ประท้วงจำคุกอดีตปธน.แอฟริกาใต้ลามจลาจลปล้นสะดมดับแล้ว72


เพิ่มเพื่อน    

เกิดความไม่สงบในหลายเมืองของแอฟริกาใต้ต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีจาค็อบ ซูมา โดนจำคุกแล้วผู้สนับสนุนประท้วงก่อความรุนแรง ก่อนบานปลายเป็นปล้นสะดมทำลายทรัพย์สิน ถึงวันพุธมีคนเสียชีวิตแล้ว 72 คน จลาจลกำลังกระทบการรับมือโควิด-19 และก่อความวิตกด้านการขาดแคลนอาหารและพลังงาน

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงควบคุมสถานการณ์ในเมืองเคาเต็งเมื่อวันอังคาร (Ihsaan Haffejee/Anadolu Agency via Getty Images)

    รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ 14 ก.ค. กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังเผชิญโควิด-19 ระลอกที่สามอย่างรุนแรง เริ่มต้นหลังจากอดีตประธานาธิบดีซูมา วัย 79 ปี เริ่มรับโทษจำคุก 15 เดือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ว่าเขาขัดคำสั่งศาลโดยไม่ยอมมอบหลักฐานแก่คณะกรรมการสอบสวนการคอร์รัปชันที่กล่าวหาว่ามีการทุจริตในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนาน 9 ปีถึงปี 2561 มูลนิธิของเขากล่าวเมื่อวันอังคารว่า ความรุนแรงจะดำเนินต่อไปจนกว่าซูมาจะได้รับการปล่อยตัว

    ศูนย์การค้าและโกดังสินค้าโดนปล้นสะดมและวางเพลิงในหลายเมือง ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดควาซูลู-นาตัล บ้านของซูมา และนครโจฮันเนสเบิร์ก ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงิน กับจังหวัดเคาเตงโดยรอบ เมื่อคืนวันอังคาร ความวุ่นวายยังลามไปอีก 2 จังหวัด คืออึมพูมาลังกา ที่อยู่ทางตะวันออกของเคาเตง และนอร์เทิร์นเคป

    ข้อมูลของทางการเผยว่า ถึงวันพุธ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วุ่นวายรวมแล้ว 72 คน และมีคนโดนจับกุม 1,200 คน ผู้ก่อความวุ่นวายยังคงออกปล้นสะดมในวันพุธ แม้ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา จะสั่งการให้ส่งทหาร 2,500 นาย ช่วยเหลือตำรวจที่มีกำลังพลไม่เพียงพอรับมือสถานการณ์ อย่างไรก็ดี จำนวนทหารที่รัฐบาลส่งไปช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยยังนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ทหารมากกว่า 70,000 นายในการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์โควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว

    ภาพข่าวการปล้นสะดมในหลายเมืองที่สร้างความช็อกแก่ชาวแอฟริกาใต้จำนวนมาก เผยให้เห็นฝูงชนขโมยสินค้ากันอย่างสบายใจ ทั้งตู้เย็น, ทีวีขนาดใหญ่, เตาอบไมโครเวฟ, สินค้าแฟชัน และลังใส่อาหารและแอลกอฮอล์

    การปล้นสะดมที่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการคมนาคมในภูมิภาคโจฮันเนสเบิร์กและจังหวัดควาซูลู-นาตัลในภาคตะวันออกเฉียงใต้ กำลังส่งผลสะเทือนถึงสินค้าและบริการทั่วประเทศ ที่เมืองท่าเดอร์บัน ประชาชนจำนวนมากต่อแถวรอซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและรอเติมน้ำมันตั้งแต่ตี 4 ทันทีที่สิ้นเวลาเคอร์ฟิวคุมโรคระบาด

    คืนก่อนหน้านั้น โรงกลั่นน้ำมัน SAPREF ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ ประกาศปิดโรงกลั่นในเมืองเดอร์บันชั่วคราว เนื่องจาก "เหตุสุดวิสัย" สืบเนื่องจากการก่อความไม่สงบและการขัดขวางเส้นทางขนส่งน้ำมันทั้งภายในและนอกควาซูลู-นาตัล การปิดโรงกลั่นกระทบต่ออุปทานน้ำมันของประเทศราว 1 ใน 3

    การรับมือกับโรคระบาดก็ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อไวรัสมากที่สุดในทวีปนี้ที่ 2.2 ล้านคน เสียชีวิตแล้ว 65,142 คน เครือข่ายโรงพยาบาลแห่งชาติ (เอ็นเอชเอ็น) ที่เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลรัฐ 241 แห่ง กล่าวว่า ออกซิเจนและยาใกล้จะหมดแล้ว เนื่องจากการยาและออกซิเจนส่วนใหญ่นำเข้าผ่านเมืองท่าเดอร์บัน ซึ่งรวมถึงอาหารด้วย

    บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากบริการรถโดยสารและรถไฟถูกระงับเพราะเหตุการณ์รุนแรง องค์กรแพทย์ไร้พรมแดนเผยเมื่อวันพุธด้วยว่า แพทย์หลายคนไม่สามารถเข้าพื้นที่ที่เกิดความสงบขณะเดียวกัน ผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์รุนแรงยิ่งเพิ่มภาระแก่ระบบสาธารณสุขที่ตึงเครียดอยู่แล้วด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"