มรดกมะเร็งจากฝรั่งเศสแด่โปลินีเซีย


เพิ่มเพื่อน    

ฝรั่งเศสทดสอบระเบิดปรมาณูบนเกาะปะการังโมรูรัว ขนาดแรงระเบิด 0.9 เมกะตัน ชื่อ Licorne เมื่อกรกฎาคม ปี 1970 ภาพจาก ctbto.org

 

        ไม่กี่วันก่อนหน้าที่ “เอมมานูเอล มาครง” เดินทางเยือน “เฟรนช์โปลินีเซีย” อาณานิคมโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ชาวเกาะแปซิฟิกใต้ต่างคาดหวังว่าประธานาธิบดีมาครงจะกล่าวคำขอโทษกรณีที่ฝรั่งเศสเคยทดสอบระเบิดปรมาณูบนดินแดนเฟรนช์โปลินีเซีย จนสารกัมมันตรังสีสร้างความเสียหายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของพวกเขา

            มีการเดินขบวนไปบนถนนในกรุงปาเปเอเต เมืองหลวงของเฟรนช์โปลินีเซียบนเกาะตาฮิติ ใช้ชื่อ “Maohi Lives Matter” ซึ่ง Maohi อ่านว่า “มาโอฮี” มีความหมายเดียวกับ “ชาวเมารี” บรรพบุรุษชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ของชาวโปลีนีเซีย

            เมื่อเดินทางถึงตาฮิติกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีมาครงได้กล่าวสุนทรพจน์ว่า ฝรั่งเศสเป็นหนี้โปลีนีเซียจากการทดสอบระเบิดปรมาณู 193 ครั้ง บนเกาะปะการัง “มูโรรัว” และ “ฟังแกตูฟา”

                “เราไม่สามารถพูดได้ว่าการทดสอบระเบิดปรมาณูในอดีตนั้นสะอาด ไม่เลย และเราไม่ได้ทดสอบโดยใช้มาตรฐานเดียวกันตอนที่ทำในลา ครูซ และบริตตานี” และ “เป็นเวลานานที่ฝรั่งเศสนิ่งเงียบต่ออดีตส่วนนี้ สิ่งที่ผมต้องการให้ทุกคนได้ยิน”

            ประธานาธิบดีมาครงยังกล่าวถึงความจริงและความโปร่งใสที่เขาต้องการให้เกิดขึ้น สัญญาจะปรับเกณฑ์การเรียกร้องสิทธิ์รับเงินเยียวยาให้ไม่ตึงจนเกินไป แต่เขาไม่ได้กล่าวสิ่งที่ทุกคนต้องการฟัง นั่นคือ “คำขอโทษ”

            อเล็กซองเดร เดยองต์ จาก Pacific Islands Program สถาบัน Lowy Institute ประเทศออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลฝรั่งเศสกล่าวคำขอโทษก็จะทำให้รัฐบาลท้องถิ่นเฟรนช์โปลินีเซียสามารถเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินชดเชยจำนวนมหาศาล เพราะระบบสุขภาพของเฟรนช์โปลินีเซียคือผู้ที่รับภาระดูแลเหยื่อจากการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์

            การเดินทางเยือนเฟรนช์โปลินีเซียของมาครงมาพร้อมคำมั่นสัญญามากมาย ทั้งการลงทุนในพลังงานสะอาด การให้ความช่วยเหลือในรูปของเงินและอื่นๆ แต่ “เดยองต์” วิเคราะห์ว่าเป้าหมายของมาครงไม่ได้อยู่ที่แปซิฟิก แต่อยู่ที่การเมืองในฝรั่งเศสมากกว่า เพราะเขาต้องการชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย โดยการสร้างภาพความเป็นห่วงเป็นใยชาวฝรั่งเศสในอีกฟากของแผนที่โลก

 

***************

 

ความทะเยอทะยานที่ไร้ความรับผิดชอบ

            การทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1945 ในมลรัฐนิวเม็กซิโกของสหรัฐอเมริกา ก่อนนำมาใช้จริงกับญี่ปุ่นในเดือนถัดมา จากนั้นชาติมหาอำนาจของโลก อาทิ สหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียต ต่างพาเหรดทดสอบจนสำเร็จ เดินหน้าครอบครองและสะสมจนสร้างความหวาดผวาน่ากลัวได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แม้แต่จีนก็ริเริ่มแผนการตั้งแต่ปี 1955

