ศิษย์เก่าจุฬาฯ ออกบทความ 'รับน้องใหม่ต่างยุค'


เพิ่มเพื่อน    

27  ก.ค.64 - นายประสาร  มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในฐานะศิษ์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความเรื่อง  "รับน้องใหม่ต่างยุค" ผ่าน www.thaipost.net โดยมีรายละเอียดังนี้

ผู้เขียนเป็นนิสิตจุฬาฯรุ่นปีเข้า 2510  นับถึงวันนี้ คือ 54 ปีล่วงมาแล้ว เป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2513  ถือเป็นคนโบราณ ระดับรุ่นพ่อรุ่นลุงของนิสิตนักศึกษายุคนี้

ความเห็นต่อไปนี้จึงอาจจะเป็นทัศนะของคนอนุรักษ์นิยมที่ก้าวไม่ทันจินตนาการของคนยุคใหม่

เมื่อเห็นข่าวเรื่อง คนสามคนโผล่หน้าออกมากล่าวถ้อยคำ ในวันปฐมนิเทศนิสิตใหม่จุฬาฯ ทุกคณะรุ่น 105  เมื่อ 20  กค. 64 โดยได้รับเชิญจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เขียนขอร่วมเวทีทัศนะด้วยคนหนึ่ง

ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจต่อคำแนะนำของพวกเขาที่ชักชวนให้นิสิตใหม่ทั้งมวลแจกของลับให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย  โดยอ้างเหตุผลว่า นิสิตนักศึกษาเป็นประชากรส่วนมากที่มีตัวตน เป็นผู้จ่าย เงินให้ผู้บริหาร เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย จึงต้องส่งเสียงดังและแรงให้เป็นที่รับรู้ของผู้บริหารและบุคคลอื่นที่เหนือขึ้นไป

นี่คือคำแนะนำอันสามานย์
นี่คือการใช้เสรีภาพที่ไร้สติ
นี่คือการก้าวล่วงและละเมิดสถาบันการศึกษาอย่างท้าทาย
นี่คือการหมิ่นแคลนหยามหยันและท้าทายชาวจุฬาฯทั้งมวล

เป็นที่เข้าใจได้ว่า พวกเขามีสิทธิเลือกที่จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้ในมหาวิทยาลัยที่เขาใช้อวัยวะเบื้องต่ำเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนจินตนาการของเขา

อันที่จริง สิ่งที่เขาแจก ควรให้กับหมู่พวกตนเองที่มีจิตสำนึกต่ำตมในระดับเดียวกันกับของแจก มากกว่าที่จะเอามาแจกกันต่อหน้าสาธารณะเช่นนี้

คนรุ่นนี้เสพติดปัญญาความรู้ จากอุปกรณ์ดิจิตอลจนไม่เห็นหัวครูบาอาจารย์ที่มีบุญคุณต่อคนรุ่นพ่อแม่ของเขา ต่อเนื่องมาจนถึงรุ่นพวกเขา  ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้

แต่ไม่อาจเข้าใจได้ว่า หากเขาจะเนรคุณครูบาอาจารย์ เหตุใดจึงนำเชื้ออุบาทว์มาแพร่กระจายในสถาบันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองรัชกาลทรงสถาปนาไว้เป็นคุณูปการทางการศึกษามหาศาลต่อแผ่นดินไทย สืบเนื่องมายาวนาน

ต่อคำแถลงของสำนักบริหารกิจการนิสิตจุฬาฯ เมื่อ 21 กค. 64  ที่แสดงความเสียใจและแจ้งว่าไม่ทราบต่อการที่ อบจ. จะนำเสนอคลิปดังกล่าว จะด้วยความชะล่าใจหรือด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงเกิดขึ้น หากสำนักบริหารกิจการนิสิตประสานการทำงานอย่างใส่ใจใกล้ชิดกับ อบจ. จริงจัง

ต้องขอขอบคุณสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนจ.) ที่ทำจดหมาย ลงวันที่ 22 กค. 64  ถึงอธิการบดีจุฬาฯ โดยบันทึกว่า “มหาวิทยาลัยมีการตรวจสอบกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ เหตุใดจึงปล่อยให้มีคลิปที่ไม่เหมาะสมออกมา ........ ซึ่งมีผลกระทบต่อชื่อเสียงและเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยและประชาคมจุฬาฯโดยรวม และขอให้ทบทวนแนวทางป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันอีกในอนาคต”  นับเป็นการตั้งคำถามที่มีคุณค่ามากของ สนจ.

ขอตัดภาพไปที่การรับน้องใหม่ในจุฬาฯ เมื่อ 54  ปีก่อน ที่เด็กยุคใหม่รุ่นนี้ยังไม่ทันปฏิสนธิ

ผู้เขียนเป็นนิสิตใหม่ของคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ในวันรับน้องใหม่ปี 2510 นั้น รุ่นน้องถูกรุ่นพี่สั่งให้ลอดซุ้ม ให้วิดพื้น ให้ยืนขาเดียว ให้ทำโน่นนี่และเอาแป้งผสมน้ำมาทาหน้าน้องๆ แล้วล้อเล่นกันไปมาอย่างสนุกสนาน  แต่สิ่งที่ผู้เขียนจำได้ฝังใจ คือคำพูดของรุ่นพี่ที่พูดแล้วให้น้องพูดตามว่า

“น้องเอย........ ณ ดินแดนถิ่นนี้ และ ณ บัดนี้ เจ้าจงอยู่ และเหยียบอย่างเต็มภาคภูมิ  

