้ได้  ต้องไม่มีการใช้จ่ายแบบเสาไฟกินรี  ที่สําคัญคือการลดงบประมาณทางการทหารลงเพราะมันคงไม่ใช่เวลาที่เราจะต้องมี ‘รั้วบ้าน’ที่แข็งแรง ทันสมัย ในขณะที่บ้านเสื่อมโทรมและคนในบ้านยังลำบากและดิ้นรน

 

ไม่เพียงแต่การปฏิรูปการคลัง  รัฐจะต้องปรับตัวให้มีประสิทธิสภาพ คล่องตัว ใช้เทคโนโยี่และbig data มาช่วยในการทํานโยบายและมาตรการของรัฐ ช่วยในการบริหารจัดการโดยมีข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทําธุรกิจและการแข่งขัน ยกเลิกกฏระเบียบที่ล้าสมัยและหยุมหยิมที่รังแต่จะเพิ่มต้นทุนในการทําธุรกิจของภาคเอกชน และทําวาระแห่งชาติในการขจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้เห็นเป็นที่ประจักษ์  หลายครั้งที่ภาครัฐบอกให้เอกชนปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่ ธุรกิจและประชาชนเองก็คงอยากเห็นภาครัฐปรับเปลี่ยนการบริหารและวิธีการทํางานเพื่อให้มีประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลเช่นกัน

 

เราผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 มาแล้ว 24 ปี น่าเสียดายที่เราแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้นในประเทศเลย อาจจะมีก็ในภาคการเงินที่เห็นการเปลียนแปลงอยู่บ้าง โดยเฉพาะการกํากับดูแล การเพิ่มประสิทธิภาพ และการบริหารความเสี่ยง ที่ทําให้มีเสถียรภาพและมั่นคงขึ้น สิ่งที่คาดหวังก็คือ ให้วิกฤตโควิดและแผลเป็นจากโควิดครั้งนี้ ทําให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของประเทศเสียที

 

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ 

ดร. อัจนา ไวความดี กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"