ปลุกกกต.ยืนสู้โกงเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

    วงเสวนา กกต.ไม่มั่นใจการเลือกตั้งครั้งหน้าจะสุจริตเที่ยงธรรม หวั่น คสช.ใช้อำนาจนอกเหนือกติกาแทรกแซง เหตุคนกลางเปลี่ยนมาเป็นผู้เล่นเอง ชี้ภาระหนักอยู่ที่ กกต.ยังถูกคุมด้วย ม.44 ปลุกอย่าเป็นเสือหมอบ "ศุภชัย" จ่อหารือ “วิษณุ” เปิดทาง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้ แทนการใช้ม.44 ห่วงกรอบเวลาทำให้ฉุกละหุก
    เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเสวนาในหัวข้อ “กลไกปราบโกงเลือกตั้ง ใช้กับใคร ใช้ได้จริงหรือ” โดยนายเจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้การเลือกตั้งถูกลากไปอีกไม่มีอีกแล้ว ถ้าพูดว่าจะมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม ตนยังไม่เห็นว่าจะมีการทุจริต แต่สิ่งที่ได้สัมผัสจากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนคือ เมื่อมีการเลือกตั้งทุกครั้งจะมีการทุจริตเลือกตั้งทุกหน่วย ถ้าหากมองการเลือกตั้งทั่วประเทศมีทั้งหมด 9 หมื่นหน่วย สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ กกต.ได้บอกว่าเจ้าหน้าที่ได้จัดการเรื่องปัญหาดังกล่าวได้เพียงร้อยละ 1 เท่านั้นของที่เกิดปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง 
    "ดังนั้นต้องเริ่มจากกลไกจากเสรีภาพของการตั้งพรรคการเมือง ซึ่งถ้าหากพรรคการเมืองนั้นไม่มีสมาชิกที่มีอุดมการณ์และจรรยาบรรณที่ดี ก็ย่อมจะมีผลต่อการคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม หรือไม่สามารถหลุดพ้นพรรคที่เป็นของนายทุน และจะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นหน้าด่านของการปราบโกง เพราะว่าจะไม่ได้ผู้สมัครที่ไม่ซื้อสิทธิขายเสียง"
     นายเจษฎ์กล่าวอีกว่า กลไกหลังจากเลือกตั้งเสร็จ ก็จะมีบทลงโทษเรื่องการแจกใบดำ ซึ่งจะมีผลตัดสิทธิ์ผู้สมัครทั้งระดับประเทศและท้องถิ่นตลอดชีวิต เทียบได้กับการประหารชีวิตทางการเมือง แต่กลไกดังกล่าวจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะให้ความร่วมมือกับกกต.ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตอนนี้รัฐธรรมนูญติดอาวุธให้กับประชาชนแล้ว โดยได้กำหนดไว้ว่า ในการเลือกตั้งบางเขต ถ้ามีประชาชนไม่ประสงค์ลงคะแนนมากกว่าการประสงค์ลงคะแนนบุคคลใด ในพื้นที่นั้นจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ และผู้สมัครในตอนแรกก็ห้ามลง เชื่อว่าประชาชนเป็นกลไกที่ดีที่สุด และจะต้องอาศัยข้าราชการด้วย เพราะการทุจริตของนักการเมืองจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีข้าราชการเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมข้าราชการทุกคนต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้ตรวจสอบ
     ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า มีการเลือกตั้งแน่นอน แต่จะมีเมื่อไหร่ต้องถาม คสช.ตามกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ตนห่วงเงื่อนไขนอกรัฐธรรมนูญว่าถ้าบ้านเมืองไม่สงบจะไม่มีเลือกตั้ง กลัวว่าจะมีคนนำมาใช้ ขณะเดียวกันมีผู้พูดถึงรัฐธรรมนูญปราบโกง ถ้าปราบได้จริง รัฐธรรมนูญยังคับใช้มาแล้ว 1 ปี แต่ยังมีการโกง ถ้าจะใช้ปราบโกงได้บ้างต้องใช้ควบคู่ระบอบประชาธิปไตยที่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าใช้กับระบอบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ก็ไม่เป็นผล
