ตั้งด่านกทม.88จุด ไม่ห้ามเดินทางข้ามจว.! เฟกนิวส์เจอพรก.ฉุกเฉิน


เพิ่มเพื่อน    

  ประกาศราชกิจจาฯ ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว พื้นที่สีแดงเข้ม ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด แค่ขอความร่วมมือ หน่วยงานความมั่นคงทหาร-ตำรวจตั้งจุดตรวจในพื้นที่  กทม.รวม 88 จุด พื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล 22 จุด และใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 35 จุด เตือนเฟกนิวส์ระวังเจอ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

    เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 มีเนื้อหาสรุปว่า จากการระบาดที่รุนแรงโดยเฉพาะพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับเชื้อโรคได้กลายพันธุ์สามารถแพร่กระจายได้ง่าย รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ โดยมุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายสำหรับพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และเร่งรัดมาตรการป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรค อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  
    จึงออกข้อกำหนดปรับปรุงพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ โดยให้ ศบค.ปรับปรุงเขตพื้นที่ตามสถานการณ์เสียใหม่ โดยห้ามออกนอกเคหสถาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในเขตพื้นที่ กทม. นครปฐม นนทบุรี  ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี  ยะลา สงขลา ระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วันนับจากข้อกำหนดนี้ใช้บังคับ ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
    โดยบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการออกนอกเคหสถานในห้วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยหรือผู้มีความจำเป็นต้องพบแพทย์ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขนส่งอาหาร  ยา เวชภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค การขนส่งหรือขนย้ายประชาชน เช่น ผู้ปฏิบัติงานขนส่งสาธารณะ ผู้ขนส่งและผู้เดินทางไปยังท่าอากาศยาน ผู้ขนส่งประชาชนไปยังศูนย์พักคอยรอการส่งตัว รวมถึงการให้บริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ได้แก่ ผู้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น  และผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็น ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานตามกรอบเวลา กะ หรือทำงานตามผลัดเปลี่ยนเวรยาม
    ขณะที่กรณีจำเป็นอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะรายจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงบัตรประจำตัวประชาชนและเอกสารรับรองความจำเป็น เอกสารเกี่ยวกับสินค้าบริการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่ออนุญาต กรณีที่สมควรเพิ่มเติมข้อยกเว้นดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอผ่านศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุญาต
    ให้มีมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งโดยให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งให้เต็มความสามารถเพื่อลดการเดินทาง ในส่วนของภาคเอกชนให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ สนับสนุนปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในเวลานี้
    ข้อกำหนดดังกล่าวยังระบุถึงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วน เฉพาะในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล สำหรับสถานที่ กิจการ ให้เปิดดำเนินการได้ภายในเงื่อนไข  เงื่อนเวลา การจัดระบบระเบียบต่อไปนี้ การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือสถานที่ประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันให้เปิดดำเนินการถึงเวลา 20.00 น. และให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยา  เวชภัณฑ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้าง  ธนาคาร ธุรกิจสื่อสาร รวมถึงการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ
ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด
    ขณะที่ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ให้เปิดดำเนินการจนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงกลางคืน ให้ปิดบริการระหว่างเวลา 20.00-04.00 น. สำหรับสวนสาธารณะ ลานกีฬา ที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้งให้เปิดได้ถึงเวลา  20.00 น.
    ส่วนสถานประกอบการนวดแผนไทย สปา สถานเสริมความงาม ให้ปิดดำเนินการ, ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม  ยังคงเปิดดำเนินการได้เท่าที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
    นอกจากนี้ยังห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคนที่มากกว่า 5  คน สำหรับกิจกรรมการรวมกลุ่มบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่เคยอนุญาตให้จัดกิจกรรมไว้ก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในระยะเวลานี้ขอให้ขออนุญาตพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการให้เหมาะสมกับห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่โรงเรียน สถานศึกษา ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ และให้เจ้าหน้าที่กวดขันการมั่วสุมประชุมกันเพื่อเล่นการพนัน
    ข้อกำหนดดังกล่าวยังกำหนดเกี่ยวกับการขนส่งสาธารณะ ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบให้จัดระบบและระเบียบ จำนวนและห้วงเวลาเดินรถตามมาตรการที่ ศปก.ศบค.กำหนด ทั้งนี้ การลดหรือจำกัดรอบให้บริการอาจทำให้ผู้เดินทางไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรตามปกติระหว่างเวลา 21.00-04.00 น.
    สำหรับการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงระยะเวลานี้ โดยไม่มีเหตุจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดการคัดกรองการเดินทางเส้นทางคมนาคมเข้าออก กทม.และปริมณฑล จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการเดินทางเข้าออกจังหวัดอื่นๆ เพื่อควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน และคัดกรองการเดินทางประชาชนทั่วไป
    ให้กระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ สำหรับการขนส่งคนโดยสารระหว่างจังหวัดที่มีพื้นที่ต้นทางจาก กทม.  ปริมณฑล หรือพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเพิ่มความเข้มงวด รวมทั้งตรวจสอบคัดกรองการเดินทางให้เป็นไปแนวทางที่ ศปก.ศบค.กำหนด สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจังหวัดให้กระทรวงคมนาคมจัดระเบียบ แนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมและลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
    สำหรับมาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้ กทม. จังหวัดปริมณฑล ดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้มีการใช้สมุนไพรหรือการแพทย์แผนไทยในการบำบัดรักษาตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มโอกาสการเข้าตรวจหาเชื้ออย่างเพียงพอ เร่งรัดการจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราว โรงพยาบาลสนาม เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาล เร่งรัดการดำเนินการวางระบบหรือจัดการสถานที่เพื่อจัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งตัว รวมทั้งเพิ่มจำนวนจุดบริการคัดกรอง และเร่งให้มีบริการตรวจคัดกรองและการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
เฟกนิวส์เจอ พรก.ฉุกเฉิน
    นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้เกิดการเผยแพร่ ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือมีเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความเรียบร้อย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน จนถึงวันที่ 25 ก.ค. เว้นแต่จะมีการประเมินความเหมาะสมสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่  12 ก.ค.เป็นต้นไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกันนี้ยังมีการประกาศคำสั่ง ศบค. เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่เฝ้าระวัง โดยกำหนดให้พื้นที่ควบคุมสูงสูดและเข้มงวดมีทั้งสิ้น 10  จังหวัด ประกอบด้วย กทม. นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี  ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสงขลา
    พื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด คือ กระบี่ กาญจนบุรี  ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตาก นครนายก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี, พื้นที่ควบคุม 25 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์  กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ชัยภูมิ ชุมพร ตรัง ตราด  บุรีรัมย์ พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม  ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สตูล สระแก้ว สุโขทัย สุราษฎร์ธานี  สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี, พื้นที่เฝ้าระวังสูง 18 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ นครพนม น่าน  บึงกาฬ พะเยา พังงา แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน  ยโสธร ลำปาง ลำพูน สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์
    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ  ศบค. แถลงขยายความข้อกำหนดฉบับที่ 27 โดยขอความร่วมมือประชาชนถ้าไม่จำเป็นอย่าเคลื่อนย้ายในช่วงที่มีการประกาศห้ามเดินทาง ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ขณะนี้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) กำลังพิจารณาเตรียมการเพื่อเสนอต่อครม.ต่อไป
    ส่วนมาตรการมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารนั้น ต้องขอความร่วมมือเพราะปัจจุบันข่าวลือข่าวเท็จออกมาเป็นจำนวนมาก ในที่ประชุม ศบค.มีการเน้นย้ำเรื่องนี้ เพราะนอกจากการทำงานที่ต้องเดินไปข้างหน้าแล้ว การมีข่าวที่อาจเป็นเท็จทำให้ต้องพะว้าพะวังและเสียเวลาในการแก้ข่าว ทำให้การทำงานมีความล่าช้า จึงขอความร่วมมือและต้องบังคับใช้กฎหมายข้อนี้อย่างเต็มที่
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือสีแดงเข้ม 10 จังหวัด ถ้าจะเดินทางมาเพื่อรับวัคซีนสามารถมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ได้มีใบนัดล่วงหน้า สามารถเดินทางมาได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ชี้แจงว่า ถ้าเพื่อการสาธารณสุขโดยการฉีดวัคซีนก็สามารถเดินทางได้เลย  สามารถแจ้งกับฝ่ายความมั่นคงที่มีการตรวจสอบอยู่ เพราะตรงนี้ถือว่าเป็นเหตุจำเป็น และถือเป็นความสำคัญที่เราอยากให้ประชาชนได้รับวัคซีน แต่ถ้าจะไปฉีดวัคซีนแบบข้ามจังหวัดก็ต้องแล้วแต่จังหวัดนั้นๆ หรือถ้าจะเข้ามากรุงเทพฯ การมีใบรับรองจาก ผวจ.หรือผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็น่าจะดี
'ผมไม่สบายใจเลย'
    เมื่อถามว่า ตามข้อกำหนดที่ให้ปิดร้านนวดแผนไทย สปา ร้านเสริมความงามต่างๆ แต่คลินิกเสริมความงามที่จะต้องฉีดใบหน้าเข้าข่ายต้องปิดด้วยหรือไม่ โฆษก ศบค.ตอบว่า เพื่อเป็นการลดการสัมผัสและความเสี่ยงในการสัมผัสใบหน้าก็คงต้องของดไปก่อน เพื่อตอบสนองต่อการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข
    “สำหรับผมไม่สบายใจเลย เวลาที่ต้องมาประกาศถึงข้อกำหนดต่างๆ เพราะมันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางต่างๆ และทำให้ทุกคนต้องมีผลกระทบ ทั้งต่อรายได้ ต่อครอบครัว หรือกระทบต่ออะไรต่างๆ มากมาย แต่เราเลี่ยงไม่ได้ และมาตรการเหล่านี้ก็เป็นสากลไปแล้ว ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่ทุกประเทศในโลกนี้ยอมรับในมาตรการที่จะต้องเพิ่มระดับ ซึ่งก็คือการล็อกดาวน์ และครั้งนี้เราเลือกการล็อกดาวน์เฉพาะพื้นที่ จึงขอความร่วมมือทุกคนใช้เวลา 14  วันนี้ ในการพิสูจน์ความร่วมมือกันของทุกฝ่ายอีกครั้งเพื่อจะสู้กับโควิด และหลังจาก 14 วันขอให้เราได้เห็นภาพที่จะพบข่าวดีไปด้วยกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนของข้อกำหนดที่ 27 เกี่ยวกับการเดินทางข้ามจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มว่า เป็นเพียงการขอความร่วมมือไม่ถึงขั้นห้าม แต่การเดินทางเข้าหรือออกพื้นที่สีแดงเข้มต้องแสดงหลักฐานความจำเป็นและมีด่านตรวจ หากแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนสองเข็มก็จะช่วยได้เยอะ และในข้อกำหนดระบุไว้ว่าอาจทำให้การเดินทางจะไม่ได้รับความสะดวกเหมือนที่ผ่านมา เวลาเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม และการตั้งด่านจะเริมตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.เพราะกลัวการอพยพ  ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้มยังเดินทางได้ปกติ
    พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม  เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม (รมช.กห.) และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ  ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมหน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพและตำรวจผ่านระบบ VTC ณ  ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อเร่งเตรียมความพร้อมสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด ภาพรวมฝ่ายความมั่นคงโดย ศปม.ได้เร่งปรับแผนและสนธิกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง โดยใช้กำลังตำรวจเป็นหลัก กระจายลงพื้นที่จัดตั้งจุดตรวจจุดสกัดร่วม รวมทั้งจัดตั้งสายตรวจเคลื่อนที่เร็วลงปฏิบัติการในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้ง 10 จังหวัดแล้ว ตั้งแต่ 06.00 น.วันที่  10 ก.ค.ที่ผ่านมา
    โดยได้ร่วมจัดตั้งจุดตรวจในพื้นที่ กทม.รวม 88 จุด  พื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล 22 จุด และใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 35 จุด ร่วมกันทำหน้าที่สร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำการปฏิบัติตนแก่ประชาชนถึงมาตรการต่างๆ ที่ ศบค.กำหนด โดยเฉพาะการจำกัดการปฏิบัติในการเคลื่อนย้าย รวมทั้งข้อกำหนดและข้อจำกัดในกิจกรรมและเวลาที่กำหนด ทั้งนี้จะเริ่มเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องตั้งแต่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป เพื่อคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการหยุดแพร่กระจายของโรคและการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนจากปัญหาอาชญกรรมในคราวเดียวกัน
    ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น.และโฆษก  บช.น. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 27 ลง 10  กรกฎาคม 2564 นั้น ได้มุ่งเน้นการห้ามออกนอกเคหสถานโดยไม่จำเป็น ตั้งแต่ 21.00 น. ถึง 04.00  น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่เป็นบุคคลที่ได้รับการยกเว้น หรือผู้ที่มีเหตุจำเป็นต้องขออนุญาตกับพนักงานเจ้าหน้าที่เสียก่อน, หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด, ห้ามผู้ใดออกมารวมกลุ่มกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามข้อกำหนดฯ
    ขณะเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจนครบาลมีมาตรการปฏิบัติตามประกาศข้อกำหนดฯ ดังนี้ 1.ตั้งจุดตรวจทุก สน.  รวม 88 จุดตรวจ ในช่วงเวลา 21.00 น. ถึง 04.00  น.ของวันรุ่งขึ้น กระจายทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งเป็น 3 ผลัด ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นายต่อ 1 ผลัด  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองในพื้นที่นั้นๆ มีนายตำรวจระดับสารวัตรเป็นหัวหน้าจุดตรวจ ซึ่งจะเริ่มตั้งจุดตรวจในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 21.00 น.  เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง 2.จัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็ว เพิ่มความเข้มในการตรวจตรา ห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน เวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น  โดยเน้นการตรวจตราจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนออกมาในเวลาดังกล่าว  ส่วนการเปิดให้บริการของห้างร้าน ซูเปอร์มาเก็ต สวนสาธารณะ หรือสถานที่ต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด คือ เปิดได้ถึง 20.00 น. ยกเว้นขนส่งสาธารณะที่เปิดได้ถึง 21.00 น.
    กองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตามนโยบายมาตรการควบคุมโรคตามข้อกำหนดฯ อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน  40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ  พ.ศ.2558 มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม  2564 เป็นต้นไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"