สงครามโรค-โควิด แนวรบยืดเยื้อ


เพิ่มเพื่อน    

 แนวรบ สงครามโรค-โควิด ปลายส.ค.สถานการณ์ดีขึ้น 

                สงครามโรค-โควิด ในประเทศไทยยังวิกฤติ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและคนเสียชีวิตยังคงสูงต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวในพื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัดจะครบกำหนด 14 วันในวันที่ 2 ส.ค.นี้ โดยมีรายงานว่า  ศบค.จะยังให้มีการคงไว้ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ท่ามกลางคำถามคาใจประชาชนว่ามาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลใช้รับมือโควิดได้ผลหรือไม่ และเมื่อใดตัวเลขคนติดเชื้อรายใหม่จะลดลง?

            นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค-นักระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์การทำงานด้านระบาดวิทยา-การควบคุมโรคมายาวนาน กล่าวถึงสถานการณ์โควิดต่อจากนี้ในฐานะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการร่วมแก้ปัญหาโควิดในขณะนี้ของกรมควบคุมโรคว่า จากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ขณะนี้ภาครัฐได้ใช้ทั้งมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อและมาตรการทางสังคม อย่างเช่นที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ เพื่อลดโอกาสสัมผัส เพราะขณะนี้การระบาดโควิดได้แพร่ในลักษณะเข้าไปในชุมชนและครอบครัวเป็นวงกว้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่เสี่ยง-สถานที่เสี่ยง ช่วงนี้การติดเชื้อที่เห็นจำนวนการติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันที่มีจำนวนมาก ก็เป็นธรรมชาติของโรค การจะดูว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะทำให้แนวโน้มจำนวนคนติดเชื้อรายใหม่ลดลงหรือไม่ คงต้องรออีกสักระยะ อย่างที่เห็นขณะนี้ มีคนติดเชื้อวันละหลักหมื่น จะขึ้นมาระดับหมื่นห้าพันคนต่อวัน จริงๆ เป็นภูเขาน้ำแข็งเพราะว่าเดิม ช่วงก่อนหน้านี้คนติดเชื้อส่วนหนึ่งอาจเข้าไม่ถึงการตรวจ แต่พอมีการล็อกดาวน์ และมีการเพิ่มจุดการตรวจทำให้คนเข้าถึงการตรวจได้ง่ายขึ้น มีการใช้ Antigen Test Kit มาวินิจฉัยแล้วนำคนติดเชื้อเข้าสู่ระบบ จึงทำให้ช่วงนี้เราก็จะเจอคนติดเชื้อสูงขึ้น

            เพราะฉะนั้นจำนวนคนติดเชื้อที่สูงในขณะนี้จึงเกิดจากสองปัจจัย คือ 1.ปัจจัยจากการระบาดที่มีอย่างต่อเนื่อง ที่ก็ต้องรอวัคซีนมาช่วยถึงจะทำให้คนติดเชื้อมีจำนวนลดลง 2.เป็นเพราะช่วงนี้มีการใช้มาตรการเพื่อทำให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการตรวจหาเชื้อโควิดได้ดีขึ้น ทั้งการใช้ Antigen Test Kit มีทีมเคลื่อนที่เร็ว เข้าไปสู่จุดต่างๆ ตามชุมชน ตัวเลขที่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากตอนนี้จึงเกิดจากสองปัจจัยดังกล่าว 

            ...ส่วนหากถามว่าหลังจากนี้ อีก 10-15 วันข้างหน้าแนวโน้มสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ต้องบอกว่าเราแยกออกเป็นสองส่วนตามลักษณะของโรคคือ ดูจากผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต และดูว่ามาตรการที่ใช้ ไปช่วยตรงไหนหรือไม่ ตอนนี้ที่ใช้การล็อกดาวน์ การหาผู้ติดเชื้อ การแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนและการระดมฉีดวัคซีน ที่ตอนนี้เน้นฉีดไปที่กลุ่มผู้สูงอายุเพื่อให้ได้ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงพอ

