คลังกุมขมับ! ผ่าน 6 เดือนคนแก่บริจาคเบี้ยยังชีพหลักพันราย


เพิ่มเพื่อน    

คลังกุมขมับ! หลังพบผ่าน 6 เดือน คนแก่บริจาคเบี้ยยังชีพแค่หลักพันรายเท่านั้น วืดจากเป้าหมายที่ตั้ง 5 แสนคน อ้างการประชาสัมพันธ์ยังไม่ถั่วถึง จี้ปรับแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพิ่งช่องทางการบริจาคให้สะดวกขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุถึง ความคืบหน้าการเปิดรับบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ เพื่อนำเงินจากผู้สูงอายุที่มีฐานะพอเพียงไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2560 ว่า ขณะนี้การเปิดรับบริจาคจะผ่านไป 6 เดือน แต่ยอดผู้สูงอายุที่แจ้งบริจาคเบี้ยยังมีเพียงแค่หลักพันคนเท่านั้น ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ว่า ภายในปีแรกจะมีผู้สูงอายุเข้ามาบริจาคเบี้ยถึง 5 แสนคน หรือคิดเป็น 10% ของผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยแต่ไม่ยากจนที่มีกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ

“เดิมรัฐประมาณการว่า ปีแรกจะมีเงินรับบริจาคเบี้ยผู้สูงอายุเข้ามา 4 พันล้านบาท เมื่อนำมารวมกับเงินจากภาษีบาปที่หักจากยาสูบเข้ากองทุนผู้สูงอายุ 2% อีกปีละไม่เกิน 4 ล้านบาท จะทำให้มีเงินเข้ากองทุนเพิ่มปีละ 8 พันล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพ ช่วยเหลือผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจนและลงทะเบียนรับสวัสดิการรัฐ 3.6 ล้านคนได้เพิ่มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 200 บาท อย่างไรก็ตามขณะนี้เมื่อมีคนบริจาคน้อยกว่าเป้าหมายมาก โดยจากหลักหลายพันล้าน เหลือเพียงหลักสิบล้านบาททำให้อาจต้องทบทวนแผนเพิ่มเบี้ยยังชีพกันใหม่” รายงานข่าว ระบุ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้ได้รับเบี้ยสูงอายุเข้ามาบริจาคกันน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการประชาสัมพันธ์อาจยังไม่ทั่วถึงทำให้คนยังไม่รับรู้เรื่องการบริจาคมากนัก อีกทั้งก่อนหน้านี้ช่องทางรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพยังมีจำกัดทำให้ไม่รับความสะดวก เช่น ในเขตกรุงเทพฯ จะบริจาคได้เฉพาะสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ขณะที่ต่างจังหวัดจะบริจาคได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะต้องมีการเร่งปรับแผนประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพิ่มขึ้น รวมถึงกระทรวงการคลัง ได้มีการเพิ่มช่องทางการบริจาคให้สะดวกขึ้น โดยขณะนี้เริ่มให้บริจาคผ่านธนาคารของรัฐได้แล้ว

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เพิ่มช่องทางรับแจ้งบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ โดยผู้ที่ประสงค์จะแจ้งบริจาคใน กทม. สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งบริจาคได้ที่สถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ส่วนผู้ที่ประสงค์แจ้งบริจาคในต่างจังหวัดสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนไปแจ้งบริจาคได้ที่หน่วยงานของคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานคลังจังหวัด สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ด่านศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภาคและจังหวัด และสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่งดังกล่าวข้างต้น

ขณะที่ผู้ที่ประสงค์จะแจ้งบริจาคในต่างประเทศสามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทาง ไปแจ้งบริจาคได้ที่สถานเอกอัครราชทูต หรือสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศ ในกรณีที่มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนให้นำหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย

“หน่วยงานของ คบจ. และสถาบันการเงินของรัฐใน กทม. จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 15 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป ส่วนในต่างประเทศซึ่งดำเนินการโดยสถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ของไทยในต่างประเทศ จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป” น.ส. กุลยา กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"