     "ถ้าจะสุจริตเที่ยงธรรมได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยอย่างน้อย 3 ปัจจัย กติกาต้องเป็นธรรม การบังคับใช้กติกา ซึ่งรวมถึงการบังคับใช้กลไกปราบโกงด้วยต้องเป็นธรรม การใช้อำนาจรัฐของคนที่มีอำนาจต้องเป็นธรรมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งความสุจริตเที่ยงธรรมทั้งองคาพยพจึงจะเกิดขึ้นได้ การเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าถามมีโอกาสสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ตอบเลยว่าไม่ เพราะกฎกติกาสำคัญคือรัฐธรรมนูญไม่สุจริตเที่ยงธรรมตั้งแต่ต้น เรื่องกติกา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกับคำสั่ง คสช.ต่างๆ การใช้อำนาจรัฐของผู้มีอำนาจ เพราะเปลี่ยนสถานะจากคนเขียนกติกา จากกรรมการมาเป็นผู้เล่น ที่สำคัญคือเป็นห่วงเรื่องการใช้อำนาจเหนือองค์กรอิสระ เช่น การใช้มาตรา 44 ที่ส่งผลต่อความสุจริตเที่ยงธรรมได้"
    นายจุรินทร์ตั้งข้อสังเกตเรื่องใบส้มระหว่างหาเสียงเลือกตั้งว่า ถ้า กกต.พบว่ามีความไม่สุจริตกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง กกต.สามารถระงับสิทธิ์เลือกตั้งของผู้สมัครได้เป็นระยะเวลา 1 ปีได้ จึงเป็นห่วงถ้า กกต.ใช้อำนาจสุจริตเที่ยงธรรมยุติธรรมก็ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ถ้ามีสิ่งนอกเหนือไปจากนี้ ก็อาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สมัครบางคนบางพรรคได้ นอกจากนี้ กกต.ประจำหน่วยที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งจะวินิจฉัยว่าการให้ กกต.ประจำหน่วยไปช่วยหรือจัดให้ไปช่วยคนพิการผู้สูงอายุและทุพพลภาพ ก็เป็นห่วงกลัวจะไปช่วยกาตามเจตนารมณ์ของผู้กา จะกลายเป็นช่องทางทุจริต ขอให้ กกต.ช่วยจับตาเป็นพิเศษ อย่าให้เกิดการทุจริต 
กกต.ยังถูกคุมด้วย ม.44
    "คำถามว่ากลไกปราบโกงใช้กับใครใช้ได้จริงหรือ คือต้องใช้กับทุกคน ถามว่าใช้ได้จริงหรือ คำตอบก็ขึ้นอยู่กับ กกต. ถ้า กกต.ดำรงความเป็นอิสระ ไม่เป็นเสือหมอบ เสือกระดาษ คิดว่ากระบวนการเลือกตั้งยังมีความหวังที่จะเห็นความสุจริตเที่ยงธรรมเกิดขึ้น แม้กติกาไม่เที่ยงธรรมมาตั้งแต่ต้นก็ตาม" นายจุรินทร์กล่าว 
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า กกต.ต้องเผชิญศึกหนักกว่าทุกครั้ง เพราะนอกจากต้องเผชิญความคาดหวังของประชาชน ยังมีกติกาและปัจจัยหลายๆ อย่าง กกต.อาจจะกำกับเองไม่ได้ เช่น การใช้อำนาจรัฐ รู้ว่าท่านต้องรับภาระ และเป็นผู้ไขกุญแจว่าเราจะเดินออกจากปัญหาได้อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหา ซึ่งคิดว่ามี 5 ปัจจัย คือ 1. กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนกับพรรค จัดให้มีการทำไพรมารีโหวต แต่วิธีการในปัจจุบันไม่เอื้อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเซตซีโรพรรคการเมือง แบบนี้เป็นการตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนออก การจะปราบโกงได้ ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองลงไปดำเนินการแข่งขันกันด้วยนโยบาย จะได้ไม่เกิดการซื้อสิทธิขายเสียง แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ทำแบบนั้น จากนี้ต้องมาดูกันว่ายังจะมีการใช้ระบบไพรมารีโหวตอยู่หรือไม่ เพราะเห็นข่าวว่าจะมีการยกเลิก
    2.ตัวพรรคการเมืองและนักการเมืองต้องปรับตัวต้องพัฒนาตัวเองออกจากวังวนที่เขาตราหน้าว่าซื้อสิทธิขายเสียง 3.กฎหมายและกติกาต่างๆ มีหลายกติกาที่พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเรามีปัญหาความขัดแย้งจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่เที่ยงธรรม 4.การดำเนินงานของ กกต. และ 5.การใช้อำนาจรัฐ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งหน้า เราจะเจอปัญหาการใช้อำนาจรัฐ ผ่านรัฐราชการ ซึ่งจะเป็นที่หนักใจของ กกต. ซึ่งตนเห็นใจ มีบางองค์กรถูกเซตซีโร บางองค์กรไม่ถูกเซต ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระเหมือนกัน ภายใต้กฎหมายเดียวกัน นี่คือการใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซง เช่นเดียวกับการใช้อำนาจพิเศษปลดกรรมการบางท่าน ซึ่งอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง เป็นการสร้างความหนักใจให้แก่ผู้ใช้กฎหมาย