...ทำให้หลังจากนี้ก็คงประมาณสักช่วงต้นเดือนสิงหาคม จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร น่าจะชะลอตัวลงและจะค่อยๆ ลดลงจากมาตรการการเข้าถึงการฉีดวัคซีน เพราะทำให้คนสูงอายุแม้จะป่วยหรือติดโควิดจะไม่ป่วยรุนแรงมาก แต่สำหรับจำนวนคนติดเชื้อรายใหม่ในอีกสองสัปดาห์ต่อจากนี้ คิดว่าตัวเลขคงจะยังไม่ลงมา เพราะเมื่อมีกระบวนการค้นหาคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเจอคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ที่เป็นเรื่องดี เพราะเมื่อเขารู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ก็จะป้องกันตัวเองไม่ให้ไปแพร่คนที่เขารัก แล้วคนเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบการรักษา

            นพ.ทวีทรัพย์-ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ระบุว่า ในช่วงสองสัปดาห์ถัดไป เราจะยังคงเห็นตัวเลขคนติดเชื้อรายใหม่ 15,000 คนต่อวัน หรืออาจจะขึ้นไปถึงวันละ 20,000 คนก็ได้ ที่จะขึ้นอยู่กับว่าคนที่ติดเชื้อ เขาได้เข้าสู่ระบบการตรวจมากเท่าใด เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปตกใจมาก แต่ว่าสองสัปดาห์ถัดไปจากนี้ มาตรการต่างๆ ที่ออกมา น่าจะเห็นผล จำนวนการติดเชื้อจะลดลง เพราะเมื่อล็อกดาวน์ ก็ทำให้คนที่ติดเชื้อแต่เขาไม่รู้ตัว โอกาสที่เขาจะไปสัมผัส ไปสังสรรค์ หรืออยู่ในที่ทำงานแล้วเกิดการติดโควิดจะลดลง ทำให้แหล่งการติดเชื้อก็จะน้อยลงไปด้วย รวมถึงเดิมคนที่ติดเชื้อโควิด แต่เขาไม่มีอาการ แต่เขาไปแพร่โรค แต่เมื่อมีการตรวจมากขึ้น เขาก็จะเข้าสู่ระบบการรักษา ไม่ไปแพร่โรคกับบุคคลอื่น มีการแยกตัวออกมาจากชุมชน

การทำ Home Isolation ช่วยตรงที่ว่า ถ้านำคนติดเชื้อที่เป็นเคสที่มีอาการน้อย หรือคนที่มีโอากาสจะมีอาการเยอะ นำทุกคนเข้าโรงพยาบาลหมด โรงพยาบาลจะไม่พอรองรับ แต่ถ้าเราใช้ระบบที่มีการจำแนกโดยนำคนที่มีความจำเป็นจริงๆ กลุ่มที่มีอาการจะป่วยหนักมาเข้าโรงพยาบาล จะป้องกันไม่ให้มีคนเสียชีวิต ส่วนคนติดเชื้อ ก็รีบค้นหา เพื่อให้เขาเข้าสู่ระบบการรักษา

            "หากทำไปแบบนี้คิดว่าสักประมาณกลางเดือน หรือปลายเดือนสิงหาคม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่แต่ละวันก็จะลดลงและน่าจะดีขึ้นแน่ๆ เมื่อถึงตอนนั้น มาตรการในเชิงล็อกดาวน์น่าจะผ่อนคลายได้ดีขึ้น แต่สำหรับผู้ป่วย คนเสียชีวิตประมาณต้นสิงหาคม น่าจะเห็นได้แล้วว่าตัวเลขน่าจะชะลอตัวลง "

            แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางกรุงเทพมหานครด้วย เพราะเรายังฉีดวัคซีนได้มากแต่เฉพาะคน กทม. แต่สำหรับคนต่างจังหวัด เรายังมีวัคซีนได้ไม่มากพอ แต่เวลานี้เริ่มส่งวัคซีนไปให้ต่างจังหวัดโดยเมื่อระดมฉีดการจะเห็นผลต้องรออีกสักสองสัปดาห์

                - คิดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ มีโอกาสจะไปที่ระดับสองหมื่นคนต่อวันได้หรือไม่?