            ฝรั่งเศสถือเป็นชาติสุดท้ายที่กระโจนเข้าร่วมวงระเบิดนิวเคลียร์ในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1950 โดยที่เวลานั้นชาติปรมาณูอื่นๆ กำลังเจรจาหยุดการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กันแล้วด้วยซ้ำ อีกทั้งฝรั่งเศสก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ “นาโต” อันควรมั่นใจได้แล้วว่าจะได้รับการป้องกันภัยนิวเคลียร์จากโซเวียต แต่ “นายพลชาร์ลส์ เดอ โกลล์” ประธานาธิบดีฝรั่งเศสขณะนั้นสามารถผลักดันจนฝรั่งเศสมีอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จในที่สุด

            เฟรนช์โปลินีเซียคือสถานที่เป้าหมายตั้งแต่แรก แต่ฝรั่งเศสเห็นว่าทะเลทรายซะฮาราของแอลจีเรียนั้นสะดวกกว่าเพราะอยู่ไม่ไกลจากฝรั่งเศส พวกเขาทำการทดสอบระเบิดปรมาณูอยู่ช่วงหนึ่งอย่างน้อย 17 ครั้ง แต่พอแอลจีเรียทำสงครามต่อสู้ยาวนาน 7 ปีจนได้รับเอกราชในปี 1962 ฝรั่งเศสจึงหันกลับไปสู่สนามทดสอบในเฟรนช์โปลินีเซีย ดินแดนในอาณัติ 118 เกาะที่เข้ายึดครองเป็นของตนตั้งแต่ปี 1842

                “มูโรรัว” และ “ฟังแกตูฟา” เป็นเกาะปะการังวงแหวน 2 เกาะที่อยู่ใกล้ๆ กัน ตั้งอยู่ครึ่งทางระหว่างออสเตรเลียและเม็กซิโก ห่างจากเกาะตาฮิติไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 1,250 กิโลเมตร เป็นเกาะไร้ผู้คนอาศัย ได้รับเลือกเพราะมีพื้นที่กว้างพอสำหรับการสร้างสนามบินเพื่อขนวัตถุดิบและอุปกรณ์เครื่องมือไปติดตั้งและทำการทดสอบได้

            ปี 1960 รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มดำเนินตามแผนการโดยไม่บอกกล่าวแก่ชาวเฟรนช์โปลีนีเซียเพราะเกรงว่าจะเกิดการประท้วง มีการสร้างสาธารณูปโภคด้านต่างๆ เพื่อรองรับทหารฝรั่งเศส ทั้งสนามบินในเมืองฟา บนเกาะตาฮิติ พวกเขาบอกแก่ชาวโปลีนีเซียเพียงว่าเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

            เมื่อแผนการถูกเปิดโปงรัฐบาลฝรั่งเศสก็แก้เก้อว่าการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์จะนำมาซึ่งตำแหน่งงานและการพัฒนาเศรษฐกิจของเฟรนช์โปลีนีเซีย ในปี 1963 ชาติมหาอำนาจอาวุธนิวเคลียร์ลงนามในสนธิสัญญา “Nuclear Test Ban Treaty” ยกเว้นจีนและฝรั่งเศส

            นักการเมืองคนสำคัญของเฟรนช์โปลีนีเซีย “ปูวานา อะ โอปา” ผู้ต่อสู่คัดค้านการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสถูกจับในข้อหากล่าวปลุกระดมที่อาจก่อให้เกิดการจลาจล ได้รับโทษจำคุก 8 ปี และมีคำสั่งเนรเทศออกจากเฟรนช์โปลินีเซียเป็นเวลา 15 ปี เมื่อปลอดอุปสรรคขวางทางแล้วฝรั่งเศสก็เดินหน้าทดสอบระเบิดปรมาณูในปี 1966

            การทดสอบระเบิดปรมาณูนั้นแบ่งการจุดระเบิดได้ 4 ระดับ ได้แก่ นอกชั้นบรรยากาศ, ในชั้นบรรยากาศ, ใต้น้ำ และใต้ดิน การทดสอบในระดับชั้นบรรยากาศ (Atmospheric) นั้นเสี่ยงอันตรายมากที่สุด โดยเฉพาะการจุดระเบิดที่เกิดเหนือพื้นโลกไม่สูงนัก เพราะสารกัมมันตรังสีจะปกคลุมเหนือพื้นที่การทดสอบ และนี่คือวิธีที่ฝรั่งเศสใช้ในระหว่างปี 1966-1974

