‘21 ปี พอช.’ : กลไกรัฐที่สนับสนุนชุมชน-สร้างสังคมเข้มแข็ง บ้านมั่นคง บ้านที่มากกว่าคำว่า “บ้าน”


เพิ่มเพื่อน    

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นภารกิจที่สำคัญด้านหนึ่งของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.

 

          สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่  สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  เปิดดำเนินงานเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543  มีภารกิจสนับสนุนและส่งเสริมองค์กรชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  ส่งเสริมอาชีพ  การจัดสวัสดิการชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  ดูแลสิ่งแวดล้อม  การจัดการภัยพิบัติ  ฯลฯ 

          ในเดือนตุลาคมนี้   พอช.ดำเนินงานมาครบ 21 ปี  และกำลังย่างเข้าสู่ปีที่ 22  มีประสบการณ์และบทเรียนในการทำงานมากพอสมควร  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม   เปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาจากเดิมแบบสั่งการ”  หรือบนลงล่าง  เป็นล่างขึ้นบน  โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา  สามารถคิด  วิเคราะห์  และบริหารโครงการต่างๆ  ได้เอง  ไม่ใช่เป็นผู้รอรับการพัฒนาทำให้ชุมชนและเครือข่ายเกิดความเข้มแข็ง  พึ่งพาตนเองได้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

บ้านมั่นคงแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

          ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านครัวเรือน  ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเกือบ  6  ล้านครัวเรือน  เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ  3.5  ล้านครัวเรือน  โดยเฉพาะประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย  บางส่วนจึงต้องบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่อปลูกสร้างบ้าน  หรือเช่าบ้าน-เช่าที่ดินอยู่อาศัย  สภาพทรุดโทรม  สิ่งแวดล้อมย่ำแย่  เพราะเป็นชุมชนแออัด  เด็กๆ ไม่มีสถานที่วิ่งเล่น

          ลุงวิเชียร  แสงพลอย  วัย 76 ปี  ผู้นำชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่   ย่านสถานีขนส่งหมอชิตใหม่  เขตจตุจักร  เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 20-30  ปีก่อนว่า   ชุมชนที่ลุงอาศัยอยู่เดิมเป็นชุมชนเช่าที่ดินเมื่อก่อนเรียกว่าชุมชนสวนผัก   เพราะสมัยก่อนย่านจุตจักรยังเป็นทุ่งนา  เป็นสวนผัก  สถานีหมอชิตใหม่ยังไม่ย้ายเข้ามา  เจ้าของที่ดินเป็นเศรษฐีใจบุญจึงให้เช่าที่ราคาถูกๆ  เดือนละ 20-100 บาทเพื่อสร้างบ้าน  ครอบครัวละ 20-30 ตารางวา  มีคนมาปลูกบ้านหลายสิบหลัง  ต้องต่อน้ำประปา  ไฟฟ้าราคาแพงจากข้างนอกเข้ามาใช้   ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ  เป็นแรงงานราคาถูก  อพยพจากต่างจังหวัดเพื่อมาหากินในกรุงเทพฯ

 

ลุงวิเชียร  แสงพลอย  บุกเบิกแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยมากว่า 20 ปี

 

          ต่อมาเมื่อมีข่าวว่าจะมีสถานีขนส่งย้ายเข้ามา  มีการตัดถนน  มีทางด่วนผ่าน  ที่ดินมีราคาสูง  จึงมีคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้  รวมเนื้อที่ทั้งหมด 5 ไร่เศษ  ราคาหลายสิบล้านบาท  แต่เจ้าของยังไม่ขาย  เพราะห่วงว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน  ขณะที่ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว  เพราะไม่รู้ว่าเจ้าของที่ดินอาจจะขายที่ดินแปลงนี้ในวันไหน  

          ต้นปี 2537 เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) สังกัดการเคหะแห่งชาติ ( พชม.จัดตั้งขึ้นในปี 2535  เป็นโครงการพิเศษภายใต้การเคหะแห่งชาติ  ตามข้อเสนอของขบวนชุมชนและประชาสังคม    เพื่อบริหารจัดการงบประมาณแก้ปัญหาชุมชนแออัดที่รัฐบาลให้การสนับสนุนจำนวน  1,250 ล้านบาท  ปัจจุบันคือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.) ที่รู้ข่าวว่าชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่กำลังมีปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย  ได้เข้ามาพบปะพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อให้คำปรึกษา  จนนำไปสู่การรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ (กุมภาพันธ์ 2537) เพื่อระดมทุนแก้ไขปัญหาและเตรียมพร้อมหาที่อยู่อาศัยใหม่   มีสมาชิกเริ่มต้น 28 ราย  ออมเงินกันคนละ 300-500 บาทต่อเดือน  ใครมีมากก็ออมมากกว่านั้น