            ถึงแน่นอนครับ เพราะว่าตัวเลขจริง ที่ไม่ใช่แต่ในประเทศไทย แต่เป็นหลายประเทศทั่วโลกที่จะเหมือนกัน คือปกติแล้ว คนไข้ที่มาตรวจแล้วเข้าสู่ระบบเทียบกับการติดเชื้อจริงๆ ในชุมชน ก็อยู่ที่ระหว่างประมาณ 20-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เช่นที่เราเจอคนติดเชื้อในระบบ แต่จริงๆแล้วอาจจะมีคนที่ติดเชื้อแต่ไม่รู้ตัว หรืออยู่ในชุมชนอีกจำนวนหนึ่ง จะเป็นแค่ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 เท่านั้น แต่ถ้ายิ่งเข้าถึงยาก อาจจะเป็น 1 ใน 10 ก็ได้ ซึ่งตัวเลขที่เราเจอแต่ละวัน ไม่ใช่เรื่องของการหมกเม็ดรายงานแต่เป็นเรื่องของธรรมชาติของโรคที่ต้องอาศัยการวินิจฉัย

- การควบคุมเพื่อทำให้คนติดเชื้อลดลง ยังคงต้องมีการใช้มาตรการการล็อกดาวน์ต่อไปหรือไม่?

            มาตรการล็อกดาวน์จะช่วยลดการที่คนจะไปสัมผัสกันในจุดที่มีคนแออัด ซึ่งขณะนี้ผมคิดว่าเราทำได้ดีพอสมควร ต้องประเมินกันว่า จากจุดนี้ไป หากเปิด (คลายล็อกดาวน์) แล้วคนจะกลับเข้ามาแออัดอีกหรือไม่ แต่ถ้าไม่แออัด และมีการเว้นระยะห่างไปสักระยะ เราอาจไม่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่อาจใช้วิธีการขอความร่วมมือ เช่น การขอให้คนทำงานอยู่ที่บ้านแบบเต็มที่ ที่อาจต้องมีการประเมินหลังปลายสัปดาห์นี้ เพื่อดูอีกสักระยะว่าการฉีดวัคซีน กับการตรวจหาเชื้ออยู่ในทิศทางที่กำหนดหรือไม่ ถ้ายังไม่ คงต้องคงมาตรการอีกสักระยะ เพราะไม่เช่นนั้น หากคลายล็อกแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นมาอีก ที่ล็อกไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร สู้เราทำต่อเนื่องให้ถึงระดับต่ำเพียงพอ น่าจะเหมาะสม

...อย่างตอนนี้ เตียงคนไข้หนักสีแดงเต็มจนรับไม่ไหว ระบบก็ไม่ไหวแล้ว จะทำให้การดูแลคนที่อยู่เตียงแดงตอนนี้ ประสิทธิภาพจะแย่ลงเรื่อยๆ ตอนนี้เราก็ต้องอดทนในการที่จะลดจำนวนคนติดเชื้อที่มันเกินศักยภาพ ให้มันชะลอตัวลง และเมื่อผ่านไปสักระยะ พอจำนวนเริ่มลดลง เราก็จะค่อยๆ เริ่มผ่อนคลาย ขณะเดียวกันเราก็ต้องใช้วัคซีนเข้ามาเป็นตัวช่วยด้วย ที่ผ่านมาโควิดมีผลกระทบต่อชีวิต การเจ็บป่วย การดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ สังคม อย่างมาก แต่คิดว่าเรายังสามารถผ่านพ้นแล้วก็เห็นแสงสว่างในการต่อสู้กับโรคนี้ได้

 

เรากำลังเริ่มจะคุมได้ ยอดคนติดเชื้อกำลังหักหัวลง

ด้านความเห็นจาก พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ก็ได้กล่าวถึงสถานการณ์โควิดในประเทศไทยในขณะนี้ โดยเริ่มต้นว่า การแสดงความเห็นครั้งนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับแพทยสภา แต่เป็นในฐานะผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามาตลอดในหลายมิติ พบว่าความสำเร็จในการควบคุมสถานการณ์มีหลายปัจจัย ปัจจัยแรกที่สำคัญคือ กำลังพลแพทย์ เพราะประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง แต่มีจำกัด ปัจจุบันมีแพทย์ที่ทำงานอยู่ประมาณหกหมื่นคน ในทั้งภาครัฐและเอกชน จากสภาวะโควิด-19 ภาระงานเวลานี้ เรียกได้ว่าแพทย์ส่วนใหญ่ช่วยกันทำงานเต็มกำลังมาตลอดกว่าหนึ่งปี ซึ่งถือเป็นปีวิกฤติจากโควิด-19

