โค่น'ประยุทธ์'ทะลุเพดาน กระเตงรัฐบาลฝ่า'ข่าวลือ'


เพิ่มเพื่อน    

แม้จะมีกระแสข่าวหนาหูเรื่อง “การเปลี่ยนตัวนายกฯ-นายกฯ ลาออกเอง” เลยไปถึงการเจาะจงว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนหน้า ท่ามกลางการประสานเสียงไล่ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “สารพัดม็อบ” ที่ลงถนนสร้างโมเดลรัฐล้มเหลว หวังผลเป็นรูปธรรมตามแนวคิด “อนาธิปไตย” เพิ่มน้ำหนักการลงจากอำนาจของผู้นำคนปัจจุบัน แต่ก็ดูเหมือนว่าท่าทีของรัฐบาลไม่แยแสต่อปรากฏการณ์เหล่านั้นแม้แต่น้อย         

พลเอกประยุทธ์ปรับทัพสู้กับโควิดการเมืองครั้งใหม่ เมื่อเห็นว่าย่างก้าวที่เดินมาอย่างอหังการนั้นกลายเป็นหอกทิ่มแทงตัวเอง เนื่องจากความไม่รู้ทั้งหมด และเรื่องมหันตภัยโควิดเป็นเรื่องใหม่ของโลก ที่แม้กระทั่งนักวิชาการด้านสาธารณสุขและแพทย์ก็ต้องเจอกับโจทย์ใหม่ๆ ที่ต้องทดลองทำ

ความเชื่อมั่นแบบที่ “รัฐเป็นศูนย์กลาง” ภายใต้ระบบราชการที่เข้มแข็ง แก้ไขวิกฤติประเทศให้ผ่านพ้นมาหลายรอบ แต่ในความเป็นจริงขณะนี้คือ ไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ไวรัสที่รุนแรงและกว้างขวางได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นบททดสอบระบบที่ก้าวไม่ทันกับปัญหาในโลกยุคใหม่ ทำให้ผู้บริหารของรัฐทุกลำดับชั้นอาจต้องกลับมาดูกลไกในการรับมือว่ามีความพร้อมพอต่อความซับซ้อนใหม่ในอนาคตแล้วหรือยัง

ในภาพรวม เมื่อความรู้สึกของประชาชนไม่พอใจในการบริหารจัดการของรัฐบาล และไม่เชื่อมั่นศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป สอดรับกับ “ธง” ของกลุ่มต่อต้านที่โจมตีความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหา ทำให้ตรรกะเรื่องการเปลี่ยนตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอันดับแรก เริ่มมีน้ำหนักขึ้นในแวดวงของผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่มองว่า “รัฐบาลไปไม่รอด”

ตอกย้ำด้วยฐานที่มั่นของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลลงไปตั้งป้อมที่ “คลับเฮาส์” วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ขณะที่รัฐราชการยังสาละวนใช้กฎหมายไล่ล่าเหล่าบรรดานักร้อง ดารา อินฟลูเอนเซอร์ ที่ล้วนมีผู้ติดตามหลายล้านคน ผลักกลุ่มคนรุ่นใหม่ไปอยู่ในพื้นที่ที่ตลบอบอวลไปด้วยข้อมูลต้านรัฐด้านเดียว       ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดเหมือน “เข้าสู่ทางตัน” โดยมีตัวแปรเป็นชีวิตประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีความหลากหลาย เต็มไปด้วยคนจนเมือง-ประชากรแฝง และชนชั้นกลางยังเป็นกลุ่มที่เสียงดังเป็นตัวประกัน เป็นช่วงเวลาที่เปราะบางสำหรับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เลยทำให้เกิด “ข่าวลือ” หนาหูมากขึ้น

แต่ปมที่จะทำให้ความรู้สึกไม่เอารัฐบาลทวีความรุนแรงมากขึ้นนั้น คงเป็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ผลประโยชน์ทับซ้อน วาระซ่อนเร้น ความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ที่ย่ำแย่จากโรคระบาด

โดยเฉพาะเรื่อง “วัคซีน” เป็นเรื่องที่อ่อนไหว กระทบใจคนที่รอคอย ราวกับลุ้นว่าระหว่างการติดเชื้อกับการได้รับวัคซีน อะไรจะมาถึงตัวเองก่อนกัน