          พอถึงปี 2542  ตอนนั้นพวกเราออมเงินกันได้ 5-6 ปีแล้ว  และสถานีหมอชิตใหม่ย้ายมาแล้ว  มีคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของ  ราคา 65 ล้านบาท  หรือประมาณตารางวาละ 30,000 บาท  พวกเราก็ส่งตัวแทนไปคุยกับเจ้าของที่ดิน  เจ้าของก็ถามว่าพวกเราจะมีเงินซื้อหรือ ?  เพราะรู้ว่าชาวบ้านไม่มีเงินแน่ๆ  แต่พวกเราก็บอกว่าตอนนี้มีเงินออมทรัพย์รวมกันได้ประมาณ 1 ล้านบาท  และจะหาเงินมาซื้อที่ดิน  เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน  ลูกหลานก็เรียนและทำงานอยู่แถวนี้  ถ้าจะย้ายไปอยู่นอกเมืองก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ลุงวิเชียรเล่าย้อนเหตุการณ์ในครั้งนั้น

          แต่เหมือนกับเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ !!  เพราะเจ้าของที่ดินใจบุญรายนั้น (นายมานะ  เนตรสาริกา) ยอมขายที่ดินให้ชาวบ้านในราคาตารางวาละ 10,000 บาท   แต่ชาวบ้านก็ยังขอต่อรองอีก  จนเจ้าของใจอ่อนลดเหลือตารางวาละ 7,500 บาท รวมที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 35 ตารางวา  ราคา 18 ล้านบาทเศษ  โดยชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  (เพื่อทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆและยื่นขอใช้สินเชื่อจากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (ปัจจุบันคือ พอช.)  เพื่อนำมาซื้อที่ดิน  โดยทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับเจ้าของในเดือนสิงหาคม 2543

          เมื่อได้ที่ดินมาแล้ว  ชาวบ้านจึงนำมาจัดสรรกันโดยการดำเนินการของสหกรณ์เคหสถานชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  แบ่งที่ดินตามความต้องการและฐานะของครอบครัว ได้ทั้งหมด 82 แปลง (รวมชุมชนที่เดือดร้อนใกล้เคียง) ที่ดินมีขนาดตั้งแต่ 10-25 ตรว. ผ่อนส่งเดือนละ 1,100 -2,300 บาทตามขนาดที่ดิน  ระยะเวลา 15 ปี ส่วนบ้านยังไม่ได้ก่อสร้างใหม่  เพราะชาวบ้านยังมีภาระในการผ่อนชำระค่าที่ดิน   ถนนทางเดินในชุมชนก็ยังเฉอะแฉะ  เป็นดินโคลน  เวลาหน้าฝนน้ำจะท่วมขัง  ชาวบ้านต้องเดินลุยโคลนเข้า-ออก

 

สภาพชุมชนเดิม

 

          ในเดือนกรกฎาคม 2543  มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชนโดยโอนภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนเมืองและสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบทเข้าด้วยกัน   ต่อมาในวันที่  26  ตุลาคม 2543  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ  (ปัจจุบัน พอช.อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

          ในปี  2546  พอช.ได้จัดทำโครงการ บ้านมั่นคง ขึ้นมา   เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย  อยู่ในที่ดินบุกรุกหรือที่ดินเช่าที่ไม่มีความมั่นคง  เพราะไม่รู้ว่าจะถูกขับไล่ในวันใด  โดย พอช.ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้าน  เพื่อสนับสนุนให้ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนร่วมกันแก้ไขปัญหา  พอช.มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้การสนับสนุน  โดยมีกระบวนการต่างๆ  เช่น  สร้างความเข้าใจร่วมกันทั้งชุมชน  ร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้าน   ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบ  แบ่งหน้าที่  สำรวจข้อมูลชุมชน  ความเดือดร้อน  ช่วยกันออกแบบบ้านในความฝัน  ฯลฯ

 

