Breakthrough ของโควิด และ Ignorance ของสื่อไทย


เพิ่มเพื่อน    

        การแข่งขันเบสบอลเมเจอร์ลีกสหรัฐเกมเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ระหว่างเจ้าบ้าน “นิวยอร์ก แยงกีส์” กับ “บอสตัน เรดซ็อกซ์” ผู้มาเยือนถูกเลื่อนการแข่งขันออกไปตามรายงานข่าวของนิวยอร์กไทมส์เมื่อวันศุกร์ เพราะก่อนเกมจะเริ่มมีการตรวจพบผู้เล่นของแยงกีส์ติดโควิด 3 ราย และมีผลตรวจแรพิดเทสต์เป็นบวกอีก 3 ราย อันอาจทำให้ผู้อื่นในทีมติดโควิดตามมาอีกหลายคน

            ผู้เล่นทั้ง 3 รายที่มีผลบวกยืนยันล้วนได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว เช่นเดียวกับอีก 9 คนในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีมงานผู้ฝึกสอน โดยนิวยอร์ก แยงกีส์ ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว 85 เปอร์เซ็นต์ของทั้งทีม

            ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยังติดเชื้อ ภาษาแพทย์เรียกว่า “Breakthrough” หมายถึงการที่เชื้อไวรัสสามารถเล็ดลอดการดักจับของวัคซีนไปได้ ในกรณีของวัคซีนโควิด-19 ให้นับหลังจากฉีดครบโดสแล้ว 14 วัน

                “ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ” หรือ CDC ได้ประกาศในเว็บไซต์ทางการว่าจะเลิกรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ Breakthrough ที่มีอาการไม่รุนแรง (mild cases) นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม โดยจะนับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาลและผู้ที่เสียชีวิตเท่านั้น (only hospitalized or fatal cases) ให้เหตุผลว่าเพื่อคุณภาพของข้อมูลที่รวบรวมเกิดผลสูงสุดต่อการรักษาและความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน

            การเปลี่ยนแปลงของ CDC ดังกล่าวสื่อมวลชนหลายรายบอกว่าเป็นการประกาศอย่างเงียบๆ และทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงการแพทย์พอสมควร โดยเฉพาะประเด็นที่จะทำให้พลาดการเรียนรู้ประสิทธิภาพในโลกความเป็นจริงของวัคซีนต่างชนิดกัน รวมถึงข้อมูลที่รวบรวมทั้งหมดอาจช่วยบ่งชี้ทิศทางของการระบาดในหลายแง่มุมได้

            อาลี มอคดาด นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเคยอยู่กับ CDC ในฐานะนักวิทยาสตร์ผู้เชี่ยวชาญหลายปี กล่าวตำหนิว่า เรากำลังปิดตาขับรถยนต์ ซึ่งจะพลาดไฟสัญญาณต่างๆ จำนวนมาก

                “CDC คือหน่วยงานเฝ้าระวัง แต่คุณจะเฝ้าระวังได้อย่างไรด้วยการเลือกตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง แล้วละเลยสิ่งที่เหลือทั้งหมด”

            ล่าสุดเว็บไซต์ cdc.gov นำเสนอว่าจำนวนผู้ติดเชื้อ Breakthrough ที่รายงานมาจาก 48 มลรัฐและดินแดน นับตั้งเดือนพฤษภาคมจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม นับเฉพาะกรณีที่เข้าโรงพยาบาลและ/หรือเสียชีวิต มีรวมกันทั้งสิ้น 5,186 คน ประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้าโรงพยาบาล 4,909 คน (ไม่นับรวมจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตที่บ้าน) เสียชีวิต 988 คน (ทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล) แต่ก็ละไว้ว่ามี 255 คนที่อาจไม่ได้เสียชีวิตเพราะโควิดเป็นสาเหตุ เพียงแต่พบเชื้อโควิดร่วมด้วยเท่านั้น

