ยกระดับล็อกดาวน์! ‘บิ๊กตู่’สั่งเร่งหารือหลัง5วันยอดพุ่ง/ติดเชื้อใหม่9,692รายตาย67


เพิ่มเพื่อน    

"บิ๊กตู่" พ้นกักตัวคัมแบ็กทำเนียบฯ วันแรก ถก ศบค.สั่งยกระดับล็อกดาวน์เข้มขึ้นอีก จ่อปิดกิจการเพิ่ม  หลังสถานการณ์ยังวิกฤติ พบ ปชช.ย่อหย่อนฝ่าฝืน หมอหวั่นทะลุหลักหมื่นเอาไม่อยู่แน่ สธ.เร่งหารือ ศบค.ชุดเล็ก 1-2 วันก่อนชงชุดใหญ่เคาะ ขณะที่ติดเชื้อใหม่นิวไฮ 9,692 ราย ตายเพิ่ม 67 คน  อย.อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจแอนติเจนแล้ว ซื้อได้ตามสถานพยาบาล-ร้านขายยา นายกฯ ส่งทีมเสนารักษ์ 100 ชุด เคาะประตูบ้านลุยตรวจโควิด กทม.-ปริมณฑล 
    เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม เวลา 08.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันแรกหลังกักตัวตั้งแต่วันที่ 5-15 ก.ค. และทำการตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง ซึ่งมีผลเป็นลบ ทั้งนี้ ทันทีที่เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ฟังสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) จากนั้นเวลา 09.30 น. นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค. นัดพิเศษ
    พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,692 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 9,062 ราย จากระบบเฝ้าระวังและบริการฯ 6,733 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,329 ราย ติดเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง 615 ราย จากต่างประเทศ 15 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 381,907 ราย หายป่วยเพิ่ม 5,730 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสม 271,857 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 106,951 ราย อาการหนัก 3,367 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 847 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 67 ราย เป็นชาย 34 ราย หญิง 33 ราย อยู่ในกทม. 33 ราย, สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 5 ราย, นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา สงขลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย, จ.เชียงราย เพชรบุรี ตราด นราธิวาส ร้อยเอ็ด สกลนคร อำนาจเจริญ และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 3,099 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 2,195 ราย, สมุทรสาคร 653 ราย, สมุทรปราการ 607 ราย, ชลบุรี 530 ราย, นนทบุรี 456 ราย,  ฉะเชิงเทรา 374 ราย, ยะลา 264 ราย,  ปทุมธานี 243 ราย, นครปฐม 202 ราย และปัตตานี 191 ราย 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในการประชุมศบค.วาระพิเศษ ได้มีการติดตามมาตรการในพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและเข้มงวด ช่วง 5 วันที่ผ่านมา เพื่อประเมินการควบคุมการแพร่ระบาด โดยศูนย์ปฏิบัติการการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รายงานว่ามีการกระทำผิด 217 ราย เป็นการฝ่าฝืนมาตรการออกนอกเคหสถาน 158 ราย ฝ่าฝืนการห้ามรวมกลุ่ม 59 ราย ถูกดำเนินคดีไปทั้งสิ้น 45 ราย ส่วนที่เหลือเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ส่วนหนึ่งมาจากการแจ้งเบาะแสของประชาชนผ่านทาง 191 และกองบัญชาการกองทัพไทย มีผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 102 เหตุ และแจ้งมั่วสุม 92 เหตุ โดยทางศปม.ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะทำงานอย่างเข้มงวด และขอความร่วมมือให้ประชาชนทำตามมาตรการ ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้รายงานว่ายังคงมีการเดินทางของประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการออกนอกพื้นที่สีแดงเข้มด้วย สอดคล้องกับการรายงานของกรมควบคุมโรคที่ยังพบผู้ติดเชื้อจากวงไพ่ที่เล่นกันหลังกระบะรถยนต์ และมีการย่อหย่อนมาตรการไม่สวมหน้ากากขณะเดินทางข้ามจังหวัด จากรายงานดังกล่าวทำให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่มีบางส่วนไม่สามารถทำตามมาตรการได้ 
ยกระดับล็อกดาวน์เข้มขึ้น
