นิยาย รถไฟ ป้ายโฆษณา และปราสาท


เพิ่มเพื่อน    

           หากท่านอยู่ในกรุงโตเกียวเวลานี้ มีธุระปะปังต้องนั่งรถไฟไปย่านชินจุกะ ถ้าเดินออกจากทางออก “East Exit” แล้วเงยหน้าขึ้น ก็อาจตาค้างด้วยความตะลึงระคนตกใจ แมวยักษ์เคลื่อนไหวอยู่บนอาคารสูงหลังหนึ่ง พลางส่งเสียงสวัสดี “เนี้ยนิจิวะ” อันเป็นคำผสมระหว่าง “โกนนิจิวะ” และ “เนี้ย เนี้ย” เสียงแมวร้องของคนญี่ปุ่น

สิ่งแปลกใหม่ในย่านชินจุกุชั่วโมงนี้

 

            ผมไม่ได้อยู่ในกรุงโตเกียว แต่มีเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งส่งลิงก์ข่าวภาษาอังกฤษมาให้ ดูวิดีโอที่แนบมาด้วยในครั้งแรกต้องบอกว่าเจ้าแมวสามสีขนาดยักษ์เคลื่อนไหวได้เสมือนจริงจนน่าตกใจมากกว่าน่ารัก กระทั่งดูซ้ำหลายรอบ จึงค่อยๆ โดนมนต์แมวสะกด จนเคลิบเคลิ้มไปในที่สุด

            เจ้าของบิลบอร์ดหรือป้ายโฆษณาขนาดยักษ์คืออาคาร Cross Space ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 2 บริษัทให้จัดแสดงภาพวิดีโอ 3 มิติความคมชัดระดับ 4K บนจอโค้งพิเศษขนาดประมาณ 19 คูณ 8 เมตร ให้ภาพแมวเคลื่อนไหวเสมือนจริงในหลากหลายอิริยาบถ บางคราวก็ส่งเสียงร้องออกมา แสดงเป็นช่วงๆ ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ระหว่างตี 1 ถึง 7 โมงเช้า เจ้าเหมียวสามสีนี้จะนอนเอาคางเกยขาหน้า ประมาณว่าคนหลับ แมวก็หลับเหมือนกัน

            ฝ่ายผู้ถือสิทธิ์บิลบอร์ดบอกเหตุผลการแสดงภาพเคลื่อนไหว 3 มิตินี้ว่าการระบาดของโควิด-19 กำลังทำให้โลกมืดมน การแสดงแมวยักษ์สามสีนี้ก็เพื่อทำให้ย่านชินจุกุกลับมามีชีวิตชีวา

            การจัดแสดงนี้คงเป็นการเรียกน้ำจิ้มสำหรับแคมเปญบางอย่างที่จะเปิดตัวในวันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคมนี้ หรือไม่ก็เป็นการโฆษณาตัวป้ายโฆษณาเอง เพราะมีคนข้ามถนนและเดินผ่านไปมาในย่านนี้ประมาณ 190,000 คนต่อวันทำงาน

            การแสดงวิดีโอบนป้ายโค้ง 3 มิติ คมชัดระดับ 4K นี้เคยมีให้เห็นมาแล้วในกรุงโซลของเกาหลีใต้ สร้างความฮือฮาด้วยภาพคลื่นยักษ์เสมือนจริงในอาคารหลังหนึ่งกลางย่านกังนัม และที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนของจีน กับการลงจอดของยานอวกาศคล้ายออกมาจากหนัง Star Trek

            และเมื่อมาถึงญี่ปุ่นก็คงไม่มีอะไรที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คนได้เท่ากับแมว เพราะชาวญี่ปุ่นนั้นมีวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่องและผูกพันกับแมวมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะเรื่องราวของแมวกวักที่เล่ากันว่ากาลครั้งหนึ่งฝนกำลังตกหนัก ขุนนางระดับใดไม่ทราบได้ท่านหนึ่งกำลังหลบฝนอยู่ใต้ต้นไม้ หันไปเห็นแมวเหมียวตัวหนึ่งยกอุ้งขาหน้าขึ้นมากวักเรียก ท่านขุนนางก็เดินเข้าไปหาเจ้าแมวกวัก เพียงอึดใจ ฟ้าผ่าเปรี้ยงลงมายังจุดที่ท่านขุนนางยืนอยู่เมื่อครู่ก่อนหน้านั้น แมวจึงเป็นที่มาของสัตว์มงคล และแมวกวักก็คือสัญลักษณ์แห่งความโชคดี

 “ทามะสอง” นายสถานีรถไฟ สถานีคิชิ ท่านปัจจุบัน

 

