ล็อกดาวน์เข้ม13จว. ดีเดย์20ก.ค.ถึงต้นส.ค./2เดือนยังแย่ปิดเมืองเหมือนอู่ฮั่น!


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ สั่งล็อกดาวน์ "ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-อยุธยา" เพิ่มโซนแดงเข้มรวม 13 จังหวัด ยกระดับมาตรการ-ขยายเคอร์ฟิวต่อ 14 วัน บังคับใช้ 20 ก.ค.-2 ส.ค. งดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น "เลขาฯ สมช." ประเมินผล 7 วัน ลั่นจุดไหนไม่สำเร็จพร้อมปรับวิธีทันที ยังไม่ปิดตลาดสด-ซูเปอร์มาร์เก็ต แต่ต้องคุมเข้มขึ้น “วิษณุ” แจงเวิร์กฟรอมโฮมขั้นสูงสุด ปรับมาตรการเบา-แรงได้ตลอดขึ้นอยู่กับสถานการณ์ 
    เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 28 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ 17 ก.ค. โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ต่อมาได้ขยายเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น โดยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องที่จะเกิดภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งรัฐบาลโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและจริงจังในการเพิ่มศักยภาพด้านการตรวจคัดกรอง การรักษาพยาบาล และการเร่งรัดการจัดฉีดวัคซีนให้กับประชาชน 
    อย่างไรก็ตาม เมื่อได้มีการประเมินสถานการณ์ภายหลังการมีผลใช้บังคับข้อกำหนด ฉบับที่ 27 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ปรากฏว่ายังไม่อาจชะลออัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอาการ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และกลุ่มผู้ป่วยทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาคหลายจังหวัด ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มต่อเนื่อง ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อจากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในครอบครัวและชุมชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้นจากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการ ดังต่อไปนี้  
    ข้อ 1 เพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งรัดดำเนินการโดยด่วน เพื่อลดการออกนอกเคหสถานของประชาชนอันเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดที่ได้กำหนดเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และโดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อโรคกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและสุขภาพ โดยเฉพาะบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่แม้บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะอยู่ในที่พำนัก แต่ประวัติการสัมผัสเชื้อมักเกิดขึ้นในครอบครัว โดยการติดต่อสัมผัสกับบุคคลที่ได้มีการเดินทาง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการติดเชื้อและแพร่ระบาดในครอบครัวและเขตชุมชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีอัตราเพิ่มจำนวนขึ้นสูงมาก แม้จะได้มีการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็ตาม 
    ข้อ 2 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ กำหนดปรับปรุงเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา โดยให้ ศบค.มีคำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตามเขตพื้นที่สถานการณ์เสียใหม่ และให้นำมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่กำหนดไว้สำหรับพื้นที่ระดับต่างๆ ข้อห้ามและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดฉบับที่ 24 ข้อกำหนดฉบับที่ 25 และข้อกำหนดฉบับที่ 27 มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดนี้  
งดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น
    ข้อ 3 การลดและการจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทาง ให้ประชาชนในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่ได้มีคำสั่งตามข้อ 2 เลี่ยง จำกัดหรืองดเว้นภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานหรือที่พำนักโดยไม่จำเป็น สำหรับการเดินทางในบางกรณีที่จำเป็น เช่น การเดินทางเพื่อจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อาหาร ยาหรือเวชภัณฑ์ การเดินทางเพื่อพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การรับวัคซีนป้องกันโรค หรือมีความจำเป็นเพื่อปฏิบัติงานหรือการประกอบอาชีพที่ไม่สามารถปฏิบัตินอกสถานที่ตั้งได้ สามารถกระทำได้ แต่ต้องพึงใช้ความระมัดระวังในการป้องกันตนเองตามคำแนะนำของพนักงาน เจ้าหน้าที่ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยการสนับสนุนของกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอาสาสมัครและจิตอาสาในการให้ความช่วยเหลือและกระจายสิ่งอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่ประชาชนเพี่อบรรเทาความเดือดร้อน 