พี่จะปกปักรักษาเจ้า  ประดุจดังดวงตา”

นับเป็นไมตรีจิตที่เสนาะใจยิ่งนักในความเป็นพี่น้อง  ผู้เขียนได้พบว่าเมตตาธรรมของพี่ที่ส่งมอบให้น้อง ทำให้รุ่นน้องผู้รับส่งทอดน้ำใจต่อไปยังน้องรุ่นต่อๆไป  ชาวรัฐศาสตร์จุฬาฯ จึงมีจิตใจผูกพันกันเหนือขึ้นไป  3 รุ่น และต่อเนื่องไปอีก 3 รุ่น ในระยะ 4 ปีที่ได้เรียน

จึงเป็นมิตรจิตมิตรใจของคน 7 รุ่นที่มีต่อกันและกัน จากวันนั้นจนถึงวันนี้

ในยุคก่อนและหลัง 14  ตุลาคม  2516 นั้น ใครที่เป็นคนร่วมสมัย จะได้ยินบทกวีชื่อ “ดอกไม้จะบาน”
   “ ดอกไม้        ดอกไม้จะบาน
บริสุทธิ์กล้าหาญ        จะบานในใจ
   สีขาว        หนุ่มสาวจะใฝ่
แน่วแน่แก้ไข        จุดไฟศรัทธา
   เรียนรู้        ต่อสู้มายา
ก้าวไปข้างหน้า        เข้าหามวลชน
   ชีวิต        อุทิศยอมตน
ฝ่าความสับสน            เพื่อผลประชา
   ดอกไม้        บานให้คุณค่า
จงบานช้าช้า        แต่ว่ายั่งยืน
   ที่นี่        และที่อื่นๆ
ดอกไม้สดชื่น        ยื่นให้มวลชน ”
            จิระนันท์  พิตรปรีชา
            ตีพิมพ์ใน ผลิ  หนังสือปฐมนิเทศนิสิตใหม่จุฬาฯ.  (2516)

เป็นบทกวีที่สะท้อนการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาในยุคนั้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์  14  ตุลาคม  2516   ที่นักศึกษาประชาชนลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  วีรพจน์  ลือประสิทธิสกุล  ซึ่งเป็นนักดนตรีชาววิศวะของวงดนตรี รุ่งอรุณ ของจุฬาฯ ในเวลานั้น นำบทกวีนี้ไปใส่ทำนอง  ต่อมา สุชาติ ชวางกูร นำไปร้อง  ทำให้เพลงนี้กระหึ่มกลายเป็นเสมือนเพลงรับน้องใหม่ของทุกมหาวิทยาลัยในเวลานั้น เป็นอารมณ์ร่วมที่ทำให้นิสิตนักศึกษายุคนั้นพากันร้องเพลงนี้กันติดปากทั่วไป

ดอกไม้ หมายถึง คนหนุ่มสาว คือพลังแห่งความศรัทธา บริสุทธิ์ กล้าหาญ เป็นตัวแทนจิตสำนึกแห่งความดีงาม ที่ก้าวเข้าหามวลชน ดังที่จิระนันท์ เรียงร้อยไว้อย่างสวยงาม และประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่า พลังของหนุ่มสาวในยุคนั้นได้ประกอบส่วน ผลักดันสังคมไทย  ให้ก้าวไปข้างหน้าในหลายมิติ เช่นคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน การเคลื่อนไหวของชาวนา สิทธิเสรีภาพทางการเมือง สิทธิสตรี การรักษาสิ่งแวดล้อม แม้ว่าจะตามมาด้วยการรัฐประหารโหด      6  ตุลาคม  2519 ก็ตาม  แต่สังคมไทยได้ถอดบทเรียนอันมีค่ายิ่ง ในทิศทางที่ตกผลึกได้ว่า สันติธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบอกปืน เมตตาธรรมและมนุษยธรรมต่างหากที่ควรเป็นวิถี    ของสังคมไทย
    
รับน้องใหม่ต่างยุคต่างสมัย เป็นความแตกต่างแบบตรงกันข้าม หากนับเนื่องว่าคลิปเป็นข่าววันนั้นเป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษายุคใหม่
    
ยุคเก่าแสดงถึงมิตรจิตมิตรใจ  ขณะที่ยุคใหม่อัดแน่นไปด้วยความเคียดแค้นชิงชัง
    
ยุคเก่า มีวุฒิภาวะของความเป็นสุภาพชน  ยุคใหม่ มีความกักขฬะและมีโทสะเป็นเจ้าเรือน
    
ยุคเก่า แสดงออกถึงความคารวะและกตัญญุตาธรรม ต่อครูบาอาจารย์และบรรพชน ขณะที่ยุคใหม่แสดงการเนรคุณอย่างเปิดเผย
    
ยุคเก่า มองกว้างและมองไกลไปถึงพี่น้องประชาชนที่เสียเปรียบในสังคม  ยุคใหม่มองแคบ แค่ความต้องการเฉพาะหน้าของตนเอง 
    
ยุคเก่าแสดงออกอย่างซื่อใสบริสุทธิ์  แต่ยุคใหม่แฝงเร้นไว้ด้วยอนันตริยกรรมจินตนาการ 
    
ผู้เขียนอายุมากแล้ว  จะอยู่ได้อีกไม่นาน  ถึงอย่างไรก็จะขอหมดลมหายใจไปพร้อมกับจิตสำนึกของโลกยุคเก่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"