    "จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ประชุมเป็นห่วง และเห็นว่าอาจต้องปิดกิจการบางอย่างมากขึ้นมากที่สุด และอาจต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น จากสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เปิดกิจการกิจกรรมถึงเวลา 20.00 น. เพื่อให้มีเวลาเดินทางกลับก่อนเวลา 21.00 น. ที่กำหนดห้ามออกนอกเคหสถาน ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ที่ประกาศไปนั้นเป็นไปตามสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันเป็นการล็อกดาวน์เป็นพื้นที่เฉพาะใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่เมื่อทบทวนมาตรการช่วง 5 วัน ยังพบว่าการบังคับใช้มาตรการยังน่าเป็นห่วง นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.ขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาทบทวนมาตรการสาธารณสุข เพื่อเสนออย่างเร่งด่วน ขอให้ประชาชนและสื่อติดตามอาจจะมีการปรับมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นจากนี้" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุ
    นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการควบคุมการแพร่ระบาดในประเด็นการตรวจหาเชื้อที่อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุการตรวจหาเชื้อเชิงรุกวันละ 7-8 หมื่นคนยังไม่เพียงพอ จึงนำไปสู่การอนุญาตให้ใช้ชุดตรวจแอนติเจนเทสต์เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด แต่มีความเป็นห่วงเรื่องความแม่นยำ จึงมีข้อสรุปว่าถ้าผลเป็นบวกจะให้เข้าสู่บริการสาธารณสุข หากผลเป็นลบ แต่บุคคลดังกล่าวเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะให้ตรวจซ้ำใน 3-5 วัน 
    โดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้เน้นย้ำว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขอให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือซื้อจากร้านขายยาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ขายในร้านสะดวกซื้อ และหากใครสั่งซื้อทางออนไลน์ ขอให้ระมัดระวัง เพราะซื้อที่ร้านขายยาจะได้รับคำแนะนำวิธีการใช้และวิธีการดูแลตัวเองจากเภสัชกร ส่วนโรงงานหรือสถานประกอบการจะซื้อไปตรวจบุคลากรของตัวเองนั้น รมว.แรงงานระบุว่า สถานประกอบการที่มีแรงงานเกิน 50 คน ตามกฎหมายจะมีสถานพยาบาลคอยดูแลอยู่ ซึ่งรับไปดำเนินการให้สถานพยาบาลเข้ามาตรวจ
    สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านนั้น มีการทดลองมาตั้งแต่เดือน พ.ค. จาก รพ.รามาธิบดี, รพ.ราชวิถี และ รพ.จุฬาลงกรณ์ เกิน 1,000 ราย ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงนำมาตรการนี้มาใช้ ซึ่งประชาชนที่จะแยกกักตัวที่บ้านนั้น จะได้รับอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจน มีการส่งอาหาร ยารักษาโรค ฟ้าทะลายโจร และฟาวิพิราเวียร์ รวมทั้งมีการสอบถามอาการจากบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนศูนย์แยกกักในชุมชนนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการ 21 ศูนย์ มีเตียงรองรับ 2,950 เตียง ขณะที่ในโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน หากมีศักยภาพจะให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ในที่ประชุม นายกสภาการแพทย์แผนไทย และอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้รายงานการใช้ยาฟ้าทะลายโจรว่ามีผลที่น่าพอใจ จะมีการขยายนำไปใช้ต่อ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ศบค.วาระพิเศษ ส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันที่ยังมีจำนวนสูงติดต่อกันพบว่ายังมีคนที่ฝ่าฝืนมาตรการ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดในชุมชน นายกฯ ขอให้คณะแพทย์และกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาร่วมกันจะล็อกอย่างไร เพราะยังมีการเคลื่อนย้ายกันอยู่ รวมถึงแพทย์ใน ศบค.เป็นห่วงว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้นหลักหมื่นจะเอาไม่อยู่ จึงอยากให้ทุกฝ่ายเร่งควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ ต้องควบคุมพื้นที่ให้เบ็ดเสร็จ โดยนายกฯ ขอให้ทุกฝ่ายทำงานประสานกัน ทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และผู้เกี่ยวข้อง โดยเน้นให้ สปสช.ใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ตรวจคัดกรองเชิงรุก พร้อมระบุว่า "เข้าใจสถานการณ์ดี และเข้าใจทุกคน แต่ขอให้ใจเย็นๆ กันหน่อย ขอให้ฟังหมอ การสื่อสารขอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ให้เป็นหน้าที่หมอและ ศบค.เท่านั้นเป็นคนให้ข่าว ประชาชนจะได้ไม่สับสน" 
สธ.เร่งถก 1-2 วันก่อนชง ศบค.
