‘พอช.' จับมือภาคีเครือข่าย ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ ผนึกพลังส่งอาสาสมัคร 200 คนหนุนชุมชนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลสู้ภัยโรคร้าย


เพิ่มเพื่อน    

ชาวชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ตรวจหาเชื้อโควิดโดยการสนับสนุนของชมรมแพทย์ชนบท

 

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ /   ‘พอช.’ จับมือภาคีเครือข่าย  ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’ ผนึกพลังส่งอาสาสมัคร-ผู้นำชุมชน 11 ทีม  ประมาณ 200 คน  หนุนชุมชนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลรวม 1,386  ชุมชนสู้ภัยโควิดช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้  ขณะที่เครือข่ายสลัม 4 ภาคประสานภาคีเครือข่ายใช้ระบบ Home  Isolation  ดูแลผู้ป่วยในชุมชนแก้ปัญหาเตียงขาดแคลน

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้จัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ลุกขึ้นมา  เพื่อควบคุม  ป้องกันการแพร่เชื้อ  รวมทั้งจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้านและชุมชน  เช่น  สนับสนุนงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทกระจายลงสู่ชุมชนต่างๆ  เริ่มดำเนินการในขณะนี้ 

          ล่าสุด พอช. ได้จัดทำโครงการ ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  และปริมณฑล’ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่ พอช.  ผู้นำชุมชน  อาสาสมัคร  ประมาณ 200 คน  และหน่วยงานภาคีเครือข่ายลงไปสนับสนุนการทำงานของชุมชนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  มีเป้าหมาย 1,386 ชุมชน

 

เปิดแผนปฏิบัติการ ‘ขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19’

          โดยวันนี้  (26 กรกฎาคม) ระหว่างเวลา 09.00-12.30 น.  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ได้จัดประชุมผ่านระบบแอพพลิเคชั่นซูม  เพื่อปฐมนิเทศสร้างความเข้าใจ ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  และปริมณฑล’  โดยมีผู้บริหาร - เจ้าหน้าที่ พอช. ผู้นำชุมชนต่างๆ และผู้แทนภาคีเครือข่าย  เช่น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเข้าร่วมประชุมผ่านระบบซูมประมาณ 150 คน

 

นายสมชาติ ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.

 

          นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า   สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง  โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  ชุมชนจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและแก้ไขปัญหา  เพราะชุมชนจะมีข้อมูลและรู้ว่าใครเป็นใคร  ครอบครัวไหนติดเชื้อ  หรือต้องกักตัว  โดย พอช.จะมีบทบาทสนับสนุนชุมชนและเครือข่ายชุมชนในด้านต่างๆ  โดยมีเจ้าหน้าที่ พอช.  ผู้นำชุมชน  และอาสาสมัคร  เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องชุมชน  โดยยึดเอาปัญหาของชุมชนเป็นหลัก  เพื่อเอาชนะโควิดให้ได้

          “กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยรัฐมนตรี  จุติ  ไกรฤกษ์  มีนโยบายให้หน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่  โดย พอช.จะร่วมกับพี่น้องชุมชน  ภาคี  เครือข่าย  องค์กรพัฒนา  และภาคเอกชน  ร่วมกันเป็นตาข่ายความร่วมมือ  เชื่อมโยง  ประสานความช่วยเหลือกัน  เพื่อหนุนเสริมพี่น้องชุมชนอย่างเต็มที่”  ผอ.พอช.กล่าวย้ำ

 

เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ชมรมแพทย์ชนบทตรวจเชื้อโควิดให้ชาวชุมชนที่ พอช.เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

          นายสยาม  นนท์คำจันทร์  คณะทำงานโครงการ ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 ฯ’  กล่าวว่า  สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้  ระบบสาธารณสุขภายนอกไม่สามารถรองรับพี่น้องชาวชุมชนได้  ดังนั้นชุมชนจึงต้องลุกขึ้นมาจัดการและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง  ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน  ภาคีเครือข่ายต่างๆ และ พอช.  โดยชุมชนและชาวบ้านจะต้องเป็นแกนหลักและดูศักยภาพของตนเองว่ามีอะไรบ้าง  พอช.และเครือข่ายจะหนุนเสริมด้านไหน 

          “ส่วนกลไกการขับเคลื่อนงาน  จะมีทีมวอร์รูม โดยมีผู้บริหาร พอช.ร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงาน  ประสานงานนโยบาย  กำหนดเครื่องมือและทรัพยากรในการสนับสนุนชุมชน  นอกจากนี้ยังมีทีมข้อมูลและรายงานผล  มีทีมปฏิบัติการจำนวน 11 ทีม  อาสาสมัคร  พอช.  และผู้นำชุมชน  ประมาณ 200 คน  ลงพื้นที่ปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต  และปริมณฑล  คือ  นนทบุรี  สมุทรปราการ  ปทุมธานี  นครปฐม  รวมทั้งคนไร้บ้านด้วย”  นายสยามแจงกลไกการทำงาน