            หลังจากโดนต่อต้านอย่างหนักจากประชาคมโลก รวมถึงถูกนิวซีแลนด์ฟ้องดำเนินคดีต่อ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ฝรั่งเศสก็ย้ายการทดสอบไปจุดระเบิดในชั้นใต้ดิน ซึ่งเสี่ยงอันตรายน้อยสุด แต่ก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหวและหากเกิดรอยแตกบนพื้นดินสารกัมมันตรังสีก็จะเล็ดลอดออกมาสร้างความเสียหายได้เช่นกัน

            กรกฎาคม ปี 1985 กลุ่มกรีนพีซ เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมวางแผนประท้วงในปฏิบัติการชื่อ Operation Satanique โดยเรือ Rainbow Warrior ขณะที่เรือกำลังแล่นออกจากท่าในเมืองออคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อไปประท้วงที่เกาะโมรูรัว เรือถูกวางระเบิด ทำให้มีเจ้าหน้าที่กรีนพีซซึ่งเป็นช่างภาพจมน้ำเสียชีวิต 1 คน รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการอยู่เบื้องหลัง ต่อมาตำรวจนิวซีแลนด์จับผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสได้ 2 คน และตั้งข้อหาร้ายแรง วางเพลิงและฆาตกรรม ทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี แต่หลังจากถูกขังได้ 2 ปีบนเกาะแห่งหนึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสก็ปล่อยตัวเป็นอิสระ เหตุการณ์นี้ “เดวิด แลนจ์” นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์เรียกว่าเป็น “การก่อการร้าย” และ “การก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยรัฐ”

            ต่อมาอดีตผู้อำนวยการของ DGSE หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงภายนอก (เทียบเท่ากับ CIA ของสหรัฐ และ MI6 ของอังกฤษ) เปิดเผยว่า เขาได้รับอนุญาตเป็นการส่วนตัวจากประธานาธิบดี “ฟร็องซัวส์ มิตเตอร์รองด์” ให้จมเรือของกรีนพีซ

            ในการประชุม “เซาท์แปซิฟิกฟอรัม” เดือนสิงหาคมปี 1985 กลุ่มชาติประชาคมแปซิฟิกใต้ให้ความเห็นชอบใน “สนธิสัญญาราโรตองกา” กำหนดให้แปซิฟิกใต้เป็นพื้นที่ปลอดนิวเคลียร์ แต่ฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตาม และมุ่งมั่นทดสอบระเบิดทำลายล้างต่อไป

            สหรัฐกดดันอย่างหนักให้ฝรั่งเศสหยุดการทดสอบ และสำเร็จในช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 1992-1995 แต่ประธานาธิบดี “ชาร์คส์ ชีรัค” ก็ประกาศว่าจะทดสอบต่อไปอีก 8 ครั้ง แม้สหรัฐจะเสนอมอบโมเดลทางคอมพิวเตอร์ขั้นสุดท้ายให้เพื่อหลีกเลี่ยงการทดสอบในพื้นที่จริง แต่ฝรั่งเศสไม่ฟังเสียง

            ชาร์คส์ ชีรัค ประกาศในตอนแรกว่าการประท้วงใดๆ ก็ไม่มีทางส่งผลต่อแผนการ นิวซีแลนด์และออสเตรเลียหวาดกลัวว่าสารกัมมันตรังสีอาจถูกลมพัดพามาถึงพวกเขาได้ นิวซีแลนด์ประกาศบอยคอตสินค้าและการลงทุนของบริษัทจากฝรั่งเศส ออสเตรเลียร่วมด้วย ต่อมาทั้ง 2 ชาติทนไม่ไหวถึงขั้นตะเพิดทูตฝรั่งเศสพ้นประเทศ ชาติอื่นๆ ทั่วโลกต่างก็ประสานเสียงประณามพฤติกรรมเห็นแก่ตัวของฝรั่งเศส