    "เมื่อวันนี้ก้าวเข้าสู่บรรยากาศของการเลือกตั้ง คนเป็นห่วงในเรื่องของการใช้อำนาจที่อาจทำให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม เพราะวันนี้ผู้เขียนกติกาบอกจะไม่เป็นกรรมการแล้ว แต่จะลงมาเป็นผู้เล่น ทั้งที่ยังเป็นผู้ที่ยังมีอำนาจในการตัดสิน แบบนี้จะเที่ยงธรรมได้จริงหรือไม่  เป็นความผิดปกติ และไม่เป็นไปตามครรลอง และไม่เป็นไปตามหลักการ การเลือกตั้งครั้งหน้าจึงจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่หนักหน่วงสำหรับคนจัดการเลือกตั้ง กกต.ควรคุมทุกอย่างได้ แต่วันนี้ท่านกลับถูกคุมด้วยมาตรา 44 ด้วยศักยภาพและคุณธรรม คุณงามความดี กกต.ชุดนี้จะสามารถจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ท่านจะเป็นฮีโร่ช่วยชาติ แม้บางอย่างท่านจะไม่สามารถกำกับดูแลได้" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว 
ปธ.กกต.จ่อถก"วิษณุ"
     ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า กกต.สามารถดำเนินการเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งไปได้ก่อนที่ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.จะมีผลใช้บังคับว่า ขอไปศึกษากฎหมายอีกที แต่โดยปกติต้องรอให้ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.มีผลใช้บังคับก่อน จึงจะแบ่งเขตเลือกตั้งได้ แต่ขณะนี้เลขาธิการ กกต.ได้สั่งไปยังสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทั่วประเทศให้มีการแบ่งเขตไว้ก่อนแล้ว แต่เหลือขั้นตอนสำคัญที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 27 (3) กำหนดไว้
    “ต้องหารือกับนายวิษณุก่อน ตอนนี้ก็ได้มีการประสานคุยกันอยู่ ก่อนหน้านี้ เลขาฯ กกต.ก็มีแนวความคิดจะขอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งไปก่อนที่ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.จะมีผลใช้บังคับ     เพราะไม่อยากให้พรรคการเมืองเกิดความฉุกละหุก แต่ทาง กกต.ก็ยังเห็นว่าควรศึกษากฎหมายให้ชัดเจนว่ามีข้อกฎหมายใดที่เปิดช่องให้เราสามารถดำเนินการไปก่อนได้หรือไม่ เพราะเราเกรงว่าถ้าเราไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมือง ตามมาตรา 27 (3) และแบ่งเขตไปเลย เกิดเลือกตั้งแล้วมีนักเลงดีไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า กกต.ทำขัดกฎหมาย ก็อาจจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมีผลเสียไปทั้งหมด” นายศุภชัยกล่าว 
    นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับพรรคการเมืองเก่า เช่น การตั้งสาขากับการเลือกกรรมการบริหารพรรคที่ยังลักลั่นกันอยู่ ว่าเรารับทราบปัญหามาหลายเดือนแล้ว หลังจากนี้ รัฐบาล กกต. รวมถึง กรธ. จะหาทางออกร่วมกัน ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดูรายละเอียดอยู่ ซึ่งทางออกจะมีมาก่อนที่ คสช.จะปลดล็อก
