รัฐบาล-กกต.จ่อถก14มิ.ย. ชงใช้ม.44แก้ปมไพรมารีฯ


เพิ่มเพื่อน    


    "ชทพ." ขอความเห็นใจ คสช.แก้คำสั่ง 53/2560 รีบปลดล็อกพรรคการเมือง หวั่นทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ขณะที่รัฐบาล-กกต.นัดถก 14 มิ.ย.แก้ปมแบ่งเขต-ไพรมารีโหวต เสนอใช้ ม.44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนเหตุ กม.ไม่เปิดช่อง "มาร์ค" แนะ "ประยุทธ์" ต้องปฏิบัติตนให้สมเกียรติกับตำแหน่งนายกฯ ชี้เป็นบุคคลสาธารณะต้องรักษามาตรฐาน
    เมื่อวันจันทร์ นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงการเตรียมแก้ปัญหาในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีผลกระทบต่อจำนวนสมาชิกพรรค และการทำระบบเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.(ไพรมารีโหวต) ว่า ตนสนับสนุนให้แก้ไขเนื้อหา แทนการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ หรือใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการ เนื่องจากหากไม่แก้ไขในประเด็นดังกล่าวอาจทำให้เป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะการส่งผู้สมัคร ส.ส.ที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งกำหนดให้ต้องใช้ระบบไพรมารีโหวตซึ่งผูกเข้ากับจำนวนสมาชิกพรรค
    "ตอนนี้พรรคชาติไทยพัฒนามีสมาชิกที่ยืนยันเพียงกว่า 4,000 คน ดังนั้นหากจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ครบทุก 350 เขต จำเป็นต้องหาสมาชิกเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 8,000 คนถึง 10,000 คน ไม่เช่นนั้นเราจะทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ผมขอความเห็นใจอย่างน้อยขอให้ คสช.ปลดล็อกให้ตอนนี้พรรคการเมืองเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ได้ เพราะหากไม่ยอมปลดล็อกไม่เฉพาะพรรคการเมืองในระบบที่จะมีปัญหาเท่านั้น แต่พรรคใหม่อย่างพรรคประชารัฐก็จะเจอปัญหาเช่นกัน"
    นายวราวุธกล่าวว่า สำหรับระบบไพรมารีโหวตที่ผู้เขียนกฎหมายยกให้เป็นกลไกมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นแนวทางของการปฏิรูปประเทศนั้น ตนมองว่าไพรมารีโหวตที่นำมาใช้แม้จะได้รับการยอมรับในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ผ่านมายังพบปัญหา อย่างไรก็ตามการนำรูปแบบของต่างประเทศมาใช้โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยทางสังคมไทยคือปมปัญหาสำคัญ ทั้งนี้การทำไพรมารีโหวตในประเทศจำเป็นต้องใช้เวลา ทั้งการหาตัวแทนที่จะลงแข่งขันในพื้นที่ที่จะทำไพรมารีโหวต การลงพื้นที่ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับระบบใหม่แก่สมาชิกพรรคในพื้นที่ รวมถึงการชี้แจงถึงการต้องออกมาเลือกผู้แทนของตนเองถึง 2 ครั้งผ่านไพรมารีโหวตของพรรค กับการแข่งขันในสนามการเมืองใหญ่ และรวมถึงนำระบบไพรมารีโหวตผูกเข้ากับ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก ทำให้เป็นประเด็นที่ต้องยิ่งใช้เวลาชี้แจงและทำความเข้าใจมากขึ้น
    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลและ คสช.จะเชิญพรรคการเมืองไปหารือในเดือนมิถุนายนนี้ว่า สำหรับพรรคอื่นตนคงตอบแทนไม่ได้จะไปร่วมหรือไม่ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นยินดีให้ความร่วมมือเหมือนทุกครั้งที่เคยได้รับเชิญ ถ้าเป็นเรื่องที่บ้านเมืองได้ประโยชน์ ส่วนรูปแบบรายละเอียดจะมีถ่ายทอดสดหรือไม่ขึ้นอยู่กับ คสช.ประสงค์จะให้ไปคุยเรื่องอะไร รูปแบบที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร ในส่วนประชาธิปัตย์ไม่ได้มีเงื่อนไข ถ้าเป็นการพูดคุยกันในเรื่องที่สร้างสรรค์พรรคก็ยินดี
