อุปทูตสหรัฐฯยันบริจาควัคซีนให้ไทย 2.5 ล้านโดสไม่มีเงื่อนไข หวังจัดสรรอย่างเท่าเทียม


เพิ่มเพื่อน    


30 ก.ค.64 - ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  กรุงเทพมหานคร นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงข่าวผ่านระบบซูม ว่า ขอแจ้งข่าวดีแก่ทุกคนว่าวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่สหรัฐฯบริจาคให้ ได้มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเช้าวันนี้ (30 ก.ค.) เวลา 04.00 น. ตนมีความยินดีที่จะยืนยันว่าสหรัฐฯมีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนเพิ่มอีก 1 ล้านโดสให้กับประเทศไทยนอกจากวัคซีนที่มาถึงแล้วในวันนี้ รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 2.5 ล้านโดส เนื่องจากเราได้เห็นถึงการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในไทย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ของไทยกำลังเผชิญความยากลำบากในขณะนี้  สำหรับวัคซีนที่เราจะให้เพิ่ม 1 ล้านโดสนั้น ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะเป็นของยี่ห้อใด

นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า เรามีความภูมิใจที่จะบริจาควัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ตามคำสัญญาของรัฐบาลของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการช่วยพันธมิตรของเราต่อสู้กับโรคโควิด-19  รัฐบาลสหรัฐฯประกาศว่าจะแบ่งปันวัคซีน 80 ล้านโดสเพื่อช่วยหยุดโรคระบาดใหญ่ของโลกในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึง 23 ล้านโดส ให้กับสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย  สำหรับสิ่งที่สหรัฐฯมอบให้กับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านของไทยจะช่วยให้ประเทศไทยและภูมิภาคนี้เร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้ประชาชนของตัวเองมีความปลอดภัย และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

 “การมอบวัคซีนของเราเป็นการให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข โดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งเดียวเท่านั้น คือการช่วยชีวิตผู้คนและมีความตระหนักว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย  เราจึงยินดีแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระจายวัคซีนเหล่านี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกคน รวมถึงมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด ขอแสดงความชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขของไทยที่ทำงาน เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19  สหรัฐฯเป็นหุ้นส่วนทางสาธารณสุขของไทยมานานมากกว่า 60 ปี  สหรัฐฯภูมิใจที่ได้ช่วยประเทศไทยต่อสู้กับโรคระบาดความร่วมมือระหว่างเราช่วยชีวิตคนไทยได้แล้วมากมาย  เราจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศไทยและคนไทยตลอดไป  ส่วนการที่ประเทศไทยประกาศว่าได้ทำสัญญาซื้อวัคซีนของไฟเซอร์อีก 20 ล้านโดสนั้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับระบบสาธารณสุขของไทย” อุปทูตสหรัฐฯ ระบุ

เมื่อถามว่าจากกรณีที่มีกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ยื่นหนังสือแสดงความกังวลเรื่องการกระจายวัคซีนดังกล่าว ทางสหรัฐฯจะมีกลไกอะไรหรือไม่ ในการทำให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนนี้จะได้รับการกระจายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในการบริจาคของสหรัฐฯ  นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า  การกระจายและจัดสรรวัคซีนเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลไทย  ส่วนรัฐบาลสหรัฐไม่มีบทบาทหรืออำนาจใดๆในการเข้าไปร่วมจัดการตรงนี้กับรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละประเทศ และสหรัฐฯไม่ได้มีเงื่อนไขใดๆในการบริจาควัคซีนแก่ไทย  แต่เราได้มีการประสานและรับทราบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยแล้วว่ารัฐบาลไทยมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากโรคโควิด-19 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า ทั้งแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยตรง  นอกจากนี้ เรายังให้ความมุ่งเน้นแก่ผู้สูงอายุด้วย เพราะถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา  ทั้งนี้ ประชาชนในประเทศคงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข

“เราขอสนับสนุนหลักการที่ว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด หรือมาจากประเทศใด ควรที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้  มีคำกล่าวไว้ว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราทุกคนจะปลอดภัย  ไม่ว่าคนไทยหรือคนชาติไหนก็สามารถแพร่กระจายเชื้อนี้ได้เช่นกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการฉีดวัคซีนให้กับทุกคนให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยกันหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  และเรายังอยากเห็นการลงทะเบียนและการจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนที่มีความยุติธรรม มีประสิทธิภาพ เท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ” อุปทูตสหรัฐฯ กล่าว             

ถามว่าหลังจากการส่งวัคซีนช่วยเหลือไทยแล้ว  สหรัฐฯมีการหารือร่วมกับรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 อีกหรือไม่  นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า  รัฐบาลไทยและสหรัฐฯมีการประสานความร่วมมือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเรายังมุ่งเน้นที่จะบริจาควัคซีนให้ต่อไปด้วย  ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วมูลค่าหลายสิบล้านเหรียญ ทั้งเครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล (PPE)  เอกสารสำหรับการฝึกอบรมในการป้องกันตัวและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อโควิด-19  นอกจากนี้ เรายังได้ช่วยรัฐบาลไทยในการพัฒนาวัคซีนของตัวเอง โดยมีความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของสหรัฐฯ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเอง  นอกจากนี้เรายังมีความร่วมมือกับไทย บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา โดยจัดการฝึกอบรมให้กับชุมชนแถบนั้นรู้จักการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมถึงให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หน้ากากอนามัย ชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือป้องกันส่วนบุคคล ยา

 ถามอีกว่ารัฐบาลสหรัฐฯมีการรับมือกับการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในประเทศที่พูดถึงเรื่องวัคซีนอย่างไรบ้าง  นายไมเคิล ฮีธ กล่าวว่า  รัฐบาลสหรัฐฯสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น แม้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรือการติเตียน ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด  รัฐบาลสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีภาพต่อไป

ถามต่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯมีมาตรการรับมือต่อการระบาดของโรคนี้อย่างไร อาทิ การล็อกดาวน์ และรัฐบาลไทยสามารถถอดบทเรียนจากสหรัฐฯได้อย่างไรบ้าง  อุปทูตสหรัฐฯ กล่าวว่า  เราไม่มีทางที่จะหามาตรการที่ครอบคลุมที่สุดหรือสมบูรณ์แบบที่สุด สำหรับสหรัฐฯ ในแต่ละรัฐมีมาตรการที่แตกต่างออกไป บางรัฐใช้การล็อกดาวน์เต็มขั้น แต่บางรัฐยังเปิด ขณะที่บางรัฐทำแบบลูกผสม  ตนจึงบอกไม่ได้ว่าควรใช้วิธีการใดที่ดีที่สุด  แต่สิ่งที่จำเป็นและต้องคำนึงถึง คือต้องมีการสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนในเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ และเรื่องข่าวลวง เฟคนิวส์  เพราะทุกวันนี้ในสหรัฐฯ ยังมีประชาชนที่เข้าใจว่าวัคซีนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องให้ความชัดเจนแก่ประชาชน ให้เขารู้ว่าเรื่องนั้นเป็นข่าวเท็จ  และประชากรของสหรัฐฯยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด เราฉีดไปได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์  เราจึงต้องฉีดวัคซีนเพิ่มต่อไป  อย่างไรก็ตามต้องให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้ดูแลตรงนี้ โดยเรายังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างรอบคอบ ตอนนี้เรื่องของโรคระบาดคาดเดาได้ยาก จึงไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถดูแลควบคุมเรื่องการระบาดได้อย่างดีที่สุด

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"