10 โครงการนำร่องบ้านมั่นคงในปี 2546

          โครงการบ้านมั่นคงเริ่มต้นในปี 2546   มีชุมชนนำร่องจำนวน 10 แห่งทั่วประเทศ    โดยชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ชุมชนนั้นด้วย  ส่วนชุมชนอื่นๆ  เช่น  บ่อนไก่  กรุงเทพฯ, แหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง, บุ่งคุก      .อุตรดิตถ์, เก้าเส้ง จ.สงขลา  ฯลฯ  โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวน 146 ล้านบาท  เพื่อให้ พอช.นำไปสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน

          ในส่วนของชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่หลังจากซื้อที่ดินในปี 2543  แล้ว  จึงได้เริ่มกระบวนการบ้านมั่นคงในปี 2546  เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่  เนื่องจากสภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรม  เพราะปลูกสร้างมานาน  และส่วนใหญ่สร้างบ้านกันตามทุนรอนที่มี  ไม่มีระบบสาธารณูปโภค  ทางเดินเป็นพื้นดิน  ไม่มีท่อระบายน้ำ  เมื่อฝนตกถนนและทางเดินจึงเละเป็นโคลน

          โดย พอช.ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำการทำโครงการบ้านมั่นคง  มีตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะกรรมการ  ไปศึกษาดูงานชุมชนที่แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว  ร่วมกันสำรวจข้อมูลต่างๆ ในชุมชน   จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิก   เช่น  รูปแบบการพัฒนาชุมชน   ร่วมกันออกแบบผังชุมชนใหม่   ออกแบบบ้าน  ฯลฯ  หลังจากนั้นจึงร่วมกันสร้างระบบสาธารณูปโภค   ขอติดตั้งไฟฟ้า  น้ำประปา  ทำท่อระบายน้ำ  ถนนในชุมชน 3 สาย  กว้าง 4 เมตร   โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,780,000 บาท ใช้แรงงานในชุมชนเป็นหลัก

          ส่วนการสร้างบ้าน  ครอบครัวไหนที่มีความพร้อมก็ดำเนินการไปก่อน  มีทั้งสร้างเอง จ้างช่างมาสร้าง    รวมทั้งการลงแรงช่วยกันก่อสร้าง  ใช้วัสดุเก่าที่ยังใช้ได้  ทำให้ชาวบ้านประหยัดงบได้ไม่น้อย โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อก่อสร้างบ้านตามขนาดที่ดิน   ตั้งแต่ 10-25  ตารางวา  ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวและบ้านเดี่ยวสองชั้น  ราคาตั้งแต่ 130,000-300,000  บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 1,100-2,300 บาท  ระยะเวลา 15 ปี  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  9 บาทต่อปี

          พอถึงปี 2547  บ้านส่วนใหญ่ก็ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ  จากชุมชนที่เคยอยู่กันแบบ ตามมีตามเกิดทางเดินเฉอะแฉะ   เป็นหลุมเป็นบ่อ  ไม่มีน้ำประปา   ไม่มีไฟฟ้าใช้เอง  จึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ !!

 

สภาพชุมชนใหม่  บ้านเรือน  ถนนดูสะอาดตา 

 

          ลุงวิเชียร ในฐานะประธานชุมชนเจริญชัยฯ กล่าวว่า  จากการรวมตัวกันโครงการชาวบ้านเพื่อซื้อที่ดินและเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับ พอชปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี  ชาวบ้านทุกครอบครัวผ่อนชำระค่าที่ดินค่าและค่าสร้างบ้านหมดแล้วและจากสภาพเดิมของชุมชนเมื่อก่อนยังเป็นทุ่งนา  เป็นสวนผัก  แต่ตอนนี้กลายเป็นย่านคมนาคม  เพราะอยู่ใกล้สถานี บขส.หมอชิตใหม่   สถานีกลางบางซื่อ  และอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ทำให้ที่ดินในย่านนี้มีราคาสูงขึ้น   เฉพาะที่ดินที่ชาวชุมชนอาศัยอยู่ 5 ไร่เศษ  ตอนซื้อมาราคา 18 ล้านบาทเศษ (เจ้าของที่ดินลดราคาให้) ตอนนี้มีเอกชนมาขอซื้อราคา 200 ล้านบาทเพื่อทำโครงการธุรกิจ

