'โศกนาฏกรรมโควิด-19'บาดแผลเศรษฐกิจไทย


เพิ่มเพื่อน    

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ได้ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น (ล็อกดาวน์) ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น (Fear Factor) และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น (Scarring) ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมา “ยังไม่เพียงพอ” และ “ยังไม่ทั่วถึง” ทำให้ช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงเหลือ 0.9% จากเดิมที่ 1.9%
    โดยจากข้อมูลเร็ว (High Frequency data) สะท้อนว่าการระบาดรอบนี้มีผลกระทบมากกว่าการระบาดระลอกที่ 2 และยาวนานกว่าการระบาดทุกรอบก่อนหน้า จากจำนวนผู้ติดเชื้อและการกระจายไปหลายจังหวัดมากกว่าการระบาดรอบ 2 ในช่วงต้นปี ซึ่งความเสียหายรวมของการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ลากยาวนี้มีแนวโน้มสูงถึงกว่า 7.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 4.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีความเสียหายราว 3 แสนล้านบาท จากระดับการบริโภคภาคเอกชนที่ไม่รวมเม็ดเงินกระตุ้นจากภาครัฐ ปรับลดลงในช่วงไตรมาส 3/2564 อยู่ระกับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ปีก่อน ที่มีมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ส่งผลให้รายได้ของหลายภาคธุรกิจลดลงมาก และยังมีผลต่อเนื่องไปยังรายได้ที่ลดลงของลูกจ้างในภาคธุรกิจดังกล่าวด้วย
    “จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าแผน และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง จึงทำให้ EIC คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือน พ.ย.2564 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือนตั้งแต่มีการระบาดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จากคาดการณ์เดิมใช้เวลาแค่ 4 เดือนในการควบคุมโรค”
    นอกจากนี้ EIC ยังคาดการณ์ด้วยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะยังปรับเพิ่มขึ้นไปสู่จุดสูงสุดภายในครึ่งแรกของเดือน ส.ค.2564 เนื่องจากล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้โรงพยาบาลที่ตรวจพบผู้ติดโรคที่มีอาการในเกณฑ์สีเขียวสามารถรักษาที่บ้านได้ จึงอาจทำให้โรงพยาบาลยอมตรวจเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงยังได้อนุญาตให้ใช้ Antigen test self-test kits ในการตรวจเชื้อด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้จำนวนการตรวจเชื้อต่อวันและจำนวนผู้ติดเชื้อของไทยปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป ขณะที่การฉีดวัคซีน หากยึดความเร็วในการฉีด 7 วันล่าสุดเป็นหลักและคาดการณ์ไปข้างหน้า จะพบว่ามีประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ราว 40% ในช่วงปลายไตรมาส 3/2564 ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2564
    ทั้งนี้ ผลกระทบของการระบาดที่ลากยาวจะทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจมีโอกาสปรับลึกขึ้นอีก ทั้งในส่วนของการเปิด-ปิดกิจการที่แย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น รวมถึงภาคครัวเรือนจะต้องแบกหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและเผชิญกับภาวะของการมีหนี้สูง จนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายในอนาคต หรือ Debt overhang เป็นเวลานานขึ้น ซึ่งแผลเป็นที่ลึกขึ้นจะเป็นอุปสรรคหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
    ขณะที่ตลาดแรงงานก็ยังคง “ซบเซา” และมีแนวโน้มจะถดถอยลงมากกว่าเดิม จากการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น โดยเครื่องชี้ตลาดแรงงานไทยได้มีทิศทางที่ปรับแย่ลงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยอัตราการว่างงานในไตรมาส 1/2564 อยู่ที่ 1.96% เพิ่มขึ้นจาก 1.86% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่จำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงต่อเนื่อง ติดลบ 1.8% รวมไปถึงรายได้ของลูกจ้างภาคเอกชน อาทิ เงินเดือน โอที และโบนัส ก็อยู่ในระดับติดลบ 8.8% โดยเป็นการลดลงในทุกสาขาธุรกิจสำคัญนอกภาคเกษตร หรือแม้กระทั่งรายได้ส่วนของเงินเดือนของกลุ่มมนุษย์เงินเดือนก็ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ไตรมาสอีกด้วย ซึ่งความอ่อนแอของตลาดแรงงานดังกล่าวนั้นยังไม่รวมผลของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ส่งผลเต็มที่ในไตรมาส 2/2564 มาจนถึงปัจจุบัน และน่าจะส่งผลรุนแรงเพิ่มเติมต่อตลาดแรงงานต่อไป
    ซึ่งความซบเซาทั้งในภาคธุรกิจและตลาดแรงงานจะกระทบกับรายได้ภาคครัวเรือน และทำให้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในไตรมาส 1/2564 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 90.5% สูงสุดเป็นประวัติการณ์และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่ง EIC ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสู งและอาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะ “การมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายในอนาคต (Debt Overhang)”
