วัคซีนแบบผสม ความหวังพิชิต


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยเรียกได้ว่าถึงขั้นภาวะวิกฤติอย่างเต็มตัวอันเนื่องมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทะลุหลักหมื่น  และจำนวนผู้เสียชีวิตเกินหลักร้อยต่อวัน   รวมถึงจำนวนวัคซีนที่มีอย่างจำกัด ทำให้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขจำเป็นต้องเร่งหาวิธีการเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนให้ได้มากที่สุด และคำตอบคือการฉีดวัคซีนผสมสูตร ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกกล่าวถึงกันอย่างมากในสังคมไทยเวลานี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แถลงข่าวยืนยันมติว่า จะให้มีการฉีดสลับยี่ห้อจากซิโนแวค เข็มที่ 1 แล้วเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีนจากซิโนแวคเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 แล้วให้บูสเตอร์เข็มที่ 3 เป็นวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า

                อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาคัดค้านไม่ให้มีการฉีดวัคซีนผสมสูตรด้วยตัวเอง โดยเกิดขึ้นหลังจากที่มีกรณีการผสมวัคซีนของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และบริษัทไฟเซอร์ที่ประเทศแคนาดา ทั้งนี้ การผสมวัคซีนโควิด-19 นั้นกำลังเกิดขึ้นในต่างประเทศและไทย เนื่องจากมีการพิจารณากันว่านี่จะเป็นวิธีการที่ดีที่จะทำให้กลุ่มประชากรนั้นได้รับการปกป้องจากวัคซีน ในช่วงเวลาที่วัคซีนยังคงขาดตลาด

                โดยวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ส่วนมากนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีการฉีดเป็นจำนวน 2 โดส แต่ก็มีการศึกษาในหลายกรณีแล้วเช่นกัน ซึ่งผลการศึกษาได้ออกมาในทิศทางที่สนับสนุนการฉีดวัคซีนแบบผสมกันระหว่างวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ดและบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าฯ กับวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค เนื่องจากการผสมการฉีดทั้ง 2 วัคซีนดังกล่าวนั้น พบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้คล้ายกัน หรือมากกว่าการฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 โดส

                ด้านประเทศอังกฤษ มีการแนะนำให้มีการผสมวัคซีนในบางกรณีเช่นกัน เพราะมองว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดเดียวกัน 2 โดส ส่วนที่ประเทศเยอรมนี ก็มีการประกาศผลการศึกษาที่มีลักษณะออกมาในทิศทางที่คล้ายๆ กัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ประกาศออกมาดังกล่าวนั้น ทำให้เหล่านักวิจัยเริ่มที่จะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าการผสมการฉีดวัคซีนอื่นๆ ที่ยังไม่ได้มีการทดสอบการผสมนั้น ก็น่าจะได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกับกรณีการผสมวัคซีนไฟเซอร์และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

                จากงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ในการศึกษาในห้องแล็บ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแบบผสมนั้นสามารถผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่มีต่อไวรัสโควิด-19 ได้เป็นจำนวนสูงถึง 37 เท่า และสามารถผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 แบบเฉพาะเจาะจง หรือที่เรียกกันว่าทีเซลล์ได้สูงกว่า 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแค่เพียงโดสเดียวเท่านั้น

                ด้าน นพ.ลีฟ เอริค แซนเดอร์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยชาริเท กรุงเบอร์ลิน ได้มีการตรวจสอบข้อมูลของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ในเยอรมนีจำนวนกว่า 340 คน ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 2 โดส และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1 โดส ตามด้วยวัคซีนจากไฟเซอร์อีกจำนวน 1 โดส ซึ่งจากการตรวจสอบผลการทดลองของทั้ง 2 กลุ่มนั้น พบว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและสามารถกระตุ้นเซลล์ได้อย่างดีเช่นกัน

                และจากการวิจัยที่มหาวิทยาลัยซาร์แลนด์ในฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี พบว่าการผสมวัคซีนนั้นจะดีกว่าในแง่ของการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2 โดส และผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ระบุอีกว่าการฉีดวัคซีนแบบผสมนั้นอาจจะให้ผลลัพธ์ที่เทียบเท่าหรือว่าดีกว่า กรณีการฉีดวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์จำนวน 2 โดสเสียด้วยซ้ำ

                นอกจากนี้ ทีมการศึกษาการทดลองในประเทศอังกฤษที่เรียกกันว่า Com-Cov ได้มีการเผยแพร่รายงานทางออนไลน์เช่นกัน โดยระบุว่ามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ดี อีกทั้งพบว่ามีการตอบสนองที่ค่อนข้างสูงในเรื่องของแอนติบอดี สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นจำนวน 2 โดส อย่างไรก็ตาม พบการตอบสนองที่สูงมากเช่นกันกับกรณีที่ผู้ที่ฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งจากการผสมของวัคซีนดังกล่าวนั้น ก็ได้แสดงผลตอบสนองของเซลล์ที่ดีมาก โดยมากเกิน 2 เท่าของผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 2 โดสไปแล้ว

                การทดลองทั้งหมดที่ว่ามานั้น ถือว่ายังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทดสอบได้ว่าการผสมวัคซีนจะมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ในแง่ของการป้องกันไม่ให้ประชาชนมีอาการที่รุนแรงขึ้นจากการรับเชื้อโควิด-19 ดังนั้น การทดลองในวงที่กว้างขวางมากขึ้น การตรวจในระยะยาวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผลข้างเคียงต่างๆ นั้น ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะมีการผสมวัคซีนให้กับประชาชน

                เมื่อปรากฏว่ามีกรณีการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ผลของการฉีดวัคซีนแบบผสมดังกล่าวนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่มอบข้อมูลอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อฝ่ายที่จะออกนโยบายว่าจะดำเนินการฉีดวัคซีนแบบผสมอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ได้การปกป้องที่มากขึ้น 

                ฉะนั้นจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้ามีการศึกษาถึงผลได้ผลเสียมากกว่านี้ในวงกว้าง การฉีดวัคซีนแบบผสมจะสามารถนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าอันมีที่มาจากประเด็นความขาดแคลนเรื่องวัคซีนได้ ถ้าหากมีสถานการณ์การขาดแคลนวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก แทนที่จะหยุดโครงการฉีดวัคซีนชนิดนั้นเอาไว้ก่อน แต่ถ้าหากมีการฉีดวัคซีนแบบผสมแล้ว ก็อาจจะทำให้โครงการฉีดวัคซีนที่ว่านั้นสามารถดำเนินต่อไปได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"