จึงไม่แปลกที่จะมีการ “เปิดแผล” ความสัมพันธ์แบบผูกขาดของทุน-รัฐ-ศักดินา ที่เกาะกินประเทศไทยมานานให้ ชัดเจนขึ้นจากปม “วัคซีนหลัก” ของประเทศ

นับได้ว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งกับชะตากรรมของ “พลเอกประยุทธ์” เมื่อต้องกลายเป็น “จิกซอว์” สำคัญในเกมระดับโครงสร้างประเทศ นับตั้งแต่พรรคการเมืองปักธงปฏิรูปสถาบัน เชิดชู “แนวคิดการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย” ในรัฐสภา และมีการวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์สามเส้าในที่สาธารณะอย่างหนักหน่วง

และหากจัดความสัมพันธ์ย่อยลงไป “ผู้นำทหาร” เช่น พลเอกประยุทธ์ ที่ฉายภาพชัดเรื่องความจงรักภักดี มีชีวิตรับราชการในหน่วยรักษาพระองค์ ปลูกฝังแนวคิดเรื่องลำดับชั้นการบังคับบัญชา การรักษาสมการการเมืองเพื่อพยุงโครงสร้างหลักไว้ เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ

ทำให้การจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยการแบ่งเค้กให้ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างกระเตงกันไปแบบ “เหม็นขี้หน้า” เพื่อข้ามผ่านการกำหนดกติกาจาก รธน.ให้ได้เปรียบ แล้วค่อยไปวัดกันอีกครั้งในการเลือกตั้ง

ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงเป็นลักษณะ “ไม่มีทางเลือก” ด้วยสมมุติฐานว่า “ผู้นำ” ยังเป็นผู้ที่ถูกใช้ และมีเครือข่ายแบ็กอัปที่มองว่า “ยังต้องเป็นตู่”

ในทางตรงกันข้าม พลเอกประยุทธ์ยังเป็น “กันชน” และเป็น “หนังหน้าไฟ” ในการรับมือกับพลังของสังคมที่เรียกร้องแบบทะลุเพดานให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายนี้ไม่เคยได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในประวัติศาสตร์การเมืองมาหลายยุค

การประคับประคองให้รัฐบาล “ลุง” ยังคงเดินต่อไป จึงเหมือนเป็นการยันกำแพงไม่ให้ทะลุทะลวงเข้าไปถึงกลุ่มความสัมพันธ์สามเส้าที่ปกป้องรักษา “จุดศูนย์ดุล” ของประเทศไทยมาตลอดระยะเวลายาวนาน

ส่วนศึก "เจาะยาง" กองทัพปราการด่านสุดท้ายที่จะทะลุเพดานซึ่งกำลังขับเคลื่อนคู่ขนานกันไปนั้น เริ่มสร้างแรงสั่นสะเทือนได้พอสมควร

 เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ากองทัพเองก็มีจุดอ่อนหลายเรื่อง ทั้งวิธีคิดในกรอบ อีกทั้งการแบกรับภารกิจที่ไม่ใช่ของตนเองจนอ่อนล้า เพื่อดำรงความสำคัญในการยึดโยงประชาชน รักษาสถานะความเป็นที่พึ่งในยามคับขัน รวมไปถึงการใช้งบประมาณในการจัดหาอาวุธโดยไม่ชี้แจงต่อส่วนรวมด้วยการอ้างเรื่องความมั่นคง 

            กลายเป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายค้านและฝ่ายต้านรุกประชิดด้วยการเปิดโปงวิธีคิดแบบอภิสิทธิ์ชนในหลายเรื่อง ขยายปมเอกสารเรื่องขอวัคซีน “โมเดอร์นา” พร้อมจี้ให้กองทัพเปิดเอกสารข้อมูลในเรื่องงบประมาณรายการต่างๆ เลยไปถึงการจี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจกแจงรายการในส่วนงานของพระองค์ฯ

            ประกอบกับความไม่เป็นเอกภาพในกองทัพจากปัญหาโยกย้ายทหาร ที่กลายเป็นความขัดแย้งแตกแยก แบ่งขั้ว เกิดจุดอ่อนที่ทำให้เกิดปัญหา “เกลือเป็นหนอน” เนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบรุ่นและพรรคพวกในกองทัพ อีกทั้งสร้างระยะห่างระหว่างรัฐบาลกับกองทัพในยุคนี้