            เท่ากับในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมามีอย่างน้อย 733 คนที่เสียชีวิตจากโควิด แม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่ก็ต้องถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ฉีดวัคซีนโดสครบแล้ว โดยข้อมูลในช่วง 4 เดือนแรกของปี มีกรณี Breakthrough ทั้งสิ้น 10,262 ราย เสียชีวิต 160 คน จนถึงเวลานี้สหรัฐฉีดวัคซีนครบโดสแล้วประมาณ 157 ล้านคน ใช้วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ในสัดส่วน 96 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่า CDC จะเลิกรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบโดสกรณีอาการไม่หนักไปแล้ว แต่หน่วยงานสาธารณสุขระดับมลรัฐยังคงนับและรายงานอยู่

            Boston Herald สื่อเก่าแก่ของเมืองบอสตันรายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมว่าในมลรัฐแมสซาชูเซตส์จนถึงวันที่ 19 มิถุนายนมีผู้ฉีดครบโดสแล้ว 4.1 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อแบบ Breakthrough 3,907 คน เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการหนัก 216 คน ในจำนวนนี้มี 52 คนที่เสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีก 19 คนเสียชีวิตที่บ้าน และนับเฉพาะปีนี้มีผู้เสียชีวิตรวมในมลรัฐ 5,057 คน ผู้เสียชีวิตแม้ฉีดครบโดสจำนวน 71 คน จึงยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

            จากข่าวเดียวกัน “ทอดด์ เอลเลอริน” ผู้อำนวยการกองโรคติดเชื้อแห่ง South Shore Health กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือผู้ที่ไม่รับวัคซีนมีความเสี่ยงเพิ่มที่จะกลายเป็นเหมือนโรงงานผลิตเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เพิ่มอันตรายให้พวกเขาเอง และเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ไปยังผู้อื่นอีกด้วย

            ล่าสุด NBC Boston รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบบ Breakthrough ในมลรัฐนี้เพิ่มเป็น 79 รายแล้ว คิดเป็น 1.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อกรณี Breakthrough และ 0.0019 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วทั้งมลรัฐประมาณ 4.2 ล้านคน

            เว็บไซต์ข่าว wdsu.com ในเครือ NBC รายงานเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมว่า ในมลรัฐลุยเซียนามีผู้ติดเชื้อแบบ Breakthrough แล้ว 1,563 ราย คิดเป็น 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ในจำนวนที่เล็ดลอดการป้องกันของวัคซีนมาได้นี้มีผู้เสียชีวิต 27 ราย อายุตั้งแต่ 28-93 ปี

            ดร.โจเซฟ แคนเตอร์ ผู้อำนวยการทางการแพทย์ของสำนักงานสาธารณสุขมลรัฐลุยเซียนา ให้ข้อมูลว่า สาเหตุการเสียชีวิตมาจากไวรัส ไม่ใช่ปฏิกิริยาต่อวัคซีน และเสียชีวิตเพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกัน 100 เปอร์เซ็นต์ เกิดกับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่เราก็ยังไม่เข้าใจว่าตายได้อย่างไร หรือร่างกายของพวกเขาอาจไม่ตอบสนองต่อวัคซีนอย่างเต็มที่

            เว็บไซต์ nbc12.com รายงานเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมว่าในรัฐเวอร์จิเนียมีผู้ติดเชื้อกรณี Breakthrough จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว 1,063 ราย เสียชีวิต 17 ราย อย่างไรก็ตามการติดเชื้อแบบ Breakthrough ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

 

**********************

 

            จะเห็นได้ว่า ข่าวที่ผมยกมามีการนำเสนอตัวบ่งชี้หรือรายละเอียดเปรียบเทียบให้ชั่งน้ำหนักหากเป็นประเด็นเดียวกัน กล่าวคือ ถ้านำเสนอประเด็นคนติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน ก็ต้องมีรายละเอียดสัดส่วนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังไม่ติดเชื้อด้วย