            คนญี่ปุ่นเรียกแมวว่า “เนโกะ” ปรากฏบันทึกในภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 จากนั้นในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12–14 พระสงฆ์ในสมัยนาระยกย่องความสามารถของเจ้าเนโกะในการกำจัดหนูให้ออกห่างไปจากวัด ด้วยเหตุนี้แมวจึงเป็นผู้พิทักษ์ประจำวัดและศาลเจ้าทั่วญี่ปุ่น

            ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14–16 มีเรื่องราวบันทึกว่าตามบ้านของขุนนางหรือคนชั้นสูงที่มีแมวจะผูกเชือกล่ามพวกมันไว้กับบ้าน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เพราะกลัวโจรจะมาขโมย อีกทั้งกลัวว่าพวกมันจะไปไหนเสียไกลๆ จนหลงทาง

            ถึงสมัยกำเนิดมีกล้องถ่ายภาพ พ่อค้าชาวเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบันมักจะถือภาพแมวไปทั่วเมืองเพื่อเร่โฆษณาขายแมวให้กับเจ้าของบ้านเรือน รวมถึงบรรดาเจ้าของร้านอาหาร และกิจการที่ถูกรบกวนด้วยสัตว์จำพวกหนู

            นอกจากแมวตัวจริงเพื่อกำจัดหนูแล้ว การนำรูปปั้นแมวกวัก หรือ “มาเนกิ เนโกะ” ตั้งไว้ก็เป็นที่นิยมในยุคหลังๆ นี้ เพราะเชื่อว่าจะนำลูกค้าและโชคลาภเข้ามาสู่กิจการร้านรวง แมวที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์มงคลคือแมวสีขาวและสีส้ม

            สำหรับแมวบนตึกย่านชินจุกะนี้ยังไม่มีชื่อ ชาวโตเกียวเรียกมันเพียงว่า “แมวชินจุกุประตูตะวันออก” เป็นแมวสามสี ขาว ส้ม และดำ มีศัพท์เรียกแมวแบบนี้ว่า “คาลิโกะ”

            สีของแมวชินจุกุประตูตะวันออกนี้ทำให้ผมหวนนึกถึงแมวที่เคยเป็นนายสถานีรถไฟแห่งหนึ่งในจังหวัดวากะยามะ ทางใต้ของโอซากะ

            รถไฟสายคิชิกาวะวิ่งจากตัวเมืองเข้าสู่เขตชนบทที่มากด้วยเนินเขา วัดวาอาราม และเส้นทางจาริกแสวงบุญ มีอยู่ด้วยกัน 14 สถานี โดยสถานีปลายทางฝั่งชนบทมีชื่อว่า “สถานีคิชิ” และที่สถานีแห่งนี้มีแมวสามสีตัวหนึ่งสิงสถิตอยู่ มันชื่อว่า “ทามะ” เป็นแมวเพศเมีย

            หลังปี ค.ศ.2000 ปริมาณผู้โดยสารลดลงอย่างมาก อีกทั้งบริษัทเดินรถไฟกำลังประสบปัญหาทางด้านการเงิน มีการลดจำนวนพนักงานลงเรื่อยๆ จนปี 2006 ก็ไม่เหลือพนักงานให้ลดอีกต่อไป และถึงกาลต้องประกาศปิดตัว

            อย่างไรก็ตาม ได้มีชาวเมืองจำนวนหนึ่งยกขบวนกันไปร้องต่อประธานของบริษัทใหม่ที่เข้ามาซื้อกิจการขอให้เปิดบริการอีกครั้ง เจ้าของร้านสะดวกซื้อที่ดูแลเจ้าเหมียวทามะอยู่ก็ได้มาขอให้ช่วยดูแลทามะต่อจากเขา ท่านประธานซึ่งเป็นคนเลี้ยงหมา กลับโดนเสน่ห์นะจังงังของเจ้าทามะเข้าให้ ตัดสินใจรับเลี้ยง

 “ไดเมียวซันจูโร” เจ้าของประสาท “บิตจุ มัตสิยามะ” จังหวัดโอกะยามะ

 

            เดือนมกราคม ปี 2007 เหมียวทามะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายสถานีคิชิ พร้อมรับหมวกสั่งตัดพิเศษ แบบเดียวกับที่นายสถานีรถไฟทั่วไปใช้ หน้าที่ของเหมียวทามะคือปรากฏตัวบนสื่อประชาสัมพันธ์ ปกนิตยสาร โปสการ์ด ของที่ระลึกหลากหลายชนิดในร้านของสถานี ประทับอุ้งเท้าไว้ตามจุดต่างๆ ของสถานีในรูปแบบสติกเกอร์และภาพเขียน ในชั่วโมงทำงานนายสถานีสี่ขาต้องนั่งอยู่หลังช่องขายตั๋วหรือในออฟฟิศกระจกใสเล็กๆ ได้รับค่าตอบแทนเป็นอาหารแมวชนิดดีเยี่ยมแบบไม่จำกัด