ในขณะที่องค์ประกอบทางการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาลถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมของนักการเมืองที่เข้าสู่ตำแหน่ง ยิ่งผ่านการพัฒนาการเมืองมาหลายทศวรรษกลับยิ่งถอยหลังเข้าคลอง จาก “สองนคราประชาธิปไตย” สู่ “ระบบบ้านใหญ่” การเลือกคนเป็นรัฐมนตรีไม่สนใจความรู้สึกของสังคม หนีไม่พ้นวังวนเดิมทางการเมืองที่ไม่เคยพัฒนาขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกระแสต้านแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลก็ยังนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว เพราะการจะสละเรือไปตอนนี้โดยที่คะแนนนิยมตกต่ำเรี่ยดิน คงไม่เป็นผลดีในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า จึงต้องลุ้นต่อไปว่ายังมีเวลาเหลือพอที่จะแก้มือดึงความรู้สึกของสังคมกลับมา นำพาสถานการณ์ให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปได้หรือไม่

โดยเฉพาะการ “ถอดสลัก” ระเบิดการแพร่ระบาดในพื้นที่สีแดงเข้ม การจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเข้ามาในประเทศและกระจายให้ประชาชนอย่างเป็นธรรม

แถมยังต้องเจอ “โจทย์หิน” กับการบีบคั้นจากประเทศมหาอำนาจที่ต่างใช้ “วัคซีน” เป็นเครื่องมือในการสร้าง “ซอฟต์ เพาเวอร์” ในภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีปมปัญหาในทะเลจีนใต้ ระหว่างสหรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีผลประโยชน์ของบริษัทยาเข้ามาเป็นเครื่องมือ

ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของฝ่ายต่างๆ ภายใต้วิกฤติโควิดในประเทศไทย นอกจากเป็นเรื่องของเกมการเมืองในประเทศและต่างประเทศแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นภาพสะท้อนโครงสร้างบางประการของรัฐที่ถึงเวลาต้องปรับตัวเองให้เท่าทันกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

การมองหา “ผู้นำ” ที่สามารถมองปัญหาเชิงรุกและเตรียมรับมือได้อย่างเท่าทัน กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นไปทั่ว แต่ตามกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องยอมรับว่า รายชื่อผู้นำที่เข้าข่ายจะได้รับการเสนอนั้นก็ไม่ได้เรียกความเชื่อมั่น ศรัทธาได้มากนัก หรือแม้กระทั่ง “นายกฯ คนนอก-รัฐบาลแห่งชาติ” ที่เมาธ์กันในโลกโซเชียลจากร่องรอย “ขั้ว” ของอำมาตย์เลือกนาย ยิ่งเสี่ยงที่จะดึงสถาบันลงมาให้เหล่าบรรดา “สามนิ้ว” ไล่งับได้มากขึ้น

ครั้นจะเลือกใช้ “โทนี่ วู้ดซั่ม” กลับมาแก้วิกฤติ ตามที่ได้เข้ามาหาเสียงกับแฟนคลับใน “คลับเฮาส์” สร้างความฮึกเหิมให้กับลูกพรรคที่กำลังถูกสอยไปอยู่อีกฝ่ายให้กลับเข้าคอก ก็ต้องรอการพิสูจน์ "ข้อมูลใหม่” ที่ปูดออกมาว่า “จริง” หรือ “ปลอม”

ส่วนสมการสุดท้ายด้วยการให้นายกฯ แสดงสปิริตลาออก เปิดทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์นั้น ดูเหมือนไม่มีสัญญาณตอบรับใดๆ ทั้งสิ้นจากต้นทาง ด้วยเหตุผลหลายประการดังที่กล่าวมาข้างต้น

            ภาวการณ์ของ “รัฐบาลประยุทธ์” จึงมีเงื่อนไข "เวลา" เป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเร็วที่สุด แม้ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ แต่ก็อาจจะพอซื้อเวลาไปถึงปีหน้าแล้วคืนอำนาจให้ประชาชน ลงจากอำนาจไปแบบไม่บาดเจ็บสาหัส.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"