            เท่าที่ทราบสื่อในสหรัฐจะไม่ค่อยยกกรณีคนติดเชื้อแม้ฉีดวัคซีนครบโดสมานำเสนอในแง่โจมตีฝ่ายรัฐ หรือนำเสนอให้ตกใจ และไม่นำกรณีใดกรณีหนึ่งมาเล่นเป็นข่าวใหญ่โต หากมีก็เพียงเสนอเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งดูเหมือนว่าสื่อมวลชนบ้านเรา ประเภทสื่อมีวาระซ่อนเร้น สื่อขายตัว สื่อกำไลข้อเท้า จะไม่ค่อยเข้าใจ

            ยกตัวอย่างข่าวจาก abc7news.com วันที่ 13 กรกฎาคม ชายคนหนึ่งนาม “ฌอน ฟรุต” และภรรยาเก็บตัวจากการระบาดของโควิด-19 ด้วยความหดหู่อยู่เป็นเวลา 1 ปีกว่า ในที่สุดหลังจากฉีดวัคซีนครบโดสแล้วก็ตัดสินใจเดินทางจากบ้านที่ซานเบนิโต แคลิฟอร์เนีย ไปพักร้อนที่ลาสเวกัสโดยไม่กล้าขึ้นเครื่องบินเพราะยังหวั่นเกรงอิทธิฤทธิ์เจ้าโควิดอยู่ ทั้งคู่เลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ถึงที่นั่นก็ลองถอดหน้ากากออกท่องเที่ยวพักผ่อน พอกลับถึงบ้าน ฌอนและภรรยาตรวจพบเชื้อโควิด และได้แพร่ให้ลูก 2 คน อายุ 7 และ 9 ขวบเป็นที่เรียบร้อย

                “ผมไม่เคยปวดหัวเท่านี้มาก่อนในชีวิต ด้วยประวัติทางการรักษาของผม หากว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนผมคงไม่สามารถมายืนพูดกับคุณอย่างตอนนี้ได้หรอก” ฌอน ฟรุต ให้สัมภาษณ์ โดยตัวเขามีประวัติไซนัสอักเสบ และยอมรับว่า “ผมไม่ควรถอดหน้ากาก”

 

**********************

 

            กรณีการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน (Breakthrough) ที่ ศบค.นำเสนอตัวเลขสัดส่วนการติดเชื้อของบุคลากรในระบบสาธารณสุขของเราถือว่าอธิบายหัวข้อประสิทธิภาพของวัคซีนได้ชัดกว่ากรณีคนทั่วไป เพราะบุคคลเหล่านี้เผชิญความเสี่ยง (Exposure) มากกว่าผู้อื่น ถือเป็นกลุ่มตัวอย่างที่มีความน่าเชื่อถือสูง

            สื่อไทยจำนวนมากกลับนำเฉพาะตัวเลขบุคลากรที่ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน และนำเสนอเป็นกรณีๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนจงใจดิสเครดิตวัคซีนที่ใช้อยู่ในบ้านเรา ผู้รับสื่อ-รับสารก็เฮโลสาระพารุมด่ารัฐบาลด้วยถ้อยคำหยาบคาย เหมือนโลกออนไลน์คือบ่อขยะ และให้กำเนิดวลีฮิต “ซิโนแวค 2 เข็มยังติด”

            เว็บไซต์ The Strait Times ของสิงคโปร์ก็ไม่เว้น พาดหัวว่า Hundreds of Thai medical workers infected despite Sinovac Covid-19 vaccinations – บุคลากรสาธารณสุขไทยหลายร้อยติดโควิดแม้ฉีดซิโนแวคแล้ว (ซึ่งพาดหัวของเดอะสเตรทไทมส์เป็นพาดหัวเดียวกับสำนักข่าวรอยเตอร์)