    ข้อ 4 กำหนดพื้นที่ห้ามออกนอกเคหสถานเพิ่มเติม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยห้ามบุคคลใดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันนับตั้งแต่วันที่ข้อกำหนดฉบับนี้ใช้บังคับ โดยให้เป็นไปตามเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่และการกำหนดบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ผู้ใดฝ่าฝืนย่อมมีความผิดและต้องระวางโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อ 5 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ หรือจุดสกัดในเส้นทางคมนาคมเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามข้อกำหนดนี้ โดยเน้นการปฏิบัติเพื่อการคัดกรอง ชะลอ หรือสกัดกั้นการเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเพื่อเดินทางไปยังพื้นที่อื่น โดยให้เป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนด เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม ข้อยกเว้น หรือแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฉบับที่ 25 และ 27  
    ข้อ 6 ให้กระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร จังหวัด หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่าง จังหวัดทั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบค.กำหนด โดยจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่างและการปฏิบัติ ตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด 
    ข้อ 7 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อมีคำสั่งปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยสำหรับการให้บริการดังต่อไปนี้ ให้ดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่เคยกำหนดไว้แล้ว ได้แก่ การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้เปิด ดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้ดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
ห้างเปิดแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต-ยา
    ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่น ที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้เป็นการบริการฉีดวัคซีน หรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่นๆ ของภาครัฐ โดยให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น., โรงแรม ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืนให้เปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น, โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานที่ศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้ สำหรับการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิง ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น 
    ข้อ 8 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คน โดยให้เป็นไปตามข้อห้ามและข้อยกเว้นตามข้อกำหนดฉบับที่ 24 โดยให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก 
    ข้อ 9 ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายเดินทางของบุคคล รวมทั้งให้งดการจัดกิจกรรมที่ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มหรือเคลื่อนที่ของคนจำนวนมาก เช่น การจัดประชุม สัมมนา การจัดสอบ หรือจัดฝึกอบรม ให้เปิดให้บริการเฉพาะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณสุข การควบคุมโรค กิจการที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค การจราจร การบรรเทาสาธารณภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย สำหรับการปฏิบัติงานของภาคเอกชนในช่วงระยะเวลานี้ จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรปฏิบัติตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเช่นเดียวกัน 
    ข้อ 10 ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ภายใต้ ศบค. พิจารณามาตรการและเร่งรัดการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่รวดเร็วและชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ศบค. ตามที่ได้รับการร้องขอหรือประสานงาน 