    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าพรรคการเมืองเดี๋ยวนี้ไม่ต้องการตั้งสาขาพรรคแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดให้สาขาพรรคต้องมีสมาชิกอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป แต่ต่อไปนี้จังหวัดหนึ่ง แต่ละพรรคจะหาสมาชิกเพียง 100 คน เวลาทำไพรมารีโหวตสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ก็ใช้ 100 คนนี้ให้มาประชุมกันได้เกินกึ่งหนึ่ง คือ 51 คน มาทำไพรมารีโหวตว่าจะเอาคนไหนลงสมัคร ส.ส.ในจังหวัดนั้น ซึ่งอย่างนี้ไม่ใช่การมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่ใช่การปฏิรูป แต่เมื่อกฎหมายเป็นอย่างนี้ เราต้องทำตัวให้สอดคล้อง คือไม่ต้องตั้งสาขาแล้ว
    นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอชื่อหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 อย่างแน่นอน ขณะที่ชื่ออันดับ 2 และ 3 ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมใหญ่ของพรรค ทั้งนี้ ในใจของตนอยากให้มีชื่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคเข้าไปด้วย เพราะประชาชนยังยอมรับนายชวนอยู่มาก และคิดว่าไม่ทำให้เสียคะแนน แต่นายชวนอยากให้เป็นตามระบบ
    วันเดียวกัน กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยนายรังสิมันต์ โรม, นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว และ น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำ พร้อมประชาชนจำนวนหนึ่ง รวมตัวกันที่ฟุตปาธถนนหน้าตึกสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เพื่อจัดกิจกรรมเดินเท้าไป สน.นางเลิ้ง ให้กำลังเพื่อนที่จะถูกนำตัวไปศาลขออำนาจฝากขังในคดีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21-22 พ.ค.ที่ผ่านมา
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีทหาร-ตำรวจจำนวนหนึ่งตั้งแถวสกัดที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่ให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเดินเท้าบนฟุตปาธอย่างสงบ ทำให้ประชาชนเดินอ้อมเข้าซอยเพื่อลัดเลาะไปเข้าด้านหลัง สน.นางเลิ้ง และตะโกนเสียงปลุกใจตลอดการเดินเท้าว่า “เลือกตั้ง ปีนี้ๆๆ” 
    นายรังสิมันต์กล่าวว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งต้องการเดินเท้าจากหน้ายูเอ็นไปให้กำลังใจเพื่อน 62 คนที่ สน.นางเลิ้ง ซึ่งถูกดำเนินคดี และในจำนวนนี้ 47 คนจะส่งตัวไปศาลเพื่อขออำนาจฝากขัง ส่วนทิศทางการเคลื่อนไหวนั้น คนอยากเลือกตั้งยึดโรดแมปเรียกร้องการเลือกตั้ง เพราะต้องการสื่อสารกับสังคม กับคนไทยทุกคน ซึ่งสังคมเริ่มถกเถียงให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นแล้ว แต่มีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่อยากให้มีเลือกตั้ง
    ขณะที่ น.ส.ณัฏฐากล่าวว่า สิ่งที่ต้องการคือให้ คสช.ปลดล็อกการละเมิดสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพราะเป็นสิ่งแรกที่จะสะท้อนถึงความพร้อมของ คสช. หากไม่มีการขยับจาก คสช.แล้ว กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจะต้องขยับต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งครั้งนี้ ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์การถูกดำเนินคดีของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งด้วย โดยเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากสถานทูตเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยเดินทางไปสังเกตการณ์กรณี ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง คณะทำงานสำนักเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ ม.14 (2) ข้อหานำเข้าข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ และข้อหายุยงปลุกปั่น ตาม ม.116. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"