            The Strait Times นำข่าวจากเว็บไซต์ของพวกเขาเองมาโพสต์ลงเพจเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าผู้เสพสื่อสิงคโปร์เขามีสติและปัญญา ไม่ได้รุมด่ารัฐบาลไทย ส่วนใหญ่คอมเมนต์ตำหนิสื่อของพวกเขา ผมขอยกตัวอย่างโดยแปลเป็นไทย ดังนี้

            - 600 เคส จากที่ฉีด 677,000 คน มันน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์นะ มันไม่ใช่เรื่องที่วิเศษเหรอ แต่พาดหัวข่าวทำให้ดูแย่ การรายงานควรมีความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้หน่อยไหม

            - ประสิทธิภาพ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้อนุมัติพาดหัวแบบนี้

            - นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเดอะสเตรทไทมส์จึงตกต่ำดำดิ่ง

            - มาดูข้อเท็จจริงกันแบบละเอียดนะ 1) ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นในหลายประเทศ บรรดาประเทศที่ใช้วัคซีนแบบ mRNA ประชาชนจะกล่าวโทษการกลายพันธุ์ของไวรัส แต่ประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีน จะกล่าวโทษประสิทธิภาพของวัคซีน 2) ในอินโดนีเซียซึ่งใช้วัคซีนจากจีน ตอนที่มีหมอเสียชีวิตกลายเป็นข่าวใหญ่โตและกระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย แต่พอมีคนตายในอเมริกาแม้ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว กลับไม่มีใครพูดถึงมันเลย ถามหน่อยว่าฉันอ่อนไหวเกินไปหรือเปล่า? หรือเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าสื่อและผู้คนมีอคติและสองมาตรฐาน

            นั่นคือตัวอย่างวุฒิภาวะของพลเมืองสิงคโปร์ ทำให้คำโปรยของโพสต์เดอะสเตรทไทมส์ดังกล่าวต้องใส่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไทยที่ฉีดวัคซีนครบโดสทั้งหมดลงไปด้วย และแก้เป็น 618 of the 667,348 Thai medical personnels who received 2 doses of Sinovac became infected

 

*********************

 

            เมื่อ 3 อาทิตย์ก่อน ผมเขียนเรื่องบริษัทไฟเซอร์วางแผนฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยผู้บริหารไฟเซอร์เคยกล่าวว่า เพื่อให้ได้รับการป้องกันอยู่ตลอด ผู้คนอาจต้องฉีดเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและคงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ และเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการฉีดกระตุ้นกันทุกๆ ปี และการฉีดวัคซีนนี้ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “นิวนอร์มอล” โดยไฟเซอร์คาดว่าจะมีรายได้ 15,000 ล้านเหรียญฯ จากวัคซีนโควิดในปีนี้ โดยจะทำกำไรหลังจากหักภาษีแล้ว ราว 3.75 พันล้านเหรียญฯ และกำไรจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้ เพราะกำลังมีการเจรจาข้อตกลงใหม่ๆ อีกจำนวนมาก

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ตัวแทนของบริษัทไฟเซอร์ได้เข้าพบแบบออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของรัฐบาลและองค์กรกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง เพื่อขออนุมัติการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือ “บูสเตอร์” วันเดียวกับที่อิสราเอลเริ่มใช้วัคซีนเข็ม 3 กับบางกลุ่มเสี่ยง โดยบริษัทยกตัวเลขประสิทธิภาพที่ลดลงเหลือ 64 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันสายพันธุ์เดลตามาเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุน ก่อนหน้านี้พวกเขาเปิดเผยว่าเข็มบูสเตอร์ควรฉีดหลังครบ 2 โดสแล้วระหว่าง 6-12 เดือน

            นิวยอร์กไทม์รายงานว่า หลังจากการประชุมประมาณ 1 ชั่วโมงโดยมีกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์เป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมยังไม่อนุมัติ และขอให้ไฟเซอร์นำเสนอข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม

            ฝ่ายไฟเซอร์ให้ข่าวว่า “เราได้รับผลอันน่าพอใจจากการประชุมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐเกี่ยวกับเนื้อหาการวิจัยของเรา และข้อมูลบูสเตอร์เบื้องต้น”

 

************************

 

            ตลอดเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้มีบรรดาบล็อกเกอร์ผู้ทรงอิทธิพลต่อชาวโลกออนไลน์ที่เรียกว่า Influencer หรือภาษาการตลาดเรียก Key Opinion Leaders (KOL) บินไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ถึงสหรัฐอเมริกาหลายคน แล้วเขียนสรรเสริญเยินยอในหน้าโซเชียลมีเดียของตัวเองชนิดผิดสังเกต

            คนในวงการเขารู้ทัน พวกนี้น่าจะมีงาน

            เนื่องจากบล็อกเกอร์ดังๆ ที่มียอดผู้ติดตามหลักแสนหลักล้านเหล่านี้เท่าที่ทราบฉีดวัคซีนอยู่ยี่ห้อเดียว ทั้งที่อวดว่ามีให้เลือกหลายยี่ห้อ ชี้เอาได้เหมือนอยู่ในร้านสะดวกซื้อก็ตาม จากนั้นก็จะโพสต์บูชาวัคซีนที่ฉีดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ฉีดเข็ม 2 แล้วบินกลับ หรือไปไหนต่อก็ตามแต่

            หลายคน ร้อยวันพันปีไม่เคยบินชั้นธุรกิจที่ราคาตั๋วหลักแสน ก็บินซะในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะเยี่ยงนี้ แล้วก็เขียนรีวิวการนั่ง Business class พ่วงมาด้วย

            ทำให้นึกถึงพวกบล็อกเกอร์เขียนรีวิวชมชอบสายการบินที่เปิดเส้นทางบินใหม่ๆ เพราะสายการบินเชิญให้บินฟรี พักฟรี กินฟรี จึงถือเป็นประโยชน์ต่างตอบแทน

            กรณีที่เห็นล่าสุดก็ต้องรอดูว่าในชีวิตหลังจากนี้พวกน้องๆ พี่ๆ จะโดยสารชั้นธุรกิจอีกหรือไม่ นอกจากนั่งไปฉีดวัคซีน

            อย่างไรก็ตาม มันได้กระตุ้นให้เกิดผล เกิดมีคนกระเสือกกระสนอยากจะบินไปฉีดขึ้นมาจำนวนไม่น้อย ทั้งพวกเงินหนา และบรรดาที่ใช้เงินเก็บเงินออม สงสารก็แต่บางคน ประเภท “เห็นช้างขี้ขี้ตามช้าง” ยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้รูปถ่ายฉีดวัคซีน mRNA แล้วโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเหน็บรัฐบาลอวดเพื่อนเพื่อความสะใจ

            วัคซีนฟรี แต่มีค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าตรวจโควิดก่อนขึ้นเครื่อง ค่ากลับมากักตัวอีก 14 วัน แถมลางานไปแบบไม่ได้เงินเดือนเพื่อไปฉีดวัคซีนที่เขาสั่งซื้อไว้ล้นประชากรประเทศ แล้วก็เป็นไปได้สูงว่าอีกไม่นานต้องฉีดเข็ม 3 เข็ม 4 อยู่ดี

            ขณะนี้ในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยการปั้นแฮชแท็กให้นำวัคซีนเทคโนโลยี mRNA มาเป็นวัคซีนหลักในประเทศไทย ดูๆ ไปแล้วคนที่เรียกร้องไม่ได้มีความรู้เรื่องวัคซีน แค่ถามว่ามันคืออะไร แตกต่างกับชนิดอื่นอย่างไร กี่คนที่ตอบได้

            อีกทั้งอาจยังไม่รู้ด้วยซ้ำ “mRNA 2 เข็ม” นอกจากติดแล้วก็ตายเหมือนกัน...นะจ๊ะ.

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"