 

นายสยาม  นนท์คำจันทร์

 

          เขาบอกด้วยว่า  ขณะนี้ชุมชนที่มีความพร้อมสามารถวางแผนปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช. และสามารถดำเนินการได้เลย  โดยยึดปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก   เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้  โดยมีพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 1,386 ชุมชน  แยกเป็น  ชุมชนแออัด  641 ชุมชน  ชุมชนเมือง 459 ชุมชน  และชุมชนที่ไม่ได้จัดตั้งหรือจดทะเบียนเป็นชุมชน 286 ชุมชน

          ทั้งนี้ทีมปฏิบัติการทั้ง 11 ทีมจะมีหน้าที่ต่างๆ  เช่น  1.สร้าง เชื่อมโยงเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  2.จัดทำข้อมูล สถานการณ์ ความต้องการระดับชุมชน  3.จัดทำแผนปฎิบัติการระดับชุมชน (ระยะสั้น-ยาว)  4.ประสานการแก้ไขปัญหา/ประสานกรมต่างๆ ในกระทรวงพม. / ระบบ HOME ISOLATION  5.ประสานภาคีพัฒนา และกรุงเทพมหานคร   6.พัฒนาโครงการการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  7.ประเมินการต่อยอดงานพัฒนา พอช. (เช่น  จัดทำโครงการบ้านมั่นคงในชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย)   8.จัดทำรายงานประจำสัปดาห์   รอบเดือน   และ 3 เดือน  ฯลฯ   

 

ประสบการณ์จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค

          นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า  ในช่วงแรกชุมชนเครือข่ายสลัม 4 ภาคในกรุงเทพฯ  ได้เตรียมเรื่องสถานที่พักคอยในชุมชนเพื่อเตรียมส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาต่อ  แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่รุนแรง  ทำให้ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้  เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยรายใหม่ 

 

นางสาวนพพรรณ  พรหมศรี

 

          เครือข่ายสลัม 4 ภาคจึงได้ชวนภาคีเครือข่ายต่างๆ  เช่น  สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (IHRI)  มูลนิธิเข้าถึงเอดส์  สปสช.  สสส. ฯลฯ  มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออก  โดยใช้ระบบ Home  Isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) เพราะอยู่ที่บ้านก็ยังมียา  มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์  มีอาหาร 3 มื้อ  และได้รับการดูแลจากทีมอาสาโควิดชุมชน  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำหรือจิตอาสาในชุมชนที่ผ่านการอบรมแล้ว  รวมทั้งใช้พื้นที่ในชุมชน  เช่น  ศูนย์หรือที่ทำการชุมชนมาจัดทำเป็น Community  Isolation เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (ระดับสีเขียวหรือเหลืองอ่อน)

          “ระบบการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนนี้  ถือเป็นระบบใหม่ที่จะเปลี่ยนวิธีคิด  จากเดิมที่คนป่วยจะต้องไปหาหมอที่โรงพยาบาล  จะทำให้คนในชุมชนดูแลกันเองได้  แต่จะต้องปรับวิธีคิดของผู้นำชุมชนและชาวบ้านด้วย  เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด  และระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยว่าสามารถรักษาตัวในชุมชนได้    เพราะหากไม่เข้าใจก็จะเกิดความกลัวคนที่ติดเชื้อ  และไล่ให้ออกไปรักษานอกชุมชน”  นางสาวนพพรรณกล่าว

          ระบบการดูแลรักษาแบบ Home  Isolation และ Community  Isolation เครือข่ายสลัม 4 ภาคร่วมกับภาคีเครือข่าย  โดยสถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี (Institute of HIV Research and Innovation = IHRI) จัดอบรมผู้นำชุมชนและอาสาสมัครเพื่อให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคโควิด-19  การแพร่เชื้อ  การค้นหาผู้มีความเสี่ยงสูง  การตรวจหาเชื้อ   การแบ่งระดับสีผู้ป่วย  การดูแลผู้ป่วย  ฯลฯ   หากตรวจพบผู้มีความเสี่ยงสูง  จะแนะนำให้แยกตัวอยู่ในบ้าน  หรือแยกมาอยู่ในศูนย์พักในชุมชน   พร้อมทั้งอธิบายการรักษาตัวที่บ้าน  และสอบประวัติ  นำข้อมูลกรอกเข้าแบบฟอร์ม   ดูแลการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มเสี่ยงที่ต้องแยกตัว  

          โดยทีม IHRI จะส่งยา  อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ  วัดออกซิเจนไปให้  และผู้ดูแลจะต้องรายงานผลไปให้พยาบาลที่รับผิดชอบทุกวันเพื่อติดตามอาการ  หากป่วยไม่รุนแรง  ผู้ป่วยจะได้รับยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ  หากไม่หายภายใน 14 วัน  จะได้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์ หรือเครื่องช่วยหายใจ  หากอาการไม่ดีขึ้นจะประสานการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล

          ปัจจุบันมี 23 ชุมชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เข้าร่วมโครงการนี้  เช่น  ชุมชนใหม่ไทรทอง   ชุมชนเพชรคลองจั่น   ชุมชนทองกิตติ   ชุมชนหลวงวิจิตร   ชุมชนโรงหวาย  เครือข่ายคนไร้บ้าน  บ้านพูนสุข  จ.ปทุมธานี  บ้านเตื่อมฝัน  จ.เชียงใหม่  ฯลฯ  โดยมีแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยะเวทให้คำปรึกษาดูแล  และมีศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ  ร่วมสนับสนุน  ส่วนงบ ประมาณด้านยา  อุปกรณ์  และอาหาร  ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช.

         ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปที่ติดเชื้อโควิด-19  และต้องการรักษาตัวที่บ้าน  สามารถลงทะเบียนโดยสแกน QR Code ได้ตามนี้

 

 

พอช.ใช้งบ 30 ล้านบาทหนุนสู้ภัยโควิด

           อย่างไรก็ตาม  นอกจากโครงการ ‘ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19  ในพื้นที่กรุงเทพฯ  และปริมณฑล’ แล้ว  ก่อนหน้านี้  พอช.ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทจัดทำ ‘โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด’

          มีเป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายชุมชนในระดับเมือง (ในกรุงเทพฯ คือระดับเขต) และชุมชน  ได้จัดทำแผนงานการป้องกัน  ควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรค  การเตรียมทำสถานที่พักคอย  ลดผลกระทบด้านเศรฐกิจ  ส่งเสริมอาชีพ  รายได้  ฯลฯ  โดยเครือข่ายชุมชนฯ และชุมชนได้เสนอโครงการมาที่ พอช.  และ พอช.ได้อนุมัติโครงการเพื่อสนับสนุนชุมชนดำเนินการไปแล้ว  ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน   รวม 31 เมือง  332 ชุมชน  กลุ่มเป้าหมายรวม 67,978 ครัวเรือน  (จากทั้งหมด 1,113 ชุมชน)

          โดย พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชน   แบ่งเป็น 1.เมืองใหญ่ (เกิน 20 ชุมชน) พื้นที่สีแดง  มีชาวชุมชนต้องกักตัวเกิน 81 คนขึ้นไป  สนับสนุนงบประมาณ 150,000 บาท  2.พื้นที่สีแดงอ่อน กักตัวระหว่าง 31-80 คน  สนับสนุนงบฯ 100,000 บาท  3.พื้นที่สีเหลือง  กักตัวไม่เกิน  30 คน  สนับสนุนงบฯ 80,000 บาท  และสนับสนุนในระดับชุมชนไม่เกินชุมชนละ 50,000 บาท  (รวมงบที่ พอช.อนุมัติแล้วทั้งหมดประมาณ 12 ล้านบาท)

 

ชุมชนหลังหมู่บ้านพระปิ่น 5 ขายอาหารราคาถูกให้ชาวชุมชน

 

          โดยมีแผนงานรวมทั้งหมด 107 แผนงาน/กิจกรรม  แบ่งเป็น  1.ศูนย์พักคอยเตรียมส่ง รพ. 22 %   2.อบรมอาชีพ 19 %  3.จำหน่ายอาหาร  ข้าวสาร  สินค้าจำเป็น  ราคาทุน  14 %  4.แจกอาหาร  ข้าวสาร ให้ผู้กักตัว  กลุ่มเปราะบาง 13 %  5.เชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน  (เช่น  สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข  อบต.  รพ.สต. สปสช.) 13 %  6.ศูนย์ประชาสัมพันธ์  รับบริจาค  รวบรวมข้อมูล  ประสานงานการตรวจและลงทะเบียนฉีดวัคซีน หา รพ.  และ 7.ครัวกลาง 6 %  ทำอาหารแจกหรือขายราคาถูก  อิ่มละ 20 บาท  คนลำบากกินฟรี    เพื่อลดการออกไปนอกชุมชน  ลดโอกาสเสี่ยงที่จะรับหรือแพร่เชื้อ  ฯลฯ  

community -isolation ihri กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การแยกกักตัวที่บ้าน จุติ -ไกรฤกษ์ ทีมอาสาโควิดชุมชน นางสาวนพพรรณ-พรหมศรี นายสมชาติ -ภาระสุวรรณ นายสยาม -นนท์คำจันทร์ ปฏิบัติการขบวนองค์กรชุมชนตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 พม. พอช. ภาคีเครือข่าย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย-(มพศ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบบ-home -isolation ระบบการดูแลที่บ้าน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-(องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมเอชไอวี สปสช. สสส. สู้ภัยโรคร้าย อาสาสมัคร เครือข่ายสลัม-4-ภาค แก้ปัญหาเตียงขาดแคลน โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"