            เมื่อดูการกระจายของแพทย์ในประเทศ การที่คนไข้จะเข้าหาแพทย์เพื่อรักษาโรคต่างๆ ปกติก็มีความจำกัดอยู่แล้ว พอปัจจุบันมีโควิด-19 เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือโรคต่างๆ ที่เคยตรวจรักษาในอดีต ปัจจุบันกลับไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เช่น คนไข้เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็งต่างๆ การเข้าไปตรวจใน OPD (Out Patient Department-ผู้ป่วยนอก) วันนี้ต้องถูกจำกัด ซึ่งในช่วงโควิดระบาดปีแรก อาจยังนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร แต่วันนี้เห็นแล้ว คือมีการปิด OPD ปิดห้องผ่าตัด ปิดห้องฉุกเฉินหลาย โรงพยาบาล เพราะหมอ-พยาบาล ต้องดูโควิด-19 ดู รพ.สนาม ดูศูนย์ฉีดวัคซีน จนงานหนักเกินกำลังคนที่ไม่เพียงพอ ต้องบอกว่า เรามีแพทย์-พยาบาลจำนวนเท่าเดิม แต่มีเตียงเพิ่มขึ้นทุกวันตามนโยบายภาครัฐเพื่อให้เพียงพอกับประชาชน ที่ยังเข้าถึงระบบการรักษาไม่ได้ ยังป่วยอยู่ไม่ได้เตียง ยังไม่มีรถพยาบาลไปรับตามข่าวที่พบเห็น
            สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ เตียงเบ่งเพิ่มได้ แต่บุคลากรคือแพทย์ พยาบาล เพิ่มจำนวนไม่ได้ แต่ทุกคนยอมเพิ่มภาระงานได้เพื่อช่วยชีวิตคน ทำให้วันนี้ หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ต้องขยายความรับผิดชอบตัวเอง ให้ทำงานในระบบที่เตียงมากขึ้น เพื่อดูคนไข้ตนเองปกติ ต้องไปดูคนไข้ที่ป่วยโควิด ดูห้องฉุกเฉิน ไปดูโรงพยาบาลสนาม ไปดู Hospitel ไปดูศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากมายหลายเท่า และการทำงานก็ล้วนอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูง โดยที่ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อกลับไปบ้านแล้ว จะนำเชื้อกลับไปด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาลที่มาจากต่างจังหวัดมาช่วยในกรุงเทพฯ เมื่อกลับไป ก็ต้องไปกักตัวเองเพื่อไม่ให้ไปติดเชื้อในครอบครัว เพราะทุกคนก็มีชีวิต มีครอบครัว มีคนที่รัก เหมือนกับประชาชนทุกคน ความเสียสละเหล่านี้ ทุกคนทำด้วยความเต็มใจและตั้งใจ แม้ยามเมื่อพวกเราออกมาบอกว่า เราเหนื่อยแล้ว เราไม่ไหวแล้วที่ออกมาในสื่อหลายครั้ง แต่ยืนยันได้ว่าทุกคนพร้อมทำหน้าที่เพื่อรักษาประชาชนทุกชีวิต

            พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อไปว่า เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น มีการติดเชื้อโควิด-19 ของหมอและพยาบาลในหลาย รพ.ซึ่งการติดเชื้อของหมอ-พยาบาลหนึ่งคน ทำให้ต้องมีการกักตัวคนรอบตัวประมาณ 10-20 คน ปิดหน่วยบริการไปอีก 14 วัน เปรียบข้าศึกที่มาได้โจมตีสถานพยาบาล ทำให้เกิดผลกระทบไม่ใช่แค่กับคนไข้โควิด แต่กระทบกับคนป่วยไข้แทบทุกโรค กระทบกับแทบทุกคนที่ต้องเข้าถึงการรักษาพยาบาล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แพทยสภากังวลมากที่สุด

...ปัจจัยที่สอง คือ วิชาการ แพทยสภา มีหน่วยงานองค์ความรู้หลักทางวิชาการ เรียกว่า ราชวิทยาลัย มี 14 แห่ง และ 1 วิทยาลัย ดูแลผู้เชี่ยวชาญ 88 สาขา ที่ตอนนี้คนอาจคุ้นเคยเพราะออกมาให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 เป็นระยะ เช่น โรคติดเชื้อ โดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยฯ โรคเด็กโดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ โดย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้เข้าไปอยู่ในกรรมการชุดต่างๆ ของประเทศในการแก้ปัญหา เพราะองค์ความรู้ล่าสุดเรื่องการรักษาผู้ป่วยโควิด ที่ชัดเจนและทันสมัยที่สุดจะเป็นของราชวิทยาลัยฯ ที่เป็นองค์กรด้านวิชาการของแพทยสภา