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมได้มีการถกประเด็นการปิดประเทศในหลายระดับ เช่น ปิดกิจการเสี่ยงทั้งประเทศ หรือฟูลล็อกดาวน์ หรือจะปิดแบบ 3 ใน 4 หรือครึ่งประเทศ ในจุดที่มีตัวเลขติดเชื้อสูง หรืออีกทางหนึ่งคือล็อกและซีล 10 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยในที่ประชุมมีการยกตัวอย่างว่าจะปิดกิจการ-กิจกรรมที่เสี่ยงทั้งหมด อาจจะต้องเปิดกิจการที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร แบบวันเว้นวัน หรือระบุวันให้คนออกจากบ้านเฉพาะจันทร์-พุธ-ศุกร์ เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการควบคุมโรค ควบคุมการเดินทางออกนอกบ้านเด็ดขาด หรือออกให้น้อยที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะหารือในรายละเอียดกับที่ปรึกษาด้านการแพทย์ แล้วจะมีการจัดทำมาตรการเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนมาตรการเยียวยาประชาชน และกิจการที่จะต้องถูกปิด ก็จะมีการนำเสนอประกอบด้วย โดยรัฐบาลตั้งเป้าลดจำนวนผู้ติดเชื้อภายในช่วงล็อกดาวน์ให้เหลือ 1-2 พันต่อวัน
    มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการไปยังเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเสนารักษ์  หรือเจ้าหน้าที่ผ่านการอบรมจากสถานพยาบาล ร่วมกับ กทม. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 100 ชุด ลงพื้นที่ตรวจโควิดเชิงรุก โดยใช้ Rapid Antigen Test ให้กับประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล แบบเคาะประตูบ้าน หากพบผู้ป่วยจะเรียกรถนำส่งโรงพยาบาลสนามทันที แต่หากเป็นกลุ่มเสี่ยง บุคคลใกล้ชิด แจกจ่ายยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ และแนะนำข้อปฏิบัติ เพื่อลดผู้ป่วยสีเขียว แบ่งเบาภาระสถานพยาบาล และโรงพยาบาลสนามให้รับแต่ผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง โดยเริ่มลงพื้นที่ปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค.เป็นต้นไป 
    ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนมาตรการหลายด้าน โดยมีความเห็นชอบให้ ศบค.ชุดเล็กไปประชุมปรับมาตรการให้มีความเข้มข้นขึ้น ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น จะต้องหารือในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อเร่งเสนอแผนต่อ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตามมาตรการจะมีความเข้มข้นขึ้น แต่ยังคงเป็นไปในแนวทางเดิม ตอนนี้ขอเวลาให้คณะทำงานได้ปรึกษาหารือร่วมกันก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจน
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)​ เปิดเผยว่า ได้อนุมัติขึ้นทะเบียนชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง จำนวน 4 รายการ ซึ่งคาดว่าผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะเริ่มกระจายชุดตรวจไปถึงมือประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ค. โดยจะวางจำหน่ายในสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และร้านขายยาที่มีเภสัชกร ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบชุดตรวจที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ได้ทางเว็บไซต์กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ และ อย. ทั้งนี้ ไม่ควรซื้อชุดตรวจผ่านสื่อออนไลน์หรือแหล่งอื่น สำหรับผู้ประกอบการที่จะโฆษณาจำหน่ายชุดตรวจต้องได้รับอนุญาตจาก อย.ก่อน หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ที่รัฐสภา นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณติดโควิด-19 และเข้ามาร่วมประชุมกับ กมธ.ว่า จากการสอบสวนโรค พบไทม์ไลน์ว่ามาประชุมจริงตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. แต่ยังไม่มีอาการและพบว่ามีอาการวันที่ 12 ก.ค. จึงขอให้กักตัวผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรมฯ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมาทั้งสิ้น 39 คน โดยในวันที่ 17 ก.ค. จะให้เจ้าหน้าที่มาตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว
    นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เรือนจำและทัณฑสถานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 615 ราย หายป่วยเพิ่ม 39 ราย รวมยังมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 2,381 ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตติดต่อกัน 6 วันแล้ว
    ที่ จ.ปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานี ได้ออกคำสั่งกำหนดให้ตลาดไท อ.คลองหลวง เป็นพื้นที่ควบคุมโรคติดต่อสูงสุดและเข้มงวด พร้อมห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เข้า-ออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. เนื่องจากพบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เป็นคลัสเตอร์ในพื้นที่ตลาดไท และมีการกระจายเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด  
    ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่  607  ราย เสียชีวิต 5  ราย รวมยอดสะสม 8,674 ราย เสียชีวิตสะสม 37 คน”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"