                ไม่นานรถไฟสายนี้ก็ได้รับความสนใจจากคนทั่วญี่ปุ่น ปีต่อมาทามะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น “ผู้จัดการระดับสุดยอด” อีกทั้งได้รับการประดับยศอัศวินจากผู้ว่าราชการจังหวัดวากะยามะ นักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้นไม่หยุดหย่อน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ต่างพาลูกหลานเดินทางมายังสถานีคิชิซึ่งมีเพียงชานชาลาเดียวเท่านั้น

            ถึงสิ้นปี 2008 มีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟสายคิชิกาวะเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 55,000 คน และระหว่างปี 2007–2015 เศรษฐกิจท้องถิ่นของรถไฟสายนี้ได้รับอานิสงส์คิดเป็นเงินถึง 1.1 พันล้านเยน หรือประมาณ 350 ล้านบาท จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปี 2006 ถึงประมาณปีละ 300,000 คน

            ในปี 2009 บริษัทรถไฟได้ว่าจ้าง “เอจิ มิโตโอกะ” นักออกแบบอุตสาหกรรมชื่อดัง ผู้ชำนาญทางด้านรูปลักษณ์ของรถไฟรวมถึงชิงกันเซ็น มาออกแบบอาคารสถานีใหม่ให้มีลักษณะเป็นศีรษะแมวอันมาจากแนวความคิดความเชื่อที่ว่าแมวช่วยปัดเป่าโชคร้ายและนำโชคดีมาให้ และปีถัดมาบริษัทก็ยังให้คุณมิโตโอกะรังสรรค์ตู้รถไฟทั้งภายในและภายนอกโดยยึดโยงกับเหมียวทามะ เกิดเป็น “ทามะเดนฉะ” หรือรถไฟสายทามะ

            ลูกเล่นมากมายถูกนำมาใช้ในการให้บริการรถไฟสายนี้ หนึ่งในนั้นคือเมื่อรถไฟจอดและประตูเปิดที่สถานีใด เสียงของเหมียวทามะก็ดังขึ้นจากระบบกระจายเสียง ซึ่งเป็นเสียงจริงๆ ของทามะที่ได้บันทึกเทปไว้

            ปี 2015 ช่วงเดือนพฤษภาคม ผมเดินทางไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เที่ยวจากนางาซากิขึ้นเหนือไปจนถึงโตเกียว ตอนแวะค้างคืนที่โอซากะนั้นไม่มีเวลาไปหานายสถานีทามะ พอกลับไปญี่ปุ่นอีกรอบในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนายสถานีก็ลาโลกกลับไปดาวแมวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน ยังนึกเสียดายอยู่เรื่อยมา

            เหมียวทามะจากไปในวัย 16 ขวบ เทียบเท่ากับมนุษย์อายุ 80 ปี ผู้คนหลายพันเข้าร่วมงานศพที่สถานีคิชิพร้อมวางหรีดอาลัย รวมถึงปลาทูน่ากระป๋อง ทางสถานีได้สร้างศาลเจ้าเล็กๆ ไว้บนชานชาลา และต่อมาผู้วายชนม์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งเป็น “นายสถานีผู้ทรงเกียรตินิรันดร” ในทางชินโตเหมียวทามะได้รับการนับถือให้เป็น “เทพแห่งวากายามะอิเล็กทริกเรลเวย์”

            ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นอีกเฉลี่ยปีละหนจนถูกเบรกด้วยโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ไม่เคยทราบเลยว่าเหมียวทามะมีผู้สานงานต่อเรื่อยมา จนเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ข่าวว่านายสถานีคิชิท่านต่อมาก็มีชื่อว่าทามะเหมือนกัน เรียกว่า “นิทามะ” หรือ “ทามะสอง” เป็นแมวสามสีและเพศเมียเหมือนกัน

            นอกจากนี้ยังมีทามะสาม (ซานทามะ) และทามะสี่ (ย่งทามะ) อีกด้วย เข้าใจว่าเป็นเพศเมียทั้งหมด และมีลวดลายสามสีแบบเดียวกัน ทามะสี่เป็นผู้ช่วยของทามะสอง ประจำการอยู่ที่สถานีอิดาคิโสะ ห่างจากสถานีคิชิไป 5 สถานี ส่วนทามะสามดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ “โอกะเดน” ของบริษัทรถรางไฟฟ้าโอกะยามะ จังหวัดโอกะยามะ

            พูดถึงจังหวัดโอกะยามะ มีเรื่องราวของแมวที่วาสนาสูง จับพลัดจับผลูได้เป็นถึงท่านโชกุนประจำปราสาทเลยทีเดียว