    ข้อ 11 การบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน (จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564) โดยให้ประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมของมาตรการตามข้อกำหนดนี้ทุกห้วงระยะเวลา 7 วัน แต่การเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และการประชาสัมพันธ์ เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมเป็นการล่วงหน้าให้ทำได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2564 เป็นต้นไป เว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะตามข้อ 6 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2564 เป็นต้นไป 
ศบค.จัดโซนคุมโควิดใหม่
    ราชกิจจาฯ ยังเผยแพร่คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) หรือ ศบค.ที่ 10/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยแบ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ 1.กทม. 2.ฉะเชิงเทรา 3.ชลบุรี 4.นครปฐม 5.นนทบุรี 6.นราธิวาส 7.ปทุมธานี 8.ปัตตานี 9.พระนครศรีอยุธยา 10.ยะลา 11.สงขลา 12.สมุทรปราการ 13.สมุทรสาคร ทั้งนี้ 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ได้แก่ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา     ขณะที่พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 53 จังหวัด ได้แก่ 1.กระบี่  2.กาญจนบุรี 3.กาฬสินธุ์ 4.กำแพงเพชร 5.ขอนแก่น 6.จันทบุรี 7.ชัยนาท 8.ชัยภูมิ 9. เชียงราย 10.เชียงใหม่ 11.ตรัง 12.ตราด 13.ตาก 14.นครนายก 15.นครราชสีมา 16.นครศรีธรรมราช 17.นครสวรรค์ 18.บุรีรัมย์ 19.ประจวบคีรีขันธ์ 20.ปราจีนบุรี 21.พัทลุง 22.พิจิตร 23.พิษณุโลก 24.เพชรบุรี 25.เพชรบูรณ์  26.มหาสารคาม 27.ยโสธร 28.ร้อยเอ็ด 29.ระนอง 30.ระยอง 31.ราชบุรี 32.ลพบุรี 33.ลำปาง 34.ลำพูน 35.เลย 36.ศรีสะเกษ 37.สกลนคร 38.สตูล 39.สมุทรสงคราม 40.สระแก้ว 41.สระบุรี 42.สิงห์บุรี 43.สุโขทัย 44.สุพรรณบุรี 45.สุรินทร์ 46.หนองคาย 47.หนองบัวลำภู 48.อ่างทอง 49.อุดรธานี 50.อุทัยธานี 51.อุตรดิตถ์ 52.อุบลราชธานี 53.อำนาจเจริญ ส่วนพื้นที่ควบคุม รวม 10 จังหวัด ได้แก่ 1.ชุมพร 2.นครพนม 3.น่าน 4.บึงกาฬ 5.พังงา 6.แพร่ 7.พะเยา 8.มุกดาหาร 9.แม่ฮ่องสอน 10.สุราษฎร์ธานี และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 1 จังหวัดคือ 1.ภูเก็ต 
    ที่สำนักงาน กสทช. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) ได้เชิญผู้บริหารสื่อเข้าหารือและรับฟังความคิดเห็นการเสนอข่าวในช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด โดย พล.อ.ณัฐพลกล่าวก่อนการประชุมว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งสื่อมวลชนได้ให้ข้อคิดเห็นหลากหลาย หลายอย่างเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันพบว่าข้อมูลบางอย่างสื่อมวลชนยังไม่ทราบ โดยเวลาส่วนใหญ่จะรับฟังความคิดเห็นจากสื่อมวลชนมากกว่าการสั่งการ 
    พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ศปก.ศบค.ตั้งใจไว้หลังมีมาตรการประกาศออกมาในวันที่ 18 ก.ค.นี้ เบื้องต้นประมาณ 30 วันจะมีการประเมินผล โดยจะประเมินตั้งแต่ 14 วันแรก และในส่วนของ ศปก.ศบค.จะประเมินผลย่อยในช่วง 7 วันด้วย และในความเป็นจริงจะประเมินผลและติดตามสถานการณ์ทุกวันอยู่แล้ว พอ 7 วันแล้วถ้าดูว่าน่าจะปรับก็ปรับ
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการเข้มในรายละเอียดเรื่องของตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ตออกมาหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในส่วนของตลาดสดจะมีมาตรการในการกำกับที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งบรรดาอาจารย์แพทย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของตลาดสดอย่างมาก เพราะมาตรการการเว้นระยะห่างต่างๆ ยังน่าเป็นห่วงอยู่ แต่เนื่องจากยังเห็นถึงความจำเป็น อาจกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายในตลาดสด จะลองให้โอกาสไปก่อน เว้นแต่ในภาพรวมถ้าเกิดความไม่เรียบร้อยต้องว่ากันอีกครั้ง ส่วนที่มีข่าวซูเปอร์มาร์เก็ตจะเปิดลักษณะวันเว้นวันนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องของอาหาร ถ้าไปเปิดวันเว้นวันอาจยิ่งทำให้ประชาชนไปแออัดคับคั่งในวันที่เปิด 
    "นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้กำชับศปก.ศบค.ว่าให้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและกำกับดูแลอย่างปรานี เพื่อให้สถานการณ์ค่อยๆ คลี่คลายลงโดยเร็ว เพื่อที่จะได้ไม่กระทบกับประชาชน ทุกวันนี้ ศปก.ศบค.เข้าประชุมทุกวันเพื่อประมวลผลอยู่แล้ว ในส่วนของ ศบค.ชุดใหญ่ก็ได้ประชุมเมื่อวันที่ศุกร์ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมาตรการที่ออกมาในวันนี้ ก็เป็นมติของ ศบค.ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ที่ต้องการให้ออกข้อกำหนดโดยเร็ว โดยได้อนุมัติหลักการปรับเพิ่มมาตรการมากขึ้น และมอบหมายให้ ศปก.ศบค.หารือในรายละเอียด" ผอ.ศปก.ศปค.ระบุ