            วันนี้เรากำลังรบอยู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น เชื้อโควิดตัวใหม่ในเวลานี้มันดุร้ายกว่าเดิม ติดเร็วกว่าเดิม แม้เราจะป้องกันแล้วแต่ก็ยังก่อให้เกิดการติดต่อง่ายกว่าเดิม การป้องกันโดยการอยู่ห่าง-ล้างมือ-ใส่หน้ากากยังจำเป็น แต่มากกว่านั้นก็คือต้องได้รับวัคซีน เพราะเราพบว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนแล้ว แม้จะการติดเชื้อแต่อาการหนักก็น้อยลง และอัตราการระบาดจะลดลงได้มาก

การให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ และยิ่งไปกว่าถ้าได้ชนิดที่ประสิทธิภาพดีมากขึ้น คือเทคโนโลยีที่ครอบคลุมเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ ทำให้วันนี้จึงต้องมีการบูสเตอร์โดสเพื่อติดเกราะเพิ่ม ซึ่งการติดเกราะเพิ่มของบุคลากรทางการแพทย์มีความสำคัญเพราะว่า ทำให้เขาอยู่ในแนวรบที่ช่วยกันจัดการเชื้อโรคร้ายให้กับประชาชนได้ เพราะการที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ติดเชื้อจะทำให้เขาทำงานได้ยาวนานขึ้น ดูแลประชาชนได้ดีขึ้น เพราะหากติดเชื้อแล้วต้องกักกันตัวเอง 14 วัน จะทำให้หมอ พยาบาลหายไป คนไข้ก็จะไม่ได้รับการดูแล 14 วัน หรือติด 1 คน แล้วต้องปิดทั้งตึก-ทั้งวอร์ดคนไข้ 2 อาทิตย์ คนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนไข้นั่นเอง “การให้วัคซีนที่ดีคือเพื่อรักษาชีวิตคนไข้”

- สถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศที่ช่วงสัปดาห์นี้ ตัวเลขขึ้นไปแตะระดับเกิน 15,000 คนมาหลายวัน ประเมินว่าสถานการณ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร?

            ตัวเลขตอนนี้ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นแต่จริงๆ แล้ว มีการตรวจและพบมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดอันหนึ่งก็คือ เริ่มมีการให้ตรวจด้วย Antigen Test Kit ทำให้ประชาชนเข้าถึงและลดความทุกข์ทรมานรอคอยได้อย่างรวดเร็ว โดยเมื่อประชาชนเข้าถึงการตรวจจนรู้ผลภายใน 15 นาที และเข้าสู่ระบบได้ก็ทำให้ตัวเลขการพบคนมีผลบวกมากขึ้น ไปตรวจ rt-PCR ได้เร็วขึ้นเราจึง เจอ คนติดเชื้อมากขึ้นแต่อาจไม่ได้แปลว่ามีจำนวนการติดเชื้อมากขึ้น

อันที่สองคือ เมื่อพบคนที่ติดเชื้อมากขึ้น เมื่อดูในกราฟการเติบโตของเชื้อ เราพบว่ามันเพิ่มขึ้นไม่แรงทวีคูณเท่าที่เป็นในต่างประเทศ เช่น เวลาพบคนติดเชื้อห้าพันคน จะขึ้นไปเป็นหนึ่งหมื่นคน แล้วขึ้นไปหนึ่งหมื่นห้าพันคน จนไปถึงสามหมื่น สี่หมื่นคน จะมีการอัตราการเพิ่มขึ้นที่รวดเร็วมาก เรายังชะลอกว่า

            "วันนี้พบว่าด้วยอานิสงส์ของการปิดเมืองและเคอร์ฟิวทำให้กราฟมันขึ้นแบบหัวทู่ๆ คือไม่แรงเร็วเท่าที่ควร ปกติมันต้องเร็วกว่านี้ มันต้อง spin ขึ้นไปแบบเป็นเท่าตัว เมื่อดูกราฟแล้วเชื่อว่าด้วยกระบวนการที่คนไทยร่วมใจกัน ยอมหยุดอยู่บ้าน พวกเรายอมร่วมทุกข์ด้วยกัน ทำให้วันนี้ตัวเลขมันขึ้นน้อยกว่าที่นักสถิติคาดการณ์ไว้ แปลว่าเรากำลังเริ่มจะคุมได้ และเราเชื่อว่ามันกำลังจะหักหัวลงในเวลาไม่นาน ซึ่งหลายคนคำนวณไว้ว่ามันจะตีโค้งแล้วลงภายในปลายปีนี้