            เหตุการณ์ฝนตกใหญ่เดือนกรกฎาคม ปี 2018 ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นทางภาคตะวันตก นักท่องเที่ยวที่มาเยือนปราสาท “บิตจุ มัตสึยามะ” เมืองทากาฮาชิ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1240 ลดจำนวนลงไปจนน่าใจหาย ทั้งที่เป็นปราสาทที่ได้ชื่อว่าตั้งอยู่สูงสุดในปัจจุบัน (ที่มีตัวตึกหลักดั้งเดิม) ถึง 430 เมตรจากระดับน้ำทะเล ได้มีแมวสีขาว-ส้มตัวหนึ่งเข้ามาอยู่ในปราสาท เวลานั้นไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน รู้แต่เป็นแมวเพศผู้ คะเนอายุประมาณ 3 ขวบ เชื่องและขี้เล่น

            ฮิเดโอะ อาอิฮาระ ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมการท่องเที่ยวเห็นเข้าก็ชอบใจ ตั้งชื่อให้ว่า “ซันจูโร” ตามชื่อของซามูไรท้องถิ่น นาม “ตานิ ซันจูโร”

            จนกลางเดือนตุลาคม คนชื่อ “เมกูมิ นัมบะ” ทราบข่าวว่าแมวตนที่เคยเลี้ยงและหายตัวไปหลังน้ำท่วมได้หนีมาอยู่บนปราสาทก็เดินทางมาหา หมายจะรับกลับบ้าน แต่พอเห็นว่าเจ้าเหมียวได้ดิบได้ดีแล้ว นัมบะก็ตัดใจ ยอมกลับไปเพียงลำพัง

            เดือนธันวาคมปีนั้นซันจูโรได้ปราบดาขึ้นเป็นไดเมียวประจำปราสาท และด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย นักท่องเที่ยวก็กลับมาอย่างล้มหลาม เป็นจำนวนที่มากกว่าก่อนเหตุพิบัติภัยเสียอีก

            ที่กล่าวมาคือตัวอย่างของการนำแมวมาใช้ในการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทำให้สินค้าและบริการเกิดมูลค่าเพิ่มโดยแทบไม่ต้องลงทุนอะไร ด้วยรู้กันดีว่าชาวญี่ปุ่นนิยมและยกย่องแมวขนาดไหน เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก เกิดเป็นกระแสคาเฟ่แมว เกาะแมว หมู่บ้านแมว ส่งเสริมการท่องเที่ยว นำเงินเข้าประเทศได้มหาศาล

            ยังมีตัวอย่างการนำแมวมาเป็นตัวละครในวรรณกรรม เรื่องที่โด่งดังมากคือ “I am a Cat” ของ “นัตสึเมะ โซเซกิ” เขียนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แม้ว่าแมวบ้านในเรื่องจะมีอารมณ์ขันและเสียดสีผู้อื่นแบบมนุษย์ แต่พอให้แมวเดินเรื่องก็เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้อ่าน จากเดิมที่เขียนในรูปแบบเรื่องสั้น ความนิยมที่กลายเป็น “ความต้องการสูง” ได้ทำให้ผู้เขียนขยายขนาดออกมาเป็นนิยายในที่สุด

                ในยุคหลังๆ ยังมีวรรณกรรมญี่ปุ่นที่ข้องแวะเกี่ยวกับแมวอยู่อีกไม่น้อย อาจเป็นเพราะผู้เขียนชอบแมวเป็นทุนอยู่แล้ว หรือรู้ดีว่าแมวดึงดูดผู้อ่าน (ที่ชอบแมว) ได้มาก อาทิ If Cars Disappeared from the World โดย “เกนกิ คาวามูระ”, The Guest Cat โดย “ทาคาชิ ฮิราอิเดะ”, A Cat, A Man, and Two Women ของ “จุนนิชิโร ทานิซากิ” และ The Travelling Cat Chronicles ของ “ฮิโระ อาริคาวะ”

            “Kafka on the Shore” นิยายพิมพ์ครั้งแรกปี 2002 ของ “ฮารูกิ มูราคามิ” แปลไทยโดย “นพดล เวชสวัสดิ์” ผู้รับเหมาแปลงานของมูราคามิ ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ” ซึ่งวิฬาร์ก็คือแมวในภาษาสันสกฤต ส่วนนาคาตะคือตัวละครที่คุยภาษาแมวได้ สาระของเรื่องไม่ได้อยู่ที่แมว แต่ในเรื่องมีแมวหลายตัว

            และแมวที่มูราคามิบรรยายว่าฉลาดที่สุดมีชื่อว่า “มิมิ” เธอเป็นแมวไทย.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"