ก่อน2ส.ค.ปรับเข้ม-เบาได้ตลอด
    เมื่อถามว่า การประเมิน 7 วันในรอบแรก กรณีหากมีการติดเชื้อเพิ่มในส่วนของรายจังหวัด ต้องมีการปรับมาตรการใช่หรือไม่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า มีหลายอย่างหลายวิธี อาจจะเพิ่มในส่วนทั้งของจังหวัด กิจกรรมกิจการ แต่ทั้งหมดต้องฟังด้านการแพทย์การสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยง จากนั้นทุกฝ่ายจะร่วมการพิจารณาว่าเมื่อได้มีมาตรการประกาศออกไปแล้วทำได้จริงหรือไม่ อะไรที่ประกาศแล้วทำไม่ได้จริง ก็จะใช้มาตรการอื่น เช่นการกำกับใกล้ชิดมาใช้แทน 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุดเป็นการปรับระดับพื้นที่ของ 3 จังหวัดคือ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา ให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม จากเดิมที่มี 10 จังหวัด และ 3 จังหวัดจะต้องใช้มาตรการต่างๆ ตามที่มีการกำหนดเอาไว้ในข้อกำหนดฉบับที่ 28 ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. จำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อให้ปิดบริการในระหว่างเวลา 20.00 น.ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น มาตรการจะคล้ายๆ ข้อกำหนดฉบับที่ 27 แต่จะมีการยกระดับให้เข้มข้นขึ้น ห้างสรรพสินค้าเคยให้เปิดในส่วนของร้านอาหารได้โดยให้ซื้อกลับไปบริโภคที่อื่น แต่ข้อกำหนดฉบับล่าสุดให้ปิดให้หมด เปิดได้เฉพาะที่ระบุไว้ 
    ส่วนข้อกำหนดที่ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มมีคำสั่งให้ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวนนั้นคือการเวิร์กฟรอมโฮมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพบว่า 7 วันที่ผ่านมายังไม่มีการเวิร์กฟรอมโฮมอย่างเต็มที่ สำหรับเอกชนนั้น เป็นการขอความร่วมมือและเชิญชวนให้ใช้วิธีเวิร์ก ฟรอมโฮมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ยอมรับว่าถึงเอกชนไม่ทำก็ไม่ผิด ไปบังคับเขาไม่ได้ แต่เขาต้องเข้าใจว่าคนงานจะเดินทางมาทำงานด้วยความยากลำบาก เพราะรถสาธารณะจะลดลง เนื่องจากมีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ 50 ของความจุผู้โดยสารสำหรับยานพาหนะแต่ละประเภท  
    นายวิษณุกล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถดำเนินการมาตรการที่แรงกว่าข้อกำหนดได้ แต่เบากว่าข้อกำหนดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดฉบับที่ 28 จะบังคับใช้เป็นระยะเวลาต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน หรือจนถึงวันที่ 2 ส.ค. แต่ก่อนจะถึงวันที่ 2 ส.ค. ระหว่างนั้นสามารถปรับให้เบาลงหรือเข้มข้นขึ้นได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหมือนกับข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่เราประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ซึ่งยังไม่ครบ 14 วัน มีการยกระดับขึ้นอีก เพราะเห็นว่ามียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละหมื่นราย เสียชีวิตวันละเป็นร้อยราย  
ขณะเดียวกัน มีรายงานถึงการประชุมหารือแนวทางการสื่อสารภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่สำนักงาน กสทช. ซึ่งมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) เป็นประธาน 
มีรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ยอมรับต่อที่ประชุมว่าขณะนี้เป็นการแค่ชะลอไม่ใช้ตัวเลขติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่หากไม่มีมาตรการที่เข้มขึ้น จะพบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จึงขอความร่วมมือทุกคนในการที่จะร่วมมือกันดูแลตัวเอง  
    “คาดว่าในอีก 2 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะไม่ลดลง ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้น เพื่อควบคุมการระบาด แต่หากแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสูงต่อเนื่อง ใน 2 เดือน ก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการคล้ายเมืองอู่ฮั่นของจีน คือล็อกดาวน์เมือง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด คือประชาชนอยู่แต่บ้าน งดการเดินทาง หรือถึงขั้นต้องส่งข้าวส่งน้ำตามบ้าน เป็นต้น”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"