          “แต่พวกเราตกลงกันแล้วว่าจะให้ราคาสูงอย่างไรก็จะไม่ขาย  เพราะเรารับปากกับเจ้าของที่ดินเอาไว้ว่าจะซื้อมาเพื่อทำที่อยู่อาศัยเท่านั้น  พวกเรายังคุยกันเลยว่า  หากเราไม่รวมตัวกันซื้อที่ดินและทำโครงการบ้านมั่นคงในตอนนั้น  วันนี้พวกเราจะไปอยู่ที่ไหนกัน  จะกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่มีที่ดินทำกิน  อาจจะอยู่ในสลัมที่ไหนสักแห่ง  หรือเช่าบ้านอยู่ตลอดชีวิต เพราะลำพังคนหาเช้ากินค่ำคงไม่มีเงินพอจะซื้อบ้านอยู่ ถ้าเราไม่รวมตัวกันและไม่มีโครงการบ้านมั่นคง  พวกเราก็คงจะไม่ได้อยู่แบบวันนี้ลุงวิเชียรบอก

 

บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน

          โครงการสร้างบ้านมั่นคง  ดังตัวอย่างที่ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  ไม่ใช่เป็นการสร้างเฉพาะ ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการ พัฒนาชุมชนและ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนด้วย   เช่นที่ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่   มีสหกรณ์เคหสถานฯ ซึ่งให้สมาชิกออมเงินตามหุ้นที่มีอยู่   หุ้นละ 10 บาท   คนหนึ่งไม่เกิน 20 หุ้น  มีสมาชิกทั้งหมด 160 คน   ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนประมาณ 10 ล้านบาท   สมาชิกกู้ยืมได้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท   อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน  ผ่อนชำระภายใน 60 งวด   ถือว่าเป็น ธนาคารชาวบ้าน  เพราะนอกจากจะสร้างวินัยในการออมแล้ว  ยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในยามที่เดือดร้อนจำเป็น  ไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 บาทต่อเดือน      

          นอกจากนี้ที่ชุมชนเจริญชัยฯ ยังมีกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่หน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน  เช่น  การคัดแยกขยะ   นำขยะเปียกไปทำปุ๋ย   ใส่ต้นไม้ในชุมชน  ขยะรีไซเคิ้ลเอาไปขายเป็นกองทุนพัฒนาชุมชน ชุมชนจึงดูสะอาดสวยงาม  มีศูนย์เฝ้าระวังภัยและยาเสพติด  โดยมีชาวบ้านในชุมชนเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง  มีกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด ฯลฯ ทำให้ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่เป็นสถานศึกษาดูงานของชุมชนและหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาชุมชน

          นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ชุมชนยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น  พอช.จัดทำโครงการแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์โควิด  เช่น  ทำคาราวานสินค้าราคาถูกนำไปจำหน่ายให้แก่สมาชิกชุมชนต่างๆ ในเขตจตุจักร  เช่น  ข้าวสาร  น้ำมันพืช  ไข่ไก่  น้ำตาล  นม  อาหารแห้ง  ฯลฯ   เพื่อดค่าใช้จ่าย

          จัดทำ ศูนย์พักคอยชุมชน หรือ CI (Community  Isolation)  เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังมีอาการไม่รุนแรงในชุมชนเครือข่ายเขตจตุจักร  สามารถรองรับได้ 8 เตียง  (พอช.สนับสนุนงบ 150,000  บาทขณะนี้ชาวบ้านกำลังช่วยกันก่อสร้าง  คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้  ฯลฯ

 

ศูนย์พักคอยกำลังก่อสร้าง

 

TDRI ประเมินบ้านมั่นคง

ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจพัฒนาสังคมให้น่าอยู่

          จากรายงานของทีดีอาร์ไอ ฉบับที่  102 เดือนเมษายน 2557 เรื่อง การประเมินมูลค่าที่เกิดจากโครงการบ้านมั่นคงซึ่งเป็นรายงานการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ได้คัดเลือกชุมชนบ้านมั่นคงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  รวม 16 ชุมชน (รวมทั้งชุมชนเจริญชัยนิมิตรใหม่) มีครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างในการสำรวจ 745 ครัวเรือน  พบว่า

          โครงการบ้านมั่นคงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดขนาดใหญ่ โดยสร้างความมั่นคงใน ที่ดินและที่อยู่อาศัยให้แก่ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด  โครงการนี้ใช้แนวทางการดำเนินการแบบใหม่ที่แตกต่างจากโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแบบเดิมซึ่งหน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดทำโครงการ

          กล่าวคือ (1) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรวมตัวและมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้น  ได้แก่  การสำรวจข้อมูล   การเลือกชุมชนนำร่อง  การเลือกวิธีปรับปรุงชุมชน   การจัดหาที่ดิน  การออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย การออกแบบบ้าน  การออกแบบชุมชน  การก่อสร้าง ฯลฯ

 

บ้านมั่นคงที่จังหวัดสระแก้ว  ชาวบ้านช่วยกันลงแรงสร้าง  และมีส่วนร่วมทำโครงการ

 

          (2) รูปแบบและแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของแต่ละชุมชนมีความหลากหลายและแตกต่างกันตามสภาพปัญหา ความต้องการของสมาชิกในชุมชน  และข้อจำกัดด้านต่างๆ (โดยเฉพาะด้านกายภาพและเจ้าของที่ดิน)

          (3) เน้นการแก้ปัญหาชุมชนแออัดทั้งเมือง   โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงบางจุดหรือบางพื้นที่

          โครงการบ้านมั่นคงมีประโยชน์ทางอ้อมทั้งทางเศรษฐกิจและมิใช่ทางเศรษฐกิจ  ดังนี้  ด้านเศรษฐกิจ โครงการบ้านมั่นคงทำให้ครัวเรือนมีรายจ่ายลดลง  โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ประหยัด  เพราะไม่ต้องพ่วงจากมิเตอร์บ้านที่มีทะเบียนบ้าน  และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะครัวเรือนมีการผ่อนส่งบ้านให้แก่สหกรณ์จึงต้องขวนขวายหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายของครัวเรือน

          หลักฐานทางสถิติยืนยัน  ได้แก่  เด็กนักเรียนใช้เวลาเรียนหนังสือมากขึ้น  นอกจากนี้การที่ชุมชนมีการจัดการที่ดีขึ้น มลพิษลดลง และสภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น อาจทำให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น โอกาสเกิดอัคคีภัยลดลง  คนในชุมชนมีความภูมิใจที่มีบ้านที่น่าอยู่ในชุมชนที่  และสามารถเปิดประตูเชื้อเชิญญาติและเพื่อนฝูงมาที่บ้านได้

          ผลประโยชน์ที่สำคัญที่สุดในด้านการปกครองก็คือ   ประชาชนในชุมชนเปลี่ยนฐานะจาก ผู้บุกรุกที่ทำผิดกฎหมายเป็น พลเมืองที่มีศักดิ์ศรี”   ข้าราชการให้เกียรติ  ให้ข่าวสาร  ข้อมูล และให้ความร่วมมือกับงานพัฒนาชุมชน

          ส่วนประโยชน์ทางสังคมที่สำคัญก็คือ  ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มในโครงการบ้านมั่นคง ทำให้คนในชุมชนไว้วางใจกัน   โครงการบ้านมั่นคงยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมต่อสังคม ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน  เช่น  เด็กมีแนวโน้มใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น   อาชญากรรมและยาเสพติดในชุมชนลดลง  รายงานดังกล่าวระบุ (ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/05/wb102.pdf)

 

บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว กรุงเทพฯ เดิมเป็นชุมชนบุกรุกที่ดินราชพัสดุ ปัจจุบันชาวบ้านเช่าที่ดินสร้างบ้านอยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย  สร้างเสร็จแล้วใน  35 ชุมชนกว่า  3,000 ครัวเรือน           

 

          นับแต่ปี 2546  จนถึงปัจจุบัน  พอชและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทั้งในชนบทและเมืองไปแล้วกว่า 180,000 ครัวเรือน (บ้านมั่นคง  การซ่อมสร้างบ้านที่มีสภาพทรุดโทรมหรือ บ้านพอเพียงชนบทการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  คนไร้บ้าน  ฯลฯ) ในกว่า 3,000 ชุมชนเมืองและชนบททั่วประเทศ  

          โดยมี แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (..2560-2579) เป็นเข็มทิศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรมในสังคม มีเป้าหมายกว่า 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อคนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายในปี 2579’

 

ผู้นำชุมชนริมคลองลาดพร้าวคนหนึ่งบอกว่า  “เมื่อก่อนสภาพเป็นชุมชนแออัด  เด็กนักเรียนไม่กล้าชวนเพื่อนมาเล่นที่บ้านแต่ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"