            คือตัวเลขอาจสวิงไปถึงสองหมื่นห้าพันคนต่อวันได้ ก่อนที่จากนั้นตัวเลขจะลดลง คือถึงแม้เราจะฉุดเบรก เหมือนเบรกรถสิบล้อ เบรกแล้วมันก็จะมีน้ำหนักที่ไหลเพิ่มขึ้นก่อนที่มันจะตกลง คือเป็นลักษณะในขณะนี้ แต่มันจะไม่ขึ้นไปถึงระดับห้าหมื่นคน หรือถึงหนึ่งแสนคน จะไม่น่าถึงขั้นอย่างนั้น"

            ในความเห็นผมส่วนตัว ขณะนี้ดูแล้วน่าจะมีการเพิ่มขึ้นได้อีกไม่เกินหนึ่งเท่าตัว เช่น วันที่ให้สัมภาษณ์ตัวเลขการติดเชื้ออยู่ที่ประมาณหนึ่งหมื่นสี่พันคน ก็ไม่ควรเกินสองหมื่นแปดพันคน แล้วจากนั้นจะลดระดับ ข้อแม้คือต้องมีมาตรการที่ดีพอ

- ตรงส่วนนี้มีหลักสมมุติฐานอย่างไร ถึงคาดการว่าจะเป็นลักษณะดังกล่าว?

            พิจารณาดูจากกราฟตัวเลขที่ ณ ขณะนี้ที่ตอนนี้เรามีการตรวจหาเชื้อที่ไวมากขึ้น เมื่อตรวจไว ก็จะทำให้เกิดการหยุดยั้งได้ เพราะเดิมหากสงสัยว่าติดเชื้อหรือไม่ก็ไปเข้าสู่การตรวจที่ต้องรอคิว บางทีต้องรอคิวกัน 1-2 วัน ถึงจะได้ตรวจ พอตรวจแล้วก็ต้องรอผลการตรวจออกมาอีกประมาณสามวันหลังจากนั้น ก็ประมาณสี่วัน จากนั้นกว่าจะเข้าคิวไปสู่การรักษาในระบบอาจต้องรออีก 2-3 วัน ก็ใช้เวลาร่วม 5-6 วัน ในช่วง 6 วันดังกล่าวเขาแจกเชื้อโรคไปแล้ว 6 วัน แต่วันนี้เขาเข้าไป Test ได้ภายใน 1-2 วัน ทำให้เขารู้ผลเช่นผลออกมาเป็นบวก ซึ่งการเทสต์ผลบวกมีข้อผิดพลาดเพียง 0.6 เปอร์เซ็นต์ คือ 6 คนใน 1,000 ราย เพราะฉะนั้นพอเขารู้ว่าตัวเองผลการตรวจออกมาเป็นบวกเพียงแค่วันที่สอง จากเดิมต้องใช้เวลา 5 วันถึงจะรู้ผล เมื่อเขาหยุดตัวเองได้เร็วก็ทำให้เขาไปแจกเชื้อคนอื่นน้อยลง เพราะสมมุติคนที่ตรวจแล้วผลออกมาเป็นบวก ระหว่างรอเข้าระบบเขาก็ต้องระวัง ไม่กล้าไปกินข้าวร่วมกับคนในครอบครัว ก็แยกตัวออกมา ก็ทำให้การแพร่เชื้อน้อยลง แต่ทั้งนี้ระบบต้องสามารถเก็บตัวเขาเข้า Home Isolation คือ กักกันตัวที่บ้านแบบรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพด้วย

