โควิดระบาดระลอก 4 ล็อกดาวน์ 10 จว. เดิมพันครั้งสำคัญของ 'รัฐบาลประยุทธ์'


เพิ่มเพื่อน    

 

             การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย เข้าสู่จุดวิกฤติที่สุด มีผู้ติดป่วยรายใหม่ประจำวันแตะหลักหมื่น เสียชีวิตนิวไฮใกล้หลักร้อย ระบบสาธารณสุขกำลังจะรับไม่ไหว เตียงผู้ป่วยไม่พอ ต้องให้ผู้ป่วยไม่หนักกักตัวที่บ้าน ทำให้ต้องใช้ยาแรงด้วยการล็อกดาวน์อีกครั้ง และเป็นครั้งสำคัญที่จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลด้วย

                โดยภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานที่ประชุม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมมีมติขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน ทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. โดยมาตรการที่ออกมาในครั้งนี้อยู่ภายใต้หลักคิดจำกัดการเคลื่อนย้าย การรวมกลุ่มของบุคคลเฉพาะพื้นที่ ที่หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า ล็อกดาวน์ กำหนดเวลาการออกนอกเคหสถาน หรือ เคอร์ฟิว ควบคู่ไปกับมาตรการเร่งรัดด้านการป้องกันโรค การฉีดวัคซีน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล รวมทั้งการเยียวยาให้เร็วที่สุด

                โดยเห็นชอบปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยทั่วประเทศ โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม ยังเป็น 10 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสาคร สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง 24 จังหวัด หรือสีส้ม 25 จังหวัด สีเหลือง 18 จังหวัด

                 สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้ง 10 จังหวัด จะห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็น, ห้ามออกนอกเคหสถาน ในเวลา 21.00-04.00 น. ยกเว้นกรณีเจ็บป่วยต้องไปรักษาพยาบาล กรณีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ขึ้น บังคับใช้ 14 วัน หรือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เริ่ม 12 ก.ค.นี้ พร้อมปิดห้าง-ร้านสะดวกซื้อ 2 ทุ่ม หยุดบริการขนส่งสาธารณะ 3 ทุ่ม ห้ามรวมกลุ่มเกิน 5 คน ไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด ยกเว้นจำเป็น สั่งหน่วยมั่นคงตั้งด่านสแกนคนเข้า-ออกพื้นที่ตั้งแต่ 6 โมงเช้าวันเสาร์ เป็นต้น

                แม้รัฐบาลจะเลี่ยงการใช้คำว่า ล็อกดาวน์ แต่มาตรการคุมเข้มต่างๆ ก็คล้ายการล็อกดาวน์เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2563 แม้จะไม่เต็มรูปแบบก็ตาม

                แน่นอนว่ามาตรการคุมเข้มดังกล่าว กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกสาขาอาชีพและส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เร่งรัดกำหนดมาตรการเยียวยาสถานประกอบการหรือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดมาตรการในครั้งนี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

                ที่ต้องจับตาการใช้ยาแรงครั้งนี้จะตัดวงจรการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้หรือไม่ หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อน ศบค. ออกประกาศคุมเข้มในเขต กทม.ปริมณฑลและจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ส่งผลให้คนงานเดินทางไปภูมิลำเนา ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ สายพันธุ์ใหม่-"เดลตา"

                โดยไวรัสสายพันธุ์เดลตากำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและยึด กทม.เรียบร้อยแล้ว ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษา ศบค. แถลงว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั่วทั้งโลกมีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) อย่างมากแพร่กระจายถึง 96 ประเทศ ในไทยเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีการระบาดสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ประมาณ 85-90% แต่ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. มีการระบาดสายพันธุ์เดลตา ภาพรวมประเทศอยู่ที่ 30% ถือว่าเร็วมากถ้านับเฉพาะ กทม.และปริมณฑลคิดเป็น 50% ของเชื้อที่เราพบ

            “เมื่อเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อมากก็มีความต้องการเตียงป่วยหนัก เตียงไอซียู ห้องความดันลบเพิ่มขึ้นด้วย จึงเห็นว่าตอนนี้เตียงเราตึงมาก โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดง ดังนั้นหากเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์นี้ไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขอยู่ไม่ได้"

            นพ.อุดม ยังมองการระบาดครั้งนี้ถือว่าเป็นระลอก (เวฟ) 4 แล้ว เพราะเป็นไวรัสตัวใหม่กลายพันธุ์ กำลังจะเป็นสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมไม่เหมือนเดิม และเป็นการแพร่ระบาดในชุมชน ครอบครัว และองค์กร หาที่มาที่ไปไม่ได้ เท่ากับคำจำกัดความเกิดเป็นเวฟใหม่

                ท่ามกลางการแพร่ระบาดดังกล่าวมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับมือกับโควิดจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาวัคซีนที่ยังไม่เพียงพอและไร้ประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย กลุ่มหมอไม่ทน และภาคีบุคลากรสาธารณสุข นำโดย นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เรียกร้องให้เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เพื่อเป็นวัคซีนหลักเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

                ขณะที่ฝ่ายการเมืองฉวยโอกาสถล่มซ้ำรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยเห็นตรงกันที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา  151 ในเดือน ส.ค.นี้ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19 และวัคซีนที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน

                ด้านพรรคไทยสร้างไทย โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ถึงขั้นเชิญชวนประชาชนให้ร่วมลงชื่อพร้อมแบบฟอร์มให้ร่วมฟ้อง รัฐบาลฆาตกร ที่ดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหาย จนคนไทยล้มตาย เศรษฐกิจไทยพังพินาศ โดยสนับสนุนให้ดำเนินคดีอาญา ม.157 ต่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะกรณีการจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคที่มีประสิทธิภาพน้อย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 และ 55

                ความจริงแล้ววัคซีนโควิดที่ได้รับการรับรองจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ใช้แบบฉุกเฉิน Emergency use ยังศึกษาวิจัยไม่ครบเฟสทั้งนั้น การนำไปใช้ในพื้นที่หรือประเทศหนึ่งและต่างเวลากัน ผลก็ออกมาแตกต่างกัน ถึงแม้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะต่างกันบ้าง แต่วัคซีนทุกยี่ห้อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้กว่า 90% โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mNRA ที่เป็นการตัดต่อสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด-19 นำมาใช้ครั้งแรกในโลก ซึ่งยังไม่รู้ผลข้างเคียงในอนาคตจะเป็นอย่างไร?

                อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลใหม่บ่งชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนทุกยี่ห้อลดประสิทธิภาพลง แม้แต่ ไฟเซอร์ ก็กำลังจะยื่นเรื่องขออนุมัติจากทางการสหรัฐให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โดยพบว่าประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์ที่อิสราเอลฉีดให้ประชาชนมีประสิทธิภาพลดลงในการต้านเชื้อกลายพันธุ์

                สำหรับประเทศไทย มีวัคซีนหลักที่รัฐจัดหาให้และฉีดประชาชนฟรี ซึ่งมีอยู่ 5 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค, แอสตร้าเซนเนก้า, สปุตนิก วี, ไฟเซอร์ และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

                ส่วน วัคซีนตัวเลือก ที่ ครม.เพิ่งเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรเป็นตัวกลางทำสัญญาซื้อวัคซีน โมเดอร์นา ให้กับกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีการตกลงซื้อขายจำนวน 5 ล้านโดส ภายหลังมีการเปิดจองทางเว็บไซต์และสถานที่ต่างๆ ปรากฏว่าประชาชนแห่จองจนเต็มทุกแห่ง

                แสดงว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นวัคซีนหลักที่รัฐจัดหา โดยเฉพาะ วัคซีนซิโนแวค ทำให้ส่วนหนึ่งไม่ยอมฉีดซิโนแวค และโหยหาวัคซีนตัวเลือก เช่น โมเดอร์นา และไฟเซอร์

                ที่น่าเป็นห่วง พบประชาชนที่อาศัยอยู่ที่แฟลตดินแดงตึก 56 ซอยประชาสงเคราะห์ 11 เขตห้วยขวาง กทม. ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตอยู่ในห้อง 1 คน เพื่อนบ้านบอกว่า ผู้เสียชีวิตบอกว่าไม่กล้าฉีดวัคซีน รอของเอกชนดีกว่า แล้วต่อมาก็พาติดเชื้อกันทั้งบ้าน จำนวน 4 คน

                กรณีตัวอย่างนี้จะเป็นผลพวงการโฆษณาชวนเชื่อด้อยค่าวัคซีนหลักของไทยจากฝ่ายใดก็ตาม แต่ก็สะท้อนว่ารัฐไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นกับการฉีดวัคซีนหลักเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้โดยเร็ว

                ส่วนที่ ครม.อนุมัติจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ก็เหมือนกับแก้เกมที่เอกชนจะนำเข้าโมเดอร์นา 5 ล้านโดส ซึ่งอาจจะเยียวยาความรู้สึกของประชาชนได้บ้าง แต่ความจริงแล้ว รัฐควรจัดหาวัคซีนฉีดให้ประชาชนฟรี ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตาย-เชื้อเป็น รวมทั้ง mNRA ไม่ควรให้ประชาชนต้องไปต่อคิวซื้อวัคซีนเองเช่นนี้

ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์นำ ครม.ประกาศไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อใช้ประโยชน์ในการแก้สถานการณ์โควิดนั้น แม้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่จะไม่เกิดผลอะไรหากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดให้ได้

                การระบาดของไวรัสโควิดนอกจากส่งผลต่อชีวิตประชาชนโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทั่วโลกด้วย หากบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพหรือสนองอารมณ์ของประชาชนไม่ได้ ก็จะย้อนกลับมาที่รัฐบาลเอง เช่น ในประเทศอินเดีย ก็ต้องปรับ ครม.มาเลเซีย กำลังมีการกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก

                เช่นเดียวกับประเทศไทยภาคประชาชน นำโดย กลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ก็ยังเดินหน้าจัดม็อบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไม่เกรงกลัวการระบาดของโควิด

                การระบาดของโควิดตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัสมาอย่างต่อเนื่อง การใช้ยาแรง-ล็อกดาวน์ครั้งนี้ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ยากมากกว่าเดิม จึงเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาล หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและคืนวิถีชีวิตปกติกลับมาได้ หรือเจ็บ แต่ไม่จบ สถานการณ์จะย้อนกลับไปกระทบเสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์อย่างหนักหน่วงแน่นอน!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"