    หนี้ครัวเรือนจะเป็นอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลานานในการคลี่คลาย โดยต้องอาศัยการซ่อมแซมงบดุลของครัวเรือนทั้งโดยการเพิ่มรายได้ ลดการใช้จ่าย ลดภาระหนี้เดิม และชะลอการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งผลของแนวโน้มดังกล่าวจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าอีกด้วย
    สำหรับมาตรการช่วยเหลือล่าสุดของภาครัฐที่ออกมาหลังการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 มีเม็ดเงินเพียง 2.6 แสนล้านบาท ได้แก่ มาตรการขยายวงเงินเราชนะและเรารักกัน การให้เงินผู้ถือบัตรสวัสดิการ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ คนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และมาตรการล่าสุดในการชดเชยรายได้ของผู้ประกอบการและลูกจ้างในจังหวัดที่โดนมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่ง EIC ประเมินว่ามาตรการดังกล่าว “ยังไม่เพียงพอ” ทั้งในด้านระยะเวลา ด้านพื้นที่และด้านเม็ดเงิน เมื่อเทียบกับความเสียหายที่ประเมินไว้ที่ 7.7 แสนล้านบาท
    ทั้งนี้ EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอีกราว 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวอย่างหนัก โดยเป็นการใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าภาครัฐจะต้องมีการใช้เม็ดเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวอีกราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้ จากที่ใช้ไปแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาทในนโยบายลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าล่าสุด และมาตรการชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการและลูกจ้าง
    โดยมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัด ได้แก่ 1.มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ ในประเด็นการกระจายวัคซีน นอกเหนือจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเปราะบางต่างๆ แล้ว ภาครัฐควรจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการระบาดที่จะกลายเป็น supply disruption กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสำคัญทั้งการส่งออกและการอุปโภคในประเทศด้วย
    และ 2.มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่อง และการจ้างงานของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการว่างงานและการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพในภาคนอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ควบคู่กับการปรับทักษะแรงงาน (Up/Re-skill) และการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งด้านการผลิตและช่องทางการขาย (online platform) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแข่งขันของแรงงานและธุรกิจในโลก New normal อีกด้วย
    ในส่วน “ภาคการท่องเที่ยว” ยังคงซบเซาต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เนื่องจากหลายประเทศยังมีนโยบายรัดกุมในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในไทยที่ปรับแย่ลง ทำให้ EIC ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้ลงเหลือ 3 แสนคน ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4 แสนคน แม้ว่าในภาพรวมช่วง 5 เดือนแรกของปี (ม.ค.-พ.ค.) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติดินทางเข้าไทยเพียง 3.47 หมื่นคนเท่านั้น ขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีเพียง 7.42 พันคนในช่วง 17 วันแรก และสมุยพลัสมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 17 คนเท่านั้นในช่วง 4 วันแรก นับจากวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสสูงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่าประมาณการของภาครัฐที่คาดไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวราว 1 แสนคน ในช่วง 3 เดือนแรก (ก.ค.-ก.ย.) ของการเปิดโครงการนำร่อง
    อย่างไรก็ดี ก็ยังมีแรงส่งที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยยังพอเดินหน้าต่อไปได้บ้างจาก “ภาคการส่งออก” ที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งจะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิด supply disruption ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม และในภาพรวม แม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สอดคล้องกับดัชนี Global PMI: Export orders และมูลค่าการส่งออกของประเทศในภูมิภาคที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
    โดยจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ EIC ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ในระดับสูงถึง 15.0% แต่ก็ยังต้องจับตาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะปัญหา supply disruption ที่เกิดจากการปิดโรงงานจากการระบาดทั้งในไทยและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกับไทย ผลกระทบด้านอุปสงค์จากการระบาดในเศรษฐกิจประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ตลอดจนการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และการขาดแคลนชิปที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"