    "ถ้าถามว่าวันนี้บรรยากาศเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการพูดคุย คสช.และรัฐบาลควรจะต้องประเมิน ความจริงได้ประกาศก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเชิญพรรคการเมืองเดือนนี้ ผมจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการไปตามที่รัฐบาลพูดก่อนหน้านี้ ในทางตรงกันข้ามถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ ตรงนั้นต่างหากที่จะทำให้รัฐบาลต้องออกมาอธิบายทำไมถึงเปลี่ยนใจ" รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
ใช้ ม.44 แก้ปมไพรมารีโหวต
       นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีการเดินสายดูดอดีต ส.ส.ของบางพรรคการเมืองว่า ความจริงเรื่องการพยายามที่จะดูดคนสังคมก็รับทราบกันอยู่โดยทั่วไป เหมือนกับที่ตนเคยพูดว่าหลังรัฐประหาร ถ้ามีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการดำรงอำนาจต่อไป เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องเคยเกิดขึ้นมาแล้วเกือบทุกครั้ง และครั้งนี้ก็ไม่เป็นข้อยกเว้น ความต่อเนื่องยังมีปราฏอยู่
       "ผมจึงไม่แปลกใจอะไร แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ก็มีทั้งคนเข้าคนออกก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ หน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนให้มากขึ้น พรรคต้องเตรียมไม่เฉพาะตัวบุคคล ยังต้องเตรียมการเรื่องนโยบาย การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เมื่อเลือกพรรคประชาธิปัตย์แล้ว พรรคจะเป็นที่พึ่ง เป็นความหวังสำหรับอนาคตของประเทศได้ ผมเชื่อว่า คนจำนวนไม่น้อยยังศรัทธาในอุดมการณ์พรรคอยู่" นายจุรินทร์กล่าว
       เมื่อถามว่ายิ่งใกล้วันเลือกตั้ง การเดินสายดูดอดีต ส.ส.ในแต่ละพื้นที่จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ นายจุรินทร์ตอบว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคตแรงดูดจะมากน้อยถอยลงไปหรือไม่ แต่เท่าที่ตนติดตามสถานการณ์จนถึงขณะนี้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวยังคงมีอยู่
    มีรายงานว่า สำหรับการหารือนอกรอบระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งและการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ก่อนที่รัฐบาลจะนำไปถกกับพรรคการเมืองในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นั้น นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นัด กกต.หารือในช่วงบ่ายของวันที่ 14 มิ.ย. ซึ่งในประเด็นที่จะมีการหารือเรื่องของการแบ่งเขต และปัญหาการปฏิบัติของพรรคการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 นั้น สำนักงาน กกต.ได้มีการทำข้อสรุปปัญหา อุปสรรค ซึ่งก็จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาเบื้องต้นในการประชุม กกต.วันที่ 12 มิ.ย. ก่อนที่จะมอบหมายให้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เป็นตัวแทนไปหารือกับรัฐบาล  
    "ซึ่งในประเด็นปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น สำนักงาน กกต.ได้ศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ แล้วเห็นว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับ และหากรอไปถึงเวลาดังกล่าวโดยรัฐบาลไม่มีการปลดล็อกหรือแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ก็จะกระทบต่อการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง"  
    ส่วนปัญหาของพรรคการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับการทำไพรมารีโหวตนั้น ก็จะมีการนำเสนอว่าผู้สมัคร และพรรคการเมืองยังไม่รู้ว่าจะมีการแบ่งเขตอย่างไร และเมื่อรัฐบาลยังไม่มีการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 รวมทั้งแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ก็จะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถหาสมาชิกในเขตนั้นๆ เพื่อที่จะมาทำหน้าที่กรรมการสาขาหรือตัวแทนประจำจังหวัด ไม่สามารถประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อตั้งสาขาพรรค  ตั้งตัวแทนประจำจังหวัด ตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครได้  ประชุมเพื่อหามติว่าจะส่งกี่เขต ส่งแบบบัญชีรายชื่อเท่าไร เห็นชอบรายชื่อผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมาหรือไม่  
ต้องปฏิบัติตนให้สมเกียรติ
    "ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเชื่อว่าพรรคใหญ่ที่มีศักยภาพยังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ส่วนพรรคตั้งใหม่ไม่อาจคาดการณ์เวลาได้ ดังนั้นหากรัฐบาลยังคงยึดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่จะให้มีการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก ก็จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเร็ว  ซึ่งก็สามารถใช้อำนาจตาม ม.44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับได้   ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องมีการปลดล็อกหรือผ่อนคลายให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมในบางเรื่องที่ไม่ได้เป็นการหาเสียงเพื่อนำไปสู่กระบวนการทำไพรมารีโหวต"
     นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงตำแหน่งนายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี แต่ตนก็มีความเป็นมนุษย์ที่ต้องมีผิดพลาด มีโกรธและโมโห แต่หลายคนก็ทำลายเกียรติของนายกฯ ว่า ตอนตนเป็นนายกฯ ก็เจอคำถามที่ไม่น่าถาม  แต่ก็ต้องเก็บอารมณ์ให้สมกับเกียรติของนายกฯ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์พูด 2 เรื่อง คือ เป็นมนุษย์กับมีเกียรติ ซึ่งตนเห็นด้วยในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องระวังไม่ให้กระทบกับตำแหน่ง
       "คนที่ดำรงตำแหน่งนั้นต้องปฏิบัติตนให้สมกับการที่จะต้องได้รับเกียรตินั้น ถ้าจะเอาทั้งเรื่องตำแหน่งนายกฯ ห้ามใครละเมิดเกียรติ กับความเป็นมนุษย์สามารถจะแสดงออกเหมือนกับคนอื่นได้นั้น  ผมเห็นว่าอาจจะผิดก็ได้และไม่สอดคล้องกัน เพราะขณะนี้คนอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร คนที่ดำรงตำแหน่งแล้วใช้ความเป็นมนุษย์ มันสะใจคนมากกว่า ซึ่งก็มีหลายประเทศทำอย่างนี้ เช่นสหรัฐอเมริกา ชัดเจนมากที่ผู้นำถูกวิจารณ์ ผมอาจจะหัวโบราณก็ได้ เพราะยังมองว่าถ้าเรายังอยากจะรักษาเกียรติของตำแหน่ง เราก็ต้องไม่อนุญาตให้เป็นมนุษย์เหมือนกัน ความเป็นมนุษย์เป็นในส่วนภายใน เมื่อสวมเกียรติตรงนี้อยู่ต้องรักษามาตรฐาน ซึ่งช่วงหลังดูเหมือนท่านก็พยายามปรับตัว” นายอภิสิทธิ์กล่าว
        นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า เมื่อโกรธสุดขีดนายกฯ จะปิดห้องตัวเองแล้วตะโกนโหวกเหวกอยู่คนเดียว หรือจะระบายกับใครก็ทำได้ แต่เมื่อเป็นบุคคลสาธารณะเราจะต้องช่วยกันรักษาเกียรติ ช่วยกันรักษามาตรฐาน บรรทัดฐานต่างๆ ก็ต้องฝึกฝนให้มีความอดทน ถึงต้องมีธรรมะของนักปกครองที่จะต้องมีเรื่องขันติ อุเบกขา ก็หวังว่านายกฯ จะอารมณ์ดีขึ้นและพยายามทำความเข้าใจกับสภาพการเมือง.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"