            แม้ต้องเสียหน้าในเวทีโลก และถูกกดดันทางการเมือง แต่ไม่อาจฉุดรั้งความดื้อดึงของฝรั่งเศสได้ การทดสอบเริ่มอีกครั้งในเดือนกันยายน 1995 เรือ “Rainbow Warrior II” ของกรีนพีซถูกขัดขวางการเข้าเทียบท่าในตาฮิติ การประท้วงของผู้คนเกิดขึ้นทั่วทุกถนนในกรุงปาเปเอเต จนนำไปสู่จลาจล เกิดการปล้นสะดมร้านค้าของชาวฝรั่งเศสที่หลั่งไหลเข้าไปตั้งรกรากและสร้างฐานะจนร่ำรวย ในขณะที่ชาวตาฮิติดั้งเดิมยังคงยากจน พวกเขาสั่งสมความไม่พอใจมานานหลายปี

            ฝรั่งเศสทดสอบระเบิดปรมาณูต่ออีก 6 ครั้งจนถึงปี 1996 และสิ้นสุดภารกิจอย่างสมบูรณ์ในปี 1998 ทำการรื้อถอนอุปกรณ์เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก คงเหลือกองกำลังไว้ 30 นายเพื่อคอยสังเกตการณ์และป้องกันการบุกรุก

 

*********************

 

การปิดบังและการถูกเปิดเผย

            นับตั้งแต่ปี 1966 จนถึงปี 1996 รวมระยะเวลา 30 ปี ฝรั่งเศสทดสอบระเบิดปรมาณูบนเกาะปะการังทั้งสอง รวม 193 ครั้ง โดย 41 ครั้งเป็นการทดสอบเหนือพื้นดินในชั้นบรรยากาศที่เสี่ยงอันตรายเป็นอย่างยิ่ง เกิดขึ้นในช่วงแรกระหว่างปี 1966-1974 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบนเกาะโมรูรัว ซึ่งชื่อของเกาะนี้ในภาษาตาฮิเตียนแปลว่า “ความลับสุดยอด”

            เป็นเวลาเนิ่นนานที่รัฐบาลฝรั่งเศสปิดกั้นการเข้าถึงเอกสารสำคัญและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจากองค์กรต่างๆ และยืนยันมาตลอดว่าการทดสอบอาวุธร้ายแรงที่สุดของโลกนี้มีความปลอดภัย ทว่าเอกสารลับที่ได้รับการเปิดเผยในปี 2013 ชี้ว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 125,000 คนในเฟรนช์โปลีนีเซียสัมผัสกับสารกัมมันรังสีตกค้าง นอกจากนี้อีเมลลับเมื่อปี 2017 หลุดออกมาว่ากองทัพฝรั่งเศสทราบดีถึงกรณีทหารของพวกเขาที่เกี่ยวข้องในปฏิบัติการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ราว 2,000 นายจากทั้งหมดประมาณ 6,000 นาย ป่วยด้วยโรคมะเร็ง

            องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการทำข่าวสืบสวนสอบสวนชื่อ Disclose ของฝรั่งเศส, Interprt กลุ่มนักวิจัย สถาปนิก และนักออกแบบ ร่วมกับ Norwegian University of Science and Technology และ Science & Global Security Program จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ใช้เวลา 2 ปีในการรวบรวมข้อมูล ได้เอกสารลับมาประมาณ 2,000 ชิ้น อีกทั้งภาพถ่ายและแผนที่ รวมถึงได้สัมภาษณ์ชาวโปลินีเซีย เจ้าหน้าที่ทหารฝรั่งเศส ผู้คนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยนี้ในชื่อ Moruroa Files เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

            ผลการศึกษาชี้ว่าการสัมผัสสารกัมมันตรังสีมีมากกว่าที่คณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูฝรั่งเศส (CEA) ประเมินไว้ระหว่าง 2 ถึง 20 เท่า ยกตัวอย่างการทดสอบครั้งแรกในชื่อ Aldebaran บันทึกของ CEA ระบุว่า ประชาชนบนหมู่เกาะแกมเบียร์ที่อยู่ไม่ไกลจากการทดสอบได้รับสารกัมมันตรังสีในระดับค่อนข้างสูง แต่ความเป็นจริงคืออยู่ในระดับสูงมาก อีกทั้งไม่มีการแจ้งเตือนอันตรายจากการปนเปื้อนในน้ำฝนที่ประชาชนดื่มกินและกักเก็บไว้ใช้หลังจากนั้น ซึ่ง CEA ก็ไม่ได้นำข้อเท็จจริงส่วนนี้มาพิจารณา