            Antigen Test Kit จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เชื้อมันหยุด เพราะทำได้เร็ว ทำได้เลย และวันนี้ ก็มีกระบวนการต่างๆ ทำให้คนติดเชื้อมีการเข้าระบบการรักษาโควิดได้ไวมากขึ้น อย่างวันนี้เรามีอาสาสมัครจำนวนมาก อย่างที่มาร่วมกันทำงานกับสภากาชาดไทย ประชุมวันก่อนมี 16 ทีมอาสาสมัครไปช่วยด้านต่างๆ เช่น ไปให้คำแนะนำ พาไปส่งโรงพยาบาล ทำให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่ไว รับยาไว อาหารไว ผนวกกับปัจจุบันมีการขยายเตียงตามที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา เช่น ภาครัฐ ก็ขยายเตียง ทำ รพ.สนาม ที่โรงพยาบาลบุษราคัม ไปขยายที่ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ เพื่อนำคนติดเชื้อเข้าระบบต่างๆ เมื่อตรวจไว เข้าระบบไว ทำให้คนติดเชื้อก็แพร่เชื้อต่อไปไม่ได้มาก ก็จะทำให้คนติดเชื้อลดลงได้

            และอีกปัจจัยคือ มีการกระจายการรักษา เพราะตอนนี้ เตียงในโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลแน่น วันนี้มีนโยบายจากภาครัฐให้ส่งกลับ ที่แม้จะสร้างความหนักใจให้แพทย์ในต่างจังหวัด แต่ประชาชนที่ติดเชื้อแล้วทยอยพาไปรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ก็กลับไปอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือทำให้เขามีสถานที่รักษาตัวเอง เพราะ รพ.ในต่างจังหวัดที่มีมากกว่า 800 แห่ง ก็จะช่วยแชร์คนจาก รพ.ในกรุงเทพฯ ไปด้วย เมื่อพบคนป่วยโควิด ส่วนหนึ่งส่งคืนให้ รพ.ต่างจังหวัดช่วยรับไปดูแล แต่ว่าหมอและพยาบาลในต่างจังหวัดก็ไม่ได้มีเยอะ ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้นแต่เหนื่อยเพื่อ “รักษาชีวิตคน” เชื่อว่าทุกคนก็เต็มใจจะเหนื่อย เต็มใจที่จะรับ แต่หลายแห่งก็ไม่ไหวแล้วเหมือนกัน แต่ถ้ายังอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก เตียงไม่ใช่เต็ม แต่เสริมจนล้น ขยายเท่าใดก็ไม่พอทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจัยนี้ก็จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อใน กทม.ลดลงได้ แต่ทำให้ตัวเลขต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ภาระงานจึงต้องดูเป็นรายจังหวัด เมื่อรับคนป่วยจากกรุงเทพฯ ไปแล้ว เขาต้องช่วยกันคุมสถานการณ์ให้ได้ เหมือนกับเอาสะเก็ดไฟไปแล้ว เขาต้องไปดับไฟให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ไปลามในพื้นที่ ซึ่งวันนี้ผมเชื่อว่าทุกจังหวัดยังดูแลได้แต่ดีไม่เท่ากัน

            ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อลดลงก็คือ 1. ATK มีการเทสต์ที่ไว 2.มีอาสาสมัครที่ทำให้คนติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ไว ได้ยาไว 3.เรื่องของระบบ Home isolation-Community isolation หรือ Hi-Ci ในกรุงเทพฯ ที่แยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาได้ไว 4.มีระบบการดูแลรักษาพยาบาลจากต่างจังหวัดมาช่วย เช่น รพ.บุษราคัม หรือส่งออกไปต่างจังหวัด 5.คือเรื่องมาตรการภาครัฐ ที่ออกมาคุมสังคมเข้มข้นมากขึ้น 6.คือประชาชน ที่เริ่มเห็นภาพการเสียชีวิต เห็นการป่วยการตายของคนป่วยโควิดที่มีมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ระวังตัวมากขึ้นโดยธรรมชาติ ทั้ง 6 ปัจจัยดังกล่าวก็จะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อจะลดลงได้

..สถานการณ์ขณะนี้ต้องขอให้ทุกภาคส่วนต่อสู้ อดทน เราจึงจะชนะมันได้ คือเราต้องช่วยกันดึง curve การติดเชื้อลงมา รวมถึงต้องดึง curve ไม่ให้การเสียชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนไปยังพิกัดของคนที่เปราะบางมากที่สุดคือคนที่มีอายุเกิน 60 ปี-กลุ่มผู้ป่วย  7 โรค และคนตั้งครรภ์ ลดการสูญเสีย ขณะเดียวกันต้องเพิ่มอัตราการตรวจให้มากขึ้นเพื่อจะจัดการกับกลุ่มผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการด้วยการนำเขาไปเข้าระบบรักษาโดยทันที เป็นต้น.

                                                                        โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

.....................................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"