โควิดดันโซเชียลคอมเมิร์ซโต เทรนด์ไลฟ์สดขายสินค้ามาแรง 


เพิ่มเพื่อน    

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว การสื่อสารหรือการค้าขายสามารถดำเนินการไปได้ทั่วโลกในระยะเวลาอันสั้นๆ ดังนั้นจึงผลักดันให้การค้าออนไลน์มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องทุกปี  
    

ซึ่งข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ระบุว่า ผู้บริโภคถูกบังคับให้คุ้นชินและต้องปรับตัวกับการซื้อของใช้ประจำวันและสินค้าอื่นๆ ผ่านทางออนไลน์แทน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเมื่อการซื้อของออนไลน์กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของผู้บริโภคแล้วนั้น ส่งผลต่อผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวโดยหันมาทำอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) เพื่อรองรับความต้องการด้านนี้ ทำให้มูลค่าเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด
  

 และเชื่อมั่นว่าความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์นั้น จะกลายเป็นช่องทางการซื้อที่สำคัญมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค แม้เป็นยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจของ Tofugear ผู้ให้บริการด้าน Digital Solution สำหรับร้านค้าปลีก ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว 45% ของผู้บริโภคทั่วเอเชียวางแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายออนไลน์แทนการใช้ช่องทางการค้าปลีกแบบเดิม
  

 เช่นเดียวกับ นายชนนันท์ ปัญจทรัพย์ ผู้จัดการทั่วไป ช้อปไลน์ ประเทศไทย ผู้ให้บริการระบบจัดการร้านค้าบนอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซครบวงจร เปิดเผยว่า มีผลการสำรวจว่าการทำโซเชียลคอมเมิร์ซจะผ่านช่องทางของเฟซบุ๊ก (Facebook) 58% รองลงมาเป็นไลน์ (Line) 35% ตามมาด้วย อินสตาแกรม (Instagram) 21% และทวิตเตอร์ (Twitter) 11% ตามลำดับ ส่วนยอดการใช้จ่ายจะเฉลี่ย 1,000-3,000 บาทต่อคน มีการใช้เวลาผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน และช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการไลฟ์จำหน่ายสินค้าคือ 19.00 น.
    

สำหรับโซเชียลคอมเมิร์ซที่เติบโตสูง ทำให้มูลค่ารวมของยอดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับยอดขายไตรมาสแรก เติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 160% และจำนวนคำสั่งซื้อก็เติบโตเพิ่มขึ้น 210% จำนวนการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้น 300% รวมทั้งจำนวนความคิดเห็นเพิ่มขึ้น 283% 
    

โดยในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซจะมีออเดอร์สูงสุดในวันจันทร์ และออเดอร์สูงสุดในช่วงเวลา 20.00 น. ส่วนภาพรวมยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 160% จำนวนคำสั่งซื้อเติบโต 180% จำนวนการถ่ายทอดสดเติบโต 70% และจำนวนความคิดเห็นเติบโตเพิ่มขึ้น 125% โดยเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซจะมีออเดอร์สูงสุดในวันพุธ และมีการสั่งซื้อสูงสุดช่วงเวลา 22.00 น.
  

 นายชนนันท์ กล่าวว่า ได้เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 8 เดือนแล้ว และมีการขยายแฟลตฟอร์มให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าในประเทศไทย และฐานลูกค้าในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ในครึ่งปีหลังจะขยายบริการใหม่รองรับตลาดเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย โดยเฉพาะโซเชียลคอมเมิร์ซที่ขยายตัวสูงมาก จึงเตรียมเปิดให้บริการฟีเจอร์ใหม่ 2 รายการ ได้แก่ LIVE Bidding เป็นฟีเจอร์การประมูลสินค้าอัตโนมัติ และ Golden Minutes นาทีทอง สำหรับร้านค้าที่จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายกับลูกค้า เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและความน่าสนใจให้แก่ลูกค้า
  

 "ผลของโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่งสำคัญทำให้ผู้บริโภคคนไทยก้าวเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซมีการขยายตัวสูง โดยประเมินว่าภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยในปี 2564 จะมีการขยายตัว 15-20% สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้งานโซเชียลคอมเมิร์ซในประเทศไทยเช่นกัน และเทรนด์ที่มาแรงคือการไลฟ์สดเพื่อจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีความสอดคล้องกับลูกค้าคนไทยที่อยากเข้ามาดูเพื่อความสนุกสนานและมีส่วนร่วมกับผู้ขายสินค้า ทำให้ประเมินว่าจากการขยายบริการใหม่อย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการของ SHOPLINE เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก" นายชนนันท์ กล่าว
    

นายชนนันท์ กล่าวว่า สำหรับแผนการขยายตลาดของบริษัทช่วงครึ่งของปีหลัง 2564 จะเดินหน้าแฟลตฟอร์มการให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงการขยายบริการให้แก่ร้านค้าออนไลน์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่การใช้งานและบริการหลังการขาย พร้อมจัด Webinar และ Seminar เสริมองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการในทุกเดือน ซึ่งตามแผนงานจะทำให้ ช้อปไลน์ ติดอันดับหนึ่งในสามของ Smart Commerce Enable ไทยภายในปีนี้ 
    

ด้าน นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า โซเชียลคอมเมิร์ซเป็นมากกว่าเทรนด์ จากข้อมูลพบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยที่มีมูลค่า 2.7 แสนล้านบาท สัดส่วน 38% มาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและแบรนด์ดอทคอม ที่เหลือ 62% มาจากการค้าขายแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ และเป็นไปได้ว่าจะเพิ่มไปถึง 70% ภายใน 3 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับโลกปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 19.8% ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันไลน์กว่า 47 ล้านคน บัญชีผู้ใช้งานไลน์โอเอมีอยู่ประมาณ 4 ล้านบัญชี จากจำนวนดังกล่าว 40% เป็นการใช้เพื่อการซื้อขาย
  

 "แพลตฟอร์มแชตมีจุดต่างที่สามารถสร้างวงจรความไว้ใจ เอื้อให้ผู้ประกอบการสร้างตัวตน รวมถึงความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าก่อนที่จะซื้อสินค้า ขณะเดียวกันสร้างความไว้วางใจมากขึ้น อันนำไปสู่การซื้อสินค้าครั้งต่อไป จนเกิดการซื้อซ้ำ บอกต่อ และเป็นลูกค้าประจำในที่สุด แตกต่างกับเวลาซื้อสินค้าจากอีมาร์เก็ตเพลสที่ไม่มีกระบวนการสร้างสัมพันธ์ ลูกค้ามองหาแค่ตัวเลขราคาที่พอใจ และเมื่อจบการซื้อขาย ลูกค้าส่วนมากจำไม่ได้ว่าซื้อจากร้านใด"
    

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์แชตคอมเมิร์ซไม่เพียงสร้างยอดขายให้เติบโตเท่านั้น แต่ยังสร้าง "Deep Connection" ให้กับแบรนด์ ให้ลูกค้าจดจำ พัฒนาไปสู่ความภักดีต่อแบรนด์ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"