            มีการยกตัวอย่างการทดสอบครั้งหนึ่งในปี 1974 เรียกว่า Centaure เกิดการคำนวณทิศทางลมผิดพลาด แทนที่จะพัดไปทางตะวันตกตามพยากรณ์อากาศ ลมกลับหอบกลุ่มควันจากการระเบิดเฉขึ้นเหนือไปยังเกาะตาฮิติที่เวลานั้นมีประชากรราว 87,500 คน ระบบจำลองโดยใช้ฐานข้อมูลเดิมแสดงผลออกมาว่าชาวเกาะตาฮิติน่าจะได้รับสารกัมตรังสีทันทีเฉลี่ยคนละ 0.6 mSv อีกทั้งตกค้างอยู่บนพื้นดินอีกเป็นเดือนๆ รวมถึงในพืชผักผลไม้ ทำให้ชาวตาฮิติได้รับสารกัมตรังสีมากกว่า 1 mSv ซึ่ง CEA ประเมินไว้ต่ำกว่าประมาณ 2 เท่า

            ในประเด็นการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทดสอบระเบิดปรมาณูในเฟรนช์โปลีนีเซียและแอลจีเรียนั้น กฎหมายที่ออกเมื่อปี 2010 ระบุจะจ่ายให้กับผู้ที่เป็นมะเร็ง 1 ใน 23 ชนิดซึ่งต้องมีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสสารกัมมันตรังสี แต่หาก “คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทดสอบระเบิดปรมาณู” พบว่าการเป็นมะเร็งเกิดจากความเพิกเฉยของผู้ยื่นสิทธิ์ (เทียบได้กับผู้ที่เป็นมะเร็งเพราะสูบบุหรี่) ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา

            ระหว่างปี 2010-2017 มีผู้ยื่นสิทธิ์ขอรับการเยียวยา 1,039 ราย แต่กลับถูกปฏิเสธถึง 1008 ราย คิดเป็นสัดส่วน 97 เปอร์เซ็นต์

            ในปี 2018 สภาฝรั่งเศสแก้กฎหมายยกเลิกการรับสารกัมมันตรังสีเพราะความเพิกเฉยทิ้งไป และนำเกณฑ์ปริมาณการสัมผัสสารกัมมันตรังสีมาใช้ โดยผู้ที่รับสารมากกว่า 1 mSv หรือประมาณ 10 เท่าของผู้ที่ได้รับจากการเอกซเรย์ปอดจะเข้าเกณฑ์นี้ ทำให้ผู้ยื่นสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาเพิ่มขึ้นราวครึ่งต่อครึ่ง (แต่ผู้ได้รับผลกระทบชาวแอลจีเรียจนถึงเวลานี้ยังคงได้รับการเยียวยาแค่ 1 คน)

            เซบาสเตียน ฟิลิปเป นักวิทยาศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาและเขียนรายงาน แนะนำให้รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ต้องไปสนใจปริมาณการสัมผัสสารกัมมันตรังสีแต่ให้ชดเชยให้กับทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาการทดสอบและพบว่าเป็นมะเร็ง เขาประเมินว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งประมาณ 10,000 รายหรือครอบครัวผู้ป่วยควรได้รับการชดเชยย้อนหลังทั้งหมด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 700 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยเกือบ 28,000 ล้านบาท และประเมินเงินค่าชดเชยสำหรับผู้ที่จะป่วยเป็นมะเร็งในอนาคตปีละราว 24 ล้านยูโร หรือประมาณ 940 ล้านบาท

            เอกสารลับที่ได้มายังแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฝรั่งเศสไม่ได้บอกกล่าวหรือเตือนภัยแก่ชาวโปลินีเซียล่วงหน้าเกี่ยวกับความเสี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะการทดสอบ Centaure ที่สามารถเตือนชาวตาฮิติได้ล่วงหน้า 2 วันก่อนลมจะพัดพามวลสารกัมมันตรังสีไปถึง นอกจากฝรั่งเศสที่รู้ถึงอันตรายนี้ล่วงหน้าแล้ว สหรัฐรู้ โซเวียตรู้ อีกหลายประเทศก็รู้

                ยกเว้นเพียงชาวโปลินีเซีย.

 

*******************

 

ข้อมูลจาก

 

- brill.com

 

- sciencemag.org

 

- sea.edu

 

- euronews.com

 

- asia.nikkei.com

 

- france24